หัวใจของการเลือกซื้อโปรเจคเตอร์ (Protector) ก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง นอกจากเทคโนโลยีฉายภาพ อย่าง ความคมชัด ระยะการฉาย และสีที่ชัดเจนแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน ก็คือ เทคโนโลยีกำเนิดแสงในโปรเจคเตอร์ หรือว่า "Light Source" นั่นเอง
เวลาที่คุณหาซื้อโปรเจคเตอร์สักเครื่องแล้วเห็นคำว่า "Light Source" จากข้อมูลสเปกเครื่อง หรือภาษาไทยมักเขียนว่า "หลอดภาพ" และตามด้วยชื่อประเภทเช่น แลมป์ (Lamp), แอลอีดี (LED) หรือ เลเซอร์ (Laser) อาจทำให้นึกสงสัยว่า หลอดภาพแต่ละชนิดว่ามันคืออะไร ? มีความแตกต่างกันอย่างไร ? และควรเลือกแบบไหน ? ดังนั้นบทความนี้เราจะมาหาคำตอบกันว่าอะไรที่ใช่กันแน่
Light Source เป็นส่วนประกอบที่ให้แสงภาพในระบบของโปรเจคเตอร์ มีหน้าที่ให้กำเนิดแสงส่งผ่านฟิลเตอร์ หรือ ตัวกรองต่าง ๆ เพื่อฉายภาพออกมา ซึ่งที่จริงแล้วจะเรียกตรง ๆ ว่าหลอดไฟก็ได้ แต่เนื่องจากพักหลัง ๆ นี้มีระบบ Laser ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้แทนหลอดไฟในโปรเจคเตอร์รุ่นใหม่ ๆ แล้วก็เลยสงวนคำว่า 'หลอดไฟ' แล้วกัน
ตามจริงท้องตลาด แม้จะมีการแบ่งประเภทของโปรเจคเตอร์ตามระบบการทำงานของมันแล้วก็ตาม (LCD, LED, DLS, LCos) แต่เรื่องของแสงภาพ ก็มีความสำคัญ เพราะมันส่งผลต่อ ความสว่างที่ทำให้ภาพชัดสู้แสง หรือการใช้พลังงานของตัวเครื่อง ไปจนถึงอายุการใช้งานของเครื่อง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อความชัดเจนของสีภาพ ได้อีกด้วย
และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าหลัก ๆ แสงภาพที่มีอยู่ในระบบโปรเจคเตอร์ทั่วไป มีอยู่ 3 ประเภท คือ แบบหลอดไฟทั่วไป (Lamp), แบบหลอด LED และแบบ เลเซอร์ (Laser) ทีนี้เรามาดูกันว่าแต่ละตัวก็มีประสิทธิภาพที่ต่างกันหรือไม่ และมีข้อดี- ข้อเสีย อย่างไร
ตัวอย่างการทำงานของโปรเจคเตอรระบบ LCD
Lamp Projector เป็นโปรเจคเตอร์ที่ให้แสงภาพด้วยหลอดไฟขนาดใหญ่เหมือนโคมไฟ มีหน้าที่ส่งแสงสีขาวความเข้มข้นสูง ผ่านฟิลเตอร์แม่สี 3 สี (แดง - เขียว - น้ำเงิน) และตัวกรองต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่การฉายภาพ ซึ่งที่ผมกล่าวมาเมื่อกี้ เป็นแค่วิธีการทำงานในระบบโปรเจคเตอร์แบบ LCD เท่านั้น ถ้าเป็นระบบชนิดอื่น ๆ ก็จะต่างกันออกไป ซึ่งเราจะไม่ได้มาลงลึกขนาดนั้น
หน้าตาของหลอดไฟในโปรเจคเตอร์เป็นเหมือนภาพข้างต้น โดยหลอดไฟประเภทนี้ถือว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในบรรดาประเภทของ Light Source ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ แต่อย่าเห็นว่าโบราณแล้วจะไม่ดี เพราะในปัจจุบันโปรเจคเตอร์แบบ Lamp ก็ยังถูกใช้งานอยู่มาก เพราะเป็นมาตรฐานเริ่มต้นของโปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่ ที่ให้ความสว่างสูงกับจอขนาดใหญ่ 100 นิ้วได้แบบสบาย ๆ บางรุ่นมีความเข้มข้นสูง 75 -100 Lumen ต่อกำลังไฟ 1 วัตต์ ให้แสงภาพสว่างได้ถึง 2,000 - 10,000 ANSI Lumens ยิ่งหลัง ๆ พัฒนาเป็น Dual-Lamp ไฟคู่ยิ่งให้ความสว่างสูงมากขึ้นไปอีก
ตัวอย่างโปรเจคเตอร์แบบหลอดไฟทั่วไป
แต่ข้อเสียของโปรเจคเตอร์แบบ Lamp คือเหมือนหลอดไฟทั่วไปที่พอใช้งานไปนานเข้า ไส้หลอดก็จะเสื่อมสภาพและขาดไป ทำให้อายุการใช้งานปกติของโปรเจคเตอร์แบบ Lamp อยู่ได้ประมาณ 1,000 - 5,000 ชั่วโมง แถมค่าอะไหล่ก็แพง และยิ่งถ้าเป็นหลอดไฟแบบเมทัลฮาไลด์ (Metal Halid) ดั้งเดิมของโปรเจคเตอร์รุ่นเก่า ๆ แม้จะใช้ไปแค่ช่วงอายุครึ่งเดียว ก็อาจส่งผลต่อความชัดของสี และรายละเอียดภาพอีกด้วย แต่สุดท้ายก็มีหลอดไฟแบบ UHP (ULTRA HIGH POWER) มาลดข้อเสียตรงนี้ลงไปแล้ว
นอกจากนี้เวลาใช้งานยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เนื่องจากโปรเจคเตอร์แบบ Lamp มักมีความร้อน และ ใช้กำลังไฟสูง เมื่อใช้ต่อเนื่องยาวนานควรมีการพักเครื่องให้หายร้อนก่อนเก็บเครื่อง และไม่ควรเคลื่อนย้ายขณะใช้งาน เครื่องแบบ Lamp จึงเหมาะติดตั้งในห้องประชุมขนาดใหญ่ขององค์กรต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อย เป็นต้น
ข้อดี |
|
ข้อเสีย |
|
LED Projector แตกต่างกับ Lamp ตรงที่ใช้หลอดไฟ LED 3 ดวง เป็นแหล่งกำเนิดแสง แต่ละหลอดสามารถให้แสงตามแม่สี (แดง เขียว น้ำเงิน) ส่งผ่านเลนส์ตัวกรอง (Lens Filter) เพื่อทำการคัดแยกสี และส่งไปยัง DMD Chip ก่อนจะนำเสนอภาพออกไปตามที่เราเห็น
ข้อดีของหลอด LED คือช่วยประหยัดพื้นที่เครื่อง ไม่ต้องใช้ไฟสูง และทำให้มีอายุการใช้งานที่ทนกว่ามาก ราว ๆ 20,000 - 30,000 ชั่วโมง บางรายใช้กันเป็นปี ๆ ก็ยังแสงไม่ดรอปทำงานได้ตามปกติ แถมยังไม่มีปัญหาเครื่องร้อนหรือทำงานแล้วมีเสียงดัง
ในขณะที่ ข้อเสียของหลอดภาพแบบ LED คือให้ความสว่างภาพไม่สูงมาก ไม่สู้แสงเวลาเปิดใช้งานทีไร ห้องต้องไร้แสงจริง ๆ ถึงจะภาพชัด โดยเฉลี่ยเครื่องแบบ LED จะให้ความสว่างภาพแค่ 1,000 - 3,000 ANSI Lumens โดยประมาณ
ข้อแตกต่างที่เราพบเห็นได้ชัดเจนคือโปรเจคเตอร์แบบ LED ส่วนมากเป็นแบบ Portable หรือ มีขนาดเครื่องเล็ก เหมาะแก่การพกพาดังนั้นถ้าคุณต้องการใช้งานนอกสถานที่หรือดูหนังกับครอบครัวในห้องเล็ก ๆ ไม่ต้องใช้ในห้องประชุมใหญ่ โปรเจคเตอร์แบบ LED อาจตอบโจทย์กว่า
ข้อดี |
|
ข้อเสีย |
|
สำหรับ Laser Projector เป็นนวัตกรรมใหม่กว่าใครพัฒนาออกมาลบจุดด้อยของ 2 ชนิดก่อนหน้า โดยใช้แผงเลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสงแทนหลอดไฟ และปรับปรุงระบบการทำงานนิดหน่อย ข้อดี คือ ทำให้อายุการใช้งานยาวนาน 10,000 - 30,000 ชั่วโมง เทียบเท่ากับหลอดภาพ LED ในขณะที่ประสิทธิภาพของแสงสว่างก็ยังคงเดิม
นอกจากเรื่องแสงภาพแล้วแสงเลเซอร์ยังช่วยส่งให้ระบบการฉายภาพของโปรเจคเตอร์มีความ คมชัดทั้งภาพ และสี และยังสามารถให้แสงสีขาวที่เป็นธรรมชาติมากกว่า ไม่ได้มีอมเหลืองเหมือนหลอดแสงทั่วไป แถมยังช่วยลดการใช้พลังงานและการปล่อยความร้อนได้เช่นกัน
ตัวอย่างโปรเจคเตอร์แบบเลเซอร์
โดย Laser Projector นั้นมีข้อเสีย ตรงที่มีราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะช่วงเปิดตัวเทคโนโลยีนี้แรก ๆ มักถูกใช้ในเครื่องระดับ High - End แม้ต่อมาจะเริ่มมีการนำมาใส่ในเครื่องเกรดต่ำ แต่ราคาก็ยังสูงกว่าเครื่องชนิดอื่น ๆ อยู่ดี และขั้นต่ำไม่เคยน้อยกว่า 10,000 บาท และอาจสูงไปจนถึงเครื่องหลักแสน หรือจะถึงหลักล้านเลยก็มี !
ข้อดี |
|
ข้อเสีย |
|
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |