หากเอ่ยถึง มัลแวร์ (Malware) เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับ มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) กันเป็นอย่างดี เนื่องจากมันสร้างผลกระทบในวงกว้าง และสร้างความเสียหายด้วยเรียกค่าไถ่เป็นจำนวนเงินมหาศาล ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีหลายบริษัทที่ตกเป็นเหยื่อของมัลแวร์ประเภทนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ได้มีมัลแวร์รูปแบบใหม่กำเนิดขึ้น มันมาพร้อมกับวิธีการโจมตีเหยื่อที่อันตรายยิ่งกว่าเก่า นั่นก็คือ Killware
ทั้งคู่เป็นมัลแวร์ที่ออกแบบมาเพื่อก่อกวนระบบคอมพิวเตอร์ แต่มันมีจุดประสงค์ และขั้นตอนปฏิบัติการที่แตกต่างกัน ในบทความนี้เราเลยอยากจะมาอธิบายว่า Killware คืออะไร ? Ransomware คืออะไร ? และมันมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
ในหัวข้อนี้ เนื่องจากเราเคยมีบทความอธิบายอย่างละเอียดไปแล้ว ภายในบทความนี้ เราก็เลยจะขออนุญาตอธิบายแค่พอสังเขปเท่านั้น
Ransomware เป็นรูปแบบการก่ออาชญากรรมที่ นักเจาะระบบ หรือ แฮกเกอร์ (Hacker) จะใช้มัลแวร์โจมตีไปยังข้อมูลบนอุปกรณ์ของเหยื่อ ด้วยการ เข้ารหัสข้อมูล (Encrypt Data) ไฟล์ของเหยื่อไม่ให้เปิดใช้งานได้ จนกว่าเหยื่อจะยอมจ่ายเงินเพื่อเอารหัสมาปลดล็อก (ซึ่งก็มีสิทธิ์จ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่ได้รับรหัสกลับมาก็เป็นได้)
ภาพจาก https://www.imperva.com/learn/application-security/ransomware/
จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์หลักของ Ransomware ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลยก็คือเรื่อง "เงิน" เป็นหลักนั่นเอง
ดังนั้นขอบเขตในการโจมตีก็เป็นอีกจุดที่ทำให้ Ransomware แตกต่างจาก Killware เพราะ Ransomware จะเลือกเหยื่อตั้งแต่รายบุคคล ไปจนถึงบริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ที่ตกเป็นข่าว เหยื่อมักจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ก็ตาม
Killware นั้นเป็นมัลแวร์ที่มีอันตรายต่อเหยื่อยิ่งกว่า Ransomware เสียอีก อันตรายในที่นี้ เราไม่ได้หมายถึงความเสียหายที่มีมูลค่าเป็นตัวเงิน เพราะเป้าหมายของ Killware ไม่ใช่เงิน แต่เป็นการทำให้เหยื่อได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต
หลายคนที่อ่านแล้วอาจจะเกิดคำถามว่า มัลแวร์คอมพิวเตอร์จะทำให้เราเสียชีวิตได้อย่างไร ?
สาเหตุก็มาจากการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ มีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อกับ อินเทอร์เน็ต (Internet) เพื่อควบคุม และติดตามการทำงานแบบออนไลน์ได้ หรือที่เรียกว่า Internet of things (IoT) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่ผู้ใช้ ตัวอย่างเช่น เราสามารถสั่งเปิดแอร์เอาไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเดินทางถึงบ้าน พอเรากลับมาถึงบ้าน ห้องก็เย็นสบายรอไว้แล้ว หรือที่โรงพยาบาลก็มีการติดตั้งระบบดูแลคนไข้ เพื่อเช็คอาการของผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ โดยที่แพทย์ หรือญาติไม่จำเป็นต้องเดินทางไปดูข้อมูลถึงโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม การที่อุปกรณ์เชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้ก็นำพามาซึ่งความเสี่ยงด้วยเช่นกัน ซึ่งในอดีตการโจมตีเหล่านี้มักจะเป็นการสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์ หรือแอบขโมยข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ ของผู้ใช้ แต่ในขณะนี้ เริ่มมีการใช้ช่องโหว่ในตัวอุปกรณ์ในการ "ทำร้ายร่างกาย" หรือ "ฆ่า"
ตัวอย่างเช่น หากโรงพยาบาลเชื่อมต่อเครื่องช่วยหายใจเข้ากับตัวควบคุม IoT แล้วถูกแฮกเกอร์รีโมตเข้าไปปิดการทำงานของตัวเครื่อง หรือในเมืองที่อากาศหนาวมากแบบติดลบ ที่ภายในบ้านจึงต้องมีเครื่องสร้างความร้อน เพื่อเพิ่มอุณหภูมิภายในบ้านให้สามารถอยู่อาศัยได้ แต่ระบบควบคุมไฟฟ้าถูกแฮกเกอร์โจมตีสั่งปิดระบบไฟฟ้าทั้งหมดในวันที่สภาพอากาศเลวร้าย จนทำให้เหยื่อหนาวตาย
เรื่องที่เรากล่าวไปนี้ ไม่ใช่จินตนาการเกินจริงแต่อย่างใด ในปี ค.ศ. 2021 ที่ฟลอริดา มีเคสที่แฮกเกอร์ได้ทำการเจาะ ระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้ผลิตน้ำประปา โจมตีด้วยการสั่งให้ระบบเพิ่มปริมาณการใช้สารโซเดียมไฮดรอกไซด์จนเกินระดับที่ปลอดภัย เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่โชคดีที่เหตุการณ์ในครั้งนั้นทางโรงงานตรวจพบความผิดสังเกต และทำการแก้ไขได้อย่างทันเหตุการณ์ ไม่อย่างนั้น น้ำประปาที่มีความเป็นพิษจะทำให้มีคนตกเป็นเหยื่อจำนวนมหาศาล
ภาพจาก https://edition.cnn.com/2021/02/08/us/oldsmar-florida-hack-water-poison/index.html
จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์หลักของ Killware ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลยก็คือเรื่อง "ทำร้ายมนุษย์" เป็นหลัก ต่างจาก Ransomware ที่โจมตีเพื่อ "เงิน"
แฮกเกอร์ส่วนใหญ่ใช้ Ransomware เพื่อหาทางข่มขู่เอาเงินด้วยช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เป็นแรงบันดาลใจที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะมักจะมีช่องทางจ่ายเงินเพื่อปลดล็อกไฟล์ ในขณะที่แรงจูงใจของ Killware นั้นมีความคลุมเครือ เพราะพวกเขาไม่ได้อะไรตอบแทนจากเหยื่อ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงว่า Killware นั้นมีผู้ก่อการร้าย หรือองค์กรอาชญากรรมอยู่เบื้องหลัง
Killware นั้นมีเป้าหมายเดียวเลยคือการทำให้เหยื่อได้รับบาดเจ็บ โดยที่ไม่ได้รับอะไรตอบแทน ส่วน Ransomware นั้นคือการเรียกค่าไถ่เป็นเงิน หรือคริปโต
เดิมที Ransomware นั้นมีเป้าหมายขนาดเล็ก แต่ภายหลังก็มีการยกระดับหันไปโจมตีเหยื่อตัวใหญ่อย่างบริษัท หรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อก่อกวนให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจนกว่าจะได้เงิน ส่วน Killware จะเลือกเหยื่อที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ อย่างโรงพยาบาล หรือสาธารณูปโภค ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้โดยตรง
โดยสรุปแล้ว ทั้ง Killware และ Ransomware ต่างก็เป็นมัลแวร์อันตรายที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อก่อกวนการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ แต่จุดจบของมันแตกต่างกัน Killware ทำลาย หรือก่อกวนระบบโดยที่แฮกเกอร์ไม่ต้องการเงินตอบแทน และไม่ให้โอกาสกอบกู้ระบบ ส่วน Ransomware จะแค่เข้ารหัสไฟล์ เพื่อยึดไฟล์เป็นตัวประกันเอาไว้เรียกค่าไถ่เงินจากเหยื่อ อย่างน้อย หากคุณยินยอมจ่ายเงินก็มีโอกาสที่จะกู้ระบบกลับมาได้
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |