ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Privacy Sandbox และ FLoC ของ Google คืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไรกับเราบ้าง ?

Privacy Sandbox และ FLoC ของ Google คืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไรกับเราบ้าง ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 7,606
เขียนโดย :
0 Privacy+Sandbox+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+FLoC+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+Google+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Privacy Sandbox และ FLoC ของ Google คืออะไร ?

โดยทั่วไปแล้วการใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ ต่าง ๆ นั้นก็จะทำการเก็บ เว็บคุกกี้ (Web Cookie) ของผู้ใช้เอาไว้ ซึ่งการเก็บ Cookies ของ เว็บเบราว์เซอร์ต่าง ๆ นั้นก็มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ 1st Party Cookies ที่จัดเก็บเพื่อคงค่าการใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ เอาไว้ ไปจนถึง Cookie เจ้าปัญหาอย่าง คุกกี้บุคคลที่สาม (3rd Party Cookies) ที่มักจะมีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อ "ยิงโฆษณา" หรือ "นำส่งโฆษณา" ส่งตรงไปยังผู้ใช้งาน หรือผู้เปิดเว็บไซต์อย่างเราๆ (แม้เราจะไม่อยากเสพมันก็ตาม)

บทความเกี่ยวกับ Google อื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อค้นหาคำว่า “เนื้อย่าง” ใน Google แล้วกดเข้าไปที่เว็บไซต์หนึ่งแล้ว อีกชั่วโมงถัดมาเมื่อเปิดเว็บไซต์อื่นขึ้นมาก็ยังเจอโฆษณาร้านเนื้อย่างโผล่ขึ้นมาด้วยทั้งที่เว็บไซต์นั้นไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับร้านเนื้อย่างเลยสักนิดเดียว

Privacy Sandbox และ FLoC ของ Google คืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไรกับเราบ้าง ?
การทำงานของ 3rd Party Cookies ที่จะยิงโฆษณาเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้เยี่ยมชมก่อนหน้านี้
ภาพจาก : https://www.eff.org/wp/behind-the-one-way-mirror

และแน่นอนว่าการเก็บ 3rd Party Cookies ในลักษณะแบบนี้ก็ทำให้ผู้ใช้ส่วนหนึ่งรู้สึกไม่พอใจเท่าไรนัก และลงความเห็นว่าการเก็บ 3rd Party Cookies นี้เป็นการละเมิดสิทธิที่นำเอาข้อมูลของผู้ใช้ไป “ขาย” ให้กับบริษัทอื่น ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางผู้ใช้ก่อน

ดังนั้น เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) หรือ โปรแกรมเปิดเว็บ ชื่อดังอย่าง โปรแกรม Safari และ โปรแกรม Mozilla Firefox จึงได้ตัดสินใจ “บล็อก 3rd Party Cookies” แบบอัตโนมัติเพื่อไม่ให้ เว็บไซต์ 3rd Party สามารถเข้าถึงข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้เพื่อยิงโฆษณาได้

เกร็ดข้อมูลน่ารู้ : บุคคลที่สาม (3rd Party) คืออะไร ? : https://tips.thaiware.com/1360.html

ซึ่งจากการสำรวจโดย Google ก็พบว่าการปิดกั้นการทำงานของ 3rd Party Cookie นี้ก็ทำให้รายได้ของเหล่า Publisher (เว็บไซต์รับลงโฆษณา) หดตัวลงราว 52 % จากค่าเฉลี่ย เรียกได้ว่ามันส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อขายโฆษณาค่อนข้างมากเลยทีเดียว และการที่รายได้ลดลงนี้ก็อาจบีบให้หลาย ๆ บริษัทตัดสินใจใช้การ Fingerprinting ที่อันตรายต่อความปลอดภัยของผู้ใช้มากกว่าเพื่อเสิร์ฟโฆษณาเพื่อเรียกยอดกลับมา

Privacy Sandbox และ FLoC ของ Google คืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไรกับเราบ้าง ?
Browser ที่บล็อกการทำงานของ 3rd Party Cookies จะไม่มีการแสดงผลโฆษณาบนเว็บ Publisher
ภาพจาก : https://www.eff.org/wp/behind-the-one-way-mirror

เนื้อหาภายในบทความ

ระบบการพิมพ์ลายนิ้วมือ (Fingerprinting)

การใช้ระบบการพิมพ์ลายนิ้วมือ (Fingerprinting) นี้ไม่เพียงแต่จะสามารถระบุความสนใจของผู้ใช้เป็นรายบุคคลได้เท่านั้น แต่มันยังสามารถสืบต่อไปถึงตัวตนของผู้ใช้ได้อย่างละเอียดจากการค้นผ่านข้อมูลที่รั่วไหลจากการใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ เช่น หมายเลขที่อยู่ไอพี (IP Address), ระบบปฏิบัติการ (OS) ที่เปิดใช้งานเว็บเบราว์เซอร์, ขนาดหน้าจอ (Screen Resolution) หรือแม้แต่ข้อมูลอื่น ๆ ที่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้ได้

ทั้งยังสามารถสืบหาตัวตนของผู้ใช้ได้แม้แต่การใช้งาน เว็บเบราว์เซอร์ แบบไม่ระบุตัวตน และไม่สามารถที่จะลบทิ้งได้เหมือนกับการเคลียร์ Cookie อีกด้วย

Privacy Sandbox และ FLoC ของ Google คืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไรกับเราบ้าง ?
การ Fingerprinting ที่สามารถระบุขนาดหน้าจอของอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ และสามารถสืบต่อเพื่อระบุตัวตนของผู้ใช้คนนั้น ๆ ได้
ภาพจาก : https://www.eff.org/wp/behind-the-one-way-mirror

ซึ่งทาง Google ก็ได้แสดงความเห็นว่าการบล็อก 3rd Party Cookies โดยไม่ได้เสนอทางเลือกใหม่ให้กับบริษัทโฆษณาต่าง ๆ นั้นค่อนข้างเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบอยู่ไม่น้อย เพราะมันอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อข้อมูลของผู้ใช้ต่อไปในอนาคตได้หากบริษัทโฆษณาหันมาใช้การ Fingerprinting เพื่อเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ในการยิงโฆษณาแทน

ทาง Google จึงพยายามหาทางประนีประนอมระหว่างความปลอดภัยของผู้ใช้และรายได้ของภาคธุรกิจต่าง ๆ (รวมทั้งรายได้ของ Google เองด้วย) โดยได้ปรับนโยบายความปลอดภัยในการใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ บน Chrome เป็นการ ยกเลิกการซัพพอร์ทใช้งาน 3rd Party Cookies บน Chrome และได้พัฒนา Privacy Sandbox ควบคู่ไปกับระบบ FLoC (Federated Learning of Cohorts) เพื่อเสนอทางเลือกให้กับบริษัทต่าง ๆ สามารถ “ยิงโฆษณา” ใส่ผู้ใช้ทั่วไปได้ผ่านการควบคุมความปลอดภัยจาก Google

Privacy Sandbox และ FLoC คืออะไร ?

สำหรับ Privacy Sandbox (แปลตรงๆ คือ "บ่อทรายความเป็นส่วนตัว") นี้เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นระบบจัดการความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ที่ทาง Google พัฒนาขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ "ทดแทน 3rd Party Cookies" โดยมันจะทำการเพิ่มความปลอดภัยของการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้ไปพร้อม ๆ กับการป้อนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้ซื้อโฆษณา

Privacy Sandbox นี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับระบบ FLoC (Federated Learning of Cohorts) ที่นำเอา AI มาใช้ในการ “สร้างและจัดกลุ่มโปรแกรมข้อมูล” รวมทั้งเข้ารหัส (Encrypt) ข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานทั่วไป

Privacy Sandbox และ FLoC ของ Google คืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไรกับเราบ้าง ?
ภาพจาก : https://github.com/google/ads-privacy/blob/master/proposals/FLoC/FLOC-Whitepaper-Google.pdf

การทำงานของระบบ FLoC

สำหรับการทำงานของระบบ FLoC นี้ มันจะมีการจัด Cohort (กลุ่ม) ประเภทของเว็บไซต์ต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งเมื่อผู้ใช้กดเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่จัดเอาไว้ว่าเป็นเว็บไซต์ใน “Cohort 1” (กลุ่ม 1) ของระบบ มันก็จะดึงผู้ใช้คนนั้น ๆ เข้ากลุ่มรวมกับผู้ใช้อีกเป็นพัน ๆ คนที่ทำการค้นหาในเรื่องเดียวกันแล้วบันทึกเอาไว้ว่าผู้คนที่เข้าใช้งานเว็บไซต์ใน Cohort นี้มีความสนใจในเรื่องใดและบันทึกข้อมูลไว้ในระบบ

ส่วนบริษัทที่ซื้อโฆษณา (Advertiser) ที่ถูกจัดเอาไว้ใน Cohort 1 ก็จะส่งข้อมูลให้กับบริษัทโฆษณา (Adtech) ที่เป็นตัวกลางในการทำหน้าที่วิเคราะห์การลงโฆษณาต่าง ๆ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายก็จะขึ้นโฆษณาของสินค้าหรือบริการที่ผู้ใช้ใน Cohort นั้น ๆ สนใจบนเว็บไซต์ผู้ลงโฆษณา (Publisher) เพื่อแสดงผลการโฆษณาต่อไป

Privacy Sandbox และ FLoC ของ Google คืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไรกับเราบ้าง ?
ภาพจาก : https://web.dev/floc/

แต่ระบบ FLoC นี้ก็ให้ความสำคัญกับ  "ความเป็นส่วนตัว (Privacy)" ของข้อมูลผู้ใช้ค่อนข้างมาก เพราะมันจะไม่ระบุถึงเนื้อหาภายในกลุ่มอย่างชัดเจน แต่จะเป็นการส่งต่อข้อมูลเข้ารหัสที่ทางบริษัทโฆษณาต่าง ๆ จะต้องเป็นผู้ถอดรหัสเพื่อเข้าถึงเนื้อหาความสนใจของคนในกลุ่มนั้น ๆ ด้วยตนเอง และสำหรับความสนใจเฉพาะที่จัดอยู่ในประเด็นอ่อนไหว เช่น ศาสนา, การเมือง, ความสนใจทางเพศ, การพนัน, เครื่องดื่มมึนเมา, การกู้นอกระบบ หรือสิ่งของผิดกฎหมายอย่างยาเสพติดและอาวุธต่าง ๆ นั้นจะไม่มีการจัดกลุ่มขึ้นมาแต่อย่างใด

ดังนั้นบริษัทผู้ซื้อโฆษณาก็จะได้รับข้อมูลความสนใจของผู้ใช้ผ่านระบบนี้ในภาพกว้าง ๆ เพื่อทำการยิงโฆษณาให้ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย และถึงแม้ว่าระบบนี้จะไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทโฆษณาสามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ง่ายเหมือนการใช้ 3rd Party Cookies แต่ Google ก็ระบุว่าระบบนี้น่าจะสามารถช่วย ป้องกันไม่ให้บริษัทโฆษณาหลาย ๆ เจ้าหันไปใช้งานการ Fingerprinting ที่จัดว่าเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของผู้ใช้มากกว่าได้

แต่สำหรับผู้ใช้ทั่วไปแล้วก็น่าจะไม่เห็นความต่างมากนัก เพราะเราก็ยังคงเห็นโฆษณาขึ้นบนหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ อยู่ดี เพียงแต่ข้อมูลของเรานั้นจะได้รับการป้องกันจากบริษัท 3rd Party และมีความเสี่ยงในการรั่วไหลต่ำกว่าการใช้งาน 3rd Party Cookies ในการยิงโฆษณานั่นเอง

ความปลอดภัยของระบบ FLoC

ถึงแม้ว่าระบบ FLoC จะสามารถปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ได้พร้อม ๆ กับการขายโฆษณา แต่ก็ไม่มี Browser อื่นนอกจาก Chrome ที่สนใจจะใช้งานหรือพัฒนาระบบที่มีลักษณะคล้ายกันนี้แต่อย่างใด ทำให้หลาย ๆ คนสงสัยถึง ความปลอดภัย ของระบบนี้ว่ามันสามารถป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ได้จริงหรือไม่

สำหรับประเด็นนี้ Google ก็ได้ชี้แจงว่าระบบ FLoC จะเก็บข้อมูลเฉพาะบนเครื่องผู้ใช้ เท่านั้น ไม่ได้นำเอาข้อมูลดังกล่าวนี้ไปแบ่งปันให้กับบริษัทโฆษณาอื่น ๆ เพียงแต่ใช้การบันทึกและเข้ารหัสข้อมูลในบางส่วนเพื่อนำส่งต่อให้บริษัทดังกล่าวไปแกะรหัสเอาเองเท่านั้น

อีกทั้งข้อมูล Cohort (กลุ่ม) ของผู้ใช้ก็จะทำการ ปรับเปลี่ยนข้อมูล ตามความสนใจของผู้ใช้อยู่เสมอ เช่น ตอนแรกอยู่ใน Cohort 1 สัปดาห์ถัดมาอาจย้ายไปยัง Cohort 8 แล้วก็เป็นได้ ซึ่งการจะติดตามข้อมูลที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่เกือบตลอดเวลาเพื่อตามสืบหาข้อมูลผู้ใช้รายคนนั้นก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยากและเสียเวลาอยู่ไม่น้อย อีกทั้งข้อมูลยังมีการเข้ารหัสจาก Google อีกชั้นหนึ่งด้วย ดังนั้นผู้ใช้ก็น่าจะสามารถวางใจได้มากกว่าระบบเดิมที่เปิดให้ 3rd Party Cookies สามารถทำงานได้อย่างอิสระอย่างแน่นอน

Privacy Sandbox และ FLoC ของ Google คืออะไร ? มีประโยชน์อย่างไรกับเราบ้าง ?
ภาพจาก : https://web.dev/floc/

อย่างไรก็ตาม หากเทียบความปลอดภัยระหว่าง Chrome ที่ใช้ระบบ FLoC ในการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ แบบเข้ารหัส และ Browser อื่นอย่าง Safari ที่มุ่งพัฒนา Privacy Wall สกัดกั้นการทำงานของทั้ง 3rd Party Cookies และ Fingerprinting เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานให้กับผู้ใช้มากขึ้นจนยอมเสียรายได้เกี่ยวกับการโฆษณาและฟีเจอร์อำนวยความสะดวกหลาย ๆ อย่างไปแล้วนั้น Privacy Sandbox ของ Google นี้ก็ยังมีความปลอดภัยที่ต่ำกว่าอยู่พอสมควร

เพราะระบบ FLoC นั้นอาจกลายเป็นแหล่ง Fingerprinting ในอนาคตได้เช่นกันหากสามารถเจาะระบบของ Google เข้าไปได้ แม้ทางบริษัทจะยืนยันหนักแน่นว่าปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นได้และพยายามหาทางแก้ไขปรับปรุงระบบให้ปลอดภัยกับผู้ใช้มากที่สุด

สำหรับในตอนนี้ Google ก็ได้ทดสอบใช้งาน Privacy Sandbox รวมทั้งระบบ FLoC แล้วเป็นที่เรียบร้อยบน เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome เวอร์ชัน 89 โดยเปิดให้ผู้พัฒนา (Developer) ที่สนใจสามารถทดลองเล่นกันได้แล้วในบางพื้นที่ (ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, แม็กซีโก, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา) แต่เว็บไซต์ที่ไม่ต้องการเข้าระบบ FLoC ก็สามารถทำได้เช่นกัน และหากดำเนินการตามแผนเดิมได้อย่างไร้ปัญหาก็คาดว่าน่าจะปรับใช้งานระบบดังกล่าวทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)


ที่มา : www.theverge.com , techcrunch.com , www.eff.org , www.blog.google , blog.google , headerbidding.co , headerbidding.co , www.privacysandbox.com , web.dev , digiday.com , www.washingtonpost.com

0 Privacy+Sandbox+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+FLoC+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+Google+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น