แชร์หน้าเว็บนี้ :
เดี๋ยวนี้กระแสการถ่ายรูปนั้นมาแรงจริงๆ ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องตระกูล Mirrorless ที่ปีนี้นั้นมาแรงจริงๆ ด้วยขนาดที่เล็กพกพาง่าย และมีหน้าตาหลากหลาย ไม่ได้ตัวใหญ่ๆ สีดำเทอะทะ ทำให้ใครหลายคนต่างซื้อมาลองใช้งานกันหลายคนเลย แต่ว่าหลังจากใช้ไปสักพัก ถ้าไม่ใช่คนเล่นกล้องมาก่อนล่ะก็ มักจะเจอกับคำถามที่ไม่มีทางออกว่า อยาก ซื้อเลนส์กล้อง ใหม่ จะมีวิธีการเลือกยังไง เราจึงอยากมาแนะนำแนวทางในการเลือกซื้อเลนส์กัน ในแบบเข้าใจง่ายๆ ครับ สามารถนำไปใช้ในการเลือกเลนส์ได้ ไม่ว่าคุณจะใช้กล้อง Mirrorless หรือ DSLR เลยล่ะ
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า เราชอบถ่ายภาพแนวอะไร ถ่ายวิว ถ่ายคน ถ่ายนก ถ่ายดาว ถ่ายทั่วไปแนวสตรีท พอรู้แนวที่ชอบแล้ว เราถึงจะเลือกเลนส์ระยะเลนส์ได้ครับ
บทความเกี่ยวกับ Digital Camera อื่นๆ
ระยะของเลนส์ (Focal length) ผมขอแบ่งออกเป็น 6 แนว คร่าวๆ นะครับ
*ระยะที่ยกตัวอย่าง ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพเท่านั้น
- Street/Normal สายสตรีท เดินถ่ายตามท้องถนน สำหรับเลนส์ในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ระยะเท่าที่สายตาสายตาปกติเห็นในการถ่ายกัน คือไม่ได้ใกล้หรือไกลเป็นพิเศษ (ระยะประมาณ 28-40มม.)
- Portrait สำหรับใครที่ชอบถ่ายคน, ถ่ายสาว ต้องเลนส์ระยะนี้เลย ใครชอบหน้าชัดหลังเบลอ ระเบิดฉาก เก็บโบเก้ต้องเลนส์แนวนี้เลย (ระยะประมาณ 50-135 มม.) ที่สำคัญสำหรับสายนี้ คือ เลนส์ควรทำค่า F ได้ต่ำมาก เพื่อละลายฉากหลังให้แบบดูโดดเด่น ส่วนใหญ่จะใช้ f/1.4 - f/2.0 กันในการถ่าย
- Tele เป็นเลนส์ซูม มีมุมมองภาพที่แคบ ส่วนใหญ่นิยมเอามาส่องนก หรือดวงจันทร์ หรือถ่ายคน เลนส์ระยะนี้ก็ทำผลงานได้ดีครับ (ระยะประมาณ 70-300 มม.)
- Landscape สายนี้สำหรับคนชอบความอลังการ เก็บภาพกว้างๆ เป็นพิเศษ เหมาะสำหรับคนชอบถ่ายวิว ทิวทัศน์ หรือเอามาถ่ายคนเพื่อให้ได้มุมมองแปลกๆ ก็ได้ (ระยะประมาณ 10-24 มม.)
- Fisheye หรือที่รู้จักกันในภาษาบ้านเราว่าเลนส์ตาปลา ภาพจะมีะระยะที่กว้าง แต่มีความบิดโค้งของภาพสูงมาก ส่วนมากใช้เฉพาะทางเมื่อต้องการสร้างภาพมุมมองแปลกๆ (ระยะพอๆ กับเลนส์มุมกว้างสาย Landscape หรือต่ำกว่า)
- Macro ลักษณะของเลนส์ชนิดนี้ คือ สามารถโฟกัสวัตถุได้ในระยะใกล้มาก จุดเด่น คือ เก็บรายละเอียดเป้าหมายได้ดีเยี่ยม คมชัด และสำหรับคนที่ชอบถ่ายเจาะ อาจจะดอกไม้, แมลง หรือวัตถุที่มีรายละเอียดขนาดเล็กๆ (เลนส์ประเภทนี้ จะมีระยะให้เลือกใช้งานหลากหลาย ส่งผลต่อระยะห่างเวลาถ่ายภาพระหว่างกล้องกับวัตถุ ยกตัวอย่างเช่น ในภาพดอกไม้ที่องค์ประกอบเท่ากัน เลนส์มาโคร 35 มม. ต้องอยู่ห่างจากตัวดอกไม้ 10 เซนติเมตร ส่วนถ้าใช้เลนส์มาโคร 105 มม. ต้องอยู่ห่างจากตัวแบบ 1 เมตร)
วิธีดูระยะเลนส์
สำหรับวิธีคิดระยะเลนส์ เราดูตัวเลขบนเลนส์อย่างเดียวไม่พอนะครับ สำหรับกล้องดิจิตอลที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ จะมีอยู่ 4 รูปแบบ คือ
- ระบบ m4/3 (Crop factor 2x) มีแค่ Olympus กับ Panasonic เท่านั้นที่ใช้ ระยะเลนส์ต้องคูณ 2 (Crop factor 2x)
สมมติ ถ้าต่อเลนส์ระยะ 20 มม. กล้องจะเห็นเป็นระยะ 20 x 2 = 40 มม. / ถ้าต่อ 12-35 มม. ก็จะกลายเป็น 24-70 มม. เป็นต้น - ระบบ ASP-C (Crop factor เฉลี่ย 1.5-1.6x) หรือนิยมเรียกกันว่ากล้องตัวคูณใช้กันทั่วไปทั้งใน Canon, Nikon, Sony
สมมติ ถ้าต่อเลนส์ระยะ 24 มม. กล้องจะเห็นเป็นระยะ 24 x 1.5 = 36 มม. / ถ้าต่อ 18-55 มม. ก็จะกลายเป็น 27-82 มม. เป็นต้น - ระบบ Full frame (Crop factor 1x) ใช้กันทั่วไปทั้งใน Canon, Nikon, Sony, Leica อันนี้ง่ายไม่ต้องคูณระยะเลนส์เพิ่ม ต่อเท่าไหร่ ได้ใช้งานระยะเท่านั้นเลย
- ระบบ Medium format (Crop factor 0.6-0.7x) กล้องระดับนี้มีให้ใช้ในค่าย Hasselblad, Leaf, Phase One และ Pentax *เป็นระบบที่คนทั่วไปใช้กันน้อย เนื่องจากแพงมากทั้งกล้องและเลนส์ ราคาแบบถอยรถซีวิคป้ายแดงได้เลย
สมมติ ถ้าต่อเลนส์ระยะ 24 มม. กล้องจะเห็นเป็นระยะ 24 x 0.7 = 16.8 มม. เป็นต้น
ตัวอย่างภาพจากเลนส์ประเภทต่างๆ
ภาพจากเลนส์ระยะ Macro
ภาพจากเลนส์ระยะ Street/Normal
ภาพจากเลนส์ระยะ Portrait
ภาพจากเลนส์ระยะ Tele
ภาพจากเลนส์ระยะ Landscape (มุมกว้าง)
ภาพจากเลนส์ระยะ Fisheye (ตาปลา)
หลังจากรู้ระยะของเลนส์ที่ต้องการใช้งานแล้ว ทีนี้เราก็น่าจะรู้แล้วว่าเราชอบถ่ายภาพในระยะไหน ถัดมาผมขอแนะนำให้รู้จักกับรูปแบบของเลนส์ก่อน ไปร้านจะได้ไม่งง เลนส์นั้นจะมี 2 แบบครับ คือ เลนส์ Prime กับ เลนส์ Zoom
- เลนส์ Prime คือ เลนส์ที่มีระยะเดียว ไม่สามารถปรับระยะได้ ค่า F จะตายตัวและส่วนใหญ่จะเปิดได้กว้างกว่าเลนส์ Zoom
ข้อดี ภาพที่ได้คุณภาพจะคมชัดและมีคุณภาพสูงกว่าเลนส์ Zoom เมื่อถ่ายที่ระยะเดียวกัน
ข้อเสีย ไม่สามารถซูมภาพขณะถ่ายได้ ต้องใช้การเดินเข้าหาหรือถอยออกจากตัวแบบเท่านั้น - เลนส์ Zoom คือเลนส์ที่สามารถปรับระยะรับภาพได้ ทำให้ถ่ายได้หลายระยะด้วยเลนส์เพียงตัวเดียว
ข้อดี สามารถถ่ายได้หลายระยะ
ข้อเสีย ส่วนใหญ่แล้วเลนส์ Zoom จะมีขนาดเลนส์ที่ใหญ่กว่าเลนส์ Prime และเลนส์ประเภทนี้ ค่า F มักจะทำได้น้อยกว่าเลนส์ Prime, เลนส์ Zoom หากเป็นรุ่นราคาประหยัด เมื่อเราซูมภาพ ค่า F จะไหลน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้คุณภาพของภาพลดต่ำลง แต่ก็มีเลนส์ Zoom ที่สามารถซูมระยะได้โดยที่ค่า F ไม่ไหลให้เลือกใช้งานเหมือนกัน แต่ว่าแลกมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง(มาก) และขนาดของตัวเลนส์มักจะใหญ่และหนักมากด้วย
ค่า F คือ อะไร?
ในเลนส์จะมีรูรับแสงอยู่ มีหน่วยเป็นค่า F ยิ่งเลขน้อยแปลว่า รูรับแสงยิ่งกว้าง ทำให้รับแสงได้เยอะ ภาพที่ได้จะสว่าง
นอกจากนี้ค่า Fยังส่งผลต่อ Depth of Field ของภาพถ่ายที่ด้วย หากรูรับแสงกว้าง (F เลขน้อย)จะมีพื้นที่ของช่วงระยะชัดที่สั้นส่งผลให้ฉากหลังแบบละลาย (หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า หน้าชัดหลังเบลอ) ตรงข้ามกันหากรูรับแสงแคบ (F เลขเยอะ)จะทำให้พื้นที่ของช่วงระยะชัดครอบคลุมทั้งภาพ
ยี่ห้อและเมาท์เลนส์
เราไม่สามารถซื้อเลนส์อะไรก็ได้มาต่อกับกล้องของเรานะครับ เราต้องดูที่เมาท์ (Mount) ของเลนส์ด้วย (ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาไม่ทำให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกัน) โดยแต่ละค่ายก็จะมีเมาท์เป็นของตนเองครับ และแน่นอนว่ากล้องยี่ห้อไหนก็จะใช้เลนส์ยี่ห้อนั้นแหละ ขออนุญาตยกมาเฉพาะยี่ห้อที่นิยมกันในบ้านเรานะครับ
Canon
- Mount EF : สำหรับกล้องตัวคูณและกล้องฟูลเฟรมของแคนนอน *กล้อง Kodak ก็ใช้นะ
- Mount EF-S :สำหรับกล้องตัวคูณของแคนนอน
- Mount FD : เลนส์แมนนวลโฟกัสสำหรับกล้องตัวคูณและกล้องฟูลเฟรมของแคนนอน
- Mount EF-M : เลนส์สำหรับกล้องมิลเลอร์เลสของแคนนอน
Nikon
- Nikon FX-mount : สำหรับกล้องตัวคูณและกล้องฟูลเฟรมของนิคอน
- Nikon DX-mount : สำหรับกล้องตัวคูณและกล้องฟูลเฟรมของนิคอน *DX บางรุ่นหากนำไปใช้กับกล้องฟูลเฟรมอาจจะติดขอบดำในภาพได้
- Nikon 1-mount : เลนส์สำหรับกล้องมิลเลอร์เลสของนิคอน
- Nikon S-mount : เลนส์สำหรับกล้องแบบ Rangefinder ของนิคอน (สมัยนี้น่าจะไม่มีใครใช้งานแล้วนะ)
Sony
- Mount A : สำหรับกล้องตัวคูณและกล้องฟูลเฟรมของโซนี่
- Mount FE : สำหรับกล้องตัวคูณและกล้องฟูลเฟรมแบบมิลเลอร์เลสของ Sony
- Mount E : สำหรับกล้องตัวคูณและกล้องฟูลเฟรมแบบมิลเลอร์เลสของ Sony *หากนำไปใช้กับกล้องฟูลเฟรมอาจจะติดขอบดำในภาพได้
Fuji
- Mount X : ไม่ต้องคิดมาก ฟูจิมีเมาท์เดียว ง่ายเลย
Olympus/ Panasonic
- Mount 4/3 : สองค่ายนี้ใช้เมาท์เดียวกัน สามารถซื้อมาใช้งานร่วมกันได้
Leica
นอกจากเลนส์ค่ายที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีค่ายอิสระที่ทำเฉพาะเลนส์ออกมาขายด้วย ศัพท์ในวงการเขาจะเรียกว่าเลนส์นอกค่าย ซึ่งก็มีหลายค่ายครับ ที่นิยมในบ้านเราก็จะมีอย่างเช่น Samyang, Tamron, Tokina, Sigma, Mitakon หรือ Carl Zeiss เป็นต้น
อ่านถึงบรรทัดนี้ เพื่อนๆ น่าจะสามารถเลือกเลนส์ที่ชอบได้แล้วล่ะ คงจะหาระยะเลนส์ที่ถูกใจได้แล้วล่ะเนาะ