ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทิปส์นี้ไม่ได้บอกให้คุณใช้แอปพยากรณ์อากาศแบบพื้นๆ ที่ดาวน์โหลดข้อมูลการพยากรณ์อากาศจากอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด มันเจ๋งกว่านั้น เพราะนี่คือการใช้เซ็นเซอร์ วัดความกดอากาศ (Barometer) ที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟน เพื่อทำการพยากรณ์อากาศว่า วันนี้ฝนจะตก หรือแดดจะออกท้องฟ้าสดใส ซึ่งการพยากรณ์อากาศด้วย Barometer ในสมาร์ทโฟนนั้นมีความแม่นยำประมาณ 70% ครับ
ขอบคุณภาพ Barometer จาก wikimedia.org
ขอเล่าให้ฟังว่า Barometer หรืออุปกรณ์ที่ใช้วัดความกดอากาศนี้ เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการ "หาความสูงจากระดับน้ำทะเล" (เพราะยิ่งเราอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ความกดอากาศก็จะยิ่งจะต่ำลง และการรู้ระดับความกดอากาศ ณ ตำแหน่งนั้น ทำให้เราคำนวณหาความสูงจากระดับน้ำทะเลได้) ซึ่งการที่มีเซ็นเซอร์ Barometer อยู่ในสมาร์ทโฟน ทำให้แอปประเภทออกกำลังกาย สามารถรู้ได้ว่าเราวิ่ง หรือปั่นจักรยานขึ้นเนินเขาที่ระดับความสูงเท่าไหร่ เพื่อคำนวณอัตราการเผาผลาญแคลอรี่
และการที่มีเซ็นเซอร์ Barometer ก็ยังเป็นผลพลอยได้ ที่ทำให้สมาร์ทโฟนของเราสามารถ พยากรณ์อากาศ ได้ด้วย ใครที่เคยดูข่าวพยากรณ์อากาศในรายการโทรทัศน์ คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า "หย่อมความกดกาศต่ำพาดผ่านภาคกลางตอนบน ทำให้มีฝนตกหนัก" ใช่แล้วครับ ความกดอากาศต่ำ นี่เองที่ทำให้เกิดฝนตก หรือเกิดหิมะตกในบริเวณนั้นๆ และถ้าความกดอากาศในบริเวณใดลดลงต่ำมากๆ หล่ะก็ มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
ขอบคุณภาพพายุฝนฟ้าคะนองจากเว็บ ridleyparkonline.com
ซึ่งแอปที่ใช้เซ็นเซอร์ Barometer ในตัวเครื่องสมาร์ทโฟน เพื่อการพยากรณ์อากาศ จะอาศัยวิธี "การดูแนวโน้มของค่าความกดอากาศ" เพื่อทำนายสภาพอากาศในอนาคต เช่นถ้าระดับความกดอากาศมีการลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ก็คาดเดาได้ว่าในไม้ช้่าไม่นานนี้จะมีฝนตก และยิ่งค่าความกดอากาศลดลงเร็วขนาดไหน สภาพอากาศจะเปลี่ยนไปในทางที่เลวร้ายมากขึ้นเท่านั้น เตรียมพกร่ม หรือเตรียมเก็บผ้าที่ตากไว้ได้เลย
หรือในทางกลับกัน ถ้าระดับความกดอากาศมีแนวโน้มคงที่ หรือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดระยะหลายชั่วโมงมี่ผ่านมา ก็ค่อนข้างมั่นใจได้เลยว่าวันนั้นฝนไม่ตก อากาศแจ่มใส
แอปประเภทการพยากรณ์อากาศด้วยเซ็นเซอร์ Barometer มีให้เลือกใช้หลายตัว ทั้งบนระบบแอนดรอยด์ และ iOS ลองค้นหาด้วยคำว่า Barometer รับรองว่าเจอแอปเพียบครับ และต่อไปนี้ เราขอสาธิตวิธีการใช้งานแอปที่ชื่อตรงตัวว่า Barometer บนระบบแอนดรอยด์ ซึ่งแอปตัวอื่นๆ ก็จะมีวิธีการใช้งานใกล้เคียงกันครับ
และในปัจจุบันก็มีสมาร์ทโฟนหลายรุ่นทั้งบนระบบแอนดรอยด์ และ iOS ที่มีเซ็นเซอร์ Barometer อาทิ iPhone 6, 6 Plus, 6s, 6s Plus, 7, 7 Plus และ 7 Pro ส่วนทางฝั่งแอนดรอยด์จากแบรนด์ Samsung ก็มีรุ่นที่มี Barometer อาทิ Samsumg Galaxy s4, s5, s6, s6 Edge, s6 Plus, s7, s7 Edge, Note 3, 4, 5, Galaxy F และ Galaxy J เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแอนดรอยด์สมาร์ทโฟนจากแบรนด์อื่นๆ อีกหลายรุ่นที่มี Barometer ครับ
สาธิตการใช้งานแอป Barometer บนระบบแอนดรอยด์
เมื่อติดตั้งแอป Barometer เรียบร้อยแล้ว พอเราเปิดแอปขึ้นมาครั้งแรก (ภาพซ้าย) แอปจะขอให้เราเปิดการทำงานของระบบ GPS และต้องเชื่อต่ออินเทอร์เน็ต จากนั้นแอปก็จะทำการดาวน์โหลดข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของเมืองที่เราอยู่ (ภาพขวา)
จากนั้นแอปก็จะให้เราแตะเลือกชื่อเมืองที่เราอยู่ (ภาพขวา) สาเหตุที่ต้องเลือกเมือง เพราะแต่ละเมืองมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เท่ากัน อย่างเช่น กทม. สูงจากระดับน้ำทะเล 3 เมตร และชลบุรีสูงจากระดับน้ำทะเล 2 เมตร และความสูงจากระดับน้ำทะเลมีผลต่อการวัดค่าความกดอากาศ และเมื่อเลือกเมืองแล้ว แอป ฺBarometer ก็พร้อมใช้งาน (ภาพขวา)
การใช้งานแอปตัวนี้ก็ง่ายๆ ครับ ด้านบนจะมีหน้าปัดที่พยากรณ์ว่าใน 1-2 ชั่วโมงข้างหน้าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร อย่างในภาพซ้าย แอปบอกกับเราว่าอาจจะมีฝนตก หรืออย่างในภาพขวา แอปบอกเราว่าท้องฟ้าจะมีเมฆครึ้ม และใต้หน้าปัดยังมีตัวเลขแสดงค่าความกดอากาศแบบเรียลไทม์ด้วย อย่างในภาพซ้ายระดับความกดอากาศอยู่ที่ 1005.5 HPA (หน่วย Hectopascal เฮกโตปาสคาล)
ในส่วนซีกล่างของหน้าจอ แสดง "แนวโน้มของค่าความกดอากาศ" โดยแท่งกราฟสีน้ำเงิน จะแสดงค่าความกดอากาศของแต่ละชั่วโมงที่ผ่านมา และแท่งกราฟอันขวาสุด จะแสดงค่าความกดอากาศ ณ เวลาปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าในภาพขวา ค่าความกดอากาศ ณ เวลาปัจจุบัน ลดลงจากชั่วโมงก่อนถึง 4 HPA ด้วยแนวโน้มค่าความกดอากาศที่ลดลงอย่างรวดเร็วแบบนี้ ทำให้แอปพยากรณ์ว่า จะต้องมีฝนตกภายในไม่ช้าไม่นานนี้อย่างแน่นอน
ส่วนในภาพขวา แนวโน้มการลดลงของค่าความกดอากาศเป็นไปอย่างนุ่มนวล แอปเลยพยากรณ์ว่าใน 1-2 ชั่วโมงข้างหน้า ไม่ถึงกับฝนตก แค่ครึ้มฝ้าครึ้มฝนเท่านั้น
ข้อควรรู้ในการใช้แอป Barometer การแจ้งผลคลาดเคลื่อนโดยไม่ได้ตั้งใจ
แอปนี้ใช้วิธีการพยากรณ์อากาศแบบเดียว กับที่มีอยู่ในนาฬิกาข้อมือสำหรับการเดินป่า ดั้งนั้นนักเดินป่าที่ไม่อยากลงทุนกับนาฬิาข้อมือราคาแพงๆ (ที่มี Barometer) ก็ใช้แอปประเภทนี้แทนได้ครับ
ความสูงจากระดับน้ำทะเล เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าความกดอากาศ ความกดอากาศจะสูงสุดที่ระดับน้ำทะเล และลดลงเรื่อยๆ เมื่อขึ้นสู่ที่สูง
แต่มีข้อควรรู้คือ แอป Barometer มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ตัวอย่างเช่น ถ้าตั้งแต่ตอนเที่ยงคืนถึง 8 โมงเช้า เราวางสมาร์ทโฟนไว้ที่ชั้น 1 ของบ้าน แต่พอตอน 9 โมงเช้า เราเดินทางมาทำงานที่ชั้น 10 ของอาคารสำนักงาน ซึ่งที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น (จากอาคารชั้น 1 มาเป็นชั้น 10) ทำให้ค่าความกดอากาศลดลงเป็นธรรมดา (คือยิ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล อากาศก็จะยิ่งเบาบางลง แรงกดอากาศลดลง) และเมื่อเซ็นเซอร์ Barometer ตรวจพบว่าความกดอากาศลดลง (เนื่องจากการเดินทางขึ้นสู่ที่สูง ไม่ได้เกิดจากความกดอากาศลดลงอย่างแท้จริง) ก็ทำให้แอปพยากรณ์อากาศว่า กำลังจะมีฝนตก ซึ่งเป็นการพยากรณ์ที่ผิดพลาด
ด้วยความที่แอปประเภท Barometer มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความสูง ทำให้เหมาะที่จะใช้งานกับสมาร์ทโฟนเครื่องเก่าที่ปลดประจำการแล้ว ติดตั้งแอปนี้เข้าไป แล้วเก็บสมาร์ทโฟนเครื่องนี้ไว้่ที่บ้าน หรือที่ทำงาน ไม่ต้องย้ายตำแหน่งเครื่อง หรือไม่ต้องเปลี่ยนระดับความสูงบ่อยจากน้ำทะเลบ่อยๆ ก็จะทำให้การพยากรณ์อากาศด้วยแอป เป็นไปอย่างแม่นยำในระดับที่น่าพอใจครับ
และอย่าลืมความความแม่นยำในการพยากรณ์ฝนตกของแอปประเภท Barometer อยู่ที่ระดับประมาณ 70% เท่านั้นครับ ไม่ได้แม่นทุกครั้ง ให้ถือว่าเป็นแอปที่เอาไว้เรียนรู้สนุกๆ เกี่ยวกับเรื่องความกดอากาศ และการพยากรณ์อากาศละกัน
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |