หลาย ๆ คนน่าจะสังเกตถึงวิวัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงของโทรศัพท์มือถือจากรุ่นปุ่มกดจนกลายมาเป็นสมาร์ทโฟนที่เราใช้งานกันอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งขนาดของหน้าจอสมาร์ทโฟนในช่วงหลายปีมานี้นอกจากจะขยายใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว บริเวณหน้าจอยังได้นำเอาปุ่มกดออกไป โดยได้เปลี่ยนเป็นการใช้ หน้าจอสัมผัส (Touchscreen) ตลอดทั่วทั้งจอ
นอกจากนี้ ก็ยังรวมไปถึงการปรับลดพื้นที่ของขอบจอให้มีความบางลงเพื่อให้ผู้ใช้ได้ใช้งานหน้าจออย่างเต็มพื้นที่กันมากขึ้นโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มขนาดของตัวสมาร์ทโฟนตามไปด้วย (แต่ช่วงหลังมานี้ก็นิยมรุ่นจอใหญ่กันอยู่เหมือนกัน)
ภาพจาก : t.ly/BCAe, t.ly/AEk7, bit.ly/3e9chA6
ดังนั้นเราจึงเห็นหน้าจอสมาร์ทโฟนที่มีแถบข้างหน้าจอ (Bezel) , รอยบากบนหน้าจอ (Notch) , ติ่งกล้องหน้า (Teardrop) หรือ รูกล้องบนหน้าจอ (Hole-punch) มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบหน้าจอในลักษณะนี้ก็ไม่ได้ทำให้หน้าจอสมาร์ทโฟนเกลี้ยงขึ้นแต่อย่างใด เพราะมันยังต้องมีพื้นที่ไว้สำหรับ “กล้องหน้า” (หรือบางรุ่นก็มีลำโพงและเซนเซอร์อยู่ที่หน้าจอด้วย)
จอสมาร์ทโฟนแบบ Teardrop, Bezel, Hole-punch และ Notch (ตามลำดับ)
ภาพจาก : https://www.pcworld.com/article/3454296/iphone-11-vs-android-google-pixel-4-samsung-galaxy-s10-oneplus-7t-display-camera-battery-specs.html
ดังนั้นบางบริษัทก็ได้แก้ปัญหาดังกล่าวนี้โดยการพัฒนาสมาร์ทโฟนที่มีการใช้งาน กล้องแบบป๊อปอัป (Pop-up) ที่กล้องหน้าจะปรากฏขึ้นมาเมื่อผู้ใช้เปิดใช้งานเท่านั้น ทำให้สามารถใช้งานหน้าจอสมาร์ทโฟนได้อย่างเต็มพื้นที่โดยไม่ต้องเผื่อพื้นที่เอาไว้สำหรับกล้องหน้าอีกต่อไป
ภาพจาก : https://www.anandtech.com/show/14265/hands-on-with-the-oppo-reno-10x-zoom-66inch-oled-with-no-notch-and-popup-selfie-camera-
แม้ว่าสมาร์ทโฟนที่ใช้งานกล้องแบบ Pop-up จะช่วยแก้ปัญหากล้องหน้าบริเวณหน้าจอออกไปได้ แต่หลังจากที่เปิดตัวและวางจำหน่ายไประยะหนึ่งมันก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรและไม่มีการสานต่อในรุ่นถัด ๆ ไปเท่าไรนัก ซึ่งเหตุผลที่กล้องแบบ Pop-up หายไปจากตลาด นอกจากจะไม่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้แล้ว ทางผู้ผลิตเองก็ตัดสินใจทยอยพับโปรเจคลงและไม่พัฒนาต่อไปแล้วด้วยเช่นกัน
ทางด้านผู้บริโภคก็มีความกังวลว่ากล้องแบบ Pop-up นั้นอาจ ไม่แข็งแรง และหักออกมาได้ หรือหากใช้งานเป็นเวลานานก็อาจเสื่อมสภาพและระบบรวนจนไม่สามารถเปิดใช้งานหรือเก็บตัวกล้องกลับเข้าไปได้อีก แต่ความจริงตัวกล้อง Pop-up ที่เราเห็นกันนี้ก็ไม่ได้เปราะบางขนาดนั้น เพราะนอกจากกลไกภายในเครื่องจะมีความแข็งแรงแล้ว ในส่วนของภายนอกเองก็แข็งแรงไม่แพ้กัน และจากที่มีคนลองใช้ตัวกล้อง Pop-up ไปเปิดขวดก็ทำได้แบบสบาย ๆ (คิดว่าถ้าได้รับการกระแทกแบบรุนแรงอย่างการตกจากที่สูงขณะเปิดใช้งานกล้องก็คาดว่าจอกับกล้องน่าจะแตกมากกว่าที่ตัวกล้อง Pop-up จะหักออกมา)
นอกจากนี้บางส่วนก็กังวลว่าระบบ Pop-up ของกล้องอาจทำให้มีร่องระหว่างตัวเครื่องที่จะทำให้น้ำหรือฝุ่นเข้าตัวเครื่องได้ง่ายมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้แต่หากไม่ได้นำเอาตัวเครื่องจุ่มน้ำแช่ทิ้งไว้เป็นเวลานานก็ไม่ต้องกังวลปัญหานี้เท่าไรนัก เพราะโดยปกติสมาร์ทโฟนก็มี ความสามารถในการกันน้ำ ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ส่วนฝุ่นละอองที่อาจเล็ดรอดเข้าไปในตัวเครื่องได้นั้นก็ ไม่ได้ส่งผลต่อระบบการทำงานของตัวเครื่อง และไม่กระทบต่อระบบกล้อง Pop-up แต่อย่างใด
ภาพจาก : https://www.androidauthority.com/rip-pop-up-selfie-camera-1094655/
ไม่เพียงเท่านั้น สมาร์ทโฟนที่มีกล้องหน้าแบบ Pop-up ส่วนมากยังไม่รองรับระบบการสแกนหน้า เพื่อปลดล็อกหน้าจออีกต่างหาก ทำให้ต้องใช้การสแกนลายนิ้วมือหรือการกรอกรหัสผ่านที่มีความปลอดภัยต่ำกว่าในการปลดล็อกหน้าจอแทน (เท่าที่ผ่านมามีเพียงแค่สมาร์ทโฟนไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่เป็นสมาร์ทโฟนกล้อง Pop-up ที่มาพร้อมเทคโนโลยีการสแกนใบหน้า)
ภาพจาก : https://fptshop.com.vn/tin-tuc/danh-gia/oppo-find-x-y-tuong-tuyet-voi-hay-toi-te-cua-nam-2018-70992
นอกเหนือไปจากกระแสตอบรับของผู้ใช้ที่ค่อนข้างแผ่วจนทำให้ผู้ผลิตรู้สึกว่ามันไม่คุ้มทุนในการพัฒนาต่อแล้ว สมาร์ทโฟนที่ใช้งานกล้องแบบ Pop-up นี้ยังต้องแบ่งพื้นที่ด้านในตัวเครื่องให้กับกล้องและมอเตอร์ควบคุมการทำงาน ทำให้มัน กินพื้นที่และเพิ่มน้ำหนักตัวเครื่อง ให้มากขึ้นจากเดิม แถมยังทำให้เครื่องดูหนามากกว่าสมาร์ทโฟนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้ใช้งานกล้องแบบ Pop-up อีกด้วย
มอเตอร์กล้อง Pop-up ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และกินพื้นที่ด้านหลังตัวเครื่อง
ภาพจาก : is.gd/mikD3i และ bit.ly/30cMwXa
ในขณะที่กระแสการใช้งานสมาร์ทโฟนในช่วงนี้มุ่งเน้นในเรื่องของดีไซน์ที่มีความ “เบาและบาง” จึงทำให้เทคโนโลยีการใช้งานกล้องแบบ Pop-up ที่เพิ่มความหนาและน้ำหนักของตัวเครื่องขึ้นมานี้ไม่ได้รับความนิยมและไม่ประสบความสำเร็จจนทำให้หลาย ๆ บริษัทตัดสินใจเลิกพัฒนาต่อนั่นเอง
แต่การที่เลิกพัฒนาสมาร์ทโฟนกล้อง Pop-up ไปก็ไม่ได้ทำให้ทางผู้ผลิตล้มเลิกความคิดในการนำเอากล้องหน้าออกไปจากจอแต่อย่างใด เพราะล่าสุดก็เห็นว่ามีผู้ผลิตบางค่ายได้พัฒนาเทคโนโลยีกล้องใต้หน้าจอ (Under Display Camera หรือ UDC) ที่เป็นการซ่อนกล้องหน้าเอาไว้ใต้จอสมาร์ทโฟนโดยไม่ต้องเจาะรูกล้องเพิ่มและไม่เสียพื้นที่การใช้งานบริเวณหน้าจอไปแม้แต่ส่วนเดียว
Check this out from our R&D team! @Xiaomi continues to innovate and we have some exciting tech up our sleeves. RT if you love under display camera! #xiaomi pic.twitter.com/4Rlzt9uRAd
— Alvin Tse #MiFan (@atytse) June 3, 2019
ถึงแม้ว่าการใช้งานกล้องแบบ UDC จะทำให้ไม่มีกล้องมาบดบังการแสดงผลหน้าจอ แต่มันก็ยัง ไม่สามารถที่จะบดบังตัวกล้องได้แบบ 100% เนื่องจากกระจกบริเวณหน้าจอที่บดบังกล้องเอาไว้ยังไม่สามารถแสดงผลได้อย่างละเอียดมากพอ จึงทำให้ยังคงสังเกตเห็นถึงตัวกล้องด้านหลังหน้าจอได้แบบจาง ๆ อยู่ (และหากเพิ่มความละเอียดของการแสดงผลก็จะทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานกล้องลดลงจากเดิม)
จะเห็นได้ว่ามีพื้นที่ของตัวกล้องจาง ๆ ด้านหลังหน้าจอเพราะการแสดงผลภาพยังไม่ละเอียดมากพอ
ภาพจาก :bit.ly/3sNRXZ4, t.ly/F05W และ bit.ly/3bfvv4V
และการใช้งานกล้องแบบ UDC นี้ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่อง ความคมชัด ของรูปภาพที่ได้อยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อเทียบกับกล้องหน้าแบบปกติที่ไม่มีจอแสดงผลภาพมาบดบังเลนส์กล้องแล้วคุณภาพรูปที่ได้ก็นับได้ว่าห่างชั้นกันอยู่มากเลยทีเดียว (กล้องหน้าแบบ UDC จะได้รูปที่ดูฟุ้ง ๆ และความละเอียดต่ำกว่ากล้องหน้าแบบปกติ)
เทียบคุณภาพรูปที่ถ่ายจาก Pixel 5 (ซ้าย) และ ZTE AXON 20 (ขวา)
ภาพจาก : https://laptrinhx.com/world-s-first-phone-with-an-under-display-front-camera-launched-by-zte-503378516/
ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตทางค่ายมือถือต่าง ๆ จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้หรือไม่ หรือเทคโนโลยี UDC จะต้องพับโปรเจคตามกล้องแบบ Pop-up ไปกันแน่ คาดว่าเราน่าจะต้องรอติดตามดูกันต่อไป
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |