การโทรเข้า - โทรออก, รับ - ส่งอีเมล, ถ่ายรูป, สร้างการแจ้งเตือน, จ่ายบิลต่าง ๆ, หรือแม้แต่การเช็คยอดเงินคงเหลือในธนาคาร ปัจจุบัน เราสามารถทำทุกอย่างได้ทั้งหมดที่ว่ามาด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว ทำให้โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน (Smartphone) กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกคนต้องมีใช้กัน
แล้วถ้ามีโอกาสที่ อาชญากรไซเบอร์ (Black Hat Hackers) จะเข้าถึงมือถือของคุณได้ล่ะ ? คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าโทรศัพท์มือถือของคุณถูกแฮก (Hack) ไปแล้วเรียบร้อย ? สิ่งที่เราจะบอกต่อไปนี้คือสัญญาณที่มีนัยยะสำคัญบ่งชี้ได้ว่า โทรศัพท์ iPhone หรือ Android ของคุณอาจถูกแฮกแล้ว และถ้าถูกแฮกไปแล้ว ควรทำอย่างไรต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน ระบบปฏิบัติการ (Operating System) ไหน จะ iPhone หรือ Android ก็สามารถมีโอกาสถูกแฮกได้ทั้งสิ้น โดยข้อมูลที่อยู่ในเครื่องมือถือของคุณ คือสิ่งล้ำค่าที่มิจฉาชีพมองหา บางครั้งแม้แต่คนใกล้ตัวหรือคนรู้จักของคุณ อาจเป็นคนแฮกเสียเองก็ได้ ส่วนเหตุผลที่ทำการแฮกก็จะแตกต่างกันไปตามแรงจูงใจที่มี ซึ่งส่วนใหญ่จะแฮกเพื่อเข้าถึง ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) และรูปถ่ายต่าง ๆ ของคุณ ข้อความที่มีการส่งเข้าออก ขโมยเงินผ่านแอปธนาคาร ฯลฯ
หากคุณยังไม่ถูกแฮกในตอนที่อาจบทความนี้ จะเป็นการดีหากคุณเริ่มลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าเกิดมือถือของคุณถูกแฮกขึ้นมาวันใดวันหนึ่ง ข้อมูลที่น่าจะถูกขโมยไปมากที่สุดจะเป็นอะไร คนรอบตัวของคุณ มีใครที่จะมีแนวโน้มเป็นแฮกเกอร์เพื่อขโมยของคุณได้บ้าง
หากความรู้สึกมันฟ้องว่ามือถือของเราน่าจะถูกแฮกไปแล้ว ความรู้สึกของคุณอาจถูกต้องแล้วก็ได้ เพราะการแฮกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ภายในเสี้ยววินาทีเมื่อคุณทำการดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน (Application) ที่มี มัลแวร์ (Malware) แฝงอยู่มาติดตั้งลงในสมาร์ทโฟน หรือใช้เครือข่าย Wi-Fi สาธารณะที่ไม่มีการรักษาความปลอดภัยเพียงพอ ดังนั้น ลองมาสังเกต 5 สัญญาณเบื้องต้นเหล่านี้ดู ว่ามือถือของคุณมีอาการบ้างหรือเปล่า ?
การใช้ข้อมูล (Data) เพิ่มขึ้นมีหลายสาเหตุหลายที่มา ไม่ได้จำกัดว่าต้องเกิดจากการถูกแฮกเสมอไป เช่น เดือนนั้นคุณอาจจะดูหนังคุณภาพสูงบน แอป Netflix มากเป็นพิเศษ, ทำการอัปโหลดรูปความละเอียดสูงขึ้น คลาวด์ (Cloud) จำนวนมาก, อนุญาตให้มือถือทำการอัปเดตแอปฯ อัตโนมัติโดยใช้ข้อมูลเครือข่าย เป็นต้น
แต่ถ้าหากคุณสำรวจกิจกรรมที่ผ่านมากับมือถือในครอบครองของตัวเองแล้วค้นพบว่า พฤติกรรมการใช้งานก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แต่การใช้งานข้อมูลกลับพุ่งสูงผิดปกติ ก็เป็นไปได้แล้วว่ามือถือของคุณอาจถูกแฮก
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/phone-hacked-what-to-do-next/
หากมีแอปฯ ไหนที่คุณไม่คุ้นเคย ใช้งานข้อมูลสูงผิดปกติ เป็นไปได้ว่าแอปฯ นั้นคือตัวการ ถ้าหากคุณเจอแอปฯ ที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวให้จัดการถอนการติดตั้งทิ้งเสีย แต่ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ กลับมาเช็คอย่างสม่ำเสมอว่าไม่มีแอปฯ ไหนใช้ข้อมูลมือถือเกินกว่าเหตุขึ้นมาอีก
สมาร์ทโฟนมักจะเริ่มทำงานผิดปกติเมื่อติด ไวรัส (Virus) หากคุณใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นประจำทุกวันก็จะสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ง่ายกว่า ซึ่งหลายคนละเลยสัญญาณเหล่านั้นเพราะคิดว่ามันแค่ช้าลงเพราะ ฮาร์ดแวร์ (Hardware) เสื่อมไปตามกาลเวลา
ยกตัวอย่าง เช่น โทรศัพท์ทำการเปิดแอปฯ โดยอัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย, ทำงานช้ามาก, หรือรีสตาร์ทโดยไม่มีเหตุผล หากคุณพบเห็นอาการเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่จะมีมัลแวร์ทำงานอยู่เบื้องหลังแล้วล่ะ
ประสิทธิภาพของโทรศัพท์ที่ไม่ดีอาจเกิดจากการใช้ระบบปฏิบัติการที่ไม่ได้อัปเดต (Update) เป็นเวอร์ชันล่าสุด, โทรศัพท์รุ่นเก่า หรืออาจจะเป็นเพียงแค่ การที่คุณเพิ่มภาระให้กับหน่วยประมวลผล (Processor) โดยการเรียกใช้แอปฯ และไฟล์ที่ไม่จำเป็นก็ได้
อย่างไรก็ตาม หากโทรศัพท์ของคุณไม่ได้มีสักข้อที่กล่าวมา แต่ยังใช้เวลานานในการโหลดแอปฯ, มักมีความร้อนสูงเกินไป, หรือแบตเตอรี่หมดเร็วผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าสมาร์ทโฟนของคุณถูกบุกรุกจากอาชญากรไซเบอร์แล้วเรียบร้อย
ให้แตะที่ "ไอคอน Settings" แล้วแตะที่ "เมนู Battery"
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/phone-hacked-what-to-do-next/
ให้แตะที่ "ไอคอน Settings" แล้วไปที่ "เมนู Battery and device care → Battery → เมนู View details"
คอยดูใบแจ้งยอดบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของคุณอย่างใกล้ชิดเสมอ หากพบเห็นการซื้อแปลก ๆ ที่คุณไม่ได้ทำรายการเอง แสดงว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าไม่ใช่ว่ามือถือถูกแฮก ก็มีใครสักคนที่เข้าถึงบัตรเครดิตคุณได้โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว
หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น อย่างแรกที่ต้องทำคือจัดการถามญาติหรือคนในครอบครัวเลยว่า มีใครใช้บัตรเครดิตของเราไปซื้อของอะไรหรือเปล่า ถ้าการใช้บัตรไม่ได้เกิดจากคนใกล้เคียงที่สามารถติดตามถามไถ่ได้แล้วล่ะก็ บัตรเครดิตของคุณกำลังมีปัญหาแล้วแน่นอน
เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับคุณในอนาคต ให้ตรวจสอบเว็บไซต์ที่จะทำธุรกรรมด้วยอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อและใส่รายละเอียดบัตรเครดิตของเราลงไป รวมถึงการตรวจสอบ ใบรับรอง SSL โดยตรวจสอบว่าเว็บไซต์นั้น ๆ จะนำไปยัง URL ที่ขึ้นต้นด้วย "HTTPS" หรือไม่ (ถ้าเป็น http เฉย ๆ แปลว่ามันไม่ได้ถูกเข้ารหัสเอาไว้นะ)
เครดิตภาพ : https://www.ning.com/blog/2017/10/switch-site-https.html
โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ดูน่าสงสัย อย่างเช่น เว็บที่มีป๊อบอัปหรือโฆษณาเด้งขึ้นมาจำนวนมากเวลาที่คุณเข้าเยี่ยมชม อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลการเงินใด ๆ ลงไปในระหว่างใช้งานเว็บไซต์นั้นโดยเด็ดขาด
ช่วงนี้ มือถือของคุณได้รับข้อความแปลก ๆ จากเบอร์ที่ไม่รู้จักบ้างหรือเปล่า ? หากคุณได้รับข้อความแปลก ๆ ถี่ ๆ มากเป็นพิเศษ เป็นไปได้ว่ามือถืออาจถูกแฮก เพราะความเคลื่อนไหวใด ๆ ก็ตามที่คุณไม่คุ้นเคย มักมาจากบุคคลที่สามที่ไม่พึงประสงค์
หากมือถือของคุณมีปัญหาในข้อนี้ ให้มองหาแอปที่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อความจากแอปที่น่าสงสัยมากที่สุดก่อน จากนั้นให้จัดการตัดสิทธิ์การเข้าถึงแล้วลบแอปทิ้งเสีย
ให้แตะที่ "ไอคอน Settings" แล้วไปที่ "เมนู Privacy"
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/phone-hacked-what-to-do-next/
ให้แตะที่ "ไอคอน Settings" แล้วไปที่ "เมนู Privacy → Permission Manager"
หากคุณคิดว่ามีมัลแวร์กำลังแฝงอยู่ในเครื่องมือถือจริง ๆ แล้วล่ะก็ สิ่งที่คุณต้องทำในตอนนี้ก็คือ หาวิธีการเอาแฮกเกอร์ออกจากสมาร์ทโฟนของคุณออกให้ไว สิ่งแรกที่ต้องทำคือจัดการมองหาแอปที่คุณจำไม่ได้ว่าเคยดาวน์โหลดมันมาก่อน แล้วจัดการลบการติดตั้งออกไป
ให้แตะที่ "ไอคอน Settings" แล้วเลื่อนลงมาจนกว่าจะเริ่มเห็นรายชื่อแอปในเครื่อง จากนั้นให้ไล่เช็คดูว่ามีแอปไหนที่คุณรู้สึกไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยใช้งานมาก่อนหรือไม่ โดยให้เลื่อนลงมาจนถึงด้านล่างสุด เผื่อในกรณีที่มีแอปซ่อนอยู่ในโฟลเดอร์อื่นด้วย
ให้แตะที่ "ไอคอน Settings" แล้วไปที่ "เมนู Apps → App Manager" ตรวจสอบชื่อแอปแต่ละแอปฯ อย่างระมัดระวัง หากเจอแอปต้องสงสัยที่คุณคิดว่าคุณไม่ได้ทำการติดตั้งเอง ให้แตะที่แอปฯ นั้น ๆ แล้วเลือก "เมนู Uninstall"
นอกจากการตรวจสอบแอปแปลกปลอมที่อยู่ในเครื่องเราแล้ว การติดตั้ง แอปพลิเคชันแอนตี้ไวรัส (Antivirus App) ในมือถือ ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน ซึ่งในระบบปฏิบัติการ Android มีแอปทางเลือกให้ติดตั้งมากมาย บางแอปฯ ก็สามารถสแกนแอปฯ อื่น ๆ เพื่อค้นหามัลแวร์ที่แฝงอยู่, ช่วยกรองเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย, ตรวจสอบลิงก์ปลอม, ตรวจสอบความปลอดภัยของ Wi-Fi ที่เข้าใช้งานได้ เป็นต้น
ถึงแม้ Apple จะมีระบบความปลอดภัยใน iOS ที่แข็งแรงกว่า แต่เราก็อยากแนะนำให้คุณหามาตรการความปลอดภัยอื่น ๆ มาเสริมไว้เพื่อความอุ่นใจด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่า ถ้าคุณทำการเจลเบรค (Jailbreak) iPhone ไว้ล่ะก็ ความเสี่ยงในการถูกแฮกย่อมสูงกว่าคนที่ไม่ได้เจลเบรคเครื่องแน่นอน เพราะการเจลเบรคเครื่อง มีการปิดกั้นการทำงานของระบบบางส่วนให้ทำงานเปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงฟีเจอร์อื่น ๆ ที่ Apple ไม่อนุญาตได้
อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจที่คุณสามารถลองทำได้ ก็คือการรีเซ็ตค่าจากโรงงาน ซึ่งถ้าหากคุณเลือกวิธีนี้ล่ะก็ อย่าลืมทำการแบคอัปข้อมูลก่อนการรีเซ็ต เพราะวิธีนี้ เทียบเท่ากับการล้างเครื่องใหม่หมด เท่ากับว่ารายชื่อผู้ติดต่อ, รูป, แอป, และไฟล์อื่น ๆ จะถูกลบหายไปหมดด้วยนะ
หากคุณเลือกที่จะรีสโตร์เครื่องจากไฟล์แบคอัปที่ได้สำรองข้อมูลไว้ ต้องมั่นใจด้วยว่า ไฟล์แบคอัปนั้น ถูกสำรองไว้ก่อนหน้าที่เครื่องมือถือของคุณจะมีอาการผิดปกติ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว จะกลับกลายเป็นว่า ตัวคุณเองนั่นแหละ ที่เอามัลแวร์ตัวเดิมมาลงเครื่องใหม่อีกรอบ ทำให้ปัญหาเดิม ๆ กลับมาวนลูปอีกครั้ง
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/phone-hacked-what-to-do-next/
|
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน |