ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

การเล่นเกมแบบดิจิทัล กับแบบแผ่นเกม มีความแตกต่าง และข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร ?

การเล่นเกมแบบดิจิทัล กับแบบแผ่นเกม มีความแตกต่าง และข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 6,279
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A5+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2+%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

ข้อดี ข้อเสีย และความแตกต่าง
ระหว่างการเล่นเกมแบบดิจิทัล กับ แบบแผ่นเกม
(What is the differences between Digital vs Physical Games ?)

ในอดีต การเล่นเกมที่ถูกลิขสิทธิ์นั้น ถูกจำกัดไว้ที่การซื้อแบบแผ่น เพราะสมัยก่อนนั้นยังไม่มีอุปกรณ์ไหนที่มีความจุสูงมากนัก ดังนั้น การทำ แผ่นเกมซีดี หรือตลับเกม (CD Game or Cassette Game) ที่มีการออกแบบเพื่อรองรับเกมแต่ละเกมมาโดยเฉพาะ จึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้ผลิตเกมลงแพลตฟอร์มต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน เมื่อมีเทคโนโลยีการออกแบบพื้นที่ความจุเพิ่มเข้ามามากขึ้น พ่วงด้วยความเร็วอินเตอร์เน็ตที่เร็วมากขึ้นกว่าในอดีตจนเทียบไม่ติด ทำให้การซื้อ เกมแบบดิจิทัล (Digital Game) เป็นที่นิยมมากขึ้น

บทความเกี่ยวกับ Game อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การซื้อเกมทั้งสองแบบ มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะด้วยลักษณะทางกายภาพ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการซื้อมาเล่น เช่น การขายต่อ การแลกเปลี่ยนกันเล่น แล้วแบบไหนที่จะเหมาะกับคุณ มาลองดูความแตกต่างในหัวข้อต่อไปนี้กันเลยค่ะ

เนื้อหาภายในบทความ

 

 

ความแตกต่างเรื่องราคา
(Price Differences)

ในเรื่องราคาเกม ความแตกต่างแผ่นเกม กับแบบดิจิทัลนั้น ในช่วงแรกที่เกมวางขายใหม่ ๆ แผ่นเกมมักมีราคาสูงกว่าแบบดิจิทัล เนื่องด้วยต้นทุนในการผลิตสูงกว่า (แต่บางเกมก็เท่ากันนะ) แต่เมื่อเวลาผ่านไป แผ่นเกมจะลดราคาลงไวกว่าแบบดิจิทัลซะอย่างนั้น ซึ่งถ้าหากคุณไม่ได้คิดจะอุดหนุนเกมดังกล่าวตั้งแต่วางขายใหม่ ๆ แล้วล่ะก็ การซื้อแผ่นเกมหลังจากผ่านกำหนดวางขายไปแล้วสักพักราว 2 - 4 เดือน ราคาก็จะถูกลงแล้วล่ะ

ความแตกต่างเรื่องราคา (Price Differences)

แต่ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อมีการจัดโปรโมชันลดราคาเกิดขึ้น ส่วนลดในการซื้อแบบออนไลน์จะถูกกว่ามาก ซึ่งบางครั้งอาจลดราคาสูงสุดถึง 99% เลยก็ได้ แน่นอนว่าแผ่นเกม จะไม่มีการลดราคาแบบนี้แน่นอน เว้นเสียแต่ว่าจะมีการแจกโปรโมชั่นแถมไปกับการซื้อแผ่นเกมหรืออุปกรณ์อื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ที่เรากล่าวถึงไปทั้งหมด คือการซื้อเกมมือหนึ่งจากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายโดยตรงเท่านั้น ถ้าเป็นการซื้อขายเกมมือสองแล้วล่ะก็ เราจะไปพูดถึงต่อในหัวข้อถัดไป

การขายเกมมือสอง
(Second-hand Games Selling)

แน่นอนว่า การขายของมือสอง นิยมขายสิ่งที่เป็นสิ่งของที่สามารถจับต้องได้ แผ่นเกมก็เช่นกัน เมื่อคุณคิดว่าเบื่อเกมนั้นแล้ว คงไม่ได้เล่นต่อ หรือลองแล้วไม่ใช่แนว ไม่เพียงแต่คุณจะสามารถนำเงินที่ได้จากการขาย ไปต่อยอดซื้อเกมใหม่มาเล่นได้ แถมเมื่อคุณสลับฝั่งจากคนขายไปเป็นคนหาซื้อเกมมือสองมาเล่นแทนแล้วล่ะก็ ราคาเกมก็จะถูกลงไปกว่าซื้อมือหนึ่ง และถูกกว่าการรอให้เกมมือหนึ่งปรับราคาลงด้วย

การขายเกมมือสอง (Second-hand Games Selling)
เครดิตภาพ : https://www.carousell.sg/p/used-ps4-games-for-sales-1066526482/

ตัดภาพกลับไปที่เกมแบบดิจิทัล ถึงแม้ว่าเกมแบบดิจิทัลจะไม่มีอะไรให้ขายเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็มียกเว้นบ้างในบางกรณี เช่น การขายโค้ดเกมที่ได้แถมมากับสินค้าอื่น ๆ ในราคาถูกกว่าตลาด เช่น ขายเกม AAA ที่แถมมากับการซื้อการ์ดจอตัวใหม่, ขายเครื่องเล่นพร้อมไอดีเกม หรือขายไอดีเกม / ไอดีแพลตฟอร์มเกม เช่น ไอดี Steam, Epic Games, Battle.net, ฯลฯ ซึ่งค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอีเมล เครดิตผู้ขาย ฯลฯ เป็นต้น ทำให้มีความยุ่งยากในการซื้อขายมากกว่าแบบแผ่นเกม

การแลกเกมกันเล่น และการแชร์เกม
(Swapping and Sharing Games)

หากเรานึกถึงการแบ่ง หรือแลกกันเล่น การแลกแผ่นเกมซีดี หรือตลับเกมกัน ดูจะเป็นวิธีที่ง่ายและจับต้องได้มากกว่า เพราะขอแค่มีเครื่องใครเครื่องมัน เอาแผ่นเกม หรือตลับไปใส่เข้าเครื่องตัวเองก็เล่นได้แล้ว

ทว่า ในปัจจุบัน การที่คณมีเกมแบบดิจิทัลไว้ในครอบครอง การแชร์เกมเล่นด้วยกัน ถือเป็นจุดแข็งอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจ เพราะถึงแม้ว่าจะดูจับต้องไม่ได้ แต่ถ้าหากคุณมีเกมหลายเกมอยู่ในมือ แล้วช่วงนี้ไม่ว่างเล่น อยากแบ่งให้คนอื่นเล่นพลาง ๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแค่แชร์ไอดีบัญชีเกมของเรา หรือใช้ระบบบริการแบ่งกันเล่นกับเพื่อนแบบออนไลน์อย่าง PlayStation Share Play, Xbox Gameshare, หรือแชร์ผ่าน Steam Family Sharing ก็สะดวก

การแลกเกมกันเล่น และการแชร์เกม (Swapping and Sharing Games)
เครดิตภาพ : https://www.psu.com/news/how-to-game-share-and-share-play-on-ps4-and-ps4-pro/

ซึ่งการแชร์กันเล่นแบบนี้ สามารถแบ่งปันกับใครก็ได้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกก็ตาม ขอเพียงมีอินเตอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงเกมได้ตลอดเวลา ทำให้การแชร์เกมแบบดิจิทัลนั้น สะดวกกว่าแบบแผ่นเกมที่ต้องเจอหน้าเพื่อหยิบยื่นให้ หรือส่งพัสดุที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไปอีก

สต๊อกเกมที่พร้อมขาย
(In-stock Games Availability)

เมื่อเราต้องการซื้อเกมแบบแผ่น เราก็ต้องไปตามหาว่าร้านค้าร้านไหนมีแผ่นเกมนี้อยู่ในสต๊อกบ้าง ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านโดยตรงหรือร้านค้าออนไลน์ก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว เกมไหนที่เป็นที่นิยมหรือเป็นเกมที่กำลังอยู่ในกระแส ย่อมหาร้านขายไม่ยาก แต่ถ้าหากคุณชอบเกมที่เป็นเกมคลาสสิก หรือเกมนอกกระแสที่ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงมากนัก การหาร้านที่มีของในสต๊อกอาจเป็นเรื่องยาก บางครั้ง อาจต้องพึ่งการพรีออเดอร์เพื่อนำเข้ามา หรือไม่ก็ไม่มีขายเลย

สต๊อกเกมที่พร้อมขาย (In-stock Games Availability)
เกมออกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) แต่ยังมีวางขายอยู่

แต่ถ้าคุณเป็นสายเกมดิจิทัลแล้วล่ะก็ ปัญหาการไม่มีเกมในสต๊อกให้เลือกซื้อจะหมดไป เพราะจะมีขายในร้านค้าตลอดเวลา ตราบเท่าที่เจ้าของเกมยังมีขายอยู่ หรือไม่เกิดปัญหาขัดแย้งใดใดระหว่างเกมนั้น ๆ กับร้านค้าเสียก่อน ไม่ว่าเกมนั้นจะราคาถูกแค่ไหน หรือเป็นเกมที่เปิดตัวเงียบมากเพียงใด ก็มีสแตนด์บายรอไว้ให้ซื้อแน่นอนหากผู้ผลิตเกมนั้น ๆ วางขายตามกำหนดที่วางไว้

แถมถ้าหากเป็นเกมพรีออเดอร์ แล้วมีกำหนดวางขายในวันรุ่งขึ้น หากคุณพรีออเดอร์ไว้ในร้านค้าออนไลน์ ก็จะสามารถดาวน์โหลดได้ทันทีที่ย่างเข้าสู่เที่ยงคืนของวันใหม่ (แล้วแต่เกมนะ) แต่ถ้าเป็นแบบแผ่นเกมล่ะก็ ยังไงก็ต้องรอขนส่งส่งมาให้จากร้านค้าอีกทีอยู่ดี จะได้ช้าเร็วเท่าไหร่ก็อีกเรื่อง

อายุการใช้งานของเกม
(Game Longevity)

อายุการใช้งานของเกม ถ้าเราเปรียบเทียบกันระหว่างแผ่นเกม ที่สามารถจับต้องได้ กับแบบดิจิทัลที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต (ในคลาวด์ หรือในแพลตฟอร์มของร้านค้าที่เราเป็นสมาชิก) แบบแผ่นเกมก็จะดูเป็นอะไรที่ยั่งยืนมากกว่า เพราะแผ่นเกม ซื้อแล้วก็จะอยู่กับเราไปตลอด ตราบเท่าที่ยังไม่เกิดความเสียหายขึ้นกับแผ่นเกมของเรา และตัวอ่านแผ่นเกมของเครื่องเล่นยังใช้การได้ดีอยู่ แต่ถ้าหากแผ่นเกมเสีย หรือเกิดสูญหายแล้วล่ะก็ เท่ากับว่าเราจะเสียเกมนั้น ๆ ที่มีอยู่ในครอบครองไปเลยตลอดกาลจนกว่าคุณจะหาซื้อแผ่นเกมใหม่มา

อายุการใช้งานของเกม (Game Longetivity)

ส่วนเกมดิจิทัลนั้นจะแตกต่างออกไป เพราะอายุการใช้งานของเกมดิจิทัล ต่อให้คุณลบออกไปจากเครื่องเล่นแล้วเพราะพื้นที่ไม่พอ แต่ก็ไม่ต้องกังวลว่าเกมจะหาย ตราบใดที่คุณยังจำบัญชีและรหัสผ่านไอดีของตัวเองได้อยู่ และสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ก็สามารถดาวน์โหลดเกมนั้น ๆ กลับมาเล่นใหม่ได้เสมอ แถมเมื่อมีการอัปเดตใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขบัคหรือปรับปรุงฟีเจอร์ใดใดจากผู้พัฒนา ก็สามารถอัปเดตได้ทันทีไม่ต้องไปหาแผ่นเกมมาใส่กลับเข้าเครื่อง

ถึงกระนั้นก็ยังมีบ้างในบางกรณีที่เกมถูกถอดออกไปจากร้านค้า หรือร้านค้าของแพลตฟอร์มรุ่นเก่าถูกปิดการใช้งานลงไปตามกาลเวลา เช่น ร้านเกม PSP และร้านเกม Nintendo 3DS eShop ที่จะทำให้คุณไม่สามารถดาวน์โหลดเกมกลับมาเล่นได้อีกต่อไป (คือเล่นต่อได้แหละ แต่อย่าเผลอลบทิ้งแล้วกัน)

ความสะดวกในการจัดเก็บ
(Storing Convenience)

การเปลี่ยนตลับเกม หรือเปลี่ยนแผ่นเกมซีดี ฟังดูอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องลำบากลำบนหรือต้องใช้แรงอะไรมากมายนัก ก็แค่สลับสับเปลี่ยนไปมาเวลาที่อยากจะเล่นเกมอื่น แต่ถ้าหากคุณเปลี่ยนมาเป็นผู้เล่นสายดิจิทัลแล้วล่ะก็ ความคิดนี้จะเปลี่ยนไป (อาจจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อยก็ได้ ฮ่า ๆ)

ความสะดวกในการจัดเก็บ (Storing convenience)
เครดิตภาพ : https://digitalgumballs.com/2012/10/10/physical-media-a-link-to-the-past/

เหตุผลเพราะว่า การมีเกมเก็บไว้แบบดิจิทัล คุณจะไม่ต้องคอยเดินไปหาเครื่องเกมเพื่อหรือหาแผ่นเกมเพื่อมาเปลี่ยนใส่ในเวลาที่อยากจะเล่นเกมใหม่ เพราะเวลาที่อยากจะเปลี่ยนไปเล่นเกมอื่น คุณก็แค่กดออกจากเกมเก่าแล้วก็ไปเข้าไอคอนเกมใหม่เพื่อเล่นต่อได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาลุกไปลุกมา หรือไม่ก็ไม่ต้องเสียเวลาจัดการนำแผ่นเกม เข้า-ออกเครื่อง

สรุปความแตกต่าง ระหว่างการเล่นเกมแบบดิจิทัล กับแบบแผ่น
(Physical and Digital Games Conclusion)

มาถึงบทสรุปข้อดีข้อเสียระหว่างแบบดิจิทัล และแบบแผ่นเกม กันบ้าง จากหัวข้อที่เราพูดถึงไปในแง่มุมต่าง ๆ ของทั้งสองฝั่ง จะเห็นได้ว่าแบบดิจิทัล จะค่อนข้างเหนือกว่า แผ่นเกมในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของส่วนลดที่ได้ราคาถูกกว่า, แชร์เล่นกับเพื่อนง่ายกว่า, ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีเกมขาย, สลับเกมเล่นง่าย, แถมยังอยู่กับเราไปตลอดตราบเท่าที่ร้านค้ายังไม่ปิดตัวอีกด้วย

แต่สำหรับฝั่งผู้เล่นที่ชื่นชอบการสะสมแผ่นเกมนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเอาเสียเลย เพราะถ้าหากคุณเป็นนักสะสมแผ่นเกมที่ชื่นชอบการสะสมเกม และสิ่งที่สามารถจับต้องได้มากกว่า การเล่นเกมแบบแผ่นคือคำตอบของคุณ แถมถ้าบางครั้ง ผู้พัฒนามีการผลิตเครื่องเล่นใหม่ให้รองรับกับแผ่นเกมรุ่นเก่า คุณก็จะไม่ต้องเสียเงินซื้อแผ่นเกมเดิมเพื่อเล่นกับเครื่องรุ่นใหม่อีกรอบด้วย แต่ถ้าจะให้สรุปผู้ชนะเมื่อเทียบจำนวนข้อดีข้อเสียแล้วล่ะก็ นัดนี้ คงต้องให้แบบดิจิทัลเค้าชนะไปล่ะนะ


ที่มา : www.reddit.com , www.makeuseof.com

0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A5+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2+%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น