เชื่อว่าสำหรับมือใหม่ในการแต่งคอมจะเลือกอัพเกรดคอมทั้งทีก็ต้องเลือกที่ หน่วยประมวลผลกลาง หรือ CPU (Computer Processor Unit) แจ่ม ๆ มาเพิ่มความแรงในการประมวลผลเครื่องอย่างแน่นอน แต่ก่อนที่จะไปซื้อหรือกดเลือกซื้อผ่านร้านออนไลน์ต่าง ๆ แล้วก็ควรทำการบ้านกันซักเล็กน้อย เพราะไม่งั้นคงจะปวดหัวกับการเลือกซื้ออย่างแน่นอนเนื่องจากรายละเอียดยิบย่อยในการเลือกก็มีทั้งจำนวน Core, Thread และความไวของ Clock Speed ทำให้คนที่ไม่คุ้นเคยอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าศัพท์พวกนี้มันคืออะไรกัน ? แล้วมันจะส่งผลอะไรต่อความเร็วในการประมวลผล CPU ของเรากันบ้างนะ ?
CPU Core เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการประมวลผลข้อมูล, ถอดรหัส, และสั่งการคำสั่งต่าง ๆ ไปยังส่วนประกอบอื่น ๆ ดังนั้นหลายคนจึงมักบอกว่า CPU นั้นเปรียบเสมือนกับมันสมองของเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเอง โดยถ้าหากเรามีจำนวน Core ที่มาก ก็ทำให้การประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ นั้นเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพราะมันสามารถประมวลผลชุดข้อมูลหลาย ๆ ชุดได้ในเวลาเดียวกัน
ภาพจาก : https://cs.calvin.edu/courses/cs/112/labs/10/
หรือจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ แล้วละก็ CPU Core เทียบได้กับสมองของมนุษย์ที่สั่งการให้ร่างกายขยับตามในการทำงานต่าง ๆ ได้สำเร็จ และยิ่งมีจำนวน Core (สมอง) มากเท่าไหร่ก็ช่วยให้สามารถคิดงานได้ไว และหลากหลายมากยิ่งขึ้นเพราะสามารถคิดงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันได้ ไม่ต้องรอให้คิดเรื่องนี้จบแล้วค่อยไปคิดอีกเรื่องหนึ่งนั่นเอง
ในส่วนของ CPU Thread นั้น เป็นช่องทาง (Channel) ในการส่งผ่านข้อมูลที่ CPU ประมวลผลเป็นที่เรียบร้อยแล้วไปยังที่ต่าง ๆ ซึ่งจำนวน Thread ที่มากขึ้นนั้นก็ทำให้สามารถส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์แบบหลาย ๆ งาน (Multitasking) อย่างการพิมพ์งานไปพร้อม ๆ กับการฟังเพลงได้ เป็นต้น
ภาพจาก : https://centralvalleycomputerparts.com/articles/processor-speed-cores-threads-and-clock-speed/
และถ้าหาก CPU Core คือสมองของมนุษย์แล้วนั้น CPU Thread ก็เปรียบได้กับแขนขาที่จะช่วยทำงานต่าง ๆ ตามความต้องการของสมอง โดยปกติแล้ว CPU จะมีเพียงแค่ขาหรือแขนเพียงข้างเดียวเท่านั้นทำให้ทำงานได้ทีละอย่างหรือทำงานได้ช้า ดังนั้นหากเราเพิ่มจำนวนแขนขาที่มากขึ้นก็น่าจะช่วยให้สามารถทำงานได้ง่ายดายและหลากหลายมากขึ้นในเวลาเดียวกัน
สำหรับ Clock Speed ก็สามารถเดาง่าย ๆ ได้เลยว่าเป็นความไวในการประมวลผลของ CPU อย่างแน่นอน เพราะถึงแม้ว่าจำนวน CPU Core ที่มากจะช่วยให้ประมวลผลข้อมูลได้ไวขึ้นเนื่องจากมันสามารถประมวลผลพร้อมกันได้หลายชุดข้อมูลในเวลาเดียวกัน
แต่ว่า Clock Speed นั้นจะเป็นตัวกำหนดความไว ในการประมวลผลข้อมูลแต่ละชุดนั่นเอง โดยหน่วยความเร็วในการประมวลผลของ CPU จะใช้หน่วยเป็น Hertz (Hz) ที่ 1 Hz จะมีค่าเท่ากับ 1 รอบต่อวินาที แต่การทำงานของ CPU นั้นจะใช้หน่วยเริ่มต้นเป็น Gigahertz (GHz) ซึ่งเท่ากับ 1 พันล้านรอบต่อวินาที
ภาพจาก : https://centralvalleycomputerparts.com/articles/processor-speed-cores-threads-and-clock-speed/
ดังนั้นมันจึงเปรียบได้กับความว่องไวในการคิดคำนวณสิ่งต่าง ๆ ของสมองก่อนทำการสั่งการออกไปยังร่างกายให้ขยับตาม ซึ่งจำนวน Clock Speed ที่มากก็แสดงว่าเราสามารถคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนน่าจะเกิดคำถามนี้ขึ้นในใจ แต่ความจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นไปเสียหมด เพราะอันที่จริงแล้วในช่วงแรก ๆ ของการใช้งานคอมพิวเตอร์นั้น CPU มีเพียงแค่ Core กับ Clock Speed เท่านั้น ยังไม่มี Thread มาช่วยทุ่นแรงในการส่งต่อข้อมูล ทำให้ Core ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งประมวลผลและส่งต่อข้อมูลไปยังที่อื่น ๆ ซึ่งหากต้องการให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลได้ไวขึ้นก็ต้องหวังพึ่งพา Clock Speed ให้ทำรอบการหมุนประมวลผลเร็วขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น และมันก็ส่งผลให้ “เครื่องร้อน” ได้ง่ายและกินไฟมากกว่าปกติ
ภาพจาก : https://www.pcgamer.com/cpu-temperature-overheat/
ดังนั้นจึงมีการคิดค้น CPU Thread ขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ Core ในการส่งต่อข้อมูลไปยังที่อื่น ๆ และลดภาระของ Clock Speed ลง ถัดมาก็มีการคิดค้น CPU แบบ Multi-Core ที่ช่วยเพิ่มมันสมองของคอมพิวเตอร์ขึ้นและการเพิ่มจำนวน Threads เข้ามาอีกก็ยิ่งช่วยให้คอมพิวเตอร์ สามารถทำงานได้อย่างลื่นไหลและว่องไวขึ้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมองหา CPU ที่มีรอบ Clock Speed เยอะ ๆ เพื่อเพิ่มความเร็วของการประมวลผลแล้ว (แต่แน่นอนว่า CPU ที่มีรอบ Clock Speed สูงก็ช่วยให้ประมวลผลเร็วขึ้นจริง เพียงแต่ในปัจจุบันเรามีตัวเลือกอื่นในการเพิ่มความแรงของ CPU เข้ามาเพิ่มเติมแล้ว)
CPU ที่มีจำนวน Core และ Thread ที่มากกว่าจะช่วยประหยัดเวลาในการทำงานเพราะสามารถประมวลผลคำสั่งหลาย ๆ ชุดในเวลาเดียวกัน
ภาพจาก : https://www.guru99.com/cpu-core-multicore-thread.html
แต่ถึงแม้ว่าโปรแกรมส่วนมากในปัจจุบันนี้จะรองรับการทำงานแบบ Multi-Core และ Multi-Treading เพื่อให้การทำงานต่าง ๆ สะดวกมากขึ้น แต่ “บางโปรแกรม” ก็ยังไม่ได้รองรับการทำงานของ Multi-Core และ Multi-Treading โดยสมบูรณ์ ดังนั้นการเลือก CPU ที่มีจำนวน Core และ Thread เยอะ ๆ อาจไม่ช่วยให้คอมพิวเตอร์ของเราทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเสมอไป เพราะบางโปรแกรมอาจมีการทำงานแบบ Single/Dual-Core และ Single/Dual-Threading เท่านั้น แต่หากเลือกใช้ CPU แบบ 4-Core ก็ไม่ได้ช่วยให้สามารถทำงานได้ไวขึ้น เพราะโปรแกรมไม่รองรับการใช้งานตามสเปคของ CPU นั่นเอง
สิ่งสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อ CPU ไม่ได้อยู่แค่ที่จำนวนของ Core, Thread หรือความไวของ Clock Speed เท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับ “จุดประสงค์ในการใช้งาน” ของผู้ใช้เป็นหลัก เพราะ CPU ที่ต่างกันก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหากเป็นการใช้งานทั่วไปก็ไม่ได้จำเป็นต้องเลือก CPU ที่แรงมากนักก็สามารถรองรับการใช้งานอย่างครอบคลุมแล้ว
แต่ในกรณีถ้าหากเป็นสายเล่นเกม (Gaming) แล้วละก็อาจจะต้องพิจารณาเลือก CPU Intel Core i7 หรือ AMD Ryzen 7 ขึ้นไปเพื่อความลื่นไหลในการเล่นเกม (แต่บางเกมก็อาจจะเล่นได้ไม่ลื่นมากนักเพราะไม่ได้รองรับการใช้งานตามสเปคของ CPU) หรือถ้าเป็นคนทำงานสายออกแบบกราฟิก (Graphic Design) ก็ขอแนะนำให้เลือก Intel Core i9 หรือ AMD Ryzen 9 เพื่อให้การประมวลผลการใช้งานด้านกราฟิกเป็นไปได้ด้วยดีและ Render งานได้อย่างว่องไว
ข้อมูลเพิ่มเติม : Intel Core i3, i5, i7, i9 และ X คืออะไร ? CPU เหล่านี้มีเทคโนโลยี ที่แตกต่างกันอย่างไร ?
ตัวอย่างเช่นในคลิปด้านบนที่มีการเปรียบเทียบการทำงานของ Ryzen 5 3600 ที่เป็น CPU ตัวกลางจากค่าย AMD กับ Core i7 8700 ที่เป็น CPU รุ่นเกือบท๊อปของค่าย Intel ในการทดสอบเล่นเกมส์เดียวกันทั้งหมด 10 เกม ก็จะเห็นได้ว่า CPU ทั้ง 2 ตัวก็แสดงผลการใช้งานออกมาแทบไม่ต่างกันหรือต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้โดดจากกันมาเท่าไรนัก (แต่ตัวอย่างด้านบนก็เป็นเพียงแค่การทดสอบประสิทธิภาพในการเล่นเกมเท่านั้น หากเป็นการใช้งานโปรแกรมอื่น ๆ อาจมองเห็นความแตกต่างกันมากกว่านี้ก็เป็นได้)
ข้อมูลเพิ่มเติม : CPU Cache คืออะไร ? L1, L2 และ L3 Cache ของ CPU แตกต่างกันอย่างไร ?
อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้มี CPU ตัวใดที่การันตีความแรงของการประมวลผลการใช้งานอย่างชัดเจน แม้ว่า CPU ที่มี Core และ Thread จำนวนมากกว่าจะส่งผลให้ประมวลผลได้ไวกว่า CPU ที่ด้อยกว่า แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งานล้วน ๆ และยิ่งไปกว่านั้นอีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็ได้แก่ “งบประมาณ” ที่เราพร้อมจะลงทุนเพื่อแลกกับ CPU ที่มีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของเรานั่นเอง
ซึ่งหากใครงบน้อยก็อาจจำเป็นต้องเลือก CPU ตัวกลาง ๆ ที่ใช้งานได้แบบครอบคลุมแทน CPU รุ่นท๊อปที่รองรับการใช้งานแบบตรงจุด เพราะราคาของ CPU แต่ละรุ่นก็มีส่วนต่างที่ค่อนข้างมากทีเดียว ดังนั้นผู้ใช้ก็ควรพิจารณางบประมาณและความต้องการในการใช้งานของเราก่อนที่จะเลือกซื้อ CPU ใหม่น่าจะเป็นการดีที่สุด
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |
ความคิดเห็นที่ 1
2 พฤศจิกายน 2566 16:17:25
|
||
อดีต cpu ที่สเปคสูงขึ้น มักมี ทรานซีสเตอร์เพิ่มขึ้นเลยเอา จำนวนทราน ซีสเตอร์ เป็นตัวอ้างอิงระดับ CPU อันนี้ เปรียบเทียบได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นคอร์ กับ เทรด ...คำถาม มาตรที่ชี้วัดว่า1คอร์ หรือ1 เทรด คือ อะไร แล้ว cpu ต่างยี่ห้อ กัน 4คอร์ เหมือนกัน คุณภาพมันจะใกล้เคียงกันจริงไหม .... มีแต่คำพูด ไม่แสดงจุดอ้างอิง กันเลย เช่น 1กก. เท่าน้ำหนัก 1000กรัม นี่คือมาตรฐานของหน่วยวัด ......
|
||