วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำให้คอมพิวเตอร์สุดแรงของคุณทำงานได้ช้าลง ก็คือการใช้หน่วยความจำความเร็วต่ำ ไม่ว่า หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) จะประมวลผลได้เร็วขนาดไหนก็ตาม บ่อยครั้งที่มันทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะต้องเสียเวลาไปกับการรอข้อมูลที่ถูกรับ-ส่งจากฮาร์ดดิสก์ (HDD) อันที่จริง จะไปโทษว่าเป็นความผิดของฮาร์ดดิสก์ก็ไม่ได้ เพราะมันก็ทำตามหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่แล้ว แต่กว่าที่จานแม่เหล็กจะหมุนไปถึงจุดดึงข้อมูล มันก็ต้องใช้เวลา "นิดนึง" ความนิดนึงที่ว่านี้ แม้มันจะแค่แปปเดียว แต่ก็นานพอที่ทำให้ CPU ต้องเสียเวลารอโดยเปล่าประโยชน์
ข้อมูลเพิ่มเติม : RAM, HDD และ SSD คืออะไร ? อุปกรณ์เก็บข้อมูลเหล่านี้ แตกต่างกันอย่างไร ?
ทางแก้ก็คือ การเปลี่ยนไปใช้หน่วยความจำที่มีความเร็วสูงมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งที่นิยมในปัจจุบันก็คือ อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD (Solid-State Drive) มันอาศัยชิปในการเก็บข้อมูลทำให้มีความเร็วสูงกว่าจานแม่เหล็กมาก (ลองดูคลิปด้านล่างนี้ประกอบ เพื่อให้เข้าใจความสำคัญเรื่องความเร็วของหน่วยความจำได้ชัดเจนขึ้น) ทุกวันนี้ SSD มีให้เลือกหลากหลายแบบ แล้วเราจะเลือกยังไงดี มาหาคำตอบได้ในบทความนี้กัน
เปรียบเทียบความเร็วในการเปิดโปรแกรมระหว่าง M.2, SSD และ HDD
เราจะแบ่งตาม "รูปแบบโครงสร้าง (Form Factor)" และ "รูปแบบการทำงาน" ซึ่งจะสามารถแยกออกมาได้ ดังนี้
เป็น SSD ที่หน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับฮาร์ดดิสก์แบบดั้งเดิม แต่ผอมเพรียวกว่า ใช้สาย SATA ในการเชื่อมต่อเหมือนเดิม ถ้าเดิมใช้ฮาร์ดดิสก์แบบ SATA อยู่แล้ว SSD แบบนี้ก็จะสามารถนำมาใช้ได้อย่างแน่นอน แต่อาจจะต้องซื้อ Bay (ตัวถาดยึด) มาช่วยในการติดตั้งด้วย เนื่องจากขนาดมันเล็กกว่าช่องเสียบฮาร์ดดิสก์แบบปกติ ทั้งนี้เคสคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะมีช่องสำหรับติดตั้ง SSD แบบนี้ให้มาเลย
ภาพจาก : https://www.samsung.com/th/memory-storage/850-evo-sata-3-2-5-inch-ssd/MZ-75E250BW/
SSD แบบนี้ จะเสียบลงบนช่อง PCI Express bus ซึ่งปกติเราเอาไว้เสียบการ์ดจอนั่นแหละ ซึ่งความเร็วในการส่งข้อมูลของพอร์ตนี้มีความเร็วเหนือกว่า SATA มากๆ
แต่มันก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างเช่นกัน ถ้าเมนบอร์ดคุณมีช่อง PCIe ให้มาน้อย เราก็ต้องเก็บมันไว้เสียบการ์ดจออยู่แล้ว หรือเคสที่มีพื้นที่จำกัดอาจจะไม่มีพื้นที่พอให้คุณใช้ SSD แบบนี้
ภาพจาก : https://www.gigabyte.com/th/Solid-State-Drive/AORUS-RGB-AIC-NVMe-SSD-512GB#kf
หน้าตาของ SSD แบบ M.2 จะคล้ายๆ กับแรม ด้วยความเล็กของมัน ทำให้นิยมใช้ในโน้ตบุ๊ค แต่ในเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์ก็มีให้ใช้งานเช่นกัน
M.2 มีหลายขนาด แต่ส่วนใหญ่จะมีขนาดกว้าง 22 มิลลิเมตร ยาว 80 มิลลิเมตร ซึ่งเราสามารถดูได้จากรหัสของตัว SSD เลย จะมีระบุเลขเอาไว้ว่า M.2 2280
เรื่องชวนงง ก็จะอยู่ที่ M.2 นี่แหละ เพราะ SSD โครงสร้างนี้ จะมีแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามมาตรฐาน Protocol ที่ใช้ในการทำงานลงไปอีก คือ NVMe M.2 กับ SATA M.2
NVMe ย่อมาจาก NVM Express หรือมีชื่อเต็มยศว่า Non-Volatile Memory Host Controller Interface Specification ทำงานผ่านทาง Protocal ของ PCI Express ทำให้มีความเร็วสูงกว่า SATA M.2 เป็นอย่างมาก และแน่นอนว่า SSD แบบนี้มักจะมีราคาที่สูงกว่าแบบ SATA M.2 ด้วย
จุดสังเกตง่ายๆ คือ SATA M.2 จะมีเขี้ยวเชื่อมต่อ 3 แง่ง ในขณะที่ NVMe M.2 จะมีแค่ 2 แง่ง เท่านั้น
SSD เก็บข้อมูลในหน่วยความจำที่เรียกว่า NAND Flash เป็นเซล (Cell) สำหรับเก็บข้อมูล ที่มาแทนที่จานแม่เหล็กในฮาร์ดดิสก์ ในยุคเริ่มต้น มันจะเก็บข้อมูลได้แค่เพียง 1 บิต/เซล เท่านั้น เรียกว่า SLC (Single Level Cell)
ในเวลาถัดมา เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้ใน 1 เซล สามารถย่อยออกเป็นหลายชั้น (Level) เพื่อให้มันสามารถบรรจุบิตลงไปในเซลได้มากขึ้น หรือเก็บข้อมูลได้มากขึ้นนั่นเอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ทำให้ราคาของ SSD ลดลง โดยเทคโนโลยีในตอนนี้จะมีให้เลือกดังนี้
อย่างไรก็ตาม การที่จำนวนบิต/เซล เยอะขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิต SSD ลดลงก็จริง แต่ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล และความทนทานก็จะลดลงไปด้วย
ภาพจาก : https://www.partitionwizard.com/partitionmagic/nand-ssd.html
แม้ทุกวันนี้ SSD แบบ QLC จะมีให้เลือกเป็นจำนวนมาก แต่ SLC ก็ไม่ได้หายไปไหนนะ เพียงแต่จะนิยมใช้กันในระดับองค์กรใหญ่ๆ หรืออุตสาหกรรมกันเท่านั้น เนื่องจากราคาที่แพงมากๆ คนธรรมดาทั่วไปจึงไม่นิยมซื้อมาใช้กัน
SSD ส่วนใหญ๋ในท้องตลาดตอนนี้ ก็จะเป็นเทคโนโลยี TLC ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ราคา กับความทนทานอยู่ในจุดที่มีความสมดุลมากที่สุด
ส่วนไดร์ฟแบบ QLC ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า แม้ทางผู้ผลิต จะเคลมว่าความทนทานสูงไม่ต่างจากเทคโนโลยีก่อนหน้ามากนัก แต่เราคิดว่า ถ้าเลือกได้ก็ไม่ควรเอามาเป็นไดร์ฟสำหรับติดตั้งระบบปฏิบัติการ ควรเอาไว้เก็บข้อมูลเป็นหลักน่าจะดีกว่า เช่น ติดตั้งเกม, โปรแกรม, เก็บไฟล์งาน ฯลฯ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |