หากคุรเคยเข้าไปรับชมหนังที่ โรงหนัง หรือ โรงภาพยนตร์ มาก่อน ก็แสดงว่าคุณน่าจะเคยสัมผัสประสบการณ์การชมวิดีโอผ่านการฉายจาก เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ (Projector) มาอย่างแน่นอน หรือบางคนอาจจะซื้อมาไว้ที่บ้านเพื่อใช้ดูหนัง หรือเล่นเกมอยู่แล้วด้วยซ้ำไป
การรับชมโปรเจคเตอร์จะต่างไปจากการรับชมผ่านหน้าจอทีวี หรือจอคอมพิวเตอร์ เพราะเราไม่สามารถรับชมได้โดยตรง เพราะว่าตัวโปรเจคเตอร์เองเป็นแค่เครื่องฉายภาพเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามัน "ไม่มีจอแสดงผล" ดังนั้นเราจะต้องหาฉากรับภาพมาวางไว้ที่ด้านหน้า ของเครื่องโปรเจคเตอร์ด้วย อาจจะอ่านแล้วรู้สึกว่ามันไม่สะดวกเท่าไหร่นัก
แต่แน่นอนว่าข้อดีของการมีโปรเจคเตอร์ก็คือ มันสามารถฉายภาพได้ขนาดใหญ่มาก โดยโปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่จะสามารถแสดงภาพขนาด 80 - 100 นิ้วได้สบาย ๆ แม้ทีวีขนาด 100 นิ้ว ก็มีขายแต่ราคาก็แพงอยู่ที่หลักแสน โปรเจคเตอร์จึงเป็นตัวเลือกที่ประหยัดกว่ามาก สำหรับคนที่อยากสัมผัสจอใหญ่ในราคาประหยัด
เคยสงสัยไหมว่า เครื่องโปรเจคเตอร์ทำงานอย่างไร ? แล้วมีเครื่องโปรเจคเตอร์อยู่กี่ประเภท ? ในบทความนี้เราจะมาอธิบายให้อ่านกัน
หากคุณเคยเรียนวิทยาศาสตร์มาบ้าง คุณอาจจะมีประสบการณ์เกี่ยวกับกล้องกล้องทาบเงา (Camera obscura) มาก่อน หลักการทำงานของโปรเจคเตอร์นั้น เป็นความรู้ที่ถูกค้นพบมากว่า 3,000 ปีแล้ว
การที่มนุษย์สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆได้นั้น เกิดจากการที่แสงตกกระทบวัตถุ แล้วสะท้อนเข้าสู่ตาของเราผ่านเลนส์แก้วตา แล้วตกกระทบไปยังตัวรับภาพ ก่อนที่สมองจะแปลงสัญญาณภาพให้เราเข้าใจสิ่งที่มองเห็น
คุณสมบัติทางธรรมชาติของแสง เมื่อมันตกกระทบกับวัตถุ มันจะสะท้อนออกไปกระจัดกระจายไปในทิศทางต่าง แต่หากมีรูขนาดเล็กให้แสงลอดผ่านไปได้ ภาพของวัตถุดังกล่าวจะไปตกกระทบกับฉากด้านหลังได้ หากมีระนาบรับภาพที่เหมาะสม ซึ่งปรากฏการณ์นี้ถูกสังเกตพบมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
ภาพกล้องทาบเงาจากหนังสือ Apiaria Universae Philosophiae Mathematicae
พิมพ์ในปี ค.ศ. 1642 (พ.ศ. 2185)
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Camera_obscura
เครื่องโปรเจคเตอร์ก็ใช้หลักการเดียวกัน แต่แทนที่จะให้แสงลอดผ่านรูที่ว่างเปล่า ก็จะให้แสงลอดผ่านชั้นเลนส์เพื่อขยายขนาดภาพให้ใหญ่ยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในเครื่องโปรเจคเตอร์ก็มีอยู่หลายประเภท มีวิธีการสร้างภาพที่แตกต่างกัน ในหัวข้อถัดไปเรามารู้จักกับประเภทของโปรจคเตอร์ชนิดต่าง ๆ กัน
โปรเจคเตอร์แบบ Cathode Ray Tube (CRT) เป็นเทคโนโลยีของโปรเจคเตอร์ที่เก่าแก่ที่สุด ใช้หลักการทำงานเดียวกับทีวี หรือจอคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าที่มีความหนาเตอะจนโดนแซะว่าเป็นจอตู้ ปัจจุบันนี้ไม่มีการผลิต
หลักการทำงานคือ อาศัยหลอด Cathode Ray Tube (CRT) จำนวน 3 หลอด 3 สี ประกอบไปด้วยสีแดง, เขียว และน้ำเงิน เรียงกันเหมือนกับสัญญาณไฟจราจร สามสีนี้จะผสมกันได้เพื่อสร้างสีต่าง ๆ เมื่อรวมแสงทั้งหมดที่ตกกระทบลงบนฉาก ก็จะปรากฏเป็นภาพขึ้นมา
VDC Marquee 9500LC
ภาพจาก : https://www.hcinema.de/pro/anzeigen.php?angabe=vdcmarquee9500lc
LCD ย่อมาจากคำว่า Liquid Crystal Display หรือจอผลึกคริสตัลเหลว
โปรเจคเตอร์แบบ LCD หมายถึงโปรเจคเตอร์ที่ใช้ LCD ในการสร้างภาพ โดยมีอยู่ 2 รูปแบบคือ Single-chip LCD และ Three-chip LCD
แบบ 1LCD จะใช้บอร์ด LCD ที่ประกอบไปด้วยสีแดง, เขียว และน้ำเงินรวมกันไว้ในที่เดียว ทำให้สามารถออกแบบโปรเจคเตอร์ให้มีขนาดเล็ก, น้ำหนักเบา และต้นทุนการผลิตต่ำได้ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านรูรับแสง และมีเกรน (Grain) ค่อนข้างเยอะ ทำให้มันหายไปจากท้องตลาดแล้ว
ส่วน 3LCD นั้น ปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีโปรเจคเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ใช้แผง LCD 3 ตัว 3 สี ทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างภาพที่มีเพียงสีเดียว จากนั้นก็รวมแสงด้วยแท่งปริซึมให้กลายเป็นภาพเดียว ทำให้ได้ภาพที่มีความสว่าง, คมชัด และดูนุ่มนวล
ภาพจาก : https://www.projectorscreen.com/blog/How-Does-A-LCD-Projector-Work
โปรเจคเตอร์แบบ Digital Light Processing (DLP) ทำงานแบบดิจิทัลตามชื่อของมันเลย ความยอดเยี่ยมของโปรเจคเตอร์ชนิดนี้คือ สามารถแสดงสีได้ถึง 35 ล้านเฉดสี และมีคุณภาพของภาพที่สูงมาก โดยอาศัยชิป Digital micromirror Device (DMD) ในการทำงาน
แสงจะถูกแยกสีออกเป็นสีแดง, เขียว และน้ำเงินผ่านวงล้อสี (Color Wheel) ไปตกกระทบลงบนกระจกขนาดเล็ก (Micromirror) ที่อยู่บนชิป แสงจะถูกผสมสีตามข้อมูลที่ได้รับมาภายในเวลาเสี้ยววินาที แล้วส่งผ่านเลนส์ไปฉายบนหน้าจอ
เทคโนโลยี DLP เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท Texas Instruments (TI) ซึ่งชิป DMD และตัวควบคุม DMD controllers ยังเป็นสินค้าที่ใครอยากจะผลิตโปรเจคเตอร์แบบ DLP ต้องมาซื้อชิปต่อจาก TI เท่านั้น
โปรเจคเตอร์แบบ DLP ยังมีการแบ่งย่อยลงไปอีกตามจำนวนชิป DMD ที่ใช้ คือ 1DLP, 2DLP และ 3DLP
สมาร์ทโปรเจคเตอร์ส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะเป็นแบบ 1DLP แต่ถ้าเป็นแบบที่ใช้ในอุตสาหกรรมบันเทิง ฉายบนหน้าจอขนาดใหญ่ก็จะเป็นแบบ 2DLP
ส่วน 3DLP นั้นพิเศษหน่อย เพราะมันสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมี Color Wheel เพราะแต่ละชิปจะทำงานแยกกันไปคนละสีเลย หลักการคล้ายคลึงกับ 3LCD ในโปรเจคเตอร์ระดับเรือธงที่เน้นคุณภาพในการฉายแบบสูงสุดจะเลือกใช้ 3DLP ในการทำงาน
ภาพจาก : https://www.viewsonic.com/library/entertainment/what-look-for-dlp-projector/
โปรเจคเตอร์แบบ Liquid Crystal on Silicon (LCOS) เปรียบเสมือนการผสมผสานการทำงานระหว่างโปรเจคเตอร์แบบ LCD และ DLP เข้าด้วยกัน
โดยแสงจะถูกยิงผ่านแท่งปริซึมเพื่อกระจายออกเป็นสามสี แดง, เขียว และน้ำเงิน หากเป็นโปรเจคเตอร์แสงจะทะลุผ่าน LCD ไป แต่นี่มันจะใช้หลักการสะท้อนแสงเหมือนกับ DLP
ข้อดีของโปรเจคเตอร์แบบ LCOS คือประหยัดพลังงาน และมีความคมชัดสูง
ภาพจาก : https://www.projectorscreen.com/blog/How-Does-An-LCos-Projector-Work
หมายถึงโปรเจคเตอร์ใช้ใช้หลอดไฟ แอลอีดี (LED) เป็นแหล่งกำเนิดแสงแทนหลอดไฟแบบเดิม ๆ ส่วนการทำงานจะเป็น LCD, DLP หรือ LCOS ก็ได้
ข้อดีคือราคาถูก, มีขนาดเล็ก, ประหยัดไฟ และอายุการใช้งานยาวนาน แต่ข้อเสียคือ มีค่าความสว่างสูงสุดต่ำกว่าหลอดไฟแบบดั้งเดิม จึงไม่เหมาะหากห้องที่จะใช้งานโปรเจคเตอร์ มีความสว่างมาก พวกโปรเจคเตอร์แบบพกพาอย่าง Pico Projectors ก็ใช้หลอดไฟ LED เป็นแหล่งกำเนิดแสงเช่นกัน
สำหรับ โปรเจคเตอร์แบบเลเซอร์นั้น จะเหมือนกับโปรเจคเตอร์แบบ LED เลย มันต่างกันแค่แหล่งกำเนิดแสงเท่านั้น ซึ่งก็ตามชื่อเลย มันหมายถึงโปรเจคเตอร์ที่ใช้แสงเลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสง
ในส่วนของข้อดีของมันนั้น ก็มีหลายอย่าง เปิดปุ๊ปสว่างทันที ไม่ต้องอุ่นเครื่องแบบหลอดไฟแบบเก่า อายุการใช้งานก็ยาวนานมาก ใช้ได้เป็น 10 ปี กว่าที่จะต้องเปลี่ยนหลอด ข้อเสียมีเพียงอย่างเดียว คือราคายังค่อนข้างสูงอยู่เมื่อเทียบกับโปรเจคเตอร์แบบอื่นๆ
ภาพจาก : https://www.sharpnecdisplays.eu/p/laser/en/technologies.xhtml
โปรเจคเตอร์แต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การเลือกซื้อก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ และการนำไปใช้งาน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
6 พฤศจิกายน 2566 11:36:33
|
||
GUEST |
มาค์
ขอบคุณครับ
|
|