ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

รูปจริง หรือ AI ? รวมวิธีตรวจสอบรูปภาพ ว่าสร้างด้วย AI หรือไม่ ?

รูปจริง หรือ AI ? รวมวิธีตรวจสอบรูปภาพ ว่าสร้างด้วย AI หรือไม่ ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 2,567
เขียนโดย :
0 %E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87+%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD+AI+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E+%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2+AI+%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

รวมวิธีตรวจสอบรูปภาพ ว่าสร้างด้วย AI หรือไม่ ? (How to identify AI-generated images)

รูปภาพ หรือคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ถูกสร้างโดย เทคโนโลยี AI หรือที่เรียกว่า เจนเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) นั้นมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเวลาเพียงไม่กี่ปี ในช่วงแรก ๆ ที่การสร้างภาพด้วย AI นั้นเริ่มได้รับความสนใจ ภาพที่เราได้เห็นกันก็ยังคงสามารถแยกมันได้ด้วยตาเปล่า ว่าเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วย AI หรือเป็นภาพที่ถูกถ่ายจริง ๆ 

บทความเกี่ยวกับ Artificial Intelligence อื่นๆ

และในตอนนี้การตรวจจับภาพที่สร้างโดย AI นั้นกลายเป็นเรื่องยากขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 1 ปีก่อนหน้า สัญญาณเตือนที่เราเคยใช้ในการบ่งบอกว่าภาพนั้นถูกสร้างโดย AI เช่น มือที่ดูบิดเบี้ยวผิดปกติ หรือข้อความที่อ่านไม่ออก ตอนนี้ได้เริ่มหายไป เนื่องจากเทคโนโลยี AI ได้รับการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

 รวมวิธีตรวจสอบรูปภาพว่าสร้างด้วย AI หรือไม่ ?
เปรียบเทียบภาพที่สร้างด้วย AI เมื่อ 1 ปีก่อน (ซ้าย) และภาพที่สร้างในปัจจุบัน (ขวา)
ภาพจาก : https://www.ladbible.com/news/technology/people-horrified-compared-ai-videos-tiktok-002964-20240216

การดูภาพจากองค์ประกอบภายนอกเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถทำให้เรารู้ได้ง่าย ๆ ว่าภาพนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยเครื่องมือ AI หรือไม่ และที่สำคัญภาพเหล่านั้นเริ่มหลอกลวงคนได้มากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้สังคมต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการถูกชักจูงไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การจะแยกภาพ AI มันก็ยังไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่อาจจะต้องใช้ความพยายาม และการวิเคราะห์ที่ละเอียดมากขึ้นไปอีก และในบทความนี้จะพาทุกคนไปสำรวจเครื่องมือสำหรับตรวจจับภาพที่ถูกสร้างโดย AI และทิปส์ที่จะช่วยให้เราสามารถระบุได้ว่าภาพนี้จริง หรือปลอม ?

เครื่องมือที่นำมาแนะนำในบทความนี้ ใช้ "เทคโนโลยี Computer Vision" ในการตรวจสอบลวดลายของพิกเซลแต่ละพิกเซล ซึ่งหมายความว่าเครื่องมือตรวจจับ AI อาจจะไม่สามารถตรวจจับได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นวิธีที่ดีสำหรับพิจารณาว่าภาพนั้นควรได้รับการตรวจสอบต่ออย่างละเอียดหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเรามองด้วยตาเปล่าแล้วอาจจะยังไม่ชัดเจน ...

เนื้อหาภายในบทความ

1. เครื่องมือ AI or NOT

เครื่องมือ AI or NOT
ภาพจากเว็บไซต์ : https://www.aiornot.com/dashboard/home

เครื่องมือ AI or Not เป็นเครื่องมือที่ให้คำตอบที่ง่าย ๆ ว่า "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" ซึ่งแตกต่างจากเครื่องมือตรวจจับภาพ AI อื่น ๆ ที่อาจให้ข้อมูลเชิงลึก หรือคะแนนความน่าจะเป็น ข้อดีของแพลตฟอร์มนี้คือความเรียบง่าย และรวดเร็ว ทำให้เหมาะสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ต้องการคำตอบแบบตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ในแผนใช้งานฟรีเราจะสามารถอัปโหลดภาพได้ 10 ภาพต่อเดือน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอแล้ว สำหรับการตรวจสอบภาพที่น่าสงสัยในแต่ละเดือน

AI or Not

2. เครื่องมือ Hive Moderation

เครื่องมือ Hive Moderation
ภาพจาก : https://sea.mashable.com/tech/33969/how-to-identify-ai-generated-images

ทางเว็บไซต์ Mashable ได้ทดลองใช้เครื่องมือเดโมฟรีของ เครื่องมือ Hive Moderation กับภาพมากกว่า 10 ภาพ และได้ผลสำเร็จโดยรวมถึง 90 เปอร์เซ็นต์ (90%) กันเลยทีเดียว นั่นก็หมายความว่าเครื่องมือของเว็บไซต์นี้ มีความแม่นยำสูงพอสมควร แต่น่าเสียดาย ที่มันไม่สามารถตรวจจับภาพง่าย ๆ อย่างกองทัพกระรอกที่กำลังปีนหน้าผาหินได้ และเว็บไซต์นี้ไม่มีแผนใช้งานแบบฟรี แต่ทุกคนสามารถติดต่อเพื่อขอรับตัวเดโมมาทดลองใช้ก่อนได้

Hive Moderation

3. เครื่องมือ SDXL Detector

เครื่องมือ SDXL Detector
ภาพจาก : https://sea.mashable.com/tech/33969/how-to-identify-ai-generated-images

เครื่องมือ SDXL Detector เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Hugging Face อาจทำงานช้านิดหน่อย แต่ข้อดีคือมันใช้งานได้ฟรีทั้งหมด นอกจากนี้ SDXL Detector ยังให้เปอร์เซ็นต์ความน่าจะเป็นแทนการตอบแบบตรงไปตรงมา ในการทดสอบของเว็บไซต์ Mashable ตัวเครื่องมือสามารถระบุได้ว่า 70 เปอร์เซ็นต์ (70%) ของภาพ นั้นถูกสร้างโดย AI ถือว่ามีความแม่นยำอยู่พอสมควร

SDXL Detector

4. เครื่องมือ Illuminarty

เครื่องมือ Illuminarty
ภาพจาก : https://sea.mashable.com/tech/33969/how-to-identify-ai-generated-images

Illuminarty มีแผนใช้งานฟรีที่ให้บริการตรวจจับภาพ AI ขั้นพื้นฐาน ทางเว็บไซต์ Mashable ได้อัปโหลดภาพที่สร้างโดย AI ทั้งหมด 10 ภาพขึ้นไปบน Illuminarty  แต่เครื่องมือกลับระบุว่ามีเพียง 5 ภาพเท่านั้น ที่สร้างมาจาก AI หมายความว่าเครื่องมือนี้ยังมีประสิทธิภาพที่ต่ำอยู่ และน่าตกใจที่เครื่องมือนี้ให้คะแนนภาพอวัยวะภายในของหนูที่เป็นภาพที่สร้างโดย AI นั้นว่าเป็นภาพจริง

Illuminarty

5. ตรวจสอบภาพที่สร้างโดย AI ด้วยตัวเอง (Check Out the AI-Generated Images by yourself)

อย่างที่ทุกคนได้เห็นกันแล้วว่า เครื่องมือตรวจจับ AI ส่วนใหญ่นั้นทำงานได้ดี แต่มันก็ยังไม่สมบูรณ์แบบนัก ไม่ควรถูกใช้เป็นเพียงวิธีเดียวในการตรวจสอบภาพ บางครั้งเครื่องมือเหล่านี้สามารถตรวจจับภาพที่สร้างโดย AI แต่บางครั้งพวกมันก็ผิดพลาดกับภาพที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผลงานของ AI ซึ่งนี่คือเหตุผลว่าทำไมการใช้หลายวิธีร่วมกันถึงให้ผลลัพธ์ดีที่สุด

ทีนี้เรามาดูกันต่อว่ามีเทคนิคอะไรบ้าง ? ที่จะช่วยเรายืนยันภาพที่สร้างจาก AI เหล่านี้ได้

1. การค้นหาภาพย้อนกลับ

อีกวิธีหนึ่งในการตรวจจับภาพที่สร้างโดย AI คือการใช้การค้นหาภาพย้อนกลับที่แบบง่าย ๆ เลย ซึ่งเป็นวิธีที่ Bamshad Mobasher ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และผู้อำนวยการศูนย์ Web Intelligence ที่มหาวิทยาลัย DePaul University ในชิคาโกแนะนำ โดยการอัปโหลดภาพไปยัง Google Images หรือเครื่องมือค้นหาภาพย้อนกลับ ซึ่งเราสามารถตรวจสอบที่มาของภาพนั้นได้หากมันมีที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต

ตรวจสอบภาพที่สร้างโดย AI ด้วยตัวเอง (Check Out the AI-Generated Images by yourself)
ภาพจาก : https://www.google.co.th/?hl=th

2. เครื่องมือ "About this Image" ของ Google

Google Search ยังมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจซึ่งก็คือ "About this Image (เกี่ยวกับรูปภาพนี้)" ที่ให้ข้อมูลบริบทเกี่ยวกับภาพ เช่น เวลาที่ภาพถูกจัดทำดัชนี (Index) ครั้งแรก และที่อื่น ๆ ที่ภาพปรากฏทางออนไลน์ :ซึ่งเราสามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้โดยคลิกที่ไอคอนจุดสามจุดที่มุมขวาบนของภาพที่เราดูอยู่

เครื่องมือ About this Image ของ Google

3. สัญญาณต่าง ๆ ที่ตาเปล่าสามารถสังเกตได้

แม้อาจจะดูยากไปหน่อย แต่เราอาจจะยังคงสังเกตเห็นความผิดปกติของภาพที่สร้างด้วย AI ได้หลายจุด เช่น นิ้วมือที่บิดเบี้ยว ผิวที่ดูสมบูรณ์แบบจนเกินไป หรือข้อความภายในภาพที่อ่านไม่รู้เรื่อง โดยเว็บไซต์ PCMag ได้แนะนำให้ลองมองหาวัตถุที่พื้นหลังที่ดูเบลอ, บิดเบี้ยว หรืออาจดูที่ตัวแบบในภาพว่ามีผิวที่สมบูรณ์แบบเกินไปหรือเปล่าเช่น ไม่มีรูขุมขน สมบูรณ์แบบเกินกว่าที่ควรจะเป็นจริง ๆ

ซึ่งภาพที่สร้างโดย Midjourney ด้านล่างนี้ ปรากฏภาพหญิงสาวที่กำลังโปรโมตหนังสือทำอาหารซึ่งอาจพบได้ง่าย ๆ บน Instagram แต่ถ้าหากสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่า ขวดน้ำตาลนั้นบิดเบี้ยว, ข้อนิ้วที่อยู่ในลักษณะที่ผิดรูป และผิวที่เรียบเนียนจนเกินไป

สัญญาณต่าง ๆ ที่ตาเปล่าสามารถสังเกตได้ ว่ารูปภาพว่าสร้างด้วย AI หรือไม่ ?
ภาพจาก : https://sea.mashable.com/tech/33969/how-to-identify-ai-generated-images

และอีกหนึ่งตัวอย่างเป็นภาพของขบวนรถตู้ Volkswagen ที่กำลังเคลื่อนขบวนไปตามชายหาด ถูกสร้างขึ้นโดย Imagen 3 ของ Google ทราย และรถตู้ดูสมจริงมาก แต่ถ้าหากเราได้มองใกล้ ๆ จะสังเกตเห็นว่าตัวอักษรบนรถตู้คันที่ 3 ตรงที่ควรจะเป็นโลโก้ VW กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่มีความหมาย และเช่นเดียวกันในรถตู้คันที่ 4 กลายเป็นรอยด่างที่ไม่มีรูปร่างแทน

สัญญาณต่าง ๆ ที่ตาเปล่าสามารถสังเกตได้ ว่ารูปภาพว่าสร้างด้วย AI หรือไม่ ?
ภาพจาก : https://sea.mashable.com/tech/33969/how-to-identify-ai-generated-images

4. เพิ่มความรู้เกี่ยวกับ AI

นักวิจัยด้าน AI Duri Long และ Brian Magerko ได้ให้คำจำกัดความของ ความรู้เกี่ยวกับ AI (AI literacy) ว่าเป็น "ชุดของทักษะที่ทำให้บุคคลสามารถประเมินเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีวิจารณญาณ สื่อสาร และทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ AI เป็นเครื่องมือออนไลน์ ที่บ้าน และในที่ทำงานได้" ซึ่งก็คือการเข้าใจวิธีการทำงานของ AI ที่สร้างเนื้อหา และสิ่งที่ต้องสังเกตนั่นเอง

เพิ่มความรู้เกี่ยวกับ AI ในการตรวจสอบรูปภาพว่า สร้างด้วย AI หรือไม่ ?
ภาพจาก : https://digitalpromise.org/2024/06/18/ai-literacy-a-framework-to-understand-evaluate-and-use-emerging-technology/

เริ่มต้นด้วยการถามตัวเองเกี่ยวกับแหล่งที่มาของภาพที่สงสัย และบริบทที่ภาพปรากฏ ใครเป็นคนเผยแพร่ภาพนี้ ? ข้อความที่แนบมากับภาพพูดถึงอะไร ? มีคนอื่นหรือสื่ออื่นเผยแพร่ภาพนี้หรือไม่ ? ภาพนั้นหรือข้อความที่แนบมากับภาพทำให้เรารู้สึกอย่างไร ? หากดูเหมือนว่ามันถูกออกแบบมาเพื่อทำให้เราโกรธหรือดึงดูดใจของเรา ให้ลองคิดดูว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

วิธีที่องค์กรต่าง ๆ กำลังต่อสู้กับปัญหา AI Deepfake และข้อมูลเท็จต่าง ๆ (How companies are fighting with AI Deepfake, and Misinformation)

จนถึงตอนนี้ วิธีที่สามารถแยกแยะภาพที่สร้างโดย AI จากภาพจริงนั้นยังคงมีข้อจำกัด และไม่สมบูรณ์แบบ ทำให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายของภาพที่สร้างโดย AI ที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นอันตรายยิ่งรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง Deepfake หรือบทความที่ดูสมจริง นอกจากจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จแล้ว ยังทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย แต่ก็ได้มีหลายโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อเสริมความไว้วางใจ และสร้างความโปร่งใสในสื่อต่าง ๆ เช่น C2PA

Coalition for Content Provenance and Authenticity (C2PA) ก่อตั้งโดย อะโดบี (Adobe) และ Microsoft รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น OpenAI และ Google อีกทั้งยังมีบริษัทสื่ออย่าง Reuters และ BBC ได้ร่วมกันจัดทำ Content Credentials ที่สามารถคลิกดูได้ เพื่อระบุแหล่งที่มาของภาพ และตรวจสอบว่าภาพนั้นถูกสร้างโดย AI หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มันก็ยังคงขึ้นอยู่กับผู้สร้างที่จะต้องแนบ Content Credentials เหล่านี้ติดไปกับภาพด้วย

วิธีที่องค์กรต่าง ๆ กำลังต่อสู้กับปัญหา AI Deepfake และข้อมูลเท็จต่าง ๆ
ภาพจาก : https://www.linkedin.com/pulse/restoring-trust-online-content-demystifying-deepfakes-antonio-grasso

ในอีกด้านหนึ่ง Starling Lab ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็กำลังทำงานอย่างหนักในการตรวจสอบภาพ โดยบันทึกภาพดิจิทัลที่อ่อนไหว เช่น ภาพที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน, อาชญากรรมสงคราม และภาพที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เก็บบันทึกไว้ในเครือข่ายแบบกระจายให้ทุกคนสามารถเห็นได้เพื่อป้องกันการแก้ไข จัดทำขึ้นเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบความถูกต้องของภาพ

บทสรุปเกี่ยวกับ AI-Deepfake และข้อมูลเท็จต่าง ๆ (AI Deepfake and Misinformation Conclusions)

แม้ผู้เชี่ยวชาญมักพูดถึงภาพที่สร้างโดย AI ในบริบทของการหลอกลวง และให้ข้อมูลเท็จ แต่ภาพที่สร้างโดย AI ไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงเสมอไป บางครั้งเป็นแค่เรื่องตลก, มีม (Meme) หรือเป็นแค่การโฆษณาที่ไม่ประณีตเฉย ๆ  แต่ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ภาพที่สร้างโดย AI ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราแล้ว และเราจะต้องตรวจแยกแยะมันให้ได้

เครื่องมือ และทิปส์ที่ได้เอามาฝากทุกคน แม้ว่าอาจจะยังให้ผลลัพธ์ที่ไม่สมบูรณ์แบบมากนัก แต่ก็สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับนำไปพิจารณาว่าภาพที่ได้เห็นนั้นเป็นภาพจริง หรือภาพที่สร้างโดย AI อย่างไรก็ตามการที่เราสังเกต และเลือกเสพข้อมูลภาพอย่างมีสติก็จะเป็นส่วนช่วยสำคัญที่จะปกป้องเราจากข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงได้นั่นเอง


ที่มา : sea.mashable.com , www.aiornot.com , hivemoderation.com , huggingface.co , illuminarty.ai

0 %E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87+%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD+AI+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E+%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2+AI+%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
นักเขียน : Editor    นักเขียน
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น