โทรศัพท์อัจฉริยะ หรือ สมาร์ทโฟน (Smartphone) นั้นเป็นอุปกรณ์ที่หากเราใช้งานมันอย่างทะนุถนอม มันก็จะอยู่กับเราได้นานหลายปีนะ อย่างไรก็ตาม การที่มันจะใช้ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะใช้มัน (เป็นเครื่องหลัก) ไปเรื่อยๆ จนกว่าสมาร์ทโฟนเครื่องนั้นจะเจ๊งนะ ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับเหตุผลด้านฟีเจอร์ อย่างหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น ความเร็วในการเปิดแอปพลิเคชัน ฯลฯ แต่ที่เราแนะนำว่าควรเปลี่ยนก็เป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย
สมาร์ทโฟน Android เองก็มีช่วงเวลาที่รองรับการอัปเดตของมันอยู่ส่วนใหญ่ ก็ 1-3 ปี แล้วแต่รุ่น หลังจากเลยช่วงที่ได้รับการสนับสนุนไปแล้ว นั่นหมายความว่าเมื่อมีการค้นพบช่องโหว่อันตรายใดๆ ก็ตาม สมาร์ทโฟนที่คุณใช้ก็จะไม่ได้รับการแก้ไขซอฟต์แวร์เพื่ออุดรูรั่ว ซึ่งทุกวันนี้ สมาร์ทโฟนไม่ได้มีไว้แค่เรื่องการติดต่อสื่อสาร แต่เรายังใช้มันทำงาน ทำธุรกรรมทางการเงินอีกด้วย สำหรับใครที่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย ลองพิจารณาเหตุผลเหล่านี้ดูครับ
ภาพจาก https://pixabay.com/images/id-1869510/
สมาร์ทโฟนไม่ต่างอะไรจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งแฮกเกอร์ก็พยายามหาทางเจาะระบบอยู่ตลอดเวลา เพื่อใช้โจรกรรมข้อมูลในสมาร์ทโฟนไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์อยู่ ในขณะเดียวกันทีมรักษาความปลอดภัยก็พยายามตรวจหาช่องโหว่ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอด้วยเช่นกัน เมื่อแฮกเกอร์พบช่องโหว่ ทีมผู้พัฒนาก็จะต้องรีบเร่งหาทางปิดช่องโหว่นั้นผ่านแพทช์รักษาความปลอดภัย วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เหมือนเกมแมววิ่งไล่จับหนู
หากสังเกตดีๆ สมาร์ทโฟนแบรนด์ที่มีมาตรฐานหน่อย จะมีการอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้สมาร์ทโฟนเป็นประจำทุกเดือน เราอาจจะรู้สึกว่า ไม่เห็นจะช่วยให้สมาร์ทโฟนมีลูกเล่นเพิ่มขึ้นเลย แต่ความจริงช่องโหว่ที่คุณไม่รู้ว่ามีอยู่ได้ถูกปิดลงไปแล้วยังไงล่ะ
ภาพจาก https://flic.kr/p/2iG4KQk
ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่มักจะมีการออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ อยู่เป็นประจำ ปีหนึ่งก็หลายรุ่น ซึ่งในการอัปเดตแต่ละครั้ง ไฟล์แพทช์ก็จะต้องมีการปรับแต่งให้กับสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นด้วย ปกติแล้วอายุการอัปเดตก็จะมีช่วงเวลาสนับสนุนอยู่ที่ 1-3 ปี นั่นทำให้ปริมาณเฟิร์มแวร์ที่ต้องทำมีจำนวนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
จุดนี้ต้องยอมรับว่าหากเทียบกับ Apple แล้ว ค่ายผลไม้ทำได้ดีกว่า อย่างซอฟต์แวร์ตัวล่าสุดอย่าง iOS 13 อุปกรณ์ที่ออกเมื่อปี 2015 อย่าง iPhone 6s, iPhone 6s Plus และ iPhone SE (2015) ก็ยังได้รับการอัปเดตแพทช์อยู่ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ ค่าย Apple มีอุปกรณ์ที่เปิดตัวในแต่ละปีน้อยมาก ทำให้การควบคุมเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า
จนถึงจุดหนึ่ง ผู้ผลิตก็จะตัดสินใจเลิกอัปเดตให้ แน่นอนว่าพวกสมาร์ทโฟนรุ่นแพงๆ ก็มักจะได้รับการอัปเดตเป็นเวลายาวนานหน่อย แต่รุ่นล่าง-กลาง ก็จะมักจะมีอายุสั้นกว่านั้น
สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยแล้ว การใช้อุปกรณ์ที่ไม่มีการอัปเดตแพทช์ด้านความปลอดภัยไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการใช้งานที่มีความปลอดภัย เนื่องจากช่องโหว่อันตรายที่ถูกประกาศออกมาสู่สาธารณะนั้น มักมีการอัปเดตเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน
เมื่อผู้ผลิตไม่อัปเดตแพทช์รักษาความปลอดภัยให้ ช่องโหว่ใหม่ที่ถูกค้นพบ ก็จะไม่ได้รับการปิด ถูกปล่อยเอาไว้แบบนั้น ผู้ที่ยังใช้อุปกรณ์ที่มีช่องโหว่อยู่ ย่อมตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีของเหล่าแฮกเกอร์
ช่องโหว่ที่อันตราย สามารถใช้ในการเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ของคุณได้ทั้งหมดทุกอย่าง ตั้งแต่รายชื่อผู้ติดต่อ, ไฟล์ในเครื่อง, หมายเลขบัตรเครดิต, ข้อมูลบัญชีธนาคาร หรือแม้แต่การดักฟังเสียง หรือแอบบันทึกภาพผ่านกล้องของสมาร์ทโฟน เพื่อส่งกลับไปยังเซิร์ฟเวอร์ของแฮกเกอร์ ซึ่งช่องโหว่เหล่านี้จะอยู่กับอุปกรณ์ของคุณตลอดไปจนกว่าคุณจะเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่
เอาจริงๆ การตรวจสอบว่าสมาร์ทโฟนของเราจะได้รับการอัปเดตไปจนถึงเวลาไหน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลึกลับ เพราะผู้ผลิตไม่ค่อยออกมาประกาศหรอก ส่วนใหญ่ก็จะเงียบหายไปเอง แต่มันก็พอจะตรวจสอบด้วยตัวเองได้อยู่นะ
โดยการไปที่การตั้งค่า และเช็คที่เมนูซอฟต์แวร์อัปเดต โดยส่วนใหญ่แล้วระบบจะบอกให้เรารู้ว่าเรามีการอัปเดตครั้งล่าสุดวันไหน ถ้าอุปกรณ์บอกว่าซอฟต์แวร์ที่คุณใช้อยู่เป็นเวอร์ชันล่าสุดแล้ว แต่มันถูกติดตั้งเมื่อหลายเดือน หรือหลายปีก่อน ก็แย่หน่อย มีความเป็นไปได้สูงว่า อุปกรณ์ของคุณได้ถูกแจกแพ้ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ภาพจาก https://pixabay.com/images/id-186418/
Samsung เป็นหนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทโฟน Android รายใหญ่ และถึงแม้จะไม่มีการประชาสัมพันธ์มากนักในเรื่องของการอัปเดตแพทช์ด้านความปลอดภัย แต่เขาก็มีหน้าเว็บระบุรายละเอียดรุ่นที่ยังได้รับการสนับสนุนให้เข้าไปดูได้นะ
โดยหลังจากที่เราเปิดเว็บไซต์ (ตามลิงก์ในกรอบด้านล่าง) เข้าเพื่อสังเกตดูว่ารุ่นใหม่ๆ จะเห็นว่า มันได้รับการอัปเดตเป็นประจำทุกเดือน รุ่นเก่าหน่อยก็ทุกไตรมาส ไปจนถึงไม่ระบุว่าจะอัปเดตให้ตอนไหน
ตรวจสอบการอัปเดตผ่านเว็บไซต์
https://security.samsungmobile.com/workScope.smsb
ภาพจาก https://security.samsungmobile.com/workScope.smsb
ตรวจสอบการอัปเดตผ่านเว็บไซต์
https://consumer.huawei.com/th/support/bulletin/
ภาพจาก https://consumer.huawei.com/th/support/bulletin/
ตรวจสอบการอัปเดตผ่านเว็บไซต์
https://www.nokia.com/phones/en_int/security-updates
ภาพจาก https://www.nokia.com/phones/en_int/security-updates
Pixel สมาร์ทโฟนจาก Google อาจจะไม่นิยมในไทยมากนัก แต่ถ้าคุณใช้อยู่ล่ะก็ สามารถตรวจสอบการอัปเดตได้ที่
ตรวจสอบการอัปเดตผ่านเว็บไซต์
https://support.google.com/pixelphone/answer/4457705#when_updates
ภาพจาก https://support.google.com/pixelphone/answer/4457705#when_updates
ด้วยการใช้เงินแก้ปัญหา การซื้อเครื่องใหม่เป็นหนทางที่ง่ายที่สุด แต่หากยังอยากใช้ต่อจริงๆ การต่ออายุด้วยการใช้ Custom ROM ก็เป็นทางแก้ปัญหาที่ดีนะ เพราะนอกจากจะได้รับการอัปเดตด้านความปลอดภัยแล้ว ก็ยังจะได้รับการอัปเดตความสามารถของ Android เวอร์ชันใหม่ๆ ให้กับสมาร์ทโฟนเครื่องเก่าของเราด้วย อย่าง HTC One M8 รุ่นในตำนาน ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2014 ก็ยังสามารถใช้ Custom ROM เพื่ออัปเดตเป็น Android 10 ได้เลย
ที่เป็นที่นิยมก็อย่างเช่น LineageOS และ Pixel Experience ที่เราแนะนำสองค่ายนี้ ก็เพราะรองรับการใช้งานกับสมาร์ทโฟนหลายยี่ห้อ และทีมนักพัฒนาก็มีความขยันอัปเดตให้เป็นประจำเสียด้วย
ส่วนขั้นตอนการติดตั้ง อาจจะมีความยากสำหรับผู้ไม่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีหน่อยนะ ก็ลองไปศึกษาขั้นตอนจากอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมดู มีคนสอนอยู่เยอะแยะ ทำตามไม่ยากหรอก
ภาพจาก https://youtu.be/TdEpE4jI_Uc
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |