ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

7 สิ่งที่ควรทำ เมื่อใช้งานไดร์ฟ SSD บนระบบปฏิบัติการ Windows 10

7 สิ่งที่ควรทำ เมื่อใช้งานไดร์ฟ SSD บนระบบปฏิบัติการ Windows 10
ภาพจาก : https://flic.kr/p/9Ba32A
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 14,954
เขียนโดย :
0 7+%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3+%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F+SSD+%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3+Windows+10
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

7 สิ่งที่ควรทำ เมื่อใช้งานไดร์ฟ SSD บนระบบปฏิบัติการ Windows 10

แม้เราจะไม่มีตัวเลขที่แน่นอนมายืนยัน แต่คงไม่ผิดเท่าไหร่นัก หากเราจะกล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ใช้ ระบบปฏิบัติการ Windows 10 ส่วนใหญ่ จะเลือกใช้งาน อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ Solid-State Drive (SSD) แทนเทคโนโลยีเดิมอย่าง Harddisk Drive (HDD) กันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เลือกซื้อคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊คเครื่องใหม่ หรือจะเป็นการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ก็ตาม

บทความเกี่ยวกับ SSD อื่นๆ

ในระบบปฏิบัติการ Windows 10 ทาง Microsoft ผู้พัฒนาได้ใส่คุณสมบัติหลายอย่างที่สามารถช่วยให้ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติหลายอย่างไม่ได้ถูกตั้งค่าเปิดใช้งานเอาไว้เป็นค่าเริ่มต้น

นอกจากนี้แล้ว คุณสมบัติบางอย่างที่ในอดีตผู้ใช้ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD จำเป็นต้องปิดการทำงานของมันเอาไว้ ก็ไม่จำเป็นอีกแล้วในปัจจุบันนี้ และทั้งหมดที่ว่ามานี้ มีอะไรที่เราควรทำเมื่อใช้งาน อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD ? เชิญอ่านกันต่อได้เลย

เนื้อหาภายในบทความ

1. ปิดคุณสมบัติ Fast Startup

การ ปิดคุณสมบัติ Fast Startup อาจจะอ่านแล้วรู้สึกว่าขัดกับสัญชาตญาณของผู้ใช้ แบบ "เอ๊ะ ใช่เหรอ จริงดิ ?" เพราะตามคุณสมบัติการทำงานของมันแล้ว มันควรจะช่วยให้ขั้นตอนเริ่มระบบ หรือขั้นตอนการบูทเครื่อง (Boot Process) ทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้งานอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD

แต่ในการใช้งานจริง เวลา Fast Startup ช่วยลดไป แทบไม่เห็นผลสำหรับผู้ใช้งานอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD และถ้าหากคุณปิดการทำงานของมันเอาไว้ หมายความว่า คอมพิวเตอร์จะเริ่มระบบแบบ Clean Boot ทุกครั้งหลังจาก Shut Down (Fast Startup) จะเป็นการสั่งให้คอมพิวเตอร์เข้าโหมดพัก (Hibernation) แทนที่จะเป็นการปิดเครื่องอย่างสมบูรณ์)

อีกทั้ง Fast Startup ยังมีข้อเสียอื่นอีก เช่น การที่ผู้ใช้จำนวนมากพบว่า มันได้ผลตรงกันข้าม แทนที่จะทำให้บูตเริ่มระบบได้เร็วขึ้น กลับเป็นการทำให้คอมพิวเตอร์บูตช้าลงซะงั้น

วิธีปิดคุณสมบัติ Fast Startup

  • คลิก "ปุ่ม Start" พิมพ์ค้นหาว่า "Control Panel" แล้วคลิกเข้าไป
  • คลิกที่ "ไอคอน Power Options" 
  • ตรงเมนูฝั่งซ้ายมือ ให้คลิกที่ "เมนู Choose what the power buttons do"
  • คลิกที่ "เมนูย่อย Change settings that are currently unavailable"
  • ตรง "ช่อง ☑ Turn on fast startup (recommended)" ถ้ามี "เครื่องหมาย ✓" ติ๊กอยู่ ให้ติ๊กเอาออก
  • คลิก "ปุ่ม Save Changes"

ปิดคุณสมบัติ Fast Startup

ถ้าไม่มีตัวเลือก Fast Startup ?

Fast Startup จะมีต่อเมื่อเราเปิดใช้งานโหมด Hibernation เอาไว้ ในการเปิดโหมด Hibernation ให้เราคลิกขวาที่ "ปุ่ม Start" แล้วเลือก "Windows PowerShell (Admin)" พิมพ์คำสั่ง powercfg /hibernate on ลงไป แล้วเคาะ "ปุ่ม Enter" ครับ

2. อัปเดตเฟิร์มแวร์ของ SSD

เฟิร๋มแวร์เป็นซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่ง ที่ถูกเก็บอยู่ในหน่วยความจำแบบถาวร (Non-volatile memory) ของอุปกรณ์ อย่าง BIOS ที่อยู่ในเมนบอร์ดก็จัดเป็นเฟิร์มแวร์ชนิดหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นระบบปฏิบัติการขนาดเล็กที่ทำให้อุปกรณ์สามารถทำงานได้ ซึ่งใน อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD ก็มีเฟิร์มแวร์อยู่เช่นกัน

เพื่อรีดประสิทธิภาพการทำงานของ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD ออกมาให้ดีที่สุด การอัปเดตเฟิร์มแวร์ของมันก็เป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่การอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้กับ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD นั้น ไม่มีระบบอัตโนมัติให้มาในระบบปฏิบัติการ Windows นะ มันจะมีความซับซ้อนกว่าการอัปเดตซอฟต์แวร์ หรือไดร์เวอร์อยู่เล็กน้อย

ผู้ผลิต อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD แต่ละราย ต่างก็มีขั้นตอนการอัปเดตเฟิร์มแวร์แบบเฉพาะของตนเอง ดังนั้น เราจึงต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และดาวน์โหลดเฟิร์มแวร์สำหรับใช้ในการอัปเดตจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตเอาเอง

อย่างผู้เขียนใช้งาน อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD ของ Corsair ผู้ผลิตก็จะมีซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า CORSAIR SSD TOOLBOX ไว้ใช้สำหรับอัปเดตเฟิร์มแวร์ของ SSD ให้

อัปเดตเฟิร์มแวร์ของ SSD

ในกรณีที่จำไม่ได้ว่า อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD ที่ใช้งานอยู่เป็นรุ่นอะไร เราสามารถตรวจสอบรุ่นของ SSD ได้ด้วยโปรแกรมอย่าง CrystalDiskInfo

ดาวน์โหลดโปรแกรม CrystalDiskInfo ได้ที่ลิงก์

เงื่อนไขในการใช้งาน

  • ฟรี (FREE) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

อัปเดตเฟิร์มแวร์ของ SSD
ตัวอย่างในภาพ คือ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD รุ่น Force MP510 ของ Corsair

3. เปิดใช้งานคุณสมบัติ Advanced Host Controller Interface (AHCI)

Advanced Host Controller Interface (AHCI) เป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อการันตีว่าตัวระบบปฏิบัติการ Windows จะสนับสนุนคุณสมบัติทุกอย่างที่มาพร้อมกับ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD ได้อย่างแน่นอน คุณสมบัติที่สำคัญก็อย่างเช่น คุณสมบัติ TRIM

คุณสมบัติ TRIM จะทำให้ Windows สามารถช่วย อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD ให้ปฏิบัติการ "เก็บขยะ" โดยขยะในที่นี้จะหมายถึง "ข้อมูล" ที่เกิดขึ้นในขณะที่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD กำจัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานแล้ว

ในการเปิดใช้งานคุณสมบัติ AHCI เมนบอร์ดรุ่นใหม่ ๆ จะนิยมตั้งค่าเปิดใช้งานคุณสมบัตินี้เอาไว้ให้แล้ว ส่วนเมนบอร์ดรุ่นเก่าผู้ใช้ควรต้องเข้าไปตรวจสอบใน BIOS ของคอมพิวเตอร์ ว่า AHCI เปิดใช้งานไว้แล้วหรือยัง ซึ่งมันจะอยู่ตรงไหนสักแห่งในเมนูตั้งค่า BIOS เราไม่สามารถบอกตำแหน่งได้อย่างชัดเจน เพราะเมนบอร์ดแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ก็ออกแบบหน้าตาเมนู User Interface แตกต่างกันออกไป

โดยทางที่ดีควรเปิดใช้งานคุณสมบัติ AHCI ตั้งแต่ก่อนติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows นะครับ เพราะถ้ามาเปิดในภายหลังมันจะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากมากทีเดียว ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ทันที ต้องไปทำการแก้ไขค่าของไฟล์รีจิสทรี (Registry) เสียก่อน ไม่อย่างนั้น จะเจอปัญหา BSOD อย่างแน่นอน

เปิดใช้งานคุณสมบัติ Advanced Host Controller Interface (AHCI)
ภาพเมนู AHCI ใน BIOS ของ GIGABYTE
ที่มา https://www.tenforums.com/tutorials/22631-enable-ahci-windows-8-windows-10-after-installation.html

4. เปิดใช้งานคุณสมบัติ TRIM

คุณสมบัติ TRIM มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ SSD เป็นอย่างมาก เนื่องจากมันสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของมันให้ยาวนานยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

ตามปกติแล้ว ตัวระบบปฏิบัติการ Windows จะเปิดใช้งานคุณสมบัติ TRIM เอาไว้เป็นค่าเริ่มต้น แต่เพื่อความแน่นอน การไปตรวจสอบอีกทีก็ไม่เสียหาย ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • คลิกขวาที่ "ปุ่ม Start" แล้วคลิกเลือก "เมนู Windows Powershell (Admin)"
  • พิมพ์คำสั่งด้านล่างนี้ลงไป (สามารถคัดลอกไปวางได้)
    fsutil behavior set disabledeletenotify 0
  • หากข้อความที่ปรากฏขึ้นมาแจ้งว่า
    • DisableDeleteNotify = 0
      แสดงว่าคุณสมบัติ TRIM เปิดใช้งานเอาไว้แล้ว
    • DisableDeleteNotify = 1
      แสดงว่าคุณสมบัติ TRIM ยังไม่ได้เปิดใช้งานเอาไว้อยู่
  • ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า คุณสมบัติ TRIM ยังไม่ได้เปิดใช้งาน ให้เราพิมพ์คำสั่งด้านล่างนี้ลงไปครับ
    fsutil behavior set DisableDeleteNotify 0
    จากนั้นกด "ปุ่ม Enter" เท่านี้ก็เรียบร้อย

เปิดใช้งานคุณสมบัติ TRIM

5. ใช้งาน Windows Defragment หรือ Optimize Drive

ในยุคเริ่มต้นของเทคโนโลยี SSD การทำ Windows Defragment (ระบบจัดเรียงไฟล์) หรือ Optimize Drive (ระบบปรับแต่งไดร์ฟ) ให้กับ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD เพราะว่านอกจากจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นแล้ว ยังส่งผลเสียต่ออายุการใช้งานของ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD ด้วย เพราะการทำ Windows Defragment จะทำให้ตัวชิปเก็บข้อมูลเสียจำนวนรอบการ อ่าน/เขียน ของไดร์ฟไปโดยเปล่าประโยชน์

ซึ่งที่ว่าทั้งหมดนั้นมันก็เป็นเรื่องจริงนั่นแหละ แต่นั่น คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบปฏิบัติการ Windows รุ่นเก่าเท่านั้น

แต่ถ้าหากคุณใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 10 เมื่อไหร่ เมื่อมันตรวจสอบได้ว่าเป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ SSD มันจะทำการตรวจสอบ และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานแทน รวมไปถึงการ TRIM (ที่เรากล่าวไปเมื่อสักครู่) ตัวไดร์ฟให้ด้วย

สรุปง่าย ๆ ได้ว่าในระบบปฏิบัติการ Windows 10 เครื่องมือ Windows Defragment ได้ปรับปรุงให้ทำงานร่วมกับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD ได้อย่างเหมาะสมแล้ว หากสังเกตจะพบว่า Microsoft ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ปุ่ม Optimize" แล้วด้วย

ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ก็เปิดไว้เถอะไม่ต้องกังวล

วิธีเปิดใช้งาน Windows Defragment

  • เปิด File Explorer แล้วไปที่ This PC
  • "คลิกขวา" ที่ไดร์ฟตัวไหนก็ได้ แล้วเลือก "เมนู Properties"
  • คลิกที่แท็บ "เมนู Tools"
  • คลิกปุ่ม "Optimize"

ใช้งาน Windows Defragment หรือ Optimize Drive

  • ในหน้าต่างถัดมา สามารถคลิกเลือกไดร์ฟที่ต้องการปรับแต่ง (Optimize) ส่วนด้านล่างสามารถคลิกที่ "ปุ่ม Change settings" เพื่อตั้งเวลาให้มันปรับแต่ง ให้โดยอัตโนมัติได้ครับ ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน อะไรประมาณนั้น

ใช้งาน Windows Defragment หรือ Optimize Drive

6. ตั้งค่า Write Caching

อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD แต่ละตัวจะได้รับผลกระทบจากการตั้งค่า Write Caching ที่แตกต่างกันออกไป การจะรู้คำตอบว่าควรเปิดคุณสมบัตินี้เอาไว้ หรือปิดมันดี จำเป็นต้องใช้ โปรแกรมทดสอบและเปรียบเทียบมาตรฐานของประสิทธิภาพ (Benchmark Software) เข้ามาช่วย หากปิดแล้วผลทดสอบออกมาแย่กว่าเดิม ก็ให้เปิด Write Caching เอาไว้เหมือนเดิม แต่ถ้าปิดแล้วไดร์ฟทำงานเร็วขึ้น ก็ปิดมันไปได้เลย

วิธีตั้งค่า Write Caching

  • "คลิกขวา" ที่ "ปุ่ม Start" เลือก "เมนู Device Manager"
  • ไปที่ "เมนู Disk Drives" แล้ว "คลิกขวา" ที่ไดร์ฟ SSD ที่เราต้องการตั้งค่า Write Caching เลือก "เมนู Properties"

ตั้งค่า Write Caching

  • "คลิก" ที่ "แท็บเมนู Policies" ตามปกติตรง " ☑ Enable write caching on the device" จะมี
    "เครื่องหมาย ✓" ติ๊กเอาไว้อยู่

ตั้งค่า Write Caching

  • ให้เราลองทดสอบ Benchmark ด้วยโปรแกรมทดสอบไดร์ฟ เช่น โปรแกรม CrystalDiskMark (ฟรี) เพื่อดูผลลัพธ์การทำงานของมัน โดยควรทดสอบสัก 2-3 รอบนะครับ โดยที่ปิดโปรแกรมอื่นทั้งหมดด้วย
  • ของผู้เขียนเอง เมื่อเปิดแล้วอ่านข้อมูลช้ากว่าตอนปิด แต่ถ้าปิด จะสังเกตเห็นว่าความเร็วในการอ่านหายไปเยอะ เลยเลือกที่จะเปิด Write Caching ไว้เหมือนเดิม
เปิดค่า Write Caching
เปิด Write Caching
ปิดค่า Write Caching
ปิด Write Caching

7. เลือกใช้แผนจัดการพลังงานแบบประสิทธิภาพสูง (High Performance Power Plan)

อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล SSD จะใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงานอ่าน และเขียนข้อมูล เราอาจจะเจอกับ "อาการแลค" บ้างนิดหน่อย หากเราปล่อยคอมพิวเตอร์ให้ว่างงานทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง นั่นก็เพราะตัวระบบปฏิบัติการ Windows ลดอัตราการใช้พลังงานลงนั่นเอง

อาการแลคเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ สามารถแก้ได้ด้วยการเปลี่ยน แผนจัดการพลังงานให้เป็นแบบประสิทธิภาพสูง (High Performance) ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • คลิกขวาที่ "ปุ่ม Start" แล้วเลือก "เมนู Power Options" จากนั้นก็คลิกที่ "เมนู Additional Power Settings"
  • หน้าต่าง Power Options ก็จะเปิดขึ้นมา เราจะเห็นมีแผนให้เลือกใช้งานอยู่ 4 แผน คือ Balanced, Power Saver, High Performance และ Ultimate Performance
  • เลือกใช้งาน High Performance

แผนจัดการพลังงานแบบประสิทธิภาพสูง (High Performance Power Plan)

หากไม่มีแผนจัดการพลังงานแบบประสิทธิภาพสูง (High Performance) ให้เลือก ?

  • ให้เราคลิกที่ "เมนู Create a Power Plan" ทางด้านซ้ายมือ เลือก "เมนูย่อย High Performance"
  • ด้านล่างตรง Plan Name สามารถตั้งชื่อแผนการใช้พลังงานตามใจชอบ
  • จากนั้นให้คลิกที่ "ปุ่ม Next" แล้วมันจะถามเราว่าต้องการให้ปิดหน้าจอ และเข้าโหมด Sleep เมื่อถึงเวลาที่กำหนดหรือเปล่า หากไม่ต้องการก็ให้เลือก "ตัวเลือก Never" ครับ 
  • เมื่อตั้งค่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ให้กดที่ "ปุ่ม Create" เป็นอันเรียบร้อย

แผนจัดการพลังงานแบบประสิทธิภาพสูง (High Performance Power Plan)


และนี่ก็คือ เทคนิคการใช้งานไดร์ฟแบบ Solid-state drive (SSD) ที่เราได้นำมาฝากกันครับ


ที่มา : www.maketecheasier.com , docs.microsoft.com , en.wikipedia.org , recoverit.wondershare.com

0 7+%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3+%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F+SSD+%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3+Windows+10
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น