เมื่อคุณซื้อคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่มา คุณย่อมคาดหวังว่า ซอฟต์แวร์ (Software) ภายในเครื่องจะมีความบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน ไร้ มัลแวร์ (Malware) และเปิดเครื่องพร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
แต่น่าเศร้าที่ ในความจริงนั้น มันไม่ค่อยจะเป็นแบบนั้นหรอก คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นทำงานได้ช้ากว่าที่มันควรจะเป็น โดยมีผลมาจากการที่ในระบบมี "ซอฟต์แวร์ที่ไม่จำเป็น" ถูกติดตั้งเอาไว้มาให้ตั้งแต่แรก หรือที่เรียกกันว่า "Bloatware" นั่นเอง
และซอฟต์แวร์ที่ไม่จำเป็นเหล่านี้นั้นมีหลายรูปแบบ และถึงแม้ว่า Bloatware ส่วนใหญ่จะไม่มีอันตรายต่อระบบคอมพิวเตอร์ แต่มันสามารถทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของคุณช้าลงได้ และยังเปลืองพื้นที่เก็บข้อมูลในฮาร์ดไดร์ฟของคุณอีกด้วย
ถ้าถามว่า Bloatware ทำให้คอมพิวเตอร์ช้าลงได้มากขนาดไหน ? คำตอบที่แน่นอนมันก็พูดยาก อย่างไรก็ตาม ทาง Microsoft ได้มีการสร้างคำว่า Signature PCs ขึ้นมา โดยมันหมายถึงคอมพิวเตอร์ที่ไม่มี ซอฟต์แวร์บุคคลที่สาม (3rd-Party Software) ติดตั้งเลยแม้แต่ตัวเดียว ซึ่ง Microsoft ได้ระบุว่า Signature PCs จะเปิดเครื่องได้เร็วกว่า 104%, ปิดเครื่องได้เร็วกว่า 35% และแบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานได้ยาวนานกว่า 28 นาที เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ที่มี Bloatware อยู่
Candy Crush Saga บน Windows 10 ก็นนับเป็น Bloatware เช่นกัน
ภาพจาก : https://www.theverge.com/2018/7/4/17533926/windows-ios-android-bloatware
อาจจะฟังดูแปลก แต่ Bloatware กำเนิดมาจากธรรมเนียมการพัฒนาของซอฟต์แวร์ที่ต้องได้รับการปรับปรุงเป็นประจำทุกปี แต่นักพัฒนารู้สึกว่ามันยังไม่พอ ซอฟต์แวร์มันจำเป็นต้องมีการเพิ่มลูกเล่นเพิ่มเติมเพื่อหลอกล่อให้ผู้ใช้อยากที่จะอัปเกรดซอฟต์แวร์เดิมที่ใช้งานอยู่ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มคุณสมบัติใหม่ก็มีผลทำให้ขนาดของซอฟต์แวร์ใหญ่ขึ้น และเพื่อให้ซอฟต์แวร์สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ความต้องการของระบบก็เลยสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ในที่สุดผู้ใช้ที่ต้องการใช้งานซอฟต์แวร์เวอร์ชันล่าสุดก็จำเป็นต้องอัปเกรดฮาร์ดแวร์ใหม่ด้วยเช่นกัน
Bloatware มีมาตั้งแต่ยุค ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ในยุคนั้น บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ได้ร่วมมือกับผู้ผลิต เพื่อให้ซอฟต์แวร์ของตนเองได้รับการติดตั้งบนคอมพิวเตอร์เอาไว้ล่วงหน้า ทางผู้ผลิตเองก็ได้รับค่าตอบแทนจากการติดตั้งซอฟต์แวร์ เป็นสถานการณ์ที่ได้ผลระโยชน์กันทั้งสองฝ่าย (Win-Win Situation) นั่นเอง
โดยซอฟต์แวร์เหล่านั้น บางตัวเหิมเกริมถึงขั้นที่จะเปิดตัวเองอัตโนมัติเมื่อระบบเริ่มทำงาน, มีหน้าต่างแจ้งเตือนเด้งขึ้นมาแนะนำสินค้า ฯลฯ นอกจากจะทำให้คอมพิวเตอร์เริ่มระบบได้ช้าขึ้นแล้ว ยังสร้างความน่ารำคาญให้แก่ผู้ใช้งานอีกด้วย ทำให้ผู้ผลิตมีความสนใจในการหารายได้จากการทำสัญญากับผู้ผลิตซอฟต์แวร์น้อยลงเรื่อย ๆ ในช่วงพีคของ Bloatware นั้น ผู้ใช้บางคนถึงกับยอมจ่ายเงินให้กับผู้ค้า เพื่อจ้างให้ลบ Bloatware ออกจากระบบก่อนรับคอมพิวเตอร์มาด้วยซ้ำ
ในปัจจุบันนี้ Bloatware ก็ยังมีอยู่ แต่ลดความป่าเถื่อนลงไปจากสมัยก่อนมากแล้ว คุณภาพของ Bloatware บางตัวก็ดีน่าใช้งาน เช่น พวกเครื่องมืออัปเดตไดร์เวอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์มือใหม่อัปเดตระบบด้วยตนเองได้อย่างง่ายดาย
ปัจจุบันนี้ Bloatware ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในคอมพิวเตอร์เท่านั้น ในสมาร์ทโฟนก็มีมาเช่นกัน โดยเฉพาะในสมาร์ทโฟน Android รุ่นประหยัด ผู้ผลิตมักจะใส่ Bloatware มาให้ด้วย เพื่อหาช่องทางทำกำไรเพิ่มเติม ผู้ผลิตบางรายถึงกับฝังมันไว้ใน ROM เพื่อให้ยากแก่การลบทิ้ง
Bloatware บน Samsung Galaxy S7
ภาพจาก : https://www.technobezz.com/disable-bloatware-samsung-galaxy-s7/
ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์อะไร มันก็มีโอกาสมีช่องโหว่อยู่ แม้แต่ตัว ระบบปฏิบัติการ Windows เองก็ตาม ทาง Microsoft ถึงขยันปล่อยอัปเดตออกมาเรื่อย ๆ แทบจะทุกเดือน แต่ Bloatware ล่ะ มีกี่ตัวที่ได้รับการอัปเดตกัน Palo Alto Networks บริษัท ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบุว่า Bloatware อาจมีช่องโหว่ที่ไม่ได้รับการอัปเดต ทำให้อุปกรณ์ของคุณอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกโจมตีด้วยเทคนิค Man-in-the-Middle Attacks ได้
Bloatware บางตัวถึงขั้นแอบใส่ ซอฟต์แวร์สนับสนุนโฆษณา (Adware) มาด้วย มีกรณีที่น่าจดจำเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) เมื่อมีรายงานว่า Lenovo ได้ใส่ Superfish ซึ่งเป็น Adware เข้ามาเป็น Bloatware ด้วย
ทางด้าน Bloatware บนอุปกรณ์พกพาที่ใช้ ระบบปฏิบัติการ Android ส่วนใหญ่จะเป็นแอปพลิเคชันจากผู้ผลิตที่เปลืองที่ และอย่างมากก็แค่สร้างความรำคาญด้วยการพยายามโฆษณาสินค้า และบริการ แต่ Bloatware บางตัวอาจจะถูกสร้างมาเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน หรือขโมยข้อมูลของผู้ใช้งานโดยซ่อนตัวอยู่ในลักษณะของแอปพลิเคชันประเภทอรรถประโยชน์ (Utility Software) นั่นเอง
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |