ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

หน้าจอ HDR สามารถแสดงภาพได้อย่างสวยงาม มาดูเทคนิคการเลือก ซื้อจอ HDR กัน

หน้าจอ HDR สามารถแสดงภาพได้อย่างสวยงาม มาดูเทคนิคการเลือก ซื้อจอ HDR กัน
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-psd/realistic-monitor-presentation_1016363.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 5,448
เขียนโดย :
0 %E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%AD+HDR+%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%A1+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81+%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%AD+HDR+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลือก ซื้อหน้าจอ HDR

หน้าจอที่มีคุณภาพสูงในยุคนี้ จะขาดคุณสมบัติในการแสดงผลภาพแบบ High Dynamic Range (HDR) ไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอทีวี หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ตาม กล่าวง่ายๆ คือหน้าจอที่รองรับคุณสมบัติ HDR จะสามารถแสดงผลภาพได้อย่างสวยงาม สมจริงกว่าหน้าจอปกติที่ไม่รองรับ HDR

บทความเกี่ยวกับ Screen อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ความแตกต่างของ HDR10, HDR10+, Dolby Vision, HLG และ SL-HDR1

การที่หน้าจอจะสามารถระบุว่ารองรับ HDR ได้นั้น จำเป็นจะต้องมีฮาร์ดแวร์ที่สามารถแสดงผลภาพได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งตัวมาตรฐาน HDR เองก็มีอยู่หลายมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน HDR10, HDR10+, Dolby Vision ฯลฯ แต่ละมาตรฐานก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหน้าจอที่รองรับเทคโนโลยี HDR อาจจะบอกว่ารองรับ HDR10 แต่บางรุ่นอาจจะรองรับทั้ง HDR10+ และ Dolby Vision นั่นก็มาจากข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ของตัวหน้าจอนั่นเองที่ไม่สามารถแสดงผลค่าได้ถึงมาตรฐานที่ถูกกำหนดเอาไว้

ในบทความนี้ เราเลยอยากจะมาแนะนำแนวทางการเลือกซื้อหน้าจอที่รองรับ HDR กัน ว่าถ้าอยากได้หน้าจอที่แสดงผลได้แบบแจ่ม ๆ มีสเปกฮาร์ดแวร์ด้านไหนบ้างที่เราควรให้ความสำคัญกับมัน มาดูกันเลย

เนื้อหาภายในบทความ

1. ขอบเขตสี (Color Gamut)

ขอบเขตสี หรือ Color Gamut หมายถึงจำนวนสีทั้งหมดที่หน้าจอสามารถแสดงผลได้ หน้าจอที่รองรับการแสดงผลระดับ HDR ได้มีคุณภาพดี ควรจะใช้มาตรฐาน Color Gamut ที่เรียกว่า Rec.2020 (หรือ BT.2020) ซึ่งครอบคลุมขอบเขตสีมากถึง 75.8% ของมาตรฐานขอบเขตสี CIE 1931 (จำนวนสีตามทฤษฎีที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้) มันเป็นมาตรฐานที่ได้รับการอัปเกรดมาให้เหนือกว่ามาตรฐาน sRGB และ Rec.709 ที่นิยมใช้งานกันในหน้าจอแบบ Standard Dynamic Range (SDR)

ขอบเขตสี (Color Gamut)
เปรียบเทียบ Color spaces ระหว่าง Rec.2020 และ Rec.709
ภาพจาก : https://www.makeuseof.com/hdr-screen-specs-to-look-for/

จากกราฟขอบเขตสีด้านบน คุณจะมองเห็นความแตกต่างระหว่างจำนวนสีที่มาตรฐาน Rec.2020 และ Rec.709 สามารถทำได้ ว่ามันมีความแตกต่างกันมากขนาดไหน หน้าจอ HDR ราคาประหยัดส่วนใหญ่ก็จะรองรับแค่มาตรฐาน Rec.709 หรือ sRGB แต่ถ้าคุณอยากสัมผัสกับภาพคุณภาพสูงแล้วล่ะก็ การเลือกหน้าจอแสดงผลที่รองรับมาตรฐาน Rec.2020 มาใช้งาน ก็จะให้ประสบการณ์ที่ดีกว่า

ขอบเขตสี (Color Gamut)
ภาพจาก : https://www.makeuseof.com/hdr-screen-specs-to-look-for/

2. ความลึกสี (Color Depth)

หลักการทำงานของจอแสดงผลจะเป็นแบบดิจิทัล ซึ่งมีความแตกต่างจากการทำงานของดวงตามนุษย์ที่เป็นลักษณะอนาล็อก จอแบบดิจิทัลจะมีการระบุเฉดสีด้วยตัวเลข ความลึกสี (Color Depth) หรือความลึกบิต (Bit Depth) จะเป็นค่าที่บอกว่าสีนั้น ๆ จะสามารถไล่สีได้ละเอียดขนาดไหน ยิ่งค่า Bit Depth สูงมากเท่าไหร่ จำนวนสีที่สามารถไล่เฉดสีได้ก็จะยิ่งละเอียดมากขึ้น แต่ถ้าจอมีค่า Bit Depth ต่ำ เมื่อต้องแสดงผลภาพที่มีการไล่เฉดสี จะทำให้เกิดปัญหาแถบสี (Colour Banding) ขึ้นได้

ความลึกสี (Color Depth)
ภาพจาก : https://www.makeuseof.com/hdr-screen-specs-to-look-for/

หน้าจอที่รองรับ HDR จะมีค่า Color Depth อยู่ที่ระหว่าง 8 บิต ถึง 12 บิต โดยสีระดับ 8 บิต จะสามารถแสดงผลได้ประมาณ 16 ล้านสี ซึ่งไม่แตกต่างจากจำนวนสีที่จอแบบ SDR สามารถทำได้อยู่แล้ว ในขณะที่ 10 บิต สามารถแสดงผลได้ถึง 1,070 ล้านสี และหากคุณใช้หน้าจอแบบ 12 บิต ล่ะก็จะสามารถทำได้ถึง 68,000 ล้านสี เลยทีเดียว

ดวงตาของมนุษย์นั้นมีความยอดเยี่ยมมาก สามารถมองเห็น และแยกแยะสีได้จำนวนมหาศาล คุณสามารถมองเห็นความแตกต่างระหว่างภาพระดับ 8 บิต กับ 12 บิต ได้อย่างชัดเจน ส่วน 10 บิต กับ 12 บิต จะต่างกันแค่นิดหน่อย ดังนั้น อย่างน้อยถ้าอยากสัมผัสภาพดี ๆ ก็ควรเลือกหน้าจอที่มีค่า Color Depth  อย่างน้อย 10 บิต

3. ความสว่างจอสูงสุด (Peak Brightness)

พื้นที่สี (Color Space) หรือจำนวนสีทั้งหมดที่หน้าจอสามารถแสดงผลได้ มักจะมาในรูปแบบของภาพ 2 มิติ ที่ประกอบไปด้วยสีหลัก และสีรอง (ถ้านึกไม่ออกเลื่อนไปดูภาพเปรียบเทียบ Color Space ระหว่าง Rec.2020 และ Rec.709 ที่ด้านบน) แต่ในความเป็นจริงแล้ว Color Space นั้นมีลักษณะเป็น 3 มิติ (3D) โดยมิติที่สามนั้นจะเป็นเรื่อง "ความสว่างของสี"

ความสว่างจอสูงสุด (Peak Brightness)
ความสว่างสามารถส่งผลกระทบต่อสีบนหน้าจอแสดงผล
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=99GczKnEObw

ยิ่งหน้าจอของคุณสามารถแสดงความสว่างได้มากเท่าไหร่ นั่นก็หมายความถึงความสว่างของสีที่หน้าจอสามารถทำได้เช่นกัน ทำให้การแสดงผลภาพที่มีความสว่างมีความสมจริงมากขึ้น นอกจากนี้ มันยังมีความสัมพันธ์กับค่า Dynamic Range และ Contrast อีกด้วย

ค่าความสว่าง (Brightness) ในหน้าจอแสดงผลจะบอกเป็นค่า "nits" หรือแคนเดลา (Candela) ต่อตารางเมตร (cd/m2) สำหรับหน้าจอ HDR ความสว่างขั้นต่ำจะต้องมีค่าอย่างน้อย 400 nits (400 cd/m2) ส่วนความสว่างสูงสุดจะอยู่ที่ 4,000 nits (4,000 cd/m2) โดยทั่วไปแล้ว หน้าจอยิ่งสว่างยิ่งดี

ความสว่างจอสูงสุด (Peak Brightness)
ภาพจาก : https://www.makeuseof.com/hdr-screen-specs-to-look-for/

หากคุณสังเกตที่จอ HDR ราคาประหยัด ส่วนใหญ่จะมีค่าความสว่างแบบต่ำสุดเลย คือ 400-450 nits เท่านั้น ในขณะที่จอ HDR ที่มีคุณภาพดีหน่อย ก็จะเริ่มต้นที่ 1,000 nits แต่แน่นอนว่าราคาที่จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้นเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มั่นใจว่า หน้าจอ HDR จะสามารถแสดงผลได้อย่างแจ่มจรัส มีค่าความ Contrast และ Dynamic Range ที่ดี นอกเหนือไปจากความสว่างสูงสุดแล้ว เราควรให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการลดแสง หรือเทคโนโลยี Backlight ของหน้าจอด้วย

4. อัตราความคมชัด (Contrast Ratio)

ในขณะที่หัวข้อที่แล้ว เราได้อธิบายเกี่ยวกับความสว่างสูงสุดไป เพื่อความต่อเนื่อง เรามาต่อกันที่ อัตราความคมชัด (Contrast Ratio) กัน

ค่า Contrast Ratio เป็นอัตราส่วนความแตกต่างระหว่าง "ค่าสีขาว" ซึ่งเป็นค่าที่สว่างที่สุด กับ "ค่าสีดำ" ซึ่งเป็นค่าที่มืดที่สุด ยิ่งค่านี้มีความแตกต่างกันมากเท่าไหร่ จะทำให้การตัดกันของสีมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ภาพดูคมชัด มีมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่แสดงภาพที่มีแสงตัดกันอย่างชัดเจน 

นอกจากนี้ ค่า Contrast Ratio ยังมีผลต่อความแม่นยำของสีอีกด้วย อย่างที่เราได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ความสว่างเป็นส่วนหนึ่งของ Color Space หน้าจอที่มีค่า Contrast Ratio ต่ำ จะทำให้สีบางส่วนโดนกลบหายไป และภาพสูญเสียรายละเอียดได้

อัตราความคมชัด (Contrast Ratio)
ภาพจาก : https://www.viewsonic.com/uk/presscenter/content/the-advantage-of-dlp-projectors_178

ดังนั้น หากอยากรับชมภาพ HDR ที่สวยงาม ความคมชัดสูงแล้วล่ะก็ อย่าลืมตรวจสอบค่า Contrast Ratio ของหน้าจอด้วยนะครับ โดยอย่างน้อยก็ไม่ควรเลือกซื้อจอรุ่นที่มีค่า Contrast Ratio ต่ำกว่า 3,000:1

5. การหรี่แสงของหลอดเฉพาะบางจุด (Local Dimming)

จอแสดงผลจะต้องมีแผงไฟอยู่ใต้จอ เพื่อทำการยิงแสงผ่านเม็ดพิกเซลเพื่อให้ภาพปรากฏขึ้นบนหน้าจอ ซึ่งไฟนี้จะกระจายอยู่ตามขอบของหน้าจอ ปัญหาก็คือ การมีอยู่ของแสงไฟดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถแสดงสีดำบนหน้าจอได้ ฉากที่ควรจะเป็นสีดำ ก็จะออกเป็นสีเทาแทนซะอย่างงั้น ซึ่งทางผู้ผลิตหน้าจอก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ หาทางหรี่แสงให้ต่ำลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเทคโนโลยีที่เป็นทางออกก็คือ การหรี่แสงของหลอดเฉพาะบางจุด หรือ "Local Dimming" นั่นเอง

Local Dimming เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในการแสดงผล HDR เลย โดยจะมีแผงไฟจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วทั้งหน้าจอ แล้วแบ่งการทำงานออกเป็นโซน ในหน้าจอรุ่นประหยัดอาจจะมีเพียงการแบ่งไฟออกเป็น 1-16 โซน ส่วนหน้าจอระดับเรือธงอาจจะมีหลายร้อยโซนเลยก็ได้ ไฟเหล่าสามารถที่จะเปิดปิดแสงไฟตามการแสดงผลบนหน้าจอได้ ทำให้การแสดงผลสีดำ ทำได้ดำสนิทสวยงามยิ่งขึ้น

การหรี่แสงของหลอดเฉพาะบางจุด (Local Dimming)
ภาพจาก : https://www.makeuseof.com/hdr-screen-specs-to-look-for/

ถึงแม้ว่า คุณสมบัติ Local Dimming จะเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ของมาตรฐาน HDR แต่ก็มีบางมาตรฐานที่หน้าจอไม่ต้องรองรับ Local Dimming ก็ได้ เช่น DisplayHDR 400 แน่นอนว่ามาตรฐานเหล่านั้น ก็จะให้ภาพที่มีคุณภาพต่ำกว่า ถ้าอยากได้หน้าจอ HDR คุณภาพสูงล่ะก็ ควรจะเลือกซื้อรุ่นที่ระบุว่ามี "Local Dimming" หรือ "Full Array Backlight"

อีกทางเลือกหนึ่งคือ การใช้หน้าจอแบบ OLED เนื่องจากการทำงานของพาเนลชนิดนี้ไม่ต้องมีไฟ Backlight ในการทำงาน แต่ละพิกเซลสามารถเรืองแสงได้ด้วยตัวของมันเอง ทำให้มันเป็นหน้าจอที่สามารถแสดงสีดำได้มืดสนิทมากที่สุด ค่า Contrast Ratio ของจอ OLED จึงมีความสูงมาก

อย่างไรก็ตาม หน้าจอแบบ OLED ก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน

  1. มันยังมีราคาที่ค่อนข้างแพงมาก
  2. ความสว่างสูงสุดของหน้าจอ OLED ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 700 nits อาจจะมีบางรุ่นที่ทำได้ถึง 1,000 nits (แน่นอนว่าราคายิ่งแพงขึ้นไปอีก) ทำให้การใช้ในห้องที่มีแสงสว่างเยอะ จออาจจะสู้แสงไม่ไหว
  3. ปัญหาจอเบิร์นยังคงเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับจอแบบ OLED

จะเลือกใช้หน้าจอแบบ Full Array Backlight หรือ OLED ก็แล้วแต่ความชอบ และงบประมาณที่มี

บทสรุปการเลือกหน้าจอ HDR มาใช้งาน
(HDR Screen Chosen Conclusions)

  • จอที่รองรับขอบเขตสี (Color Gamut) แบบ Rec.2020/BT.2020
  • มีความลึกสี (Color Depth) 10 บิต หรือ 12 บิต
  • ความสว่างอย่างน้อย 400 nits (ยิ่งเยอะยิ่งดี)
  • ค่าอัตราส่วนความแตกต่างของสีขาวกับสีดำ (Contrast Ratio) อย่างน้อย 3,000:1
  • มีระบบการหรี่แสงของหลอดเฉพาะบางจุด (Local Dimming) (Full Array Backlight) หรือเป็นจอ OLED

ที่มา : www.makeuseof.com

0 %E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%AD+HDR+%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%A1+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81+%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%AD+HDR+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น