หูฟังเป็นหนึ่งในอุปกรณ์คู่ใจของสมาร์ทโฟนที่ควรมีอยู่คู่กัน ซึ่งสมัยนี้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่นิยมตัดช่องเสียบหูฟังแบบ AUX 3.5 มม. ออกจากตัวเครื่องไปแล้ว ทำให้หูฟังแบบไร้สายที่ใช้ บลูทูธ (Bluetooth) ในการเชื่อมต่อได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหูฟังแบบ True Wireless (TWS) ซึ่งถ้าพูดถึงหูฟังแบบ TWS ที่ขายดีที่สุดในโลกก็คงต้องยกให้แบรนด์ AirPods ของ Apple ที่ใช้เวลาเพียง 5 ปี เท่านั้น หลังจากเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) ก็สามารถครองส่วนแบ่งในตลาดมากถึง 38.9% (ข้อมูลในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)
เรื่องน่าตลกคือ ครั้งแรกที่ Apple เปิดตัว AirPods มันถูกเยาะเย้ยเรื่องของการออกแบบดีไซน์ ที่ดูตลกเหมือนแค่เอาหูฟังมีสาย มาตัดสายออกเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ก็อย่างที่เห็นกัน มีหูฟังที่ดีไซน์ออกมาในสไตล์ AirPods มีเกลื่อนท้องตลาดเลย
หลายคนเข้าใจผิด คิดว่า AirPods จำเป็นต้องใช้งานคู่กับอุปกรณ์ของ Apple อย่าง iPhone, iPad หรือ Mac เท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่ความจริงนะ
AirPods ก็ไม่ต่างจากหูฟัง TWS ยี่ห้ออื่น ๆ เราสามารถใช้มันคู่กับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของ Apple ได้ตามปกติ จะเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน Android หรือ PC ก็ไม่ใช่ปัญหา
อย่างไรก็ตาม ลูกเล่นหลายอย่างที่มีใน AirPods จะสามารถใช้งานได้ต่อเมื่อจับคู่กับอุปกรณ์ของ Apple เท่านั้น ทำให้หลายคนมองว่าต่อให้เชื่อมต่อได้ มันก็ไม่คุ้มค่าที่จะซื้อมาใช้งานสักเท่าไหร่ ซึ่งเราจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไปว่าอะไรที่ใช้ได้ อะไรที่ใช้ไม่ได้ แล้วสรุปว่าคุ้มหรือเปล่า ? หากคิดจะซื้อ AirPods มาใช้งานคู่กับสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการ Android
ลูกเล่นแรกที่จะเสียไปในทันที หากผู้ใช้นำ AirPods กับสมาร์ทโฟน Android ก็คือความสะดวกในการเชื่อมต่อ โดยหากเราใช้งานคู่กับอุปกรณ์ของ Apple ทันทีที่เราเปิดฝาเคสขึ้นมา ชิป (พวกชิป W1, H1 และ H2) ที่อยู่ในหัวหูฟังจะทำการสแกนหาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ ๆ ทันที สามารถแตะเพื่อเชื่อมต่อได้ภายในพริบตา
และเมื่อเราเชื่อมต่อสำเร็จแล้ว มันจะไม่ได้เชื่อมต่อแค่อุปกรณ์ที่เราเลือกเท่านั้น แต่มันจะ Sync การเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์ของ Apple ทุกตัวที่คุณมีอยู่ในบัญชี Apple ID ให้ทันที นั่นหมายความว่า สมมติคุณเชื่อมต่อกับ iPhone สำเร็จแล้ว หากคุณสลับไปใช้งาน iPad ตัว AirPods จะย้ายการเชื่อมต่อไปยัง iPad ให้ทันที โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องกดอะไรเลย
ซึ่งหากคุณใช้งาน AirPods กับสมาร์ทโฟน Android คุณจะไม่สามารถใช้งานคุณสมบัติดังกล่าวได้ โดยในการเชื่อมต่อ AirPods กับสมาร์ทโฟน Android จะมีขั้นตอนดังนี้
ภาพจาก https://www.xda-developers.com/apple-airpods-2-android-support/
จะเห็นได้ว่าการเชื่อมต่อ AirPods เข้ากับสมาร์ทโฟน Android จะมีความซับซ้อน และใช้ระยะเวลาในการเชื่อมต่อนานกว่าการเชื่อมต่อกับ iPhone แต่อันนี้ก็ไม่ได้ผิดที่ AirPods เพราะไม่ว่าคุณซื้อหูฟังยี่ห้อไหนมาก็ตาม มันก็ต้องใช้วิธีเชื่อมต่อแบบนี้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ขั้นตอนเชื่อมต่อนี้เราต้องทำเพียงแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้น AirPods จะเชื่อมต่อให้อัตโนมัติทันทีที่เราหยิบมันออกจากเคสชาร์จ
ในบทความนี้เราจะอ้างอิง คุณสมบัติที่ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ จากสิ่งที่ AirPods Pro รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็น AirPods รุ่นใหม่ล่าสุด และมีลูกเล่นเยอะที่สุดในขณะนี้
จุดเด่นของ AirPods Pro รุ่นที่ 2 คือ ระบบตัดเสียงรบกวน Active Noise Cancelling (ANC), โหมดรับเสียงภายนอก (Transparency Mode) และการควบคุมแบบสัมผัสบนก้านของ AirPods Pro รุ่นที่ 2 ที่ใช้ในการเพิ่ม/ลดเสียง, ควบคุมเพลง หรือเรียกใช้งาน Google Assistant ทั้งสามลูกเล่นนี้ ในการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน Android ก็ยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติ
ซึ่งว่ากันตามตรง คุณสมบัติของ AirPods Pro ที่ยังใช้งานได้ก็เหมือนกับหูฟัง TWS ทั่วไปเลย ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ทาง Apple เพิ่มลูกเล่นเข้าไปในตัวหูฟังอีกหลายอย่างที่หูฟังปกติไม่มี ซึ่งการจะใช้งานลูกเล่นเหล่านั้นได้ มันต้องพึ่งพา iPhone ด้วย หัวข้อถัดไป เราไปเจาะลึกกันต่อว่ามีลูกเล่นอะไรบ้าง ? ที่ไม่สามารถใช้งานได้ หากใช้งาน AirPods คู่กับ Android
เมื่อเราอธิบายถึงคุณสมบัติของ AirPods ที่ใช้งานได้ เมื่อเชื่อมต่อกับ Android ไปแล้ว คราวนี้เรามาดูสิ่งที่ใช้งานไม่ได้บ้าง
Siri เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะของ Apple ที่เราสามารถสั่งให้ทำงานต่าง ๆ ให้เราได้ด้วยการสั่งงานด้วยเสียง ตั้งแต่โทรออก, ส่งข้อความ, นำทาง, สร้างตารางทำงาน ฯลฯ เราสามารถเรียกใช้งานด้วยการพูดว่า "๋Hey Siri..." นอกจากนี้ Siri ยังสามารถอ่านข้อความ และแจ้งเตือนต่าง ๆ ให้เราได้ผ่าน AirPods อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Siri เป็นซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของ Apple เท่านั้น ใน Android แม้เราอาจจะเรียกใช้งาน OK Google ได้ แต่มันก็ไม่สามารถอ่านข้อความผ่าน AirPods ได้
อนึ่ง มีแอป 3rd-Party ที่มีผู้พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้การปลดล็อกความสามารถของ AirPods เวลาที่ใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการ Android ได้อยู่นะ อย่าง Assistant Trigger: for AirPods แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ใช้งานได้ดีขึ้นเยอะ สนใจก็ลองดาวน์โหลดมาใช้งานกันดู
ใครที่มีอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อหูฟังอยู่หลายอย่าง AirPods สามารถสลับการใช้งานไปมาระหว่าง iPhone, iPad และ Mac ได้อย่างง่ายดาย โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องสั่งการอะไรเลย ด้วยการอาศัยประโยชน์จากบัญชี iCloud
ด้วยความมันต้องใช้ iCloud ทำให้การสลับอุปกรณ์แบบอัตโนมัติบน Android ไม่สามารถทำงานได้ หากจะย้ายการเชื่อมต่อบน Android ผู้ใช้ต้องสั่งงานแบบอัตโนมือแทน
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ทาง Google ก็ได้ออกมาประกาศว่าจะพัฒนาคุณสมบัติในการสลับการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์แบบเดียวกับของ Apple โดยอาศัยบัญชี Google ในการทำงาน ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าในอนาคตจะมีหูฟังรุ่นไหนใส่คุณสมบัตินี้เข้ามาให้ใช้งานบ้าง
อย่างที่เราได้อธิบายไปแล้วในหัวข้อ "วิธีเชื่อมต่อ AirPods กับสมาร์ทโฟน Android" ว่าผู้ใช้งานจะต้องเข้าไปที่
"เมนู Bluetooth" แล้วเชื่อมต่อด้วยตนเอง ซึ่งถ้าเป็น iPhone ทันทีที่เปิดฝาเคสมันจะตรวจสอบเจอ และขึ้นหน้าต่างให้เราแตะเชื่อมต่อได้ในพริบตา
ทาง Apple อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการควบคุมของ AirPods ได้ ว่าการแตะ หรือการบีบ จะสั่งงานอะไร ? ซึ่งสามารถเข้าไปแก้ไขได้ด้วยการแตะที่ตัว ⓘ ในหน้าตั้งค่า Bluetooth
อย่างไรก็ตาม หากเชื่อมต่อกับ Android ผู้ใช้จะไม่สามารถปรับวิธีควบคุมได้เลย ต้องใช้งานแบบที่ทาง Apple กำหนดมาให้
หูฟังแบบ TWS ส่วนใหญ่จะมีการแจ้งเตือนเมื่อแบตเตอรี่เริ่มเหลือน้อย เพื่อให้คุณรู้ตัว และนำมันไปชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งใน iOS จะมีสถานะแบตเตอรี่บอกอย่างละเอียด นอกเหนือไปจากการแจ้งเตือนด้วยเสียง
แต่บน Android จะไม่มีบอกสถานะแบตเตอรี่นะ ต้องฟังแจ้งเตือนผ่านหูฟังเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้แก้ไม่ยากนัก มี แอปพลิเคชันบุคคลที่สาม (3rd-Party Application) หลายตัวที่สามารถบอกสถานะแบตเตอรี่คงเหลือของ AirPods ที่เชื่อมต่ออยู่ได้ เช่น AirBattery, PodAir, AirDroid ฯลฯ
ที่หูฟัง AirPods จะมีเซนเซอร์ตรวจจับผิวหนัง (Skin-Detect Sensors) ที่จะตรวจจับการสวมใส่หูฟัง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน เช่น เพลงจะหยุดเล่นทันทีที่เราถอดหูฟังออก หรือเริ่มเล่นเพลงอัตโนมัติเมื่อเราสวมหูฟังกลับเข้าหูอีกครั้ง
ซึ่งลูกเล่นนี้ใช้งานได้กับ iOS เท่านั้น แต่บน Android หากต้องการใช้ก็จะต้องใช้ตัวช่วย อย่างแอป Assistant Trigger: for AirPods ก็สามารถทำให้ Skin-Detect Sensors ทำงานบน Android ได้
จุกหูฟังมีให้เลือกใช้งานหลายขนาด ถ้าเราใช้จุกหูฟังผิดขนาดก็จะส่งผลต่อคุณภาพเสียง และความสบายในการสวมใส่หูฟังได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องทดสอบด้วยตนเอง จากการลองเปลี่ยนขนาดของจุกหูฟัง
แต่ Apple ได้ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยการใช้ไมโครโฟนที่มีอยู่ในตัวหูตรวจสอบได้ว่ามีช่องว่างในรูหูหรือเปล่า ? ถ้ามีก็แปลว่าจุกหูฟังที่เราใช้งานมีขนาดไม่เหมาะสมกับใบหู อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติตรวจสอบขนาดของจุกหูฟังที่เหมาะสมแบบอัตโนมัตินี้ใช้งานได้เฉพาะกับ iPhone เท่านั้น
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า หูฟัง AirPods สามารถทำหน้าที่เหมือนเครื่องช่วยฟังได้ สำหรับคนที่หูบกพร่องทางการได้ยิน มีปัญหาได้ยินเสียงเบากว่าปกติ หรือจะใช้ในการจับเสียงสนทนาเวลาที่อยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดังรบกวนก็ได้
คุณสมบัตินี้เรียกว่า "Conversation Boost" ทำงานด้วยการใช้ประโยชน์จากไมโครโฟนบนตัวหูฟัง และ iOS 15 หรือใหม่กว่าในการทำงาน ทำให้เราไม่สามารถใช้งานคุณสมบัตินี้บนสมาร์ทโฟน Android ได้
ด้วยความที่หูฟัง TWS เป็นหูฟังแบบไร้สาย มันจึงมีโอกาสที่จะหลุด หล่นหายไปโดยที่เราไม่รู้ตัว หรือบางทีก็ไม่ได้หาย แค่จำไม่ได้ว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน AirPods มีข้อดีตรงที่มันรองรับแอปพลิเคชันตามหาอุปกรณ์ที่หายอย่าง Find My ได้ด้วย ซึ่งค้นหาได้อย่างแม่นยำ เพราะใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับ AirTag เลย (มีเฉพาะใน AirPods Pro รุ่น 2) แน่นอนว่าการใช้ Find My นั้น ไม่สามารถใช้งานบนระบบปฏิบัติการ Android ได้
น่าเศร้าที่เราต้องบอกว่า เมื่อใช้งาน AirPods กับสมาร์ทโฟน Android คุณภาพเสียงที่ได้จะแย่ลงกว่าเดิม แต่ก็เพียง "เล็กน้อย" จนคุณอาจจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างนั้นได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการถอดรหัสสัญญาณเสียง (Audio Codec)
Audio Codec เป็นซอฟต์แวร์อัลกอริทึมที่ใช้ในการบีบอัดสัญญาณเสียงเพื่อส่งผ่านสัญญาณ Bluetooth ซึ่งในสมาร์ทโฟนก็จะมี Audio Codec อยู่หลายชนิดให้เลือกใช้ รองรับบิตเรตที่แตกต่างกัน และให้คุณภาพที่ดีไม่เท่ากันด้วย
ในทางทฤษฏีแล้ว ฝั่งผู้ส่ง และผู้รับจะต้องรองรับ Audio Codec เดียวกันด้วย ถึงจะสื่อสารหากันได้ และคุณภาพเสียงก็ควรจะเหมือนกัน เพราะว่าเป็น Audio Codec ตัวเดียวกัน
ปัญหาคือ Apple เลือกใช้ AAC (Advanced Audio Codec) เป็นหลัก และมีการปรับแต่งวิธีการทำงานให้ถ่ายทอดคุณภาพเสียงออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
ส่วน Android รองรับ Audio Codec ได้หลากหลายประเภท มีหลายตัวที่ให้คุณภาพเสียงดีกว่า AAC ด้วยซ้ำไป เช่น LDAC แต่ AirPods รองรับแค่ AAC ซึ่งระบบปฏิบัติการ Android แม้จะถอดรหัสสัญญาณ AAC ได้ แต่ก็ทำได้ไม่ดีเท่ากับ iOS ของ Apple แต่อย่างที่บอกไปว่ามันต่างกันเล็กน้อยมาก หากคุณไม่ใช่คนหูทองก็ยากที่จะฟังความแตกต่างที่เกิดขึ้นออก
ปัญหาที่หนักจริง ๆ คือ การจับคู่ที่ผิดพลาด เพราะ AirPods รองรับทั้ง AAC และ SBC ซึ่งในแง่ของการทำงานแล้ว การเชื่อมต่อแบบ SBC จะทำให้มีโอกาสที่เสียงขาด, เสียงหลุด หรือเสียงกระตุกได้ ถ้าเชื่อมต่อกับ iPhone มันจะเลือกใช้ AAC ให้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็น Android บางครั้งผู้ใช้อาจจะต้องเข้าไปตั้งค่า Audio Codec ด้วยตนเอง
เนื่องจากเรื่องเสียง เป็นรสนิยมส่วนบุคคล แนวเสียงที่ชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนชอบเบสเป็นลูก บางคนชอบซาวด์สเตจกว้าง ฯลฯ ดังนั้นในหัวข้อนี้จึงออกตัวก่อนเลยว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่ตรงใจกับผู้อ่านทุกคน
โดยส่วนตัวแล้ว ในแง่ของคุณภาพเสียงของ AirPods Pro รุ่นที่ 2 ที่ผู้เขียนใช้งานอยู่ ด้วยค่าตัวของมันที่มีราคา 8,990 บาท ในย่านราคานี้ ทั้งราคาใกล้เคียง หรือราคาถูกกว่าด้วยซ้ำไป มีหูฟัง TWS อีกหลายรุ่นที่ผู้เขียนรู้สึกว่าเสียงดีกว่า AirPods อยู่หลายรุ่นนะ เช่น WF-1000XM4, Sennheiser Momentum True Wireless 2, Devialet Gemini, BEOPLAY E8 3RD GEN, EDIFIER NEOBUDS S ฯลฯ
แต่ในแง่ของความสวมใส่สบาย Apple ออกแบบ AirPods Pro รุ่นที่ 2 มาให้ใส่เป็นเวลานาน ๆ ได้ค่อนข้างสบาย และมีระบบตัดเสียงรบกวนที่ทำได้ค่อนข้างดีไม่แพ้เจ้าตลาดอย่าง WF-1000XM4 เลย แล้วก็ไมโครโฟนจับเสียงได้ดี สนทนาได้อย่างชัดเจน
โดยรวมแล้ว AirPods Pro รุ่นที่ 2 ก็เป็นหูฟัง TWS ที่ดีรุ่นหนึ่ง ถ้าชอบแนวเสียง และต้องการหูฟังที่มี ANC ดี ๆ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |