เมื่อเราต้องการจะซื้อจอคอมพิวเตอร์ นอกจากสเปกพื้นฐานอย่างขนาดที่ต้องการ การแสดงเฉดสีที่แม่นยำ หรือแม้แต่ เฟรมเรทสูงหากว่าคุณเป็นนักเล่นเกม ชนิดของพาเนลก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน สามารถกล่าวได้เลยว่าพาเนลแต่ละชนิดมีคาแรคเตอร์ของตัวมันเอง สเปกอื่นๆ ของจอก็จะอิงตามชนิดที่จอตัวนั้นใช้ ดังนั้น เรามารู้จักพาเนลจอแต่ละชนิดกันให้มากขึ้นกันดีกว่า
ซึ่งปัจจุบันจอคอมพิวเตอร์ที่นิยมก็จะมีพาเนลอยู่ 3 ชนิด คือ TN, IPS และ VA แต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกันอย่างไร มาหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย 😎
อย่างที่เรากล่าวไว้ในทีแรก ในการเลือกซื้อมอนิเตอร์ เราจะจะต้องเผชิญกับ 3 ตัวเลือก คือ
ชื่อของพาเนลแต่ละแบบนี้ มีที่มาจากวิธีการเรียงตัวของโมเลกุลที่อยู่ในหน้าจอแบบ LCD (Liquid Crystal Display) และรูปแบบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับสัญญาณไฟฟ้า จอ LCD จะทำงานโดยการเปลี่ยนวิถีการเรียงของโมเลกุล ซึ่งลักษณะการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อภาพ และความเร็วในการตอบสนองนั่นเอง
พาเนลแต่ละแบบก็จะมีข้อได้เปรียบ ข้อเสียเปรียบที่แตกต่างกัน วิธีการเลือกที่ง่ายที่สุด คือ พิจารณาว่าความต้องการไหนคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณ และอีกสิ่งที่สำคัญ (น่าจะสำคัญที่สุดด้วย) นั่นก็คือ งบประมาณที่มี
พาเนล TN เป็นหน้าจอแบบแบนรุ่นแรกที่มีการผลิตอย่างแพร่หลาย จนทำให้จอ CRTs หรือที่บ้านเรานิยมเรียกกันว่าจอตู้เสื่อมความนิยมจนในที่สุดก็หายไปจากท้องตลาด ซึ่งพาเนลแบบ TN ก็ยังคงมีการผลิตใช้งานในจอคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ อย่างแพร่หลาย (ด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม)
บรรยายมาเหมือนพาเนลแบบ TN จะมีแต่ข้อเสีย แต่ทำไมทุกวันนี้มันก็ยังนิยมใช้งานกันอยู่ เรื่องนี้ก็มีเหตุผลอยู่นะ
ประการแรกเลย หน้าจอที่ใช้พาเนลแบบ TN มีราคาที่ถูกกว่าพาเนลชนิดอื่นมาก เพราะต้นทุนการผลิตต่ำกว่า หากไม่ได้ซีเรียสเรื่องความกว้างของมุมมองหน้าจอ และสีจอที่ตรงเป๊ะ มันก็ตอบโจทย์การใช้งานได้สบาย อยู่นะ
ข้อดีอีกอย่างที่สำคัญ คือ พาเนล TN มีค่า Input Lag ที่จัดว่าต่ำมากๆ อยู่ที่ประมาณ 1ms เท่านั้น ทำค่ารีเฟรชเรทถึง 240 Hz ได้แบบไม่ยากเย็นนัก ทำให้มันเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก สำหรับผู้ที่เป็นจริงจังเกมเมอร์ โดยเฉพาะนักกีฬา eSports ที่ทุกเสี้ยววินาทีมีความสำคัญ
หากความต้องการค่ารีเฟรชเรทของคุณสำคัญกว่าเรื่องสี และมุมมองล่ะก็ พาเนล TN นี่แหละ คือคำตอบที่คุณต้องการ
อย่างไรก็ตาม แม้พาเนล TN ในยุคนี้จะดีกว่าสมัยก่อนมาก แต่มันก็ยังมีข้อเสียที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่เหมือนเดิม อย่างแรก คือ มุมมองของหน้าจอที่แคบกว่าพาเนลชนิดอื่นๆ โดยสีจะเพี้ยนมาก ยิ่งหากเรามองมันจากองศาที่เอียงมากๆ
ภาพจาก https://yogit.ro/wp-content/uploads/TFT-vs-TFT-IPS.jpg
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ความแม่นยำของสีที่สามารถทำได้ หน้าจอที่ใช้พาเนล TN ส่วนใหญ่จะไม่สามารถแสดงสีแบบ 24-บิต True Color ซึ่งจอ TN ส่วนใหญ่จะแก้ไขด้วยการใช้เทคนิคจำลองเฉดสีแทน แต่วิธีนี้ก็มีข้อเสียตรงที่เฉดสีที่มองเห็น และ Contrast Ratios ต่ำ หากเทียบกับพาเนล IPS และพาเนล VA
Contrast Ratios คือ ค่าสีดำที่ดำที่สุดเทียบ กับสีขาวที่ขาวที่สุดที่หน้าจอทำได้ หากจอมีค่า Contrast ratios สูง จะทำให้แสดงภาพได้คมชัด สีดำ คือ ดำสนิท สีขาวขาวจริง ไม่ใช่จ้าด้วยแสงจากไฟ Backlight
Color gamut (ขอบเขตของเฉดสีที่หน้าจอสามารถทำได้) ก็เป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของพาเนล TN มีเพียงหน้าจอ TN แบบเทพๆ เท่านั้น ที่สามารถแสดงเฉดสีได้กว้างครอบคลุมทั้ง sRGB ได้ ด้วยเหตุผลนี้ทำให้หน้าจอที่ใช้พาเนลแบบ TN นี้ ไม่เหมาะสมกับการใช้งานด้านกราฟิก ทั้งการแต่งภาพ เกรดสี หรือซอฟต์แวร์ใดๆ ก็ตามที่ต้องการความแม่นยำของค่าสีในการทำงาน
เทคโนโลยีพาเนล IPS ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของพาเนลแบบ TN ทั้งด้านการแสดงค่าสี และมุมมองที่จำกัด ทำให้ พาเนล IPS มีความสามารถในทั้งสองด้านนี้ดีกว่าพาเนล TN อย่างชัดเจน
พาเนล IPS มีมุมมองกว้างกว่าพาเนล TN มาก ไม่ว่าเราจะมองหน้าจอนี้จากตำแหน่งมุมมองไหนก็ตาม เราก็จะยังเห็นค่าสีที่ถูกต้องอยู่ หรือเพี้ยนน้อยกว่ามาก นอกจากนี้ การแสดงสีดำของพาเนล IPS ก็ทำได้ดีกว่าเช่นกัน โดยจะทำได้ "มืด" กว่าหากเทียบกับพาเนล TN อย่างไรก็ตาม พาเนล IPS ก็ยังแพ้พาเนล VA ในเรื่องนี้อยู่นะ
ภาพจาก https://gamerspective.net/ips-vs-tn-vs-va-which-is-the-best-panel-technology-for-gaming-monitors/
ในส่วนของรีเฟรชเรทที่เป็นจุดแข็งของหน้าจอ TN ในปัจจุบันนี้ หน้าจอ IPS ก็ลดระยะห่างเข้ามาได้แล้ว หลังจากมีการพัฒนา Nano IPS ขึ้นมา ทำให้จอพาเนล IPS ในสมัยนี้สามารถทำรีเฟรชเรทได้ถึง 280Hz แล้ว
หากสเปกเรื่องขนาด และรีเฟรชเรทเท่ากันแล้ว ราคาจอที่ใช้พาเนล IPS จะยังมีราคาสูงกว่า TN อยู่ในระดับหนึ่ง แม้จะมีแแนวโน้มราคาที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ แต่ TN ก็กดราคาตัวเองต่ำกว่าเดิมด้วยเช่นกัน ทำให้หน้าจอ IPS ส่วนใหญ่ก็จะมีราคาสูงกว่าหน้าจอแบบ TN อยู่ดี
ข้อเสียอีกอย่างของพาเนล IPS คือ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "IPS glow" โดยเป็นอาการที่เราจะเห็นแสง Backlight สว่างมากกว่าปกติ โดยจะเห็นชัดมากขึ้นเวลาที่เรามองจากมุมมองที่ต่างจากปกติมากๆ มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่มากนัก นอกเสียจากเราจะมองหน้าจอจากด้านข้างเป็นประจำ แต่ก็ควรรู้ไว้ว่ามันมีปัญหานี้อยู่
ภาพจาก https://www.limscave.com/reduce-ips-glow
พาเนล VA เป็นอะไรที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง TN กับ IPS และเป็นพาเนลที่มีค่า Contrast ratios สูงที่สุดด้วย (นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตโทรทัศน์ส่วนใหญ่มักใช้พาเนลชนิดนี้ทำหน้าจอโทรทัศน์) โดย
หน้าจอ IPS จะมีค่า Contrast ratios อยู่ที่ประมาณ 1000:1 แต่สำหรับพาเนล VA แล้ว ไม่แปลกถ้าเราจะเจอระดับ 3000:1 หรือ 6000:1
ในส่วนของมุมมองของพาเนล VA ก็ไม่ได้กว้างเท่ากับพาเนล IPS ค่าสีก็มีความเพี้ยนไปตามมุมมองด้วยเช่นกัน แต่ว่า พาเนล VA ก็มีข้อดีตรงที่ไม่มีปัญหา IPS glow
ในส่วนของสี พาเนล VA ก็สามารถแสดงเฉดสี sRGB ได้อย่างสมบูรณ์แบบ หากยอมจ่าย "แพง" ขึ้นมาอีกนิด พาเนล SVA ของ Samsung สามารถทำ sRGB 125% เลยทีเดียว
หากเทียบกับพาเนล TN และ Nano IPS แล้ว หน้าจอ VA จะมีอัตรารีเฟรชเรทสูงสุดที่ 240Hz แต่ว่าอัตราการตอบสนองของ VA จะสูงกว่าชนิดอื่น แม้จะมีคำโฆษณาว่าทำ Latency ได้ 1ms แต่นั่นเป็นการวัดแบบ MPRT ไม่ใช่ GtG
GtG (Grey-To-Grey) หมายถึง ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงของพิกเซล
MRPT (Moving Picture Response Time) หมายถึง ความเร็วในการตอบสนองภาพ
ดังนั้น พาเนลแบบ VA จะมีโอกาสเกิดภาพ Ghosting และ Motion blur ได้ง่ายกว่า หากเป็นจริงจังเกมเมอร์ พาเนลแบบ VA ก็อาจทำให้คุณไม่สบอารมณ์ได้
ตัวอย่าง Ghosting
ตัวอย่าง Motion Blur
ภาพจาก https://blurbusters.com/faq/lcd-motion-artifacts/
จะบอกว่าพาเนล VA เหมือนเป็ดก็ได้ ดีทุกอย่าง แต่ก็ไม่ดีที่สุด ทั้งนี้ในการใช้งานทั่วไป หรือไม่ได้เล่นเกมส์ที่มีความเร็วสูง หน้าจอ VA ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากทีเดียว ส่วนตัวผู้เขียนเองใช้งาน หน้าจอทั้ง IPS และ VA สลับไปมาก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไรนะ (แต่สลับไป TN แล้วขัดใจเรื่องสีทันที)
หากเทียบกับหน้าจอยุคก่อนอย่าง CRT แล้ว หน้าจอ LCD ทุกพาเนลจะมีปัญหาเหมือนกันหมด คือ เรื่อง Latency แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีจะดีกว่าสมัยก่อนมาก แต่มันก็ยังมีอยู่แค่น้อยกว่าเดิมเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะในจอแบบ TN, IPS หรือ VA ก็ตาม
ปัญหา Backlight Bleed ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าปวดหัว โดยเฉพาะในหน้าจอรุ่นถูกๆ ที่มีคุณภาพการผลิตไม่ดีนัก มักจะพบกับปัญหานี้อยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยสังเกตเห็น นอกเสียจากว่าจะใช้งานในที่แสงน้อย
ปัญหาสุดท้ายของจอ LCD ที่พบได้ทั้งในหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ มอนิเตอร์ (Monitor) หน้าจอโทรทัศน์ (TV Screen) หน้าจอของสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์พกพา (Smartphone or Mobile Device Screen) หรือแม้แต่จอเครื่องเกมพกพา (Portable Game Player) นั่นก็คือ Dead Pixel หรือ Stuck Pixel นั่นเอง
ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในระหว่างการผลิต ซึ่งโดยมากแล้ว ทางผู้ผลิตจะให้เคลมได้หากมีมากกว่า 3-5 จุดขึ้นไป (แล้วแต่ยี่ห้อ) หรือหากเป็นรุ่นแพงๆ หน่อยก็สามารถเปลี่ยนได้หากมีแค่เพียงจุดเดียว แต่ถ้าเคลมไม่ได้เราก็ต้องทนใช้มันไปทั้งอย่างนั้นแหละ เอาจริงๆ จุด Dead Pixel หรือ จุด Stuck Pixel ก็มองยากอยู่แหละ อาจจะต้องเปิดจอสีดำหมด หรือสีขาวหมด ถึงจะสังเกตเห็น แต่ถ้าเห็นขึ้นมาแล้ว มันก็น่าหงุดหงิดใจพอสมควร
ภาพจาก https://www.quora.com/Do-I-have-a-dead-pixel-on-my-new-laptop
ถึงบรรทัดนี้ คุณน่าจะเข้าใจแล้วว่าแต่ละพาเนลมีลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งอันที่จริงการเลือกพาเนลก็ไม่ต่างจากตรรกะในโลกทุนนิยม จ่ายมากเท่าไหร่ ก็ได้มากเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากต้องการคำแนะนำ เราก็ขอแนะนำดังนี้
การใช้งานกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องใช้หน้าจอเทพมากนัก พาเนลแบบ VA น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ด้วยมุมมองที่กว้างกว่าพาเนล TN กรณีที่เพื่อน หรืออาจารย์ต้องมาตรวจงานที่จอของเรา ก็จะมองได้ชัดเจนกว่ามาก แน่นอนว่าพาเนล IPS ดีกว่าแหละ แต่หากงบประมาณเป็นเรื่องที่คุณให้ความสำคัญ แค่พาเนล VA ก็เหลือเฟือแล้ว
พาเนล IPS ที่มีความสามารถในการแสดงผลเฉดสีได้ครอบคลุม และแม่นยำที่สุด แม้ว่าพาเนล VA จะสามารถแสดงเฉดสี sRGB 125% และ DCI-P3 สูงกว่า 90% แต่มันก็มี Motion blur สูงกว่าเวลาที่เราทำอะไรอย่างรวดเร็ว อันนี้ก็ต้องดูลักษณะการใช้งานประกอบด้วย ถ้าทำแต่ภาพนิ่งอาจจะเลือกแค่พาเนล VA ก็พอ แต่หากงานเกี่ยวกับภาพเคลื่อนไหวด้วย IPS จะตอบโจทย์ได้ดีกว่า
นักพัฒนาส่วนใหญ่มักจะหมุนใช้งานจอในแนวตั้ง เพื่อให้มองเห็นโค้ดได้ละเอียดขึ้น โดยไม่ต้องเลื่อนหน้าต่างขึ้นลง ซึ่งพาเนล TN จะมีปัญหาในการแสดงผลในมุมแปลกๆ เช่นนี้ ดังนั้นหากต้องการใช้หน้าจอในแนวตั้งแล้ว ควรเลือกพาเนล IPS ที่มีมุมมองกว้างมาใช้งานจะสบายตากว่ามาก
สำหรับนักแข่งเกมแล้ว เฟรมเรทคือสิ่งที่สำคัญที่สุด พาเนลแบบ TN จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม แต่หากงบประมาณมีเยอะ พาเนล IPS ในปัจจุบันก็ตอบโจทย์ได้เช่นกัน และดีกว่าด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าเราไม่ได้ใช้มันแค่เล่นเกม แต่ต้องการทำกราฟิก ตัดต่อคลิปลงช่องทางสตรีมต่างๆ
หากเราไม่ใช่นักเล่นเกมที่จริงจังขนาดที่ทุกเฟรมเรทมีความหมาย พาเนล VA เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า IPS และ TN นะ เหตุผลก็คือ มันมีค่า Contrast ratio ที่สูงกว่า ทำให้ภาพดูสวยงาม คมชัด มีมิติมากกว่า ภาพในเกมก็จะดูสวย ดูหนัง ชม YouTube ก็จะให้ประสบการณ์ที่ดีกว่าเยอะ
ทั้งนี้ หากไม่ซีเรียสเรื่อง Contrast ratio มากนัก ก็ไปใช้พาเนล IPS ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำพาเนล TN นะ นอกเสียจากว่าคุณจะแข่งเกมอย่างจริงจัง
สำหรับผู้ที่ใช้หลายอย่าง ทำทุกอย่างด้วยคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว โดยส่วนตัวแล้ว เราให้พาเนล VA เป็นผู้ชนะในตัวเลือกนี้ หรือไม่ก็พาเนล IPS หากเรื่อง Contrast ratio ไม่ใช่สิ่งที่คุณให้ความสำคัญมากนัก
นอกเหนือไปจากสเปกของหน้าจอแล้ว การไปดูของจริงก่อนซื้อเป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกันนะ เพราะดีไซน์ของตัวหน้าจอ, การออกแบบขาตั้ง, ตำแหน่งปุ่มควบคุม, การจัดวางพอร์ตเชื่อมต่อ ฯลฯ พวกนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เราอาจจะถนัดหรือไม่ถนัด แม้แต่ขาตั้งจอก็มีหลายดีไซน์ บางรูปแบบอาจจะวางไม่สะดวกบนโต๊ะทำงานของเราก็ได้
การไปลองสัมผัสของจริงก่อน จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ไปได้เยอะเลยล่ะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |