ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีหลายบริษัทในประเทศไทยที่ได้นำ แอปพลิเคชัน LINE (ทั้ง LINE บนมือถือ และ LINE บน PC) มาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารหลักภายในองค์กร (บ้างก็ใช้ภายนอกด้วย) ด้วยเหตุผลว่า มันใช้งานง่าย, คนส่วนใหญ่มีติดตั้งไว้บนสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว, เป็นทางเลือกที่ใช้งานได้ฟรี จากทั้งหมดที่ว่ามาก็เป็นเรื่องของความสะดวกแค่นั้นเลย ที่ทำให้บริษัทเลือกใช้งานแอปพลิเคชันอย่าง LINE
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ถูกบังคับใช้บางส่วนเริ่มประสบปัญหากับการใช้งาน LINE ซึ่งเป็นเพียงแอปพลิเคชันเพื่อสนทนากับเพื่อน ในการเป็นเครื่องมือสื่อสารภายในองค์กร ไม่ว่าจะปัญหาด้านการแจ้งเตือนที่ปะปนทั้งเรื่องส่วนตัว กับเรื่องงาน หรือประสิทธิภาพการทำงานของแอปพลิเคชันที่ค่อนข้างแย่
นอกจากนี้มันยังมีอีกหลายเหตุผล ที่ทำให้เราไม่ควรใช้ LINE เป็นเครื่องมือสื่อสารภายในองค์กรอีกหลายหัวข้อ ซึ่งเราจะมาอธิบายให้เข้าใจกันในบทความนี้
เมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามาทำงานภายในบริษัท และคุณต้องการเพิ่มรายชื่อพนักงานใหม่เข้ามาภายในกลุ่มสื่อสาร คุณต้องเริ่มจากการเพิ่มรายชื่อพนักงานคนดังกล่าวเป็นเพื่อนก่อน ถึงจะลากเข้ากลุ่มได้ หากไม่เพิ่มเพื่อนก่อน ก็จะไม่สามารถลากเข้ากลุ่มได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียเวลา และทำให้สมุดรายชื่อผู้ติดต่อของคุณยุ่งเหยิงเป็นอย่างมาก
ประเด็นถัดมาคือ LINE สามารถเปลี่ยนชื่อบัญชีที่แสดงผลได้ตลอดเวลา และเนื่องจาก LINE ใช้ส่วนตัวด้วย ผู้ใช้จึงมีอิสระในการตั้งชื่อ ผู้ใช้หลายคนเลือกใช้แค่อีโมจิ หรือฉายาเป็นชื่อ ทำให้ยากต่อการแยกแยะว่าใครเป็นใคร เมื่อต้องการสนทนากับพนักงานเป้าหมาย หรือเพิ่มพนักงานเข้ากลุ่มย่อยภายในบริษัท จึงต้องเสียเวลาในการหาบัญชี LINE ของพนักงานที่ต้องการ (บ่อยครั้งที่หาไม่เจอ)
เป็นเรื่องธรรมดาที่พนักงานจะมีการเข้าใหม่, เปลี่ยนตำแหน่ง หรือลาออกจากบริษัท นั่นทำให้ในการจัดการกลุ่มสนทนาภายในบริษัท จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังต่อไปนี้
นอกจากนี้ LINE ยังไม่มีระบบจัดการผู้ดูแลที่เข้มงวด ทำให้อาจมีการเพิ่มคนนอกกลุ่มเข้ามา เพื่อแอบอ่านข้อมูลสำคัญของบริษัทได้ อีกทั้งบริษัทไม่สามารถตรวจสอบการสื่อสารที่เกิดขึ้นภายในแอปพลิเคชันได้อีกด้วย
เวลาที่ได้รับการสั่งงานผ่าน LINE มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกลุ่มที่มีคนอยู่หลายคน ข้อความจะไหลไปเรื่อย ๆ ไฟล์ที่ส่งมาหลายครั้งพอจะใช้งานก็หมดอายุไปแล้ว หรือไม่ก็หาไม่เจอ
หรือหากมีการแก้ไขงานหลายครั้ง การสั่งผ่าน LINE มักจะเป็นภาษาพูดที่ขาดความชัดเจน ทำให้มีการแก้ไขกลับไปกลับมาหลายครั้ง ต่างจากอีเมลที่มีหลักฐานการสนทนาที่ง่ายต่อการตรวจสอบ ซึ่งที่ว่ามานี้ LINE ไม่มีให้ใช้นะ
การดูแลความปลอดภัยของข้อมูลภายในบริษัทมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น คุณไล่พนักงานออกจากบริษัท และไล่ออกจากกลุ่มแชทแล้ว แต่ข้อมูลบางส่วนจะยังถูกเก็บเอาไว้ที่สมาร์ทโฟนของพนักงานคนดังกล่าว ซึ่งมันอาจถูกนำไปใช้หาผลประโยชน์ให้กับบริษัทคู่แข่งได้
อีกปัญหาหนึ่งคือ บริษัทไม่สามารถควบคุมการรับส่งไฟล์ภายในการสื่อสารได้ เพราะ LINE ไม่มีระบบคลาวด์ให้บริษัทเข้าไปตรวจสอบ หรืออนุมัติการรับส่งไฟล์ได้ เป็นช่องว่างให้อาจเกิดข้อผิดพลาดในการใช้งานไฟล์ หรือข้อมูลภายในบริษัทหลุดไปยังบุคคลที่สามได้
สุดท้ายก็เรื่องความเป็นส่วนตัว หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า LINE มีการเก็บข้อมูลการสนทนาของผู้ใช้ด้วย มันจึงไม่ใช่เครื่องมือสื่อสารที่มีความปลอดภัยมากนัก รวมไปถึงระบบสำรองข้อมูลของ LINE ก็เป็นการ Export ออกเป็นข้อความที่ไม่มีการเข้ารหัส สามารถเปิดอ่านได้ทันทีโดยไม่ต้องถอดรหัสอีกด้วย
เมื่อ LINE ถูกใช้ทั้งการคุยเล่นกับเพื่อน และคุยเรื่องงานของบริษัท การแจ้งเตือนจะมีความวุ่นวายเป็นอย่างมาก แม้จะเป็นวันหยุดที่คุณไม่ได้ทำงาน แต่อาจมีพนักงานคนอื่นที่ทำงานอยู่ และใช้ LINE ในการสื่อสาร ส่งข้อความอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันสามารถทำลายบรรยากาศในวันพักผ่อนของคุณได้
นอกจากนี้ มันยังส่งผลให้เกิดสถานการณ์ประหลาดได้อยู่บ่อยครั้ง เช่น บังเอิญคุณเพิ่งคลอดลูก ทันใดนั้นเอง พนักงานทุกคนในบริษัทก็พร้อมใจกันส่งข้อความมาแสดงความยินดี ซึ่งบางคนคุณรู้จัก แต่หลายคนก็ส่งมาเพราะทุกคนส่ง เลยต้องส่งบ้างเพื่อมารยาท ส่วนผู้รับก็ทำได้แค่ทนรำคาญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หรือจะเป็นส่วนของรูปโปรไฟล์ที่คุณอาจจะอยากใช้รูปที่ไปเที่ยวมา แต่ก็กังวลว่าจะถูกคนอื่นในบริษัทแคปไปนินทา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของบริษัทในไทยที่มักมีการนินทาลับหลังเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อมีสถานการณ์ผิดพลาดในการสื่อสารเกิดขึ้น บริษัทจำเป็นจะต้องสืบสวน เพื่อหาทางแก้ไข เช่น พนักงานในบริษัทตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment), ความรุนแรงภายในบริษัท, การโจมตีผ่านระบบไซเบอร์ ฯลฯ ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีการสืบสวนจากระบบสื่อสารที่บริษัทใช้งานอยู่ด้วย
ทีมตรวจสอบต้องสามารถรู้ได้ว่าข้อความมีการส่งจากใครถึงใคร, มีใครที่อ่าน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ฯลฯ แน่นอนว่าที่ว่ามานี้ LINE ไม่สามารถทำได้ รวมไปถึงข้อความก็สามารถลบออกจากเครื่องได้ง่าย ๆ อีกด้วย เปิดช่องให้คนร้ายสามารถทำลายหลักฐานได้
แอป LINE นั้นมีคุณสมบัติมากมายที่มาไกลไปจากแอปพลิเคชันเวอร์ชันแรกเป็นอย่างมาก มันไม่ได้ทำได้แค่การสนทนาอีกต่อไป มันมีร้านค้า, สื่อสังคมออนไลน์ (Social Network), ข่าว ฯลฯ ที่ไม่จำเป็นต่อการทำงานถูกยัดเยียดเข้ามาให้ผู้ใช้มากมาย ทำให้แอปพลิเคชันทำงานได้ค่อนข้างช้า หากเปิด LINE ในอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้งานบ่อย ก็จะเสียเวลาโหลดข้อมูลนานมาก
นอกจากนี้ LINE ยังมีระบบจัดการแคช (Cache) ที่ค่อนข้างแย่ LINE ใช้พื้นที่แค่ประมาณ 290 MB. เท่านั้น ในตอนที่เราใช้งานครั้งแรก แต่เมื่อใช้งานไปสักพัก มันจะสะสม Cache มากขึ้นเรื่อย ๆ จนขยับไปเป็นหลาย GB. อย่างรวดเร็ว แถมในการกดลบ Cache ก็ใช้เวลานานมากอีกด้วย (ลบลงใหม่เร็วกว่าเยอะ)
จากเหตุผลที่ว่ามานี้ น่าจะทำให้คุณผู้อ่านเข้าใจแล้วว่า LINE มันไม่เหมาะสมกับการทำงานมากขนาดไหน ? ถ้าถามว่าไม่ใช้ LINE แล้วจะใช้อะไร ? อันที่จริงมีให้เลือกเพียบเลยล่ะ แอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อการสื่อสารภายในบริษัท เช่น Slack, Microsoft Teams, Discord, Google Chat ฯลฯ
ภาพ Infographic - 7 เหตุผล ที่ควรเลิกใช้ LINE ในชีวิตการทำงาน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |