ในปัจจุบันนี้ การทำสมาร์ทโฮม หรือบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยาก และต้องใช้เงินลงทุนสูงเหมือนในอดีตอีกต่อไป ด้วยเงินลงทุนเพียงไม่กี่ร้อยบาท เราก็สามารถเริ่มทำสมาร์ทโฮมด้วยตนเองได้แล้วนะ
สำหรับแพลตฟอร์มของสมาร์ทโฮมที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้เป็นจำนวนมาก ขณะนี้ก็จะมีอยู่ 3 แพลตฟอร์ม ประกอบไปด้วย Apple HomeKit, Google Home และ Amazon Alexa
คำถามคือ แล้วเราจะเลือกใช้งานแพลตฟอร์มไหนดีนะ ? ในบทความนี้เราจะมาแนะนำข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละแพลตฟอร์มกัน
เรื่องน่ารู้ : ในระบบสมาร์ทโฮมจะมีอุปกรณ์ที่เป็นหัวใจหลัก คือ ลำโพงอัจฉริยะ (Smart speakers) และสมาร์ทโฮมฮับ Smart home hub มันทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับควบคุมอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่อยู่ภายในระบบ โดยไม่เกี่ยงว่ามันจะเป็นอุปกรณ์ชนิดไหน ยี่ห้ออะไรก็ตาม ให้สามารถสื่อสารถึงกันได้
ภาพจาก : https://www.apple.com/th/ios/home/
Apple HomeKit เป็นแพลตฟอร์มที่มีจุดเด่นในด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด และเอาใจใส่ในด้านการดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม แม้มันจะเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับอีก 2 แพลตฟอร์มที่เหลือ แต่มันก็มีจุดแข็งที่น่าสนใจไม่แพ้แพลตฟอร์มคู่แข่งนะ
สาเหตุที่ทำให้ Apple HomeKit ได้รับความนิยมน้อย มีเหตุผลมาจากทิศทางในการพัฒนาของตัวมันเองที่แตกต่างไปจากระบบนิเวศ (Ecosystems) Amazon Alexa และ Google Home โดย Apple HomeKit จะให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ ซึ่งนั่นทำให้ระบบของตัว Apple HomeKit มีข้อจำกัดทางด้านนวัตกรรม จากความที่เป็นระบบปิดตามวัฒนธรรมการทำงานของบริษัท Apple
ในการทำงานของแพลตฟอร์ม Apple HomeKit จะพึ่งพาฮาร์ดแวร์จากบริษัท บุคคลที่สาม (3rd-Party) เป็นหลัก เนื่องจากทาง Apple มีการผลิตฮาร์ดแวร์ บุคคลที่หนึ่ง (1st-Party)อย่างลำโพงอัจฉริยะ หรืออุปกรณ์บ้านอัจฉริยะออกมาเพียงไม่กี่รุ่น
ลำโพง Apple HomePod รุ่นแรก หยุดผลิตไปตั้งแต่ ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ในปัจจุบันเหลือเพียงแค่ HomePod Mini เท่านั้น ที่ยังมีวางจำหน่ายอยู่ ต่างจาก เฉพาะตัว Amazon และ Google ก็มีลำโพงอยู่หลายรุ่น และยังมีหน้าจออัจฉริยะให้เลือกใช้งานอีกด้วย หากรวมกับอุปกรณ์จากผู้ผลิต 3rd-Party ด้วยอีก จะเห็นว่าทางเลือกของ Apple มีไม่มากนัก
HomePod Mini
ภาพจาก : https://www.apple.com/homepod-mini/
ผู้ช่วยคำสั่งเสียง (Voice Assistant) ของ Apple HomeKit จะสั่งการผ่าน Siri แม้ว่าทาง Apple จะพัฒนาความสามารถของ Siri มาอย่างต่อเนื่อง แต่พัฒนาการของมันก็ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ในด้านความสามารถในการรับคำสั่ง และตอบสนองต่อประโยคคำพูด Siri ก็แพ้ Google Assistant แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ Siri จะไม่สามารถรับคำสั่งที่มีความซับซ้อนได้เท่ากับ Google Assistant แต่ความธรรมชาติ และมีอารมณ์ขันก็ทำให้มันมีความน่ารักไว้ไปใช้สู้กับคู่แข่งได้
ข้อจำกัดของ Siri คือการที่ Apple ทำให้มันเป็นระบบปิด ทำให้อุปกรณ์ที่สามารถสั่งงานผ่าน Siri มีค่อนข้างน้อยกว่าคู่แข่งอย่าง Google Home และ Amazon Alexa ที่ให้อิสระเปิดกว้างกว่ามาก
ในส่วนของประสบการณ์ด้านความบันเทิง Siri ได้รับการพัฒนาให้ทำงานร่วมกับ Apple Music และ Podcasts ได้โดยตรง แต่ก็รองรับการสตรีมมิ่งจากผู้ให้บริการรายอื่น ๆ เช่น Pandora, Deezer, Spotify, Amazon Music ได้เช่นกัน โดยอาศัยอุปกรณ์อื่น ๆ ของ Apple อย่าง iPhone หรือ iPad เข้ามาช่วย
สรุปได้ว่า Siri เป็นผู้ช่วยคำสั่งเสียงที่ใช้งานได้ดี แม้ความ Apple จะทำให้เราคาดหวังว่ามันจะควรทำได้ดีกว่านี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ยังตอบโจทย์ทำงานพื้นฐานได้เป็นอย่างดี
ภาพจาก : https://www.apple.com/ios/home/
Apple HomeKit มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างยุ่งยากในการผ่านมาตรฐานที่รองรับ โดยขณะนี้มีอุปกรณ์ที่รองรับอยู่ไม่ถึง 1,000 รุ่น ในขณะที่แพลตฟอร์ม Alexa และ Google Home มีอุปกรณ์ที่รองรับมากกว่า 50,000 รุ่น จากจำนวน 10,000 กว่ายี่ห้อ
โดยปัญหาก็มาจากความเข้มงวดของ Apple ที่ต้องการรักษามาตรฐานความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นหลัก ทำให้อุปกรณ์ที่จะผ่านการรับรองให้ทำงานร่วมกับ Apple HomeKit ได้มีการเติบโตทางตัวเลขที่ช้ามาก
Nest Hub (2nd Gen)
ภาพจาก : https://home.google.com/discover/
แพลตฟอร์ม Google Home เป็นแพลตฟอร์มสมาร์ทโฮม ที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับที่สอง แม้มันจะถือว่าเป็นน้องใหม่ในวงการนี้ แต่ก็มีการพัฒนาคุณสมบัติในการทำงานอย่างรวดเร็ว จนขึ้นมาเป็นอันดับสอง ซึ่งมันก็มีคุณสมบัติบางอย่างที่น่าสนใจกว่า Alexa ที่ครอบครองอันดับหนึ่งอยู่ด้วยซ้ำไป
จุดแข็งที่ทำให้ Google สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดของสมาร์ทโฮม ได้อย่างรวดเร็ว คือการที่มีลำโพงอัจฉริยะ (Smart Speaker) ราคาถูกให้เลือกซื้อหามาใช้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นลำโพง Nest Mini ของทาง Google เอง หรือจากผู้ผลิต 3rd-Party รายอื่น ๆ ก็ตาม ทำให้การเข้ามาใช้งานระบบ Google Home นั้นเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
แม้การเลือกใช้ลำโพงที่มีราคาถูก อาจจะทำให้คุณได้ลำโพงที่คุณภาพเสียงธรรมดา ไม่ได้เบสหนัก ซาวด์สเตจ (Sound Stage) เสียงกว้าง แต่เรื่องความฉลาดที่มันทำได้ ก็ไม่ต่างไปจากลำโพงอัจฉริยะราคาแพงเลยแม้แต่น้อย
ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของ Google Home ก็เป็นระบบที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้ผู้ผลิตสามารถคิดค้นไอเดียมาใส่ในผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์สิ่งที่บ้านอัจฉริยะ จะสามารถทำได้
Nest Hub Max
ภาพจาก : https://store.google.com/us/product/google_nest_hub_max?hl=en-US
Google Home จะใช้ Google Assistant เป็นหัวใจหลักในการทำงาน ซึ่งเป็นระบบผู้ช่วยคำสั่งเสียง (Voice assistant) ที่มีความฉลาด และตอบสนองได้อย่างแม่นยำ ด้วยความที่ทาง Google นั้นลงทุนด้านการพัฒนา Artificial Intelligence (AI) มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในความท้าทายของผู้ที่ต้องการใช้งานระบบผู้ช่วยคำสั่งเสียง (Voice assistant) ก็คือการสื่อสารกับ AI ให้รู้เรื่อง ซึ่งในจุดนี้ทาง Google Assistant นั้น มีความเก่งกาจกว่า Alexa และ Siri มาก มันรองรับการทำงานได้มากกว่า 40 ภาษา รองรับทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษสำเนียงไทยด้วย ในด้านจำนวนรูปแบบคำสั่งเสียง ตัว Google Assistant ก็มีชุดคำสั่งที่หากนับรวมคำสั่งจากผู้ผลิตอุปกรณ์ 3rd-Party ด้วย ในฐานข้อมูลก็จะมีมากกว่า 1,000,000 คำสั่ง (เทียบเท่ากับ Alexa)
จากการทดสอบความสามารถในการเข้าใจประโยคของผู้ใช้งาน และตอบคำถามได้อย่างแม่นยำ มีการทดสอบของ Loup Ventures พบว่า Google Assistant นั้นสามารถตอบคำถามได้อย่างแม่นยำมากที่สุด โดยอยู่ที่ 92.9% ตามมาด้วย Siri 83.1% และสุดท้าย Alexa ที่ 79.8%
ผู้ช่วยคำสั่งเสียง | ตอบคำถามถูก | เข้าใจคำถาม |
Google Asistant | 92.9% | 100% |
Siri | 83.1% | 99.8% |
Alexa | 79.8% | 99.9% |
Nest Learning Thermostat
ภาพจาก : https://store.google.com/us/product/nest_learning_thermostat_3rd_gen?hl=en-US
ขณะนี้อุปกรณ์ที่มีให้เลือกใช้งานในระบบนิเวศใน Google Home อยู่มากกว่า 50,000 รุ่น ไล่ตามหลัง Alexa มาแบบหายใจรดต้นคอ ด้วยความร่วมมือจากผู้ผลิตนับพันยี่ห้อจากทั่วทุกมุมโลก โดยทั้งหมดสามารถผนวกการทำงานร่วมกับ Google Home ได้อย่างง่ายดาย
Billie Eilish Limited Edition - Echo Studio
ภาพจาก : https://www.amazon.com/dp/B0939S1B5R/ref=s9_acsd_al_bw_c2_x_4_t?pf_rd_m
สำหรับในประเทศไทย ชื่อของ Amazon (ที่ไม่ใช่ชื่อร้านกาแฟ) อาจจะไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ในต่างประเทศ ร้านค้า Amazon นี่ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับ Google และ Apple นะ เริ่มต้นจากร้านค้าออนไลน์สู่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมาวางจำหน่ายได้
Amazon Alexa เป็นระบบสมาร์ทโฮม (Smart Home) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (ยกเว้นในประเทศไทย เนื่องจากไม่รองรับภาษาไทย) โดยครองอันดับหนึ่งมาเป็นเวลาหลายปี โดยมีจุดแข็งที่ราคาอุปกรณ์เริ่มต้นต่ำมาก และมีจำนวน และประเภทอุปกรณ์ที่รองรับอยู่เป็นจำนวนมาก
การทำงานของ Amazon Alexa ก็ค่อนข้างมีความเสถียรสูง แม้จะมีอุปกรณ์หลายประเภทอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก แต่มันก็สามารถตอบสนองต่อคำสั่งได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มันไม่รองรับภาษาไทย (และภาษาอังกฤษที่สำเนียงไม่เป๊ะ) รวมไปถึงไม่มีร้านค้า Amazon ในประเทศไทย ต้องสั่งจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ทำให้การใช้งาน Amazon Alexa ในบ้านเราไม่เป็นที่นิยมมากนัก
Echo Dot (3rd Gen) Charcoal และ Mandalorian The Child Stand
ภาพจาก : https://www.amazon.com/Echo-Charcoal-Mandalorian-Child-stand/dp/B08GN5JG3W/ref
ด้วยความที่มันถูกพัฒนามาอย่างยาวนาน ทำให้ผู้ช่วยคำสั่งเสียงของ Amazon Alexa นั้นมีความฉลาดมาก สามารถรับคำสั่งที่มีความซับซ้อนได้ โดยจะรองรับคำสั่งเฉพาะตัวที่เรียกว่า "Unique Skill" ซึ่งเป็นคำสั่งที่ผู้พัฒนา 3rd-Party สร้างขึ้นมาเพื่อขยายขอบเขตความสามารถของ Amazon Alexa ให้รับคำสั่งเฉพาะตัวที่จำเป็นต่อการควบคุมอุปกรณ์บางประเภทได้
Amazon Alexa ยังรองรับการทำงานแบบตัวเลือกส่วนบุคคล (Personalization Option) ด้วย โดยสามารถฝึกให้มันจดจำเสียงได้มากสูงสุดถึง 10 เสียง ในกรณีที่มีผู้ใช้งานภายในบ้านหลายคน การจดจำเสียงที่แตกต่างกันนี้ จะทำให้ Amazon Alexa สามารถตอบสนองต่อคำสั่งได้อย่างเหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละคน
และถึงแม้วา Amazon Alexa จะรองรับการใช้งานหลายภาษา แต่หากเทียบกับ Siri และ Google Assistant แล้ว มันก็รองรับจำนวนภาษาน้อยกว่าคู่แข่งมาก ซึ่งภาษาไทยเองก็ไม่สามารถใช้งานกับ Amazon Alexa ได้
สามารถกล่าวได้เลยว่า Amazon Alexa นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่มีอุปกรณ์ที่รองรับให้เลือกใช้งานได้มากที่สุดในบรรดาแพลตฟอร์มทั้งหมด มีอุปกรณ์ครอบคลุมเกือบทุกประเภท แถมยังมีระดับราคาให้เลือกตั้งแต่ราคาถูก ไปจนถึงราคาแพง
Apple Homekit มีอุปกรณ์ให้เลือกประมาณ 1,000 รุ่น, Google Home มีประมาณ 50,000 รุ่น แต่ Amazon Alexa นั้นมีอุปกรณ์ให้เลือกมากกว่า 100,000 รุ่น เลยทีเดียว
หากว่ากันตามคุณสมบัติของทั้ง 3 แพลตฟอร์ม Amazon Alexa เป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากมีตัวเลือกอุปกรณ์ที่รองรับอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก และรองรับการสั่งงานที่มีความซับซ้อนได้อย่างชาญฉลาด ตามมาด้วย Google Home และ Apple HomeKit ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริง เราก็ควรพิจารณาจากองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย อย่างในประเทศไทย การใช้ Amazon Alexa ก็จะมีอุปสรรคด้านกำแพงภาษา กับการหาซื้ออุปกรณ์มาใช้งาน ซึ่งในจุดนี้ทำให้ Google Home ที่ฉลาดรองลงมา และรองรับภาษาไทยด้วย เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจรองลงมา
แต่หากคุณให้ความสนใจกับเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล Apple HomeKit จะครองอันดับหนึ่งในหัวข้อนี้ แต่หากคุณใช้ iPhone หรือ iPad อยู่แล้ว มันก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจนะ เพราะสามารถใช้งานได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องซื้อลำโพงอัจฉริยะ (Smart Speaker) และสมาร์ทโฮมฮับ (Smart Home Hub) มาก่อน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |