สวัสดีครับเพื่อนๆ ทุกท่านวันนี้ไทยแวร์กลับมาพร้อมกับทิปส์ และเทคนิคดีๆ 7 อย่าง ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มือใหม่ ให้สามารถจัดการกับสมาร์ทโฟนของท่านได้อย่างมีประสิทธิภาพมาฝากกัน โดยทั้ง 7 วิธีนั้นขอบอกเอาไว้เลยว่าเป็นวิธีที่มีประโยชน์กับผู้ใช้สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เป็นอย่างมาก และเหมาะสำหรับผู้ใช้งานชาวหุ่นยนต์ตัวเขียวมากเลยทีเดียว ซึ่งทั้ง 7 วิธีจะมีอะไรบ้างมานั้นมาดูกันเลยดีกว่า
1. ปิดการใช้งานการแจ้งเตือนแอปฯ (Disable App Notifications)
การแจ้งเตือนแอปพลิเคชันนั้นในบางครั้งถือว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่ารำคาญ และกวนใจผู้ใช้งานพอสมควรยิ่งโดยเฉพาะกับการแจ้งเตือนของแอปพลิเคชันที่เราไม่ค่อยได้ใช้งาน หรือแอปพลิเคชันที่เราไม่ได้สนใจมันเป็นพิเศษอยู่แล้วนั้น ยิ่งทำให้ผู้ใช้งานเหล่าสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มักหัวเสียไปตามๆ กัน นอกจากนี้แล้วการแจ้งเตือนแอปฯ นั้นยังเป็นการกินแบตเตอรี่ของเราอย่างไม่จำเป็นอีกด้วย แต่ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเราก็สามารถแก้ไขมันได้ด้วยการปิดมันซะเลย ซึ่งวิธีการปิดนั้นก็ง่ายมากเพียงแค่ เข้าไปที่ App Info > เลือกติกเครื่องหมายถูกออกจาก Show Notifications > กด OK. (วิธีการนี้ทำได้บน Android 4.1 Jelly Bean ขึ้นไปนะจ๊ะ)
2. การปิดการใช้งานข้อมูลมือถือ (Disable Mobile Data)
การปิดการใช้งานข้อมูลมือถือหรือ Disable Mobile Data นั้น ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถประหยัดแบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของท่านได้ โดยเมื่อใดก็ตามที่คุณไม่ต้องการใช้งานการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตบนมือถือคุณก็เพียงแค่เข้าไปปิดมัน ซึ่งวิธีการปิดนั้นก็ไม่ได้ยากอะไรเลย เพียงแค่ เข้าไปที่ Settings > Data Usage จากนั้นเลือก Disable Mobile data โดยสลับการตั้งค่าจาก ON เป็น OFF เพียงเท่านี้ สมาร์ทโฟนของท่าน (วิธีนี้สามารถทำได้โดยการเลื่อนแถบ Notification ลงมาและเลือก ปิดที่เครื่องหมาย ข้อมูลมือถือได้นะ)
3. การตั้งค่าการจำกัดข้อมูลมือถือ (Set Mobile Data Limit)
ต้องการที่จะติดตามการใช้งานข้อมูลมือถือหรือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของคุณหรือไม่ ถ้าต้องการหละก็ การตั้งค่าการจำกัดข้อมูลมือถือ หรือ Set Mobile Data Limit ช่วยคุณได้แน่นอน โดยวิธีการนี้จะทำให้คุณสามารถทราบได้ว่าในปัจจุบันคุณมีรอบการใช้งานการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โดยมันเหมาะมากสำหรับผู้ที่ใช้แพคเกจรายเดือน เพราะจะทำให้คุณทราบว่าคุณใช้อินเตอร์เน็ตหรือข้อมูลมือถือไปแล้วเท่าใด โดยถ้าหากไม่อยากให้เกินคุณก็สามารถตั้งค่าจำกัดข้อมูลมือถือได้ โดยเมื่อตั้งค่าแล้วการเชื่อมต่อข้อมูลมือถือของคุณจะถูกปิดการใช้งานเมื่อถึงขีดจำกัดที่ระบุเอาไว้ ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้ข้อมูลมือถือหรืออินเตอร์เน็ตเกินกำหนด ส่วนวิธีการตั้งค่าก็ไม่ยาก โดย ไปที่ Settings > Data Usage จากนั้นก็กำหนด Data limit โดยการเลือก Data usage cycle ลากเส้นสีส้มโดยด้านขวาให้อยู่ในระดับที่คุณต้องการที่จะได้รับการเตือน จากนั้น เลือก Set mobile data limit จะเจอข้อความอธิบายขีดจำกัด ให้เรากด OK จากนั้นก็กลับมา ลากเส้นสีแดงที่ด้านขวาของขีด ให้ตรงกับขีดจำกัดที่คุณต้องการ ทีนี้เมื่อคุณใช้งานถึงขีดจำกัด สมาร์ทโฟนของคุณก็จะแจ้งเตือนทันที
4. การเพิ่มบัญชีผู้ใช้อีเมลของ Google แบบหลายบัญชี (Add Multiple Google Accounts)
เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทุกคนล้วนต้องมีอีเมลของ Google ติดเครื่องเอาไว้เป็นพื้นฐาน และหลายๆ คนจะคิดว่าเราสามารถใช้งานอีเมลของ Google ได้เพียงแค่บัญชีผู้ใช้เดียวเท่านั้นบนสมาร์ทโฟนของเรา แต่ความเชื่อที่ว่านั้นผิดถนัดเลย เพราะอันที่จริงแล้วเราสามารถทำการเพิ่มบัญชีผู้ใช้หรือเพิ่ม Account ของ Google ได้หลายอันเลยนะ ซึ่งวิธีการทำนั้นก็ไม่ได้ยากเพียงแค่เข้าไปที่ Settings > Add account จากนั้นก็เลือก Google และเลือกเพิ่มบัญชีผู้ใช้ที่ New or Existing Google account เมื่อเลือกเพิ่มบัญชีผู้ใช้ Google อันใหม่เสร็จแล้ว ทีนี้ก็สามารถตั้งค่าว่าจะให้ซิงค์ข้อมูลกับ Google Account ไหนได้เลย
5. การปิดอัพเดทอัตโนมัติของแอปพลิเคชัน (Disable automatic App Updates)
การอัพเดทแอปฯ อัตโนมัติเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากที่จะทำให้ผู้ใช้งานได้มีแอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่ๆ ติดเครื่องอยู่ตลอดเวลาแล้ว การอัพเดทอัตโนมัติยังทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำการอัพเดทแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้เลยโดยที่ไม่ต้องเข้าไปกดอัพเดทบน Play Store เองให้ยุ่งยาก ซึ่งถ้าการอัพเดทอัตโนมัติของเรานั้นทำบน Wi-Fi ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากมันอัพเดทจากอินเตอร์เน็ตผ่านทางผู้ให้บริการเครือข่ายที่เราใช้อยู่บนสมาร์ทโฟนของเราหละ คงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและเปลืองเน็ตน่าดู ดังนั้นวิธีการปิดอัพเดทอัตโนมัติจึงจะเป็นการเซฟที่สุด ซึ่งเพื่อนๆ สามารถทำได้โดย เข้าไปที่ Play Store จากนั้นก็เลือกไปที่การตั้งค่า หรือ Settings จากนั้น แตะที่ Auto-update apps แล้วเลือก Do not auto-update apps เพียงเท่านี้แอนดรอยด์ของคุณก็จะไม่อัพเดทอัตโนมัติแล้ว
6. หมั่นเช็คการอัพเกรดรุ่นของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ (Check For android System updates)
การตรวจสอบอัพเดทนี้เป็นวิธีการพื้นฐานสำหรับมือใหม่อย่างแน่แท้เลยทีเดียว เพราะว่าในครั้งแรกที่เราซื้อสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์มาใหม่ สิ่งที่ควรทำหลังจากการตรวจสอบเครื่องและสมัครบัญชีอีเมล Google แล้ว เราควรเข้าไปทำการตรวจสอบอัพเดทเวอร์ชันใหม่ของแอนดรอยด์ที่เราใช้อยู่ เพราะในบางครั้งสมาร์ทโฟนของเราอาจสามารถทำการอัพเกรดเป็นเวอร์ชันใหม่ได้ เพียงแต่ว่าตอนที่เครื่องถูกผลิตออกมาจากโรงงานนั้นการปรับปรุงรุ่นอาจจะตามมาทีหลังนั่นเอง ส่วนวิธีการเช็คอัพเดทนั้นมือใหม่สามารถทำได้โดยการ เข้าไปที่ Settings > About phone/tablet จากนั้น แตะที่ปุ่ม System updates จากนั้นก็แตะที่ Check now to look for system updates ได้ทันทีเลย
7. การตั้งค่าเพื่อเปลี่ยนแอปฯ เริ่มต้น (Changing Default Apps)
หากคุณต้องการเปลี่ยนการตั้งค่าแอปฯ เริ่มต้นให้กับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ (เช่น ใช้ Google Chrome ในการเป็นเว็บบราว์เซอร์เซอร์เริ่มต้นในการเปิดเว็บไซต์อัตโนมัติ) เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานของคุณแล้วหละก็ มาทางนี้เลย โดยเพียงแค่คุณทำการ ไปที่ Settings > Apps จากนั้นก็มองหาที่เมนูการตั้งค่าแอปพลิเคชันพื้นฐาน เสร็จแล้วกดเข้าไปเลย หลังจากนั้นคุณจะสามารถเลือกได้ว่าจะตั้งค่าแอปพลิเคชันใดเป็นแอปพลิเคชันพื้นฐาน
ความคิดเห็นที่ 2
19 กรกฎาคม 2558 10:38:29
|
|||||||||||
GUEST |
sanitbut
อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่ม
|
||||||||||
ความคิดเห็นที่ 1
19 กรกฎาคม 2558 10:37:22
|
|||||||||||
GUEST |
sanitbut
ไม่มีครับ
|
||||||||||