ในปัจจุบันนี้ ธนาคารออนไลน์สามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างง่ายดาย ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้เป็นอย่างมาก กล่าวได้ว่าความจำเป็นในการเดินทางไปธนาคารนั้นน้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก เพราะเดี๋ยวนี้การโอนเงิน, ชำระค่าบริการต่างๆ สามารถทำผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากในคอมฯ หรือมือถือได้เกือบตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารออนไลน์จะสะดวกเป็นอย่างมาก แต่มันก็มีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน หากว่าเราใช้งานมันอย่างไม่ระมัดระวัง จะมีสิ่งไหนที่เราควรทำ และไม่ควรทำบ้าง มาอ่านกันดีกว่า
วิธีดั้งเดิมแต่ยังคงได้ผลดีเสมอ ไม่ใช่แค่กับธนาคารออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่ทุกสิ่งที่คุณต้องใส่รหัสผ่าน การที่เปลี่ยนมันเป็นประจำจะช่วยรักษาให้บัญชีของคุณมีความปลอดภัย
ทั้งนี้ รหัสผ่านที่ดีควรจะประกอบไปด้วยตัวอักษรพิมพ์เล็ก, พิมพ์ใหญ่, ตัวเลข และสัญลักษณ์พิเศษ แม้ว่ามันอาจจะจำยากเสียหน่อย และการเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อยๆ ก็ทำให้เราต้องมาจดจำกันใหม่อีก แต่เพื่อความปลอดภัย เราก็ต้องทำให้ติดเป็นนิสัยให้ได้
หากขี้เกียจจำ ก็ลองหาพวกโปรแกรม หรือแอปฯ จัดการรหัสผ่านอย่าง 1Password, KeePass มาช่วยดู หรือหากว่าคุณใช้ iOS ก็ใช้เครื่องมือจัดการรหัสผ่านที่มีให้ในตัวเลยก็ได้
สมัยนี้เวลาจะเข้าร้านกาแฟ หาโรงแรมพัก เราก็นิยมมองหาที่มีบริการฟรี Wi-Fi ให้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านช่องทางนี้ไม่มีความปลอดภัยสักเท่าไหร่นัก แฮกเกอร์สามารถที่จะเข้าไปดักข้อมูลที่ถูกส่งผ่านภายในเครือข่ายนั้นได้อย่างง่ายดาย (นั่นเป็นสาเหตุให้แอปฯ ธนาคารหลายๆ ตัวบังคับให้เราทำธุรกรรมผ่าน 3G/4G เท่านั้น)
แม้ว่าเว็บธนาคารจะมีการเข้ารหัสรักษาความปลอดภัยด้วย HTTPS แล้ว แต่เราก็ไม่ควรไว้วางใจเข้าใช้งานธนาคารออนไลน์ผ่าน Wi-Fi สาธารณะอยู่ดี
ฟิชชิ่งเป็นเทคนิคการแฮกรูปแบบหนึ่งที่จะสร้างหน้าเว็บ หรืออีเมลปลอมขึ้นมาและส่งไปให้เหยื่อ หากเหยื่อหลงเชื่อและกรอกข้อมูลใดๆ ลงไปในนั้น แฮกเกอร์ก็จะได้ข้อมูลทั้งหมดนั้นไป ซึ่งโดยปกติแล้ว ไม่มีธนาคารไหนที่จะขอข้อมูลจำพวกอีเมล, รหัสผ่านจากผู้ใช้โดยตรงผ่านทางอีเมลอย่างแน่นอน
การเข้าระบบอัตโนมัติ ตัวเบราว์เซอร์จะจดจำ Username และ Password เอาไว้เพื่อให้เราเข้าเว็บไซต์ของธนาคารได้โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่อีกครั้ง แม้ว่ามันจะสะดวก แต่ก็ไม่ปลอดภัยเท่าไหร่นัก หากมีคนอื่นมาใช้คอมฯ ของเรา ลองคิดดูสิว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น หรือแฮกเกอร์เจาะระบบมาล้วงข้อมูลใน Cookie ที่บันทึกรหัสผ่านเอาไว้
ธนาคารเกือบทุกแห่งมีแอปฯ ให้ใช้ ซึ่งการใช้แอปฯ นั้นมีความปลอดภัยกว่าการเข้าธนาคารผ่านคอมพิวเตอร์มากพอสมควร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณใช้ iOS) ซึ่งการเข้าแอปฯ ด้วยอินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายมือถือ เป็นวิธีที่ง่าย และปลอดภัยสุดๆ แล้ว
ทุกครั้งที่ผู้พัฒนาปล่อยอัปเดตออกมาไม่ว่าจะในสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ มันไม่ได้มีแค่คุณสมบัติใหม่ๆ เท่านั้นที่ถูกเพิ่มเข้ามา แต่มันมักจะมาพร้อมกับการอุดช่องโหว่ต่างๆ ด้วย
แม้การอัปเดตจะเสียเวลาอยู่บ้างอาจจะหลายนาที หรือหลายชั่วโมง แต่เชื่อเถอะว่ามันคุ้มค่าแก่เวลาที่เสียไปอย่างแน่นอน
แม้ว่าตัวแอปธนาคารมักจะใส่ระบบเข้ารหัสผ่านมาแล้ว แต่ในมือถือเราก็ควรใส่เอาไว้ด้วย และใช้รหัสผ่านที่แตกต่างกัน ซึ่งสมาร์ทโฟนสมัยนี้มีระบบล็อกด้วยสแกนลายนิ้วมือ, ม่านตา และใบหน้า เราก็ควรเปิดใช้งานคุณสมบัติเหล่านั้นเอาไว้ด้วย
ธนาคารส่วนใหญ่มีให้สมัครแจ้งเตือนเมื่อบัญชีมีความเคลื่อนไหว อาจจะฟรี หรือมีค่าบริการบ้างเล็กน้อย ซึ่งเราก็หวังว่ามันจะเตือนต่อเมื่อคุณทำธุรกรรมเท่านั้น
มันอาจจะไม่ช่วยป้องกันการถูกแฮกโดยตรง แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เรารู้ความเคลื่อนไหวบัญชีของเราตลอดเวลา และสามารถติดต่อธนาคารได้อย่างทันท่วงทีเมื่อพบเจอเหตุการณ์ผิดปกติ
ตรวจสอบ Statements เป็นประจำ
เราสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางบัญชีผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา ซึ่งเราควรจะเข้าไปตรวจสอบอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อดูว่ามีรายการรับ-โอนไหนที่ผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่
ก็หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านที่ใช้ธนาคารออนไลน์กันอยู่บ้างนะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |