หลาย ๆ คนเวลาใช้งานคอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการ Windows จะชอบติดนิสัย กดรีเฟรช (Refresh) หน้าจอแบบรัว ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกด "ปุ่ม F5" หรือ คลิกขวาที่หน้าจอแล้วเลือก "คำสั่ง Refresh" แต่น้อยคนจะรู้ว่าประโยชน์ของมันจริง ๆ คืออะไร กดแล้วมีผลดียังไงบ้าง ? กดมาก ๆ แล้วส่งผลเสียอะไรรึเปล่า ? เดี๋ยวลองมาดูในบทความนี้กัน
การ Refresh หน้าจอ เป็นหนึ่งในคำสั่งที่เราสามารถใช้งานบนหน้าจอเดสก์ท็อป (Desktop Screen) ของระบบปฏิบัติการ Windows โดยสามารถกดผ่าน "ปุ่ม F5" ก็ได้ หรือจะคลิกขวาบนหน้าจอ เพื่อเรียก เมนูคลิกขวา (Context Menu) และเลือก "คำสั่ง Refresh" ก็ได้เช่นกัน และเมื่อกดแล้ว ไอคอนต่าง ๆ บนหน้าจอ Desktop จะกะพริบพร้อมกัน 1 ครั้ง
ก่อนจะพูดถึงผลลัพธ์ของการ Refresh หน้าจอ ต้องอธิบายถึงกระบวนการแสดงผลภาพก่อน โดยกระบวนการแสดงผลภาพบนมอนิเตอร์ ก็คล้ายกับการแสดงผลภาพเคลื่อนไหวของการ์ตูนหรือภาพยนต์ที่เกิดจากการนำภาพนิ่งหลาย ๆ ภาพ (Frame) มาต่อกัน ทำให้เราเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ความไหลลื่นจะแตกต่างกันตาม ค่าอัตราส่วนจำนวนภาพ (Frame Rate) แต่สำหรับหน้าจอจะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า อัตราการตอบสนอง (Refresh Rate) แทน
อ่านเพิ่มเติม : Frame Rate กับ Refresh Rate คืออะไร ? และ แตกต่างกันอย่างไร ?
สำหรับการกด Refresh หน้าจอนั้น จะเป็นการสั่งการให้คอมพิวเตอร์เปลี่ยนหน้าจอ Desktop ไปสู่เฟรมใหม่ ให้เป็นการเปลี่ยนแปลงล่าสุด เช่น การย้ายไอคอน, การเปลี่ยนชื่อไฟล์, เพิ่มไอคอนใหม่ ฯลฯ แต่โดยปกติแล้วคอมพิวเตอร์จะมีระบบการรีเฟรชอัตโนมัติ (Auto-Refresh) ที่ใช้งานอัตโนมัติอยู่แล้ว ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด โดยไม่จำเป็นต้องกด Refresh กัน
มีอีกกรณีที่ควรรู้ก็คือ หน้าจอ Desktop นั้น ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา และไม่ได้เปลี่ยนทุกส่วนของหน้าจอ เช่น โฟลเดอร์ที่โดยทั่วไปถูกจัดอยู่ด้านซ้ายของหน้าจอ จึงมีการปรับแต่งระบบให้เกิดการ Refresh เฉพาะส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงแทน เพื่อเป็นการลดภาระของตัวฮาร์ดแวร์ให้ทำงานน้อยลง ซึ่งในบางกรณีหากการ Refresh เฉพาะส่วนของตัวระบบฯ เกิดข้อผิดพลาด ตรงนี้ก็จะกลายมาเป็นบทบาทของเราที่จะได้กด Refresh เพื่อสั่งให้ Desktop อัปเดตหน้าจอสู่การเปลี่ยนแปลงล่าสุดแล้ว
จากในเนื้อหาก่อนหน้า จะเห็นว่าระบบคอมพิวเตอร์พยายามที่จะทำให้มีการ Refresh หน้าจอน้อยลง ด้วยการเปลี่ยนแปลงเฉพาะบางส่วนของหน้าจอที่มีความเคลื่อนไหว ซึ่งการที่เราไปกด "ปุ่ม Refresh" เองเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์ต้องอัปเดตข้อมูลทั้งหน้าจอแทนที่จะเป็นบางส่วนของหน้าจอ แบบนี้ก็เท่ากับว่า คอมพิวเตอร์ทำงานหนักขึ้นใช่หรือไม่ ?
ถ้าคิดแบบนี้ มันก็ใช่ครับ เพราะว่าการ Refresh หน้าจอบ่อย ๆ จะทำให้คอมพิวเตอร์กินพลังงานมากขึ้น หรือหนักขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการตอบสนองของหน้าจอในปัจจุบันที่ต่ำ ๆ ก็ 60 Hz หรือ 60 ครั้งต่อวินาทีแล้ว การกด "ปุ่ม Refresh" ของเราที่รัวที่สุดก็เห็นจะไม่เกิน 10 ครั้งต่อวินาที ซึ่งก็ดูไม่น่าจะกินพลังงานซักเท่าไหร่นัก โดยมีผลการทดสอบจากเว็บไซต์ pcper.com ออกมายืนยันในเรื่องนี้ (ดูภาพประกอบด้านล่างเลยครับ)
ผลการทดสอบการกินพลังงานของค่า Refresh Rate ต่าง ๆ
ภาพและข้อมูล : https://pcper.com/2015/10/testing-gpu-power-draw-at-increased-refresh-rates-using-the-asus-pg279q/
จะเห็นว่าจากตารางดังกล่าว มีการทดสอบค่า Refresh Rate บนโน้ตบุ๊ก ASUS ROG Swift PG279Q ในระดับต่าง ๆ เส้นสีน้ำเงินแสดงค่าการกินไฟของจอมอนิเตอร์ที่เส้นกราฟสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่กลับกันฝั่งเส้นสีเขียวที่แสดงค่าการกินไฟของระบบยกตัวสูงขึ้นในช่วงที่เป็น 144Hz อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าในช่วง 60 - 120Hz การกินไฟไม่ได้ต่างกันมากนัก เพราะฉะนั้นการกด Refresh ที่เพิ่มขึ้นมาไม่เกิน 10 ครั้งต่อวินาที ย่อมไม่ได้ส่งผลให้กินไฟขนาดนั้น
คนที่ใช้งาน ระบบปฏิบัติการ Windows ก็มักจะเคยชินกับการกด Refresh แต่พอเปลี่ยนไปใช้ระบบปฏิบัติการอื่น ๆ อย่างบน ระบบปฏิบัติการ Linux หรือ MacOS ก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิดทันทีที่ไม่มี "ปุ่ม Refresh" เพราะระบบปฏิบัติการดังกล่าวนั้น มองว่า "ปุ่ม Refresh" ไม่มีความจำเป็นในการใช้งานนั่นเอง
ถามว่าทุกคนที่ใช้งาน ระบบปฏิบัติการ Windows จะเคยชินกับการกด Refresh ไหม ? ขอใช้คำว่าส่วนใหญ่ละกัน เพราะมีอยู่กรณีหนึ่ง ที่ทาง Microsoft ได้ซ่อน "คำสั่ง Refresh" บน Context Menu ของ Windows 11 เข้าไปอีก 1 ขั้นตอนในการเรียกใช้ (ก็คือยังมีอยู่ แต่ว่าต้องเข้าไปในตัวเลือกย่อย)
ซึ่งก็ปรากฏว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้งาน จนทางบริษัทฯ ต้องอัปเดตนำมันกลับมาในหน้าแรกของ Context Menu เพื่อให้ผู้ใช้งานได้กดใช้กันง่าย ๆ แทน (ถึงแม้จะกด "ปุ่ม F5" แทนได้ก็ตาม)
บนระบบปฏิบัติการ Windows 8 นั้นได้เพิ่มตัวเลือกหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า "ตัวเลือก Refresh your PC" ขึ้นมาใน "เมนู Update and Recovery" ถึงแม้จะใช้ชื่อ Refresh เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์ต่างกันโดยสิ้นเชิงนะครับ โดยตัวเลือกนี้ จะเป็นการย้อนการตั้งค่าของ Windows ไปที่การตั้งค่าเริ่มต้น โดยที่ไม่ได้ลบไฟล์ของเรา แต่สิ่งที่กระทบก็คือแอปฯ ต่าง ๆ ที่ติดตั้งเอาไว้ ยกเว้นแอปฯ ของ Windows เองจะถูกลบออกไปทั้งหมด คำสั่งนี้ เอาไว้ใช้เวลา PC ของเราเกิดปัญหาในการใช้งานบางอย่าง
ภาพจาก : https://optimizewindows8.wordpress.com/2013/04/03/how-to-refresh-your-computer-using-windows-8/
ที่พูดถึงเพราะว่า กลัวเพื่อน ๆ จะสับสนกับการกด Refresh ปกตินะครับ
การ Refresh บน เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) สามารถทำได้ด้วยการกด "ปุ่ม Refresh" ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปุ่ม ที่น่าจะกดกันรัว ๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจองบัตรคอนเสิร์ต, การพรีออเดอร์สินค้า หรือแม้แต่ การลงทะเบียนสิทธิ์ต่าง ๆ ที่ทุกคนต่างเฝ้ารอเว็บบริการต่าง ๆ เปิดให้ลงทะเบียนตามเวลาที่กำหนด ซึ่ง "คำสั่ง Refresh" นี้มีลักษณะการทำงานที่คล้ายกันกับการ Refresh บนหน้าจอ Desktop เพื่ออัปเดตข้อมูลบนเว็บให้เป็นล่าสุด แต่ต่างกันที่ว่า ตัวเลือก Refresh บนเว็บเบราว์เซอร์นี้ ไม่ได้อัปเดตข้อมูลบนเว็บทั้งหมดแต่เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น
ปุ่ม Refresh บน เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome
เนื่องจากเว็บเบราว์เซอร์ทั้งหลาย ช่วยผู้ใช้งานให้ประหยัดเวลาและประหยัดข้อมูลอินเทอร์เน็ต จึงมีระบบ แคช (Cache) ขึ้นมา เพื่อเก็บข้อมูลภาพหรือวิดีโอต่าง ๆ เอาไว้บนเครื่อง เวลาโหลดเว็บเดิมซ้ำ ก็จะสามารถโหลดได้เร็วขึ้น แต่ฟีเจอร์เจ้ากรรมบางทีก็ผิดพลาดอยู่บ่อย โดยเจ้าของเว็บมีการอัปเดตภาพใหม่เข้าไปแล้ว แต่เบราว์เซอร์ผู้ใช้ยังใช้ภาพจาก Cache เดิมอยู่ ทำให้ผู้ใช้งานยังคงเห็นภาพเดิม สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องทำก็คือทำการ Hard Refresh แทน
โดยการ Hard Refresh สามารถทำได้โดยการกด "ปุ่ม Ctrl + F5" เพื่อให้หน้าเว็บเบราว์เซอร์ ดึงข้อมูลใหม่จากเว็บต้นทางทั้งหมด โดยข้ามข้อมูลใน Cache ไป ซึ่งถ้าบางกรณียังไม่ได้ ก็ต้องอาศัยการ Clear Cache เก่าออกไปก่อน ด้วย "คีย์ลัด Ctrl + Shift + Delete" นั่นเอง
สรุปแล้ว การกด Refresh บนหน้าจอ Desktop นั้น มีประโยชน์ในกรณีที่หน้าจอ Desktop มีปัญหาในการ Auto-Refresh หน้าจอเท่านั้น การกดบ่อย ๆ ก็ไม่ได้มีประโยชน์ซักเท่าไหร่ ไม่ได้ทำให้คอมฯ เร็วขึ้น ส่วนโทษนั้น ก็เหมือนการไปสะกิดให้คอมฯ ทำงานเพิ่มขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
|
... |