ในโลกยุคดิจิทัลที่ การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ และองค์กรต่าง ๆ ทุกองค์กรมองหาคลาวด์ที่เหมาะสมกับความต้องการใช้งาน และสภาพแวดล้อมของตนเองให้ได้มากที่สุด อีกมุมหนึ่งคำว่า "มัลติคลาวด์ (Multi-Cloud)" และ "ไฮบริดคลาวด์ (Hybrid Cloud)" มักถูกนำมาใช้สลับกันไปมา แต่แท้จริงแล้วทั้งสองมีความหมาย และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม : Cloud Computing คืออะไร ? มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ? และ มีข้อดีข้อเสีย อย่างไร ?
ในบทความนี้จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง Multi-Cloud และ Hybrid Cloud อย่างละเอียด ประกอบด้วย ความหมาย, ข้อดีข้อเสีย, ความแตกต่าง และการเลือกนำเอาคลาวด์ทั้ง 2 ประเภทไปใช้งาน ...
เพื่อที่จะเข้าใจความแตกต่างระหว่างมัลติคลาวด์ และไฮบริดคลาวด์ เราจำเป็นต้องเข้าใจบริการคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) และคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) ก่อน ความแตกต่างระหว่างโครงสร้างพื้นฐานของคลาวด์ทั้ง 2 นี้ อยู่ที่ใครเป็นเจ้าของควบคุมดูแลทรัพยากรคอมพิวเตอร์จริง ๆ ทางกายภาพ
ภาพจาก : https://www.cloudflare.com/learning/cloud/what-is-a-public-cloud/
คลาวด์สาธารณะเหมือนอพาร์ทเม้นท์ หรือว่าหอพักขนาดใหญ่ที่ใคร ๆ ก็สามารถไปเช่าอยู่ได้ เนื่องมีห้องให้เช่าเยอะแยะแค่เลือกห้องที่ต้องการ และย้ายเข้าอยู่ได้เลย ไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลรักษาเพราะมีบริษัทจัดการให้หมดแล้ว ตัวอย่างผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะก็เช่น Microsoft Azure, AWS และ Google Cloud Platform
ในทางตรงกันข้ามคลาวด์ส่วนตัวเป็นเหมือนบ้านเดี่ยวของเราเอง ที่เราเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ทั้งหมด สามารถตกแต่ง และปรับปรุงบ้านได้ตามใจชอบ แต่ก็ต้องรับผิดชอบค่าดูแลรักษาเองทั้งหมด เป็นเหมือนศูนย์ข้อมูลส่วนตัวที่สามารถปรับแต่ง และใช้งานได้ตามความต้องการขององค์กรนั้น ๆ
คลาวด์สาธารณะ และคลาวด์ส่วนตัวเป็นดั่งพื้นฐานสำหรับมัลติคลาวด์ และไฮบริดคลาวด์ ด้วยความเข้าใจบริการคลาวด์ทั้งสอง จึงเป็นแนวทางการตัดสินใจในการเลือกใช้คลาวด์ทั้ง 2 ชนิดนี้
ภาพจาก : https://www.cloudflare.com/learning/cloud/what-is-multicloud/
มัลติคลาวด์ คือการใช้บริการคลาวด์สาธารณะจากสองผู้ให้บริการ หรือมากกว่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการผสมกันระหว่างคลาวด์สาธารณะ และคลาวด์ส่วนตัว มัลติคลาวด์ที่พบมากที่สุดคือการนำเอาบริการจากผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะหลายเจ้ามารวมไว้ด้วยกัน
มัลติคลาวด์ช่วยให้ธุรกิจเลือกบริการคลาวด์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ Workload นั้น ๆ ในขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากข้อดีมากมายไม่ว่าจะเป็นราคา, ตัวเลือกผู้ให้บริการ หรือความยืดหยุ่น ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจ มัลติคลาวด์ช่วยให้องค์กรสามารถเลือกผู้ให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการได้
ภาพจาก : https://www.theeleader.com/knowledge-update/cloud-technology-implement/attachment/hybrid-cloud-2/
ไฮบริดคลาวด์คือ การรวมกันของ 2 สภาพแวดล้อมคลาวด์หรือมากกว่านั้น โดยผสมผสานระหว่างคลาวด์ส่วนตัวอย่างน้อยหนึ่งแห่งกับคลาวด์สาธารณะอย่างน้อยอีกหนึ่งแห่ง สิ่งสำคัญคือการปรับใช้ไฮบริดคลาวด์ต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่แตกต่างกันอย่างน้อย 2 ประเภท
ไฮบริดคลาวด์ที่แพร่หลายที่สุดคือการรวมทรัพยากรภายในองค์กร หรือทรัพยากรที่โฮสต์โดยองค์กรเอง เป็นเจ้าของ และควบคุมโดยบริษัท กับทรัพยากรคลาวด์สาธารณะจากผู้ให้บริการภายนอก ซึ่งบริษัทสามารถจัดการเวิร์คโหลดที่โฮสต์ด้วยตนเองได้
เพื่อที่จะทำการเปรียบเทียบบริการคลาวด์แบบมัลติคลาวด์ และแบบไฮบริด เราควรเริ่มจากสิ่งแรกที่สุดนั่นคือโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพก่อน แล้วพิจารณาผลกระทบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นต่อไป
ความแตกต่างระหว่างคลาวด์แบบไฮบริด และมัลติคลาวด์อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐาน คลาวด์แบบไฮบริดคือ การผสมผสานระหว่างบริการคลาวด์ส่วนตัว และคลาวด์สาธารณะ ในขณะที่มัลติคลาวด์หมายถึงการใช้บริการคลาวด์สาธารณะจากสองแหล่ง หรือมากกว่า
ภาพจาก : https://www.spiceworks.com/tech/cloud/articles/multi-cloud-vs-hybrid-cloud/
ผู้ที่ใช้คลาวด์แบบไฮบริดสามารถเป็นเจ้าของ และจัดการทรัพยากรคลาวด์ส่วนตัวได้ ซึ่งมักจะโฮสต์กันเองอยู่ภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในศูนย์ข้อมูลแบบ On Premise (ระบบเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ภายในสถานที่ขององค์กร ดำเนินการ, ลงทุน และบำรุงรักษาเอง) ทรัพยากรเหล่านี้จะซิงค์กับเวิร์คโหลดบนคลาวด์สาธารณะเพื่อสร้างแนวทางธุรกิจที่ครอบคลุม ในทางกลับกันมัลติคลาวด์จะใช้เฉพาะบริการจากคลาวด์สาธารณะเพียงเท่านั้น
บริษัทที่ใช้คลาวด์แบบไฮบริดมักจะเกิดค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรคลาวด์ส่วนตัวถูกโฮสต์แบบ On Premise บริษัทจะต้องซื้อ, จัดการ และบำรุงรักษาทรัพยากรนั้น ๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร
บริการคลาวด์สาธารณะไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้น ดังนั้นมัลติคลาวด์ที่ใช้ทรัพยากรคลาวด์สาธารณะจึงคุ้มค่ากว่า และไม่ต้องบำรุงรักษาเอง การใช้ประโยชน์จากความสามารถของผู้ให้บริการที่มีเทคโนโลยี และฮาร์ดแวร์ที่ทันสมัย ทำให้ผู้ใช้หลายคลาวด์สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นนำได้ในราคาที่เอื้อมถึงนั่นเอง
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Over_$1,000,000_dollars_in_USD_$100_bill_stacks.png
มัลติคลาวด์ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีความพร้อมใช้งานสูง, เซอร์วิส และการรับประกันที่ผู้ให้บริการคลาวด์มีความพร้อม และรับผิดชอบ หมายความว่าคลาวด์สาธารณะให้ความสำคัญกับธุรกิจแก่บริษัทที่เป็นลูกค้า หากทรัพยากรใดทรัพยากรหนึ่งล่มลง ก็สามารถสลับไปยังอีกทรัพยากรหนึ่งได้อย่างง่ายดาย
กลับกันทรัพยากรคลาวด์แบบไฮบริดส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้การจัดการจากเจ้าของบริษัทเอง หากทรัพยากรส่วนตัวล่มลง ก็จะต้องทำการบำรุงรักษา และอาจทำให้เกิดการหยุดทำงานที่ส่งผลเสียต่อองค์กรหากไม่มีระบบสำรอง
ภาพจาก : https://docs.multy.dev/blog/benefits-of-multicloud/
หนึ่งในประโยชน์ของการประมวลผลแบบไฮบริดคลาวด์คือความเป็นส่วนตัว ช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินการจัดเก็บข้อมูลของตนเอง ใช้สำหรับเก็บข้อมูลที่สำคัญต้องการควบคุม และมีความละเอียดอ่อน สามารถเชื่อมต่อกับคลาวด์สาธารณะเพื่อที่จะจัดการกับงานที่มีสำคัญน้อยกว่าได้
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Datacenter_de_ARSAT.jpg
ในบรรดาข้อดี และข้อเสียของคลาวด์แบบไฮบริด การจัดเก็บข้อมูลอาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจ คลาวด์แบบไฮบริดสามารถช่วยให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยสำหรับข้อมูลที่สำคัญได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในด้านทรัพยากร เช่น ระยะเวลาที่ทำงานได้ และข้อจำกัดในการกู้คืนข้อมูลที่อาจทำไม่ได้
กลับกันวิธีการแบบมัลติคลาวด์มีข้อดีในด้านพื้นที่จัดเก็บข้อมูลที่ไม่จำกัด, การสำรองข้อมูล และความสามารถในการกู้คืนจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ
หนึ่งในประโยชน์ที่เห็นได้ชัดที่สุดของคลาวด์แบบไฮบริดคือบริษัทสามารถควบคุมว่าใครสามารถเข้าถึงฮาร์ดแวร์คลาวด์ส่วนตัวทางกายภาพได้ ซึ่งอาจเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมสูง สำหรับมัลติคลาวด์บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ว่าใครสามารถเข้าถึงโครงสร้างทางกายภาพได้ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะถูกเก็บไว้อย่างแน่นหนา แต่มันก็อยู่ในสถานที่ของผู้ให้บริการคลาวด์นั้น ๆ
มัลติคลาวด์นำเสนอระบบความปลอดภัยที่ทันสมัยจากผู้ให้บริการ ควบคุมการเข้าถึง, การเข้ารหัส และความปลอดภัยแบบอัตโนมัติ โดยทั่วไปแล้วมันก็ง่ายต่อการจัดการ แต่ในสภาพแวดล้อมแบบไฮบริดเป็นหน้าที่ของบริษัทเองในการกำหนดค่า และควบคุมการเข้าถึงออนไลน์ไปยังทรัพยากรคลาวด์ส่วนตัว
ความยืดหยุ่นคือจุดที่มัลติคลาวด์โดดเด่น ธุรกิจสามารถเลือกใช้ทรัพยากรที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ โดยเลือกผู้ให้บริการที่ตอบโจทย์ ในขณะที่ผู้ใช้คลาวด์แบบไฮบริดสามารถเลือกผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะได้ แต่ก็จะมีข้อจำกัดมากกว่าเพราะต้องเลือกให้สอดคล้องกับทรัพยากรคลาวด์ส่วนตัวที่มีอยู่
สถาปัตยกรรมแบบมัลติคลาวด์ยังช่วยให้บริษัทปรับขนาดได้ตามต้องการ บริษัทสามารถเลือกผู้ให้บริการที่เหมาะสมสำหรับแต่ละงาน แทนที่จะถูกจำกัดอยู่กับผู้ให้บริการคลาวด์รายเดียว
คลาวด์แบบไฮบริดสามารถรวมการใช้งานมัลติคลาวด์เข้ามาในโครงสร้างเดียวกันได้ โดยจุดแตกต่างหลักคือ ทั้งมัลติคลาวด์ และไฮบริดต่างก็ใช้คลาวด์สาธารณะ แต่คลาวด์แบบไฮบริดจะใช้คลาวด์ส่วนตัวด้วย ซึ่งหมายความว่าสภาพแวดล้อมคลาวด์แบบไฮบริดสามารถกลายเป็นมัลติคลาวด์ได้ หากมีการใช้ทรัพยากรคลาวด์สาธารณะ 2 รายการหรือมากกว่าขึ้นไป
ในทางกลับกัน คลาวด์แบบมัลติคลาวด์ไม่สามารถกลายเป็นคลาวด์แบบไฮบริดได้ เพราะเนื่องจากไม่มีการใช้งานทรัพยากรคลาวด์ส่วนตัวนั่นเอง
ภาพจาก : https://www.linkedin.com/pulse/cloud-computing-mohammad-hosein-chahardoli
การเลือกใช้คลาวด์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งคำถามเหล่านี้อาจเป็นส่วยช่วยในการตัดสินใจได้
กำลังมองหาบริการแบบไหน เช่น ซอฟต์แวร์เป็นบริการ (SaaS), แพลตฟอร์มเป็นบริการ (PaaS), หรือโครงสร้างพื้นฐานเป็นบริการ (IaaS) ? หรือมีความต้องการที่เฉพาะเจาะจงกว่านี้ ? การประเมินภาระงานจะช่วยเลือกประเภทคลาวด์ที่เหมาะสมที่สุดได้
หากมีแนวโน้มที่จะต้องปรับขนาดระบบในอนาคต การเลือกใช้มัลติคลาวด์ก็จะสามารถทำได้ยืดหยุ่นกว่า ในทางตรงกันข้ามคลาวด์แบบไฮบริดอาจมีความท้าทายมากขึ้นเมื่อต้องปรับขนาดในอนาคต แต่การวางแผนการเพิ่มขึ้นของปริมาณงาน หรือความต้องการล่วงหน้า ก็จะสามารถช่วยเลือกกลยุทธ์คลาวด์ที่เหมาะสมได้
สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์ ไฮบริดคลาวด์อาจเป็นทางเลือกที่ดี แม้ว่าการปรับใช้มัลติคลาวด์คลาวด์ จะสามารถให้ความหน่วงที่ต่ำเพื่อรองรับภาระงานส่วนใหญ่ได้ แต่ก็ยังไม่เทียบเท่ากับไฮบริดคลาวด์อยู่ดี
สำหรับข้อมูลที่ละเอียดอ่อน หรือในอุตสาหกรรมที่มีข้อกำหนดเข้มงวด คลาวด์ไฮบริดจะอาจตอบโจทย์ได้มากกว่า ข้อมูลทั่วไปก็สามารถจัดเก็บไว้ในคลาวด์สาธารณะได้ โดยยังคงมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดจากผู้ให้บริการอยู่
การเลือกใช้คลาวด์ไฮบริดอาจมีค่าใช้จ่ายล่วงหน้าสูงกว่า และอาจต้องการทีมงานเพื่อดูแลส่วนคลาวด์ส่วนตัวด้วย ในขณะที่การใช้มัลติคลาวด์จะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า และจ่ายตามการใช้งานจริง
หากทีมงานทำงานจากระยะไกล หรือมีหลายสำนักงาน การใช้มัลติคลาวด์ที่มีความครอบคลุมมาก ก็จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่า
การเลือกใช้บริการคลาวด์ไม่ว่าจะเป็นมัลติคลาวด์ หรือไฮบริดคลาวด์ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการขององค์กรนั้น ๆ ความเข้าใจในข้อดี และข้อเสีย ของแต่ละรูปแบบจะช่วยให้องค์กรตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง สามารถวางแผนการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่น และความพร้อมใช้งานของมัลติคลาวด์ หรือการควบคุมความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของไฮบริดคลาวด์ การตัดสินใจที่เหมาะสมจะช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
|