ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/saas-concept-collage_26301275.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 1,003
เขียนโดย :
0 SaaS+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3+%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Software as a Service (Saas) คืออะไร ?

ในยุคปัจจุบันนี้ เทคโนโลยี "Software as a Service (SaaS)" กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ธุรกิจ และผู้ใช้ทั่วไปเข้าถึงซอฟต์แวร์ และบริการต่าง ๆ จากเดิมที่ต้องซื้อ และติดตั้งซอฟต์แวร์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ กลายเป็นการเข้าถึงซอฟต์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว

บทความเกี่ยวกับ SaaS อื่นๆ

SaaS ช่วยลดภาระในการดูแลรักษา และการอัปเดตซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นในการขยายระบบให้ใหญ่ขึ้น หรือเล็กลง ตามความจำเป็นในการใช้งาน บทความนี้จะแนะนำพื้นฐานของ SaaS ว่ามันมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง ? ...

เนื้อหาภายในบทความ

Saas คืออะไร ? (What is Software as a Service ?)

Software as a Service หรือ SaaS หมายถึง รูปแบบการส่งมอบซอฟต์แวร์ผ่านเทคโนโลยี การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) ซึ่งซอฟต์แวร์จะถูกโฮสต์ (Host) ไว้บน เครื่องแม่ข่าย หรือ เซิร์ฟเวอร์ (Server) ของผู้ให้บริการ และเปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้งานซอฟต์แวร์ได้ผ่าน อินเทอร์เน็ต (Internet) นั่นเอง

โดยผู้ให้บริการ SaaS จะรับผิดชอบการจัดการดูแลฝั่งโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure), ซอฟต์แวร์, แอปพลิเคชัน และข้อมูล นั่นหมายความว่าผู้ใช้ระบบของ SaaS จะทำงานบนอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สามารถเข้าถึงบริการได้จากทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดหรือติดตั้งแอปพลิเคชันก็สามารถใช้งานได้ผ่าน  โปรแกรมเปิดเว็บ หรือ เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) เพราะมันทำงานในรูปแบบของ เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application หรือ Web App) แต่บางบริการก็มีซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันให้สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งด้วยตัวเองบนเครื่องได้หรือที่เรียกว่า เครื่องลูกข่าย หรือ ไคลเอนต์ (Client)

โมเดลการให้บริการของ SaaS แตกต่างจากการให้สิทธิ์ใช้งานซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมเป็นอย่างมาก ซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมมักจะต้องซื้อสิทธิ์ใช้งานสำหรับผู้ใช้ หรืออุปกรณ์แต่ละราย ฝ่ายไอทีจะจัดการการติดตั้ง และอัปเดตภายในองค์กรด้วยตนเอง แต่ใน SaaS ผู้ใช้จ่ายค่าซอฟต์แวร์ในรูปแบบการสมัครสมาชิก (Subscribe) มีหน้าที่ใช้งานเป็นหลัก แล้วผู้ให้บริการจะคอยดูแลการอัปเดต และสนับสนุน เรื่องอื่น ๆ ให้เกือบทั้งหมด

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://www.saasacademy.com/blog/what-is-a-saas-company

SaaS ทำงานอย่างไร ? (How does Software as a Service work ?)

โดย SaaS ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Infrastructure) เข้ามาช่วยในการส่งมอบซอฟต์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยพื้นฐานแล้วจะมีองค์ประกอบ และขั้นตอนที่จำเป็นต่อการทำงานดังนี้

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://medium.com/@IDMdatasecurity/saas-how-it-works-and-which-problems-it-has-a05495cbfca

โฮสติ้ง (Hosting)

ผู้ให้บริการ SaaS เป็นผู้โฮสต์ซอฟต์แวร์บนเซิร์ฟเวอร์ของตนเอง หรือผ่านผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ภายนอก (Third-Party Cloud Infrastructure Provider) ซึ่งช่วยผู้ใช้บริการลดความจำเป็นในการจัดการฮาร์ดแวร์ และโครงสร้างซอฟต์แวร์ (Software Infrastructure) ด้วยตนเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม : 3rd Party คืออะไร ? หรือบุคคลที่สาม คืออะไร ? แล้ว 1st Party กับ 2nd Party หายไปไหน ?

การเข้าถึง (Access)

ผู้ใช้บริการจะเข้าถึงซอฟต์แวร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งโดยปกติก็จะเข้าผ่านเว็บเบราว์เซอร์, แอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต นั่นหมายความว่าผู้ใช้สามารถใช้งาน SaaS ได้จากอุปกรณ์อะไรก็ได้ที่มันเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้

สถาปัตยกรรมแบบผู้เช่าหลายราย (Multi-Tenant Architecture)

SaaS ส่วนใหญ่จะใช้สถาปัตยกรรมแบบผู้เช่าหลายราย (Multi-Tenant Architecture) โดยซอฟต์แวร์เวอร์ชันเดียวกันสามารถให้บริการลูกค้าหลายราย โดยที่ข้อมูล และการกำหนดค่าของลูกค้าแต่ละราย สามารถเก็บแยกกันอย่างอิสระ และมีความปลอดภัย

การบำรุงรักษา และการอัปเดต (Maintenance and Updates)

ผู้ให้บริการ SaaS มีหน้าที่รับผิดชอบในการบำรุงรักษาซอฟต์แวร์, อัปเดต และการจัดการความปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการแก้ไขช่องโหว่, เพิ่มคุณสมบัติใหม่ และการประกันความพร้อมให้ใช้งานได้ตลอดเวลา

รูปแบบการสมัครสมาชิก (Subscription Model)

ผู้ให้บริการ SaaS มักนำเสนอบริการในรูปแบบการสมัครสมาชิก ซึ่งอาจเป็นรายเดือน หรือรายปี รูปแบบนี้ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายที่คาดการณ์ได้ และลดความจำเป็นในการลงทุนล่วงหน้าเกินความจำเป็น

การผสานรวม (Integration)

แอปพลิเคชัน SaaS หลายตัวมี ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (API) ที่ช่วยให้สามารถผสานรวมกับแอปพลิเคชัน และระบบซอฟต์แวร์อื่นๆ  ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการทำงานอัตโนมัติในกระบวนการทำงานเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ

ประเภทของ SaaS (Types of Software as a Service)

SaaS มีให้บริการอยู่หลายรูปแบบตามประเภทของซอฟต์แวร์ แต่ที่เราสามารถพบเห็นมันได้อยู่บ่อยครั้ง ก็จะมีดังต่อไปนี้

Accounting SaaS

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://unito.io/blog/what-is-xero/

Accounting SaaS เป็นระบบ SaaS สำหรับงานบัญชีที่มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า สำหรับธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง ในการจัดการกระบวนการทางบัญชี ช่วยให้ธุรกิจสามารถเก็บข้อมูลทางการเงินได้อย่างปลอดภัย และเข้าถึงระบบบัญชี จากคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

Accounting SaaS มีเครื่องมือหลายอย่างที่สามารถช่วยให้องค์กรปรับปรุงการจัดการด้านการเงิน และกระบวนการทางธุรกิจได้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสามารถตั้งค่าแจ้งเตือนการออกใบแจ้งหนี้อัตโนมัติ หรือบัญชีธนาคารที่เชื่อมโยงอยู่ เพื่อชำระบิลได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดาย การทำงานทางบัญชีแบบอัตโนมัติช่วยให้เกิดความถูกต้องแม่นยำมากขึ้นในบัญชี และปรับกระบวนการทำงานให้เป็นระเบียบ 

Content Management System (CMS) SaaS

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://wordpress.org/documentation/article/dashboard-screen/

ระบบการจัดการเนื้อหา หรือ Content Management System (CMS) SaaS ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยจัดการการสร้าง และการปรับแต่งเนื้อหาดิจิทัล สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ตั้งแต่บล็อกเกอร์ (Blogger) ไปจนถึงบริษัทต่าง ๆ ที่มีความต้องการเครื่องมือช่วยในการจัดการเนื้อหาทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นข้อความ, รูปภาพ (Image), วิดีโอ (Video) หรือ ไฟล์เสียง (Audio) โดย CMS ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้าง และจัดการหน้าเว็บได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

และเหตุผลที่ CMS เป็นที่นิยม ก็เพราะมันต้องการความรู้ทางเทคนิค หรือทักษะการเขียนโค้ดน้อยมาก ทำให้ทุกคนที่มีทักษะคอมพิวเตอร์ระดับพื้นฐานก็สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ CMS ยังมีคุณสมบัติการทำงานที่หลากหลายที่จำเป็นต่อการทำงานเตรียมไว้ให้แล้ว เช่นการควบคุมสิทธิ์, การกำหนดระดับการเข้าถึงของผู้ใช้, การสำรองข้อมูลอัตโนมัติ, การติดตาม, การวิเคราะห์ ฯลฯ

อย่าง WordPress ก็นับเป็นแพลตฟอร์ม CMS แบบโอเพนซอร์ส ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีชื่อเสียงในเรื่องการใช้งานง่าย, ปรับแต่งได้เยอะ และมีความยืดหยุ่น

Customer Relationship Management (CRM) SaaS

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://gettectonic.com/differences-between-salesforce-sales-cloud-and-salesforce-service-cloud-explained/

ระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือ Customer Relationship Management (CRM) SaaS เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวลูกค้าด้วย ทำให้ CRM เป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อกระบวนการทำงานของธุรกิจหลายประเภท บริษัทที่ใช้ CRM จะสามารถติดตามข้อมูลลูกค้าได้ เช่น พฤติกรรมการซื้อ เพื่อปรับแต่งกลยุทธ์การตลาดตามข้อมูลที่เก็บมาวิเคราะห์ได้

CRM SaaS ยังสามารถใช้ในการวัดประสิทธิภาพของช่องทางการขาย โดยระบบส่วนใหญ่จะให้ข้อมูลการวิเคราะห์เป็นตัวเลขอย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังช่วยให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้นโดยเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ประวัติการซื้อ เพื่อมาวิเคราะห์เกี่ยวกับความชอบ และความต้องการของลูกค้า ช่วยให้บริษัทสามารถตอบสนองต่อคำถาม หรือข้อร้องเรียนเร่งด่วนได้เร็วขึ้น

Enterprise Resource Planning (ERP) SaaS

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://www.sap.com/sea/products/erp/business-bydesign.html

ERP SaaS เป็นเครื่องมือ SaaS สำหรับจัดการกระบวนการทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ เช่น การจัดการสินค้าคงคลัง, การสั่งซื้อ, การจัดตารางการดำเนินงาน, การจัดการลูกค้าสัมพันธ์, การจัดการทรัพยากรองค์กร และงานบัญชีการเงิน เป็นไปอย่างราบรื่น

โดยการทำให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปแบบอัตโนมัติ และให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ เกี่ยวกับการวัดประสิทธิภาพ ERP SaaS จึงสามารถช่วยลดเวลาการตอบสนองต่อคำขอของลูกค้า และลดภาระงานที่พนักงานต้องรับผิดชอบให้น้อยลงอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบดิจิทัลแล้ว

Project Management SaaS

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://asana.com/apps/trackingtime

ตามชื่อของมันเลยซอฟต์แวร์การจัดการโครงการ หรือ Project Management SaaS เป็นเครื่องมือที่องค์กรใช้ในการวางแผน, ดำเนินการ และตรวจสอบโครงการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยสร้างกระบวนการทำงาน หรือ Workflow ที่มีประสิทธิผล และมอบความรับผิดชอบให้กับสมาชิกในทีม

ทีมสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการจัดการโครงการ และงานต่าง ๆ พร้อมทั้งรักษาการสื่อสารให้ชัดเจนสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยลดโอกาสในการสื่อสารผิดพลาด และข้อผิดพลาด จึงลดเวลา และความเสี่ยงลง

Communication SaaS

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://www.zoho.com/desk/

Communication SaaS ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักส่วนหนึ่งก็มาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะกลับสู่ปกติแล้ว แต่ผู้คนยังคงใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นวิธีหลักในการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทที่มีการทำงานจากระยะไกลและบริษัทระหว่างประเทศ

ประโยชน์ที่โดดเด่นที่สุดของการใช้ Communication SaaS คือความสามารถในการสร้างช่องทางที่ผู้ใช้สามารถสนทนาได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องล่าช้าในการสื่อสารเนื่องจากสถานที่หรือความแตกต่างของเวลา ทั้งการแชท, การโทรวิดีโอ, การโทรด้วยเสียง และการจัดตารางการประชุม นอกจากนี้ Communication SaaS  ยังให้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่ทีม ข้อมูลมีการเข้ารหัสเพื่อรักษาความปลอดภัย

Human Resources SaaS

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://www.workday.com/en-gb/products/human-capital-management/human-resource-management.html

Human Resources SaaS หรือ HR SaaS เป็น SaaS สำหรับจัดการทรัพยากรบุคคล มันเป็นวิทยาการกำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นในโลกธุรกิจ มันช่วยให้องค์กรสามารถจัดการข้อมูลพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างกระบวนการ HR ที่เป็นระบบตั้งแต่การสรรหา จนถึงการเกษียณอายุ ซึ่งช่วยประหยัดเวลา และลดต้นทุนได้ดีกว่ากระบวนการ HR แบบดั้งเดิม

HR SaaS ส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานร่วมกันกับระบบเงินเดือน หรือซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างไร้รอยต่อ มีเครื่องมือการวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ และกระบวนการอัตโนมัติ ที่ลดงานที่ต้องทำด้วยมือ เช่น การสร้างรายงาน หรือการสื่อสารระหว่างแผนก ทั้งหมดนี้ช่วยลดความเสี่ยง, ประหยัดเวลา และต้นทุน

Billing SaaS Applications

SaaS คืออะไร ? รู้จักซอฟต์แวร์บริการ ใช้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
ภาพจาก : https://baremetrics.com/blog/stripe-vs-baremetrics-which-is-best-for-saas-metrics

ในการทำธุรกิจ ระบบเก็บเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้งานง่าย และเชื่อถือได้ นั่นคือเหตุผลที่การเลือกช่องทางการชำระเงิน และวิธีการเรียกเก็บเงินที่ถูกต้องจึงสำคัญมาก 

Billing SaaS Applications หลายรายมีให้บริการชำระเงินที่สามาถรวมเข้ากับเว็บไซต์ของผู้ใช้ได้ เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถทำรายการชำระเงินได้อย่างรวดเร็ว และยังมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัย เช่น การป้องกันการฉ้อโกง

ประวัติความเป็นมาของ SaaS (History of Software as a Service)

Software-as-a-Service (SaaS) อาจดูเหมือนเป็นแนวคิดใหม่ในการใช้งานซอฟต์แวร์ที่เพิ่งมีไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิดแนวคิดของมัน เราสามารถย้อนกลับไปถึงยุคที่คอมพิวเตอร์ยังเป็นเมนเฟรมอยู่เลย ในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1960 - 1970 (พ.ศ. 2503 - 2513) ที่ในการใช้งานผู้ใช้จะใช้คอมพิวเตอร์ผ่านเครื่องเทอร์มินัล (Terminal) ในการเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมที่ทำหน้าที่เป็นโฮสต์ของซอฟต์แวร์ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม โมเดล SaaS ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพิ่งจะเริ่มต้นในช่วงยุค ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น จนทำให้เราสามารถที่ใช้งานซอฟต์แวร์ผ่านเว็บไซต์ได้ ซึ่งทำให้เกิดโมเดล SaaS ขึ้นมาในที่สุด

ซอฟต์แวร์แบบ SaaS ในช่วงเริ่มต้น ก็จะเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างพื้นฐาน เช่น ระบบอีเมล, CRM, Project Management SaaS ฯลฯ พวกมันได้รับการออกแบบให้เข้าใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ ทำให้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งลงบน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC)

SaaS ในยุคแรกเริ่มค่อนข้างมีปัญหาหลายอย่าง หลัก ๆ ก็จะเป็นเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ช้า และมีแบนด์วิดท์จำกัด อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้ค่อย ๆ ลดลง เมื่อโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตพัฒนาดีขึ้น

จนปัจจุบันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้าน Cloud Computing ทำให้การให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้เซิร์ฟเวอร์ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

ข้อดี และข้อสังเกต ของ SaaS (Pros and Cons of Software as a Service)

ข้อดี

  • สามารถเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์, ทุกที่ ทุกเวลาที่มีอินเทอร์เน็ต
  • ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องมี ผู้พัฒนา (Developer) หรือผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาใช้งานเอง ก็สามารถใช้งานบริการได้อย่างลื่นไหล
  • ไม่ต้องดูแลฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ด้วยตัวเอง
  • ทราบจำนวนเงินที่แน่นอนที่ต้องจ่ายเพื่อสมัครใช้บริการ จึงสามารถควบคุมงบประมาณที่ใช้จ่ายไปกับการใช้งานระบบ Cloud ได้

ข้อสังเกต

  • สามารถใช้งานได้เฉพาะฟีเจอร์ต่าง ๆ ของซอฟต์แวร์ที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถเพิ่ม หรือปรับแต่งแก้ไขซอฟต์แวร์ในระบบได้
  • เป็นสมาชิกของบริการ ไม่ได้เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์โดยตรง
  • ไม่สามารถย้ายข้อมูลไปยังบริการ หรือแพลทฟอร์มอื่นได้

 


ที่มา : www.sap.com , www.salesforce.com , www.techtarget.com , aws.amazon.com , statrys.com

0 SaaS+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3+%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น