ในสมัยก่อน เครื่องฉายภาพ หรือที่รู้จักกันในนาม "โปรเจคเตอร์ (Projector)" ดูจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในสำนักงาน ไม่ค่อยเห็นคนซื้อมาใช้ที่บ้านกันสักเท่าไหร่นัก แต่เดี๋ยวนี้ อาจด้วยความที่เทคโนโลยีมีการพัฒนามาไกลกว่าแต่ก่อน ทำให้ราคาของโปรเจคเตอร์ถูกลงกว่าเดิม อายุการใช้งานของหลอดก็ยาวนานขึ้น แถมมีรุ่นที่ดีไซน์เล็กกะทัดรัดออกมาให้เลือกซื้อ บางรุ่นก็มีระบบปฏิบัติการ Android ในตัว ทำให้ใช้งานสะดวกกว่าแต่ก่อน ทำให้ปัจจุบันนี้ เครื่องโปรเจคเตอร์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ชอบรับชมภาพบนหน้าจอขนาดใหญ่โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินแพง
สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะซื้อเครื่องโปรเจคเตอร์มาใช้งาน ในบทความนี้ เรามีเคล็ดลับดี ๆ ในการเลือกซื้อมาแนะนำ
วงการโปรเจคเตอร์นั้น ก็เหมือนกับในหลาย ๆ วงการ เราได้ของคุณภาพตามที่เราจ่าย แต่ตัวไหนจะคุ้มที่สุดก็ต้องไปคัดกรองกันอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น สิ่งแรกที่เราจะคำนึงถึงก่อนเลยก็คือ งบประมาณ โชคดีที่เทคโนโลยีของโปรเจคเตอร์ในสมัยนี้ดีกว่าแต่ก่อนมาก ทำให้แม้จะเป็นโปรเจคเตอร์ราคาประหยัด มันก็มีคุณภาพในการฉายภาพที่ดีพอใช้การได้ จากในอดีต ที่โปรเจคเตอร์คุณภาพดีมีราคาหลายหมื่นบาท เดี๋ยวนี้เพียงไม่กี่พันบาทก็ได้โปรเจคเตอร์ที่ฉายภาพคมชัดมาใช้งานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในท้องตลาดก็ยังมีโปรเจคเตอร์ระดับบนให้เลือกซื้ออยู่ โดยมันจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่มากกว่า อย่างเช่น มีความสว่างสูงมาก, มี Contrast ratio ที่ดีกว่า, เลนส์คุณภาพสูง ฯลฯ รวมไปถึงการรับประกันสินค้าจากผู้ขายที่ยาวนานกว่า มีการบริการเคลมที่สะดวกรวดเร็วกว่าด้วย
ความละเอียดภาพ (Resolution) เป็นส่วนสำคัญของเครื่องโปรเจคเตอร์ทุกรุ่น โดยค่านี้จะบ่งบอกว่าภาพที่ฉายออกมาจากโปรเจคเตอร์จะมีความคมชัดขนาดไหน ซึ่งเราสามารถวัดได้จาก จำนวนพิกเซล (Number of Pixels) ต่อตารางนิ้ว (ppi)
โปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายในปัจจุบันนี้ จะให้ความละเอียดเริ่มต้นมาตั้งแต่ Full HD (1,920 x 1,080 พิกเซล) เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าคุณอยากรับชมวิดีโออย่างคมชัด ก็ควรจะเลือกโปรเจคเตอร์ที่รองรับการฉายที่ความละเอียด 4K (3,840 x 2,160 พิกเซล) หรือจัดเต็ม 8K (7,620 x 4,320 พิกเซล) ไปเลย
อีกเหตุผลหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ ขนาดของภาพที่คุณต้องการรับชม หากห้องมีพื้นที่กว้าง อยากจะฉายภาพใหญ่แบบ 150 นิ้ว - 180 นิ้ว ก็ควรจะเลือกใช้งานโปรเจคเตอร์ระดับ 4K เพราะมันมีจำนวนพิกเซลมากพอที่ทำให้ภาพที่ฉายออกมาไม่ดูหยาบจนเกินไป ซึ่งหากเป็นโปรเจคเตอร์ระดับ Full HD มันจะคงความคมชัดเอาไว้ได้ดี เมื่อฉายภาพขนาด 80 นิ้ว - 100 นิ้ว ไม่เกินนี้
เปรียบเทียบภาพจาก :โปรเจคเตอร์ Full HD กับโปรเจคเตอร์ 4K
ภาพจาก : https://www.geckohomecinema.com/gecko/4k-projectors-why-you-need-one/
อัตราส่วนการฉาย (Throw Ratio) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ซื้อควรให้ความใส่ใจ เพราะมันจะบอกถึงระยะห่างที่ต้องใช้ในการฉายระหว่างเครื่องโปรเจคเตอร์กับฉากรับ โดยโปรเจคเตอร์แต่ละรุ่น ก็จะมีค่า Throw Ratio ที่แตกต่างกัน
สามารถคำนวณได้ด้วยสูตร Throw Ratio = ระยะห่าง / ความกว้าง
โปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่ จะมีค่านี้อยู่ที่ 2.0 (หรือ 2.0:1) นั่นหมายความว่า หากต้องการฉายภาพให้ได้ขนาด 10 ฟุต (120 นิ้ว) จะต้องวางโปรเจคเตอร์ห่างจากฉากรับ 20 ฟุต (240 นิ้ว) หรือประมาณ 6 เมตร ซึ่งก็เป็นระยะที่ไกลพอสมควร
ในระยะหลังมานี้ทางผู้ผลิตก็เลยมีการพัฒนาเทคนิคที่สามารถช่วยละระยะฉายได้ขึ้นมา เรียกว่า Ultra Short Throw (UST) หรือ Short Throw ขึ้นมา โดยอาศัยชุดเลนส์พิเศษ และชิ้นส่วนกระจก ทำให้สามารถลดค่า Throw Ratio ได้ลงมาต่ำมาก เช่น 0.35:1 ทำให้ฉายภาพขนาด 100 นิ้ว ได้ โดยใช้ระยะห่างเพียง 0.77 เมตร เท่านั้น
ภาพจาก : https://www.bigpicturebigsound.com/What-is-a-UST-Ultra-Short-Throw-Projector-and-Do-I-Want-One.shtml
ดังนั้น หากคุณมีพื้นที่ในการจัดวางจำกัด การเลือกใช้งานโปรเจคเตอร์แบบ UST ก็จะช่วยให้ผู้ใช้หาที่วางอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม โปรเจคเตอร์แบบ UST จะมีคุณภาพของภาพที่แย่กว่าโปรเจคเตอร์ที่มีระยะฉายธรรมดาอยู่เล็กน้อย ด้วยข้อจำกัดทางด้านฟิสิกส์ของแสง
โปรเจคเตอร์ก็เหมือนกับทีวี หรือสมาร์ทโฟน ที่มีการแข่งขันในด้านความสว่าง แน่นอนว่ายิ่งสว่างก็ยิ่งดี เพราะมันช่วยให้การใช้งานในสภาพแสงต่าง ๆ ทำได้ดี สามารถสู้กับแสงรบกวนภายนอกที่มีอยู่มากมายรอบตัวเรา โดยความสว่างของโปรเจคเตอร์จะวัดด้วย ค่าลูเมน (Lumen) หรือตัวย่อคือ lm ยิ่งโปรเจคเตอร์มีค่าลูเมนสูงเท่าไหร่ ภาพที่ปรากฏบนฉากก็จะมีความสว่าง ดูสดใส มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น โดยความสว่างขั้นต่ำ หากเป็นไปได้ไม่ควรเลือกซื้อโปรเจคเตอร์ที่ทำความสว่างได้ต่ำกว่า 3,400 ลูเมน
ภาพจาก : https://www.outdoormoviehq.com/how-many-lumens-do-i-need-projector/
และหากในห้องมีแสงรบกวนเยอะ ไม่ว่าจะเป็นแสงจากหน้าต่าง แสงจากโคมไฟ ฯลฯ ถ้าโปรเจคเตอร์มีค่าความสว่างสูงพอ มันก็จะสามารถฉายสู้แสงรบกวนเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น
ค่าความสว่างนี้ยังมีผลต่อระยะห่างระหว่างตัวผู้ชม กับฉากรับภาพด้วย โดยยิ่งจอยิ่งสว่างมากเท่าไหร่ ผู้ชมก็สามารถนั่งห่างออกมาได้ไกลขึ้นโดยที่ยังมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนอยู่ ส่วนใหญ่แล้วโปรเจคเตอร์ระดับเรือธงก็จะมีค่าความสว่างที่ทำได้สูงสุดที่เหนือกว่าโปรเจคเตอร์ระดับเริ่มต้น
สำหรับ ค่า Contrast Ratio หมายถึง อัตราส่วนความแตกต่างระหว่าง "ค่าสีขาว" ซึ่งเป็นค่าที่สว่างที่สุด กับ "ค่าสีดำ" ซึ่งเป็นค่าที่มืดที่สุด ยิ่งค่านี้มีความแตกต่างกันมากเท่าไหร่ จะทำให้การตัดกันของสีมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ภาพดูคมชัด มีมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่แสดงภาพที่มีแสงตัดกันอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ค่า Contrast Ratio ยังมีผลต่อความแม่นยำของสีอีกด้วย อย่างที่เราได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ความสว่างเป็นส่วนหนึ่งของ Color Space หน้าจอที่มีค่า Contrast Ratio ต่ำ จะทำให้สีบางส่วนโดนกลบหายไป และภาพสูญเสียรายละเอียดได้
ซึ่งหากใช้งานโปรเจคเตอร์ในห้องที่มืดสนิท ค่า Contrast Ratio ที่ระดับ 1500:1 ก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรเลือกรุ่นที่มีค่า Contrast Ratio สูงที่สุดเท่าที่คุณจะจ่ายไหว
ภาพจาก : https://guide.lightform.com/hc/en-us/articles/360010525294-Understanding-Contrast-Ratio
อัตราส่วนลักษณะ หรือ อัตราส่วนภาพ (Aspect Ratio) ที่เป็นค่าแบบ "Native" ที่ตัวโปรเจคเตอร์สามารถทำได้ก็เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ผู้ซื้อต้องให้ความสำคัญ เพราะหากค่าอัตราส่วนภาพที่โปรเจคเตอร์รองรับ กับอัตราส่วนภาพของเนื้อหาไม่ตรงกัน ก็มีโอกาสที่ภาพที่ถูกฉายออกมาจะมีความผิดเพี้ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เล่นไฟล์ภาพยนตร์
ถ้าสื่อที่ฉายมีสัดส่วนไม่ตรงกับอัตราส่วนภาพของโปรเจคเตอร์รองรับ ก็มีโอกาสที่ภาพจะถูกยืด, บีบ หรือบิดเบี้ยว จากการที่โปรเจคเตอร์พยายามปรับขนาดภาพให้เต็มพื้นที่ฉาย
ตอนเลือกซื้อโปรเจคเตอร์ อย่างน้อยก็พยายามเลือกรุ่นที่รองรับอัตราส่วนภาพแบบ 4:3 (XGA & SXGA), 16:10 (WXGA & WUXGA) และ 16:9 (Standard HDTV, 1080p) เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานส่วนใหญ่ได้ แต่โปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ในสมัยนี้ ส่วนใหญ่ก็จะสามารถรองรับอัตราส่วนภาพได้ครบทุกการใช้งานอยู่แล้วแหละ
ภาพจาก : https://pointerclicker.com/how-to-change-aspect-ratio-on-benq-projector/
ในกรณีที่เราไม่ได้วางเครื่องโปรเจคเตอร์เป็นระนาบตรงเป๊ะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยากที่จะวางได้ตรงระนาบเป๊ะนั่นแหละ ภาพที่ปรากฏบนฉากรับก็จะมีความบิดเบี้ยวเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยการปรับแต่งค่า Keystone ซึ่งโปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่ก็จะมีเมนูนี้ให้ปรับด้วยเช่นกัน
โดยการปรับ Keystone ก็จะมีอยู่ 2 รูปแบบคือ ตัวโปรเจคเตอร์จะปรับให้เราอัตโนมัติ (Auto Adjustment) และผู้ใช้ต้องปรับด้วยตัวเอง (Manual Adjustment) ซึ่งถ้าหากคุณจะต้องเคลื่อนย้ายโปรเจคเตอร์เป็นประจำ การเลือกซื้อรุ่นที่สามารถปรับ Keystone ได้อัตโนมัติ ก็จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการใช้งานให้ดีขึ้นได้พอสมควรกันเลยทีเดียว
การปรับ Keystone
ภาพจาก : https://www.outdoormoviehq.com/projector-keystone-correction/
โปรเจคเตอร์มีการทำงานที่ไม่ต่างจาก หน้าจอทีวี (TV Screen) หรือจอคอมพิวเตอร์ (Computer Monitor) มันมีหน้าที่แสดงผลเนื้อหาจากอุปกรณ์อื่นเป็นหลัก ในการเชื่อมต่อโปรเจคเตอร์เข้ากับอุปกรณ์ที่มีอยู่ของเรา โดยทั่วไปก็ต่อสายผ่าน พอร์ต HDMI, VGA หรือ DVI
แต่ในยุคที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง ก็ทำให้ผู้ผลิตโปรเจคเตอร์รุ่นใหม่บางรุ่น รองรับการสะท้อนหน้าจอ (Mirror Screen) ผ่าน AirPlay, Google Cast หรือ Miracast ได้ด้วย หากต้องการใช้งานคุณสมบัติดังกล่าว ก็อย่าลืมเลือกโปรเจคเตอร์ที่รองรับด้วย ซึ่งโปรเจคเตอร์บางรุ่นก็รองรับ แต่ต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่ม
ข้อมูลเพิ่มเติม : Chromecast กับ Miracast คืออะไร ? และแตกต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://www.mi.com/us/mi-laser-projector-150
ปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตหลายรายผลิตสมาร์ทโปรเจคเตอร์ออกมาให้ผู้ใช้งานได้เลือกซื้อ โดยจะมี ระบบปฏิบัติการ Android อยู่ในตัวอยู่แล้ว ดังนั้นประสบการณ์ การใช้งานสมาร์ทโปรเจคเตอร์ จะเหมือนกับสมาร์ททีวีเลย ซึ่งผู้ใช้จะสามารถรับชมพวก Netflix, WeTV หรือบริการจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน ช่วยให้ประสบการณ์ในการใช้งานสะดวกมาก ๆ เลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม สมาร์ทโปรเจคเตอร์ ก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการเลือกมากนัก เพราะเราสามารถหากล่อง Android หรือ Android Stick มาต่อเพื่อใช้งานระบบปฏิบัติการ Android ได้อยู่แล้ว
เห็นไหมว่าแม้การเลือกซื้อโปรเจคเตอร์อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราเข้าใจลักษณะการใช้งานแล้ว เราก็จะสามารถเลือกซื้อโปรเจคเตอร์ที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการได้ในที่สุด
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |