ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

จอพลาสม่า หายไปไหน ? ทำไมทีวีพลาสม่า ถึงไม่ผลิตมาขายแล้ว ?

จอพลาสม่า หายไปไหน ? ทำไมทีวีพลาสม่า ถึงไม่ผลิตมาขายแล้ว ?
ภาพจาก : https://www.220-electronics.com/sony-50-multi-system-plasma-tv.html
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 6,110
เขียนโดย :
0 %E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2+%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2+%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Plasma TV หายไปไหน ?

ในอดีตนั้น ทีวี (และจอคอมพิวเตอร์) จะใช้ เทคโนโลยี Cathode Ray Tube (CRT) ในการฉายรังสีแคโทดผ่านสนามแม่เหล็ก ไปกระทบกับฉากเรืองแสงเพื่อสร้างภาพ ซึ่งการออกแบบจะต้องมีระยะห่างระหว่างตัวหลอดฉายรังสี กับฉาก ทำให้อุปกรณ์ที่มีความหนาเทอะทะ และเปลืองพื้นที่ในการจัดวางเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เอง คนไทยจึงนิยมเรียกมันว่า "ทีวีจอตู้" คำนี้แพร่หลายถึงขนาดใช้เรียกนักแสดงที่เล่นแต่ละครที่ฉายบนทีวีเป็นหลักว่า "ดาราจอตู้" กันเลยทีเดียว

บทความเกี่ยวกับ TV อื่นๆ

โดยทีวีรุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยี CRT ในการฉายภาพ ผลิตโดย บริษัท Telefunken วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477)

จอพลาสม่า หายไปไหน ? ทำไมทีวีพลาสม่า ถึงไม่ผลิตมาขายแล้ว ?
Telefunken FE III ทีวีรุ่นแรก ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี Cathode ray tube (CRT)
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Telefunken_1936.jpg

แน่นอนว่า สมัยนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามคิดค้นวิธีที่จะทำให้ตัวทีวีมีขนาดบางลงกว่าเดิม แต่กว่าที่ตัวเครื่องทีวีจะสร้างให้บางได้ ก็ต้องรอนานถึง 63 ปี กว่าที่บริษัท Fujitsu จะเปิดตัว ทีวีพลาสมา (Plasma TV) เข้าสู่ท้องตลาดเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540) ถือว่าเป็นจอทีวีเชิงพาณิชย์ (Commercial TV) รุ่นแรก ที่เปลี่ยนวิธีการแสดงผลภาพจากหลอด CRT มาเป็น "Plasma Display Panel" นั่นเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม : จอ CRT, DLP, Plasma, LCD, LED, VA, IPS, OLED, QLED คืออะไร ? พร้อม ข้อดี ข้อเสีย ของหน้าจอแต่ละประเภท ?

Plasma TV ของ Fujitsu บางเพียง 75 มิลลิเมตร แถมยังมีขนาดหน้าจอที่กว้างถึง 42 นิ้ว เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างธรรมดาสำหรับทีวีในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าเทียบกับทีวีในยุคนั้นที่ยังใช้จอ CRT ต้องถือว่ามันเทพมาก

แต่จอแบบพลาสมานั้น มาไวไปไวมาก ๆ มันมีโอกาสอยู่ในท้องตลาดแค่เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ทำไมมันถึงหายไปอย่างรวดเร็ว บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปหาสาเหตุกันเลย ...

เนื้อหาภายในบทความ

จอพลาสม่า หายไปไหน ? ทำไมทีวีพลาสม่า ถึงไม่ผลิตมาขายแล้ว ?

จอพลาสมา ทำงานอย่างไร ?
(How does Plasma Screen work ?)

ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบว่าทำไมผู้ผลิตถึงโบกมือลาเทคโนโลยีพลาสมา เรามาอ่านกันก่อนดีกว่า ว่าเทคโนโลยีจอพลาสมาทำงานอย่างไร ?

ในพาเนลของจอพลาสมา จะมีถุงเก็บแกสขนาดเล็กจำนวนมากเรียงติดกันเป็นแผง ถุงแกสเหล่านี้จะสามารถเรืองแสงได้เมื่อได้รับพลังงานจากกระแสไฟฟ้า แสงส่วนใหญ่จะเป็นรังสีอัลตราไวไอเล็ต (Ultraviolet) ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตาม เมื่อแสงนี้ไปตกกระทบกับเซลล์ฟอสเฟอร์ (Phosphor cells) จะสามารถมองเห็นได้ ซึ่งเจ้าเซลล์ฟอสเฟอร์นี้เองที่ใช้ในการสร้างภาพให้ปรากฏขึ้นบนหน้าจอ ในแต่ละจุดพิกเซลของหน้าจอ จะประกอบไปด้วยเซลล์ฟอสเฟอร์ 3 สี แดง, เขียว และน้ำเงิน สามสีนี้จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสีสันต่าง ๆ ที่ทีวีต้องการ   

นอกจากนี้ พาเนลแบบพลาสมา แต่ละจุดพิกเซลยังสามารถเปล่งแสงได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยไฟ Backlight นั่นทำให้ค่า Contrast ratio ของหน้าจอพลาสมานั้นทำได้ดีมาก เพราะหากต้องการแสดงสีดำบนหน้าจอ จุดพิกเซลดังกล่าวก็จะปิดแสงไปได้เลย ทำให้ส่วนที่มืด แสดงความมืดได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้ภาพบนจอมีคุณภาพที่สวยงามเป็นอย่างมาก โดยค่า Contrast ratio ของจอพลาสมาส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,800:1 เลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นค่ารีเฟรชเรทของหน้าจอพลาสมาก็ทำได้สูงถึง 120 Hz มุมมองหน้าจอก็กว้าง สามารถรับชมได้จากทุกทิศทาง

ด้วยความแจ่มที่ว่ามา ทำให้ Plasma TV ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

จอพลาสมา พลาดตรงไหน ?
(What is the disadvantage of Plasma Display ?)

แม้ในหัวข้อที่แล้ว เราจะบรรยายความเทพของจอพลาสมาเอาไว้มากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีนี้ก็ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบอยู่มาก 

ข้อเสียประการแรกคือ ความสว่างของหน้าจอต่ำมาก ทำให้เหมาะกับการรับชมในห้องที่มีแสงน้อย หรือห้องมืด แม้แต่พลาสมาทีวีตัวระดับเรือธง ก็ยังมีความสว่างสูงเกิน 100 Nits มาแค่นิดหน่อยเท่านั้น ในขณะที่หน้าจอ LED ในยุคนี้ สามารถทำได้มากกว่า 1,000 Nits

ในขณะที่ประการที่สอง ก็เป็นปัญหาเดียวกับหน้าจอ OLED นั่นคือการ Burn-in หน้าจอพลาสมาประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

ประการสุดท้ายคือ การกินไฟจอพลาสมานั้นใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงานสูงมาก แถมยังมีความร้อนสูง ภายในตัวทีวีจึงต้องมีพัดลมช่วยระบายความร้อนอยู่หลายตัว ทำให้แม้ตัวทีวีจะบาง และเบากว่าทีวีแบบ CRT แต่โดยรวมแล้ว มันก็ยังถือว่าหนัก และหนาอยู่นะ

อย่างไรก็ตาม พลาสมาทีวีก็ยังเป็นสินค้าขายได้อยู่ดี เพราะเทียบกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ในเวลานั้น มันก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

แต่ทุกอย่างจบลงเมื่อมีการคิดค้น พาเนล LED ขึ้นมา เทคโนโลยี LED นั้นทำให้หน้าจอมีความบางกว่าเดิม และกินไฟน้อยลง แม้ว่าในยุคแรก ๆ ของทีวีจอ LED จะมีคุณภาพของการแสดงผล และมุมมองที่แย่กว่าจอพลาสมาก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบข้อดี และข้อเสียแล้ว ทีวีที่เป็นจอ LED ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า

บทสรุปของ จอพลาสม่า
(Plasma Display Conclusions)

ตะปูดอกสุดท้ายที่ตอกฝาโลงให้พลาสมาทีวีต้องจบลง เกิดขึ้นเมื่อเทคโนโลยี OLED ที่สามารถแสดงผลภาพได้มีคุณภาพเหนือกว่าพลาสมาในทุก ๆ ด้าน และทีวี ความละเอียดระดับ 4K ได้เปิดตัวเข้าสู่ท้องตลาด ซึ่งผู้ผลิตทีวีพบว่าการจะพัฒนาให้พลาสมาทีวีมีความละเอียดระดับ 4K ได้นั้น เป็นเรื่องยาก และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ในเมื่อทีวี OLED มันดีกว่า แถมยังทำความละเอียด 4K ได้ จะฝืนลงทุนกับพลาสมาต่อไปทำไม ?

จอพลาสม่า หายไปไหน ? ทำไมทีวีพลาสม่า ถึงไม่ผลิตมาขายแล้ว ?
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=iLdkiyYeod8

ในที่สุด เมื่อเข้าสู่ช่วง ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) ผู้ผลิตทีวีเกือบทุกรายก็เลิกผลิตพลาสมาทีวีรุ่นใหม่ออกมา แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนา ทีวี LED และ OLED แทน ซึ่งทั้งคู่ก็ครองตลาดมาจนถึงปัจจุบันนี้


ที่มา : www.howtogeek.com , www.cnet.com , www.thoughtco.com , en.wikipedia.org , spectrum.ieee.org , pr.fujitsu.com , en.wikipedia.org

0 %E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2+%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2+%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น