สำหรับใครที่กำลังศึกษาวิธีการจัด สเปกคอมพิวเตอร์ หรือการแต่งคอมด้วยตัวเองแล้วก็น่าจะต้องศึกษาเกี่ยวกับส่วนประกอบต่าง ๆ บนแผงวงจรหลัก หรือ เมนบอร์ด (Mainboard) เพื่อที่จะได้ทำการอัปเกรดสเปกคอมพิวเตอร์ ออกมาให้ได้ตรงใจ และสิ่งแรก ๆ ที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจก็น่าจะต้องเป็นมันสมองของคอมพิวเตอร์อย่าง หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการประมวลผลให้กับคอมพิวเตอร์ของเรา
ข้อมูลเพิ่มเติม : วิธีดูสเปกคอมพิวเตอร์อย่างละเอียด แบบง่ายๆ (How to Check Computer Specs ?)
ภาพจาก : https://cdn.mos.cms.futurecdn.net/yRRDibF6rbMh4fT7yXR9tW.jpg
ซึ่งการเลือก CPU นอกจากจะต้องดูจำนวนของ CPU Core, CPU Thread และ CPU Clock Speed ที่เหมาะกับการใช้งานแล้ว ยังต้องเลือก CPU ที่สามารถเสียบเข้ากับ "ช่องใส่ (Socket)" ได้อย่างพอดีอีกด้วย เพราะหากเลือกซื้อ CPU สเปกให้ตรงใจแต่ผิดรูปแบบก็ต้องเสียเวลา (และเงิน) ไปซื้อเมนบอร์ดแผงใหม่หรือชิป CPU ตัวใหม่ให้สามารถใช้งานด้วยกันได้
Socket เป็นส่วนประกอบหนึ่งบนเมนบอร์ดที่มีไว้สำหรับการติดตั้งชิป CPU บางคนจึงนิยมเรียกง่าย ๆ ว่าช่องเสียบ CPU (คล้ายกับ RAM Slot ที่เอาไว้เสียบ RAM ติดกับเมนบอร์ด) โดย Socket บนเมนบอร์ดก็จะถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้งานร่วมกับ CPU ที่แตกต่างกันออกไปตาม “รุ่น” ของ CPU ตัวนั้น ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็น Socket ของ CPU อยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่
LGA หรือที่เรียกว่า "Land Grid Array" นั้น สำหรับSocket รูปแบบนี้จะมีเข็ม (Pin) ยื่นออกมาจากตัวเมนบอร์ด ใช้งานร่วมกับ CPU ที่มีลักษณะเป็นแผ่นเรียบ (Flat Surface) โดยส่วนมากเรามักจะพบการใช้งาน Socket แบบ LGA บน CPU ของค่าย Intel เป็นหลัก มักใช้ชื่อเรียกรหัสตาม “จำนวนขา (Pin)” ที่ยื่นออกมาจากเมนบอร์ด เช่น LGA 1155 คือ Socket ที่มี Pin ทั้งหมด 1155 ขา เป็นต้น
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Socket_1151_opened.jpg และ https://www.freeimages.com/photo/intel-celeron-skt-lga-775-4-1243619
PGA หรือตัวเต็มๆ คือ "Pin Grid Array" จะเป็น Socket รูปแบบแผ่นเรียบ ๆ ที่มีรูไว้รองรับการเสียบ CPU ที่มีขา (Pin) บนเมนบอร์ด ส่วนใหญ่เรามักเห็น Socket ประเภทนี้บน CPU ของ AMD โดยทาง AMD จะเรียกรหัส Socket แบบ PGA ว่า AM (เลขรุ่น)
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Socket_478 และ https://www.profesionalreview.com/wp-content/uploads/2021/01/PGA.jpg
ถ้ามองข้ามเรื่องความชอบส่วนตัวของค่าย CPU ไปแล้ว การใช้งาน Socket แบบ PGA จะประหยัดงบโดยรวมได้มากกว่า เพราะหากเกิดปัญหากับขา (Pin) ของ CPU เราก็สามารถเลือกซื้อ CPU ตัวใหม่มาเปลี่ยนได้ แต่หากเป็น Socket แบบ LGA นั้นจะต้องเปลี่ยนเมนบอร์ดยกแผง ไม่สามารถเปลี่ยนเฉพาะ CPU ได้ ทำให้อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
อย่างไรก็ตาม การใช้งาน CPU แบบ PGA ก็มีความเสี่ยงที่ขา (Pin) จะเอียงจากการเสียบได้มากกว่าแบบ LGA แต่หากขา (Pin) หักคา Socket ก็ต้องเปลี่ยนทั้งเมนบอร์ดและ CPU ทั้งคู่อยู่ดี สิ่งสำคัญคือควรเลือกซื้อ CPU ที่มีขนาดและรุ่นตรงกับ Socket ของตัวเครื่อง และระมัดระวังในการถอดเปลี่ยนชิป CPU เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
ภาพจาก : https://www.rlocman.ru/i/Image/2010/09/29/image001.jpg
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |