แชร์หน้าเว็บนี้ :
เครื่องหมาย DBD Registered และ DBD Verified คืออะไร ?
พร้อมวิธีการขอเครื่องหมาย อย่างละเอียด
ภาพจาก https://dlpng.com/png/1880710
ปัจจุบันธุรกิจ E-Commerce มีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจระดับโลก ประเทศไทยเองก็ไม่พ้นกระแสเศรษฐกิจนี้ ซึ่งระบบ E-Commerce เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 748,000 ล้านบาท นับว่าเป็นอันดับ 1 ของมูลค่าธุรกิจ E-Commerce ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งดิจิทัลเทรนด์ที่น่าจับตามองตอนนี้ได้แก่ เทคโนโลยี 5G ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประเทศไทยกำลังค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว
ดังนั้นเพื่อให้สอดรับในการช่วยแข่งขันกับต่างประเทศ ธุรกิจ E-Commerce ในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีความน่าเชื่อถือ และมีมาตรฐานมารองรับ ในขณะที่ธุรกิจขนาดย่อมส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะขาดเทคนิค และประสบการณ์ในการทำตลาดออนไลน์ ส่งผลให้ขาดความน่าเชื่อถือ เสียเปรียบคู่แข่งจากต่างประเทศ
หลายคนคงอาจเคยเห็นสัญลักษณ์ DBD Registered หรือ DBD Verified ที่แปะอยู่บนเว็บไซต์ต่างๆ เวลาเราเข้าไปซื้อของออนไลน์ ซึ่งนี่ไม่ใช่สัญลักษณ์ที่ประดับไว้เล่นๆ แต่มันคือสัญลักษณ์ของ “ธุรกิจ/ร้านค้า ที่ผ่านการจดทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์” แล้ว และการันตีว่าร้าน เป็นมืออาชีพ ดูน่าเชื่อถือ และที่สำคัญรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยไมโดนโกงแน่นอน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จึงได้ทำการออก เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) และ เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ (DBD Verified) ให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน เพื่อนําไปแสดงไว้บนเว็บไซต์ของตนเอง เป็นการรับประกันให้ผู้บริโภค (ผู้ซื้อ) เมื่อเห็นเครื่องหมาย DBD Registered แล้วจะเกิดความมั่นใจในตัวผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น
เครื่องหมาย DBD Registered และ เครื่องหมาย DBD Verified ต่างกันตรงไหน ?
ข้อแตกต่างระหว่างเครื่องหมาย DBD Registered กับเครื่องหมาย DBD Verified นั้นจริงๆ แล้วคือเครื่องหมาย DBD Registered เป็นการจดทะเบียนการค้าสำหรับุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เพื่อแสดงตัวตนว่ามีอยู่จริง เท่านั้น
ส่วนเครื่องหมาย DBD Verified นั้นเป็นการจดทะเบียนการค้าสำหรับนิติบุคคล จะต้องจดเครื่องหมาย DBD Registered มาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และต้องมีการบริหารเว็บไซต์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมฯ กําหนดเท่านั้น
วิธีจดทะเบียนขอเครื่องหมาย DBD Registered
โดยผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะขอใช้เครื่องหมายรับรองต้องแสดงหลักฐานการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นไฟล์เอกสารแนบต่อกรม ดังนี้
1.1 บุคคลธรรมดา
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ (พค.0403) พร้อมลงนามสำเนาถูกต้อง
- เอกสารที่แสดงว่าได้จัดทำร้านค้าออนไลน์แล้ว หรือชื่อทางออนไลน์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (URL)
1.2 นิติบุคคล
- หนังสือรับรองนิติบุคคล หรือสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์ (พค.0403) พร้อมลงนามสำเนาถูกต้องและประทับตราสำคัญ
- เอกสารที่แสดงว่าได้จัดทำร้านค้าออนไลน์แล้ว หรือชื่อทางออนไลน์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (URL)
1.3 กรณีอื่นๆ
- เอกสารการเป็นสมาชิกสมาคมการค้า หอการค้า เป็นต้น
ทำยังไงถึงได้เครื่องหมาย DBD Verified ?
การได้มาซึ่งสัญลักษณ์ DBD Verified จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Verified จะมีอยู่ 3 ระดับ คือ
- เครื่องหมาย DBD Verified ระดับ Silver
- เครื่องหมาย DBD Verified ระดับ Gold
- เครื่องหมาย DBD Verified ระดับ Platinum
โดยเครื่องหมาย DBD Verified นั้น ยังจําแนกตาม ประเภทหรือลักษณะของเว็บไซต์ ประกอบไปด้วย
- การซื้อขายระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค
- การซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ
- ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce Solution Providers) ได้แก่
- การใช้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting)
- การจดทะเบียนโดเมนเนม
- ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Market Place)
การได้มาของเครื่องหมาย DBD Verified ทั้ง 3 ระดับ
- DBD Verified ระดับ Silver : ออกให้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยผ่านคุณสมบัติ เช่น จดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์และได้รับเครื่องหมาย DBD Registered รวมทั้งผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- DBD Verified ระดับ Gold : ออกให้แก่ผู้ที่จดทะเบียนพาณิชย์ เฉพาะที่เป็นนิติบุคคล โดยผ่านคุณสมบัติ เช่น จดทะเบียนพาณิชย์ สำหรับธุรกิจพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่า 1 ปี จะจัดส่งงบการเงินไม่น้อยกว่า 1 ปี รวมทั้งผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ
- DBD Verified ระดับ Platinum : ออกให้แก่ผู้ที่จดทะเบียนพาณิชย์ เฉพาะที่เป็นนิติบุคคล โดยผ่านคุณสมบัติ เช่น จดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่น้อยกว่า 2 ปี จัดส่งงบการเงินติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีคุณสมบัติ ได้แก่ ได้รับรางวัลประกวดเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารวมทั้ง ผ่านเกณฑ์ มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ เป็นต้น
คุณสมบัติในหลักเกณฑ์ 5 ข้อ ที่เป็นมาตรฐานธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในการได้เครื่องหมาย DBD Verified
1. ด้านการเปิดเผยข้อมูล
ธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการด้วยความถูกต้อง ชัดเจน และเข้าถึงได้ง่าย เช่น
- ไม่มีโฆษณาหลอกลวง เกินจริง
- แสดงข้อมูลสินค้าเพียงพอ
- ข้อมูลของบริษัทครบถ้วน
- ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการซื้อ ส่ง คืน สินค้า
- ข้อมูลการชำระเงิน
- แจ้งลูกค้าทันทีเมื่อมีการสั่งสินค้า(อีเมลตอบกลับ,โทรกลับ)
2. ด้านเงื่อนไขทางการค้า และ การบริการ
หมายถึง ธุรกิจต้องกำหนเและระบุเงื่อนไขทางการค้า / บริการ ที่เป็นธรรม เช่น
- การยกเลิกหรือคืนสินค้า / บริการ และวิธีติดต่อสื่อสารกับลูกค้า
3. ด้านความมั่นคงปลอดภัยของเว็บไซต์
ธุรกิจต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับการรักษาความลับของข้อมูล กระบวนการตรวจสอบและควบคุม ให้อำนาจในการเข้าทำการ เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อมูล การรับรองตัวตนของบุคคลว่าเป็นจริง ความไม่คลาดเคลื่อนของข้อมูล ให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขระหว่างทาง เช่น
- มีการกำหนดชื่อผู้ใช้งาน (Username) รหัสผ่าน (Password) ในการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ
- มีระบบป้องกันการบุกรุกหรือแอนตี้ไวรัสในการป้องกันข้อมูลรั่วไหล
- ในกรณีที่มีการส่งผ่านข้อมูลไปยังหน่วยงานอื่น มีมาตรการที่รักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม
4. ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล
ธุรกิจต้องกำหนดแนวทางในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้งาน และการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงความสมบูรณ์ ของข้อมูลส่วนบุคคลการเข้าถึง และแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลเช่น
- มีแนวทางการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าที่ระบุชัดเจนว่าเก็บเพื่ออะไร
- มีการยืนยันก่อนการจัดเก็บ
- ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลจากแหล่งอื่น
- ไม่โพสต์ข้อมูลลูกค้าบนเว็บไซด์หรือเว็บบอร์ด
- ลูกค้าสามารถเข้าถึง (Access) แก้ไข (Edit) บันทึก (Save) จัดการ (Manage) ข้อมูลส่วนตัวได้
5. การแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน และการระงับข้อพิพาท
หมายถึง ธุรกิจต้องมีการกำหนดกลไกทางเลือกในการระงับข้อพิพาทระหว่างธุรกิจกับลูกค้า ด้วยวิธีที่ยุติธรรม รวดเร็วทันเวลา และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่ำ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย เช่น
- มีกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการซื้อสินค้าหรือบริการ
ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับเมื่อติดเครื่องหมาย DBD VERIFIED บนเว็บไซต์
- มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติและมาตรฐานการดำเนินการทางธุรกิจ
- ชื่อเว็บหรือ URL จะติดอยู่บน Directory ของกรมพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเป็นเว็บของรัฐ และส่งผลให้เว็บมีโอกาสถูกลิสต์บนหน้าเว็บแรกของเครื่องมือค้นหา (Search Engine)
- ผู้บริโภค มั่นใจแน่นอนว่าปลอดภัยไม่ถูกโกง
การทำการตลาดออนไลน์ ของธุรกิจ E-Commerce
ขั้นตอนการทำการตลาดออนไลน์
- ลงทะเบียน DBD ให้เรียบร้อยเสียก่อน
- สร้างเว็บ ปรับเว็บ ให้ผ่านเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์
- รายละเอียดสินค้า ต้องแสดงทั้งรูปภาพ รายละเอียดสินค้า คุณสมบัติต่างๆเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
- แปะใบรับรอง (Certificate) หรือเครื่องหมาย (Logo) ของทุกสถาบันที่เราได้รับ
- ทำการประชาสัมพันธ์เว็บไซด์ให้เป็นที่รู้จัก
- ติดอันดับเครื่องมือค้นหา (Search Engine) โดย
- SEO จาก Keywords ของเรา
- SEM โฆษณากับ Google
การทำ SEO หรือ SEM นั้น คนที่เข้ามาค้นหา (Search) มีความต้องการมากอยู่แล้ว - โฆษณาตัวเราในเว็บต่างๆเพื่อให้คนรู้จัก
- การโฆษณาแบบนี้ทำให้คนรู้จักแต่ยังไม่ซื้อ แต่ทำให้เค้ารู้ว่า เรายังมีตัวตนอยู่บนโลกนี้ไปปรากฎตัวบน Facebook หรือ Youtube ด้วยการทำโฆษณาด้วยวิธีการต่างๆ
ข้อควรรู้สำหรับการตลาดผ่านอีเมล (Mail Marketing) และเฟสบุ๊ค (Facebook Marketing)
- ไม่ควรใช้ Facebook ส่วนตัวในการขายของ
- ในการส่งเมล ควรใช้ซอฟแวร์ในการส่งเมลเท่านั้น ห้ามส่งเองโดยเด็ดขาด หากส่งเองครั้งละมากๆ แล้ว Spam Filter อาจมองว่าเป็นสแปม (Spam) แล้วเราจะโดนแบนโดเมนได้ (เช่น โปรแกรม ITX Board Post)
- วางแผนกำลังคน งบประมาณ ใช้คนให้ถูกที่ถูกทาง จัดงบประมาณให้เหมาะสม
- สร้างฐานลูกค้าที่มั่นคงโดยการเก็บอีเมลจากหน้าเว็บ
- ลองใช้โฆษณาออนไลน์
- โฆษณาบน Google อ้างอิงตามคำค้นหาหลัก (Keyword)
- โฆษณาบน Facebook อ้างอิงตามกลุ่มเป้าหมาย
- เลือกวลีหรือรูปภาพให้เหมาะสมในการโพสภาพหรือส่งเมล
- ในการโพสข้อความบน Facebook ให้สั้น และกระชับ Facebook ให้ความสำคัญกับวิดีโอในการโพสมากที่สุด รองลงมาคือ ภาพ ข้อความ และลิงค์
- ในการส่งเมลนั้นควรใช้ตัวอักษรมากกว่าภาพ ถ้ามีภาพเยอะ มีแนวโน้มว่า Spam Filter จะมองว่าเมลนั้นเป็น Spam และอีกเหตุผลคืออีเมลมักจะถูกเปิดในอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากคอมพิวเตอร์ด้วย การทำอีเมลออกมาจึงควรเน้นตัวอักษรเพื่อให้อุปกรณ์อื่นๆเปิดแล้วอ่านได้ด้วย ดังนั้นลิงค์ที่จะเปิดต่อต่อควรมีไม่เยอะมากและควรลงรายละเอียดการติดต่อไว้ในเมลด้วย
- สร้าง Fanpage และ E-Mail ให้มีบุคคลิกเป็นของตนเอง
- คำนวนจังหวะในการโพสให้ถูกเวลา เช่นโพสสินค้าให้ถูกกลุ่มเป้าหมายต้องเวลาใด ส่งเมลถูกกลุ่มเป้าหมายแค่ไหน
- อย่าปล่อยให้ลูกค้าไร้การเหลียวแล มีการตอบโต้กับลูกค้าในเชิงสร้างสรรค์ ถ้ามีลูกค้าเหวี่ยงมาต้องตอบกลับให้ดีที่สุดเพื่อเป็นการสร้างภาพให้คนอื่นเห็นว่า แม้ว่าลูกค้าจะเหวี่ยงแค่ไหน เราก็ยังยิ้มได้
- อย่าฉวยโอกาสโพสในเวลาที่ไม่เหมาะสมเช่นโพสขายของตอนแผ่นดินไหว อาจทำให้เกิดภาพลบต่อผู้ซื้อได้ (เหมือนกรณีศึกษาที่ KFC ขายของตอนสึนามิจนโดนวิจารณ์ไปทั่วโลก)
- ผสมผสานระหว่าง Facebook และ E-mail โดยการดึงลูกค้าที่อ่านเมลเข้าสู่ Facebook
วิเคราะห์เทรนการเติบโตของการตลาดออนไลน์
การเติบโตของธุรกิจ E-Commerce แปรผันไปตามอัตราการเติบโตของระบบอินเตอร์เน็ต ยิ่งผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตพัฒนาให้เข้าถึงได้มากเท่าไหร่ อัตราการเติบโตของตลาดออนไลน์ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
ในด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน ขณะนี้มีตัวกลางที่เป็นช่องทางการชำระเงินออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นการชำระผ่านบัตรเครดิต หรือผู้ให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะอย่าสง Paypal, Counter Service
กฏหมายในปัจจุบันก็ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในการดำเนินการต่างบนอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เมื่อมีการฉ้อโกงก็สามารถเอาผิดได้ไม่ต่างจากการซื้อขายปกติ
ตัวอย่างเว็บที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered
เมื่อเว็บได้รับเครื่องหมาย DBD Registered แล้ว เราจะได้รับโค้ดสำหรับมาติดตั้งเพื่อแสดงผลในเว็บไซต์ของเรา ซึ่งของทางไทยแวร์จะติดไว้ที่ด้านล่างของเว็บไซต์ แบบนี้ครับ
ตัวอย่างเว็บที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Verified ระดับ Platinum
โดยเครื่องหมาย DBD Registered ที่เราเห็นข้างต้นมันก็คือ อดีตของเว็บไซต์ไทยแวร์ เพราะตอนนี้ เราได้ยกระดับไปแล้ว ซึ่งตัวอย่างเครื่องหมายที่ติดอยู่ใยเว็บไซต์ไทยแวร์ปัจจุบันตอนนี้ ก็คือตามภาพด้านล่างครับ
แต่ทั้งนี้ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจจะแค่เอารูปมาแปะไว้เพื่อหลอกลวงก็ได้ แต่เราสามารถตรวจสอบได้ครับ ถ้าเป็นของจริง เมื่อเราคลิกที่รูปจะต้องแสดงรายละเอียดขึ้นมาแบบนี้
*สังเกตว่า URL ต้องมาจาก https://www.dbd.go.th
ที่มา : www.dbd.go.th , www.trustmarkthai.com