ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Geo-Blocking คืออะไร ? ทำไมบริการ Streaming เดียวกัน แต่ละที่ถึงไม่เหมือนกัน ?

Geo-Blocking คืออะไร ? ทำไมบริการ Streaming เดียวกัน แต่ละที่ถึงไม่เหมือนกัน ?
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/technology-background-vector-with-global-network-blue-tone_16268240.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 4,833
เขียนโดย :
0 Geo-Blocking+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3+Streaming+%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99+%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Geo-Blocking คืออะไร ?
ทำไมบริการ Streaming เดียวกันแต่ละที่ถึงไม่เหมือนกัน ?

เคยสงสัยไหมว่าทำไมบริการ Streaming ของประเทศต่าง ๆ จึงมีคอนเทนท์ที่แตกต่างกันออกไปทั้ง ๆ ที่เป็นบริการเดียวกัน ? ทำไมประเทศนี้ถึงดูเรื่องนี้ได้ ในขณะที่อีกประเทศหนึ่งดูไม่ได้กันล่ะ ? ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น Netflix ในประเทศแคนาดาและสหราชอาณาจักรนั้นมี Harry Potter ให้ดูกันแบบครบทุกภาค ในขณะที่ Netflix ในสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย (รวมไปถึงหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก) นั้นกลับไม่มี Harry Potter ให้ดูกันซักภาคเดียว

Geo-Blocking คืออะไร ?
ภาพจาก : https://www.flickr.com/photos/mikemacmarketing/36643427345

เพราะถ้าจะพูดถึงเรื่องของขอบข่ายการถือ "ลิขสิทธิ์" แล้ว Harry Potter ที่เป็นภาพยนตร์ดังจากค่าย Warners ก็น่าจะจำกัดการฉายแค่บนสตรีมมิงของ HBO อย่างเดียว ดังนั้น Netflix ของประเทศอื่น ๆ เองก็ไม่น่าจะได้รับ "สิทธิพิเศษ" ในการฉายตามไปด้วย หรือถ้าหากทาง Netflix จะซื้อลิขสิทธิ์การฉายมาไว้บน Netflix แล้ว ประเทศอื่น ๆ (โดยเฉพาะประเทศแม่ของบริการสตรีมมิงอย่างสหรัฐอเมริกา) เองก็ควรได้ดู Harry Potter ด้วยเหมือนกัน

แต่เนื่องจากการจำกัดการเข้าถึงคอนเทนท์ต่าง ๆ นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "การซื้อลิขสิทธิ์การฉาย" และ "บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์" เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันขึ้นอยู่กับนโยบายการใช้งาน Geo-Blocking ที่ประเทศนั้น ๆ ทำการตกลงกับบริษัทสตรีมมิงร่วมด้วย

เนื้อหาภายในบทความ

Geo-Blocking คืออะไร ?

Geo-Blocking นั้นเป็นเทคโนโลยีการจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ ผ่านเครือข่าย อินเทอร์เน็ต (Internet) ที่ขึ้นอยู่กับ "พื้นที่ที่ผู้ใช้งานนั้นอาศัยอยู่ (Geographical Location)" เป็นตัวกำหนดการเข้าถึงหรือปิดกั้นเนื้อหาภายในเว็บไซต์นั้น ๆ และโดยส่วนมากแล้ว Geo-Blocking นั้นจะใช้ หมายเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ของผู้ใช้ในพื้นที่นั้น ๆ เป็นตัวกำหนดและจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ นั่นเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม : ตรวจสอบหมายเลขที่อยู่ไอพีของคุณ ได้ที่นี่ (Check your IP Address here !)

Geo-Blocking คืออะไร ?
ภาพจาก : https://www.vpnadept.com/what-is-geo-blocking/

หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ แล้ว Geo-Blocking ก็เปรียบได้กับการ "จำกัดการใช้งานหรือการเข้าถึง" เว็บไซต์ต่าง ๆ คล้ายกับที่ทางโรงเรียน ที่มีการปิดกั้น หรือ บล็อก Facebook และ Twitter เพื่อไม่ให้นักเรียนแอบเล่นในคาบคอมพิวเตอร์ หรือบางบริษัทเองก็มีนโยบายการบล็อก สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย (Social Media) บางประเภทในที่ทำงาน จนทำให้พนักงานไม่สามารถที่จะ "อู้งาน" มาเล่นโซเชียลฯ ได้เลย แต่สเกลการเข้าถึงเว็บไซต์หรือคอนเทนท์ต่าง ๆ ของ Geo-Blocking นั้นจะเป็น "ระดับประเทศ" ไปจนถึงระดับทวีปเลยทีเดียว

ดังนั้นหลาย ๆ ครั้งที่เราเข้า YouTube ไปเพื่อที่จะดูเอ็มวีเพลงใหม่ของศิลปินคนโปรดจากญี่ปุ่นก็มักจะเข้าไปแล้วเจอกับคำว่า "Video Unavailable" และ "The uploader has not made this video available in your country" ที่เห็นทีไรก็ปวดใจทุกทีกับการเป็นคนนอกเกาะ เพราะทางบริษัทต้นสังกัดของญี่ปุ่นส่วนมากจะสงวนการมองเห็นและเข้าถึงบริการเพลงเอาไว้แค่ในประเทศของตนเองเท่านั้น (ถึงตอนนี้จะดีกว่าแต่ก่อนแล้ว แต่บางค่ายที่กดเข้ม ๆ อย่าง Johnny เองก็ยังมีคลิปที่ไม่สามารถดูได้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว)

Geo-Blocking คืออะไร ?
ภาพจาก : https://www.avast.com/c-geoblocking#gref

ทำไมถึงต้องมี Geo-Blocking ?

การใช้งาน Geo-Blocking นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือ การใช้งานโดยภาครัฐ และภาคเอกชน

รัฐบาลกับ Geo-Blocking

รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ นั้นสามารถกำหนดนโยบายการใช้งานและเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ของประชาชนในประเทศผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider - ISP) ว่าจะปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มองว่าเป็นอันตรายและอาจเป็นภัยคุกคามของรัฐบาลได้ (อย่างช่วงที่ผ่านมาในประเทศไทยก็มีการสั่งแบน เว็บไซต์ PornHub กับเว็บ Change.org ไป)

หรืออีกตัวอย่างการใช้งาน Geo-Blocking ของภาครัฐที่ชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้นใน "ประเทศจีน" ที่ทางรัฐบาลทำการควบคุมและจัดการการเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการบล็อกบริการ และเว็บไซต์ต่างประเทศที่ไม่ได้พัฒนาขึ้นจากผู้พัฒนาชาวจีน เช่น Google, YouTube, Netflix, Disney+ และบริการต่าง ๆ ที่ต่างประเทศเป็นผู้ผลิตขึ้นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงในประเทศจีน

ข้อมูลเพิ่มเติม : เปรียบเทียบ Netflix, HBO GO, Disney+ ใช้บริการ สตรีมมิ่ง ดูหนัง ดูซีรีส์ออนไลน์ เจ้าไหนดี ?

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้คนจีนต้องใช้งานบริการความบันเทิงต่าง ๆ ที่รัฐบาลอนุญาตให้เข้าถึงได้เท่านั้น และถึงแม้ว่าจะมีการฉายหนังต่างประเทศในโรงหนังประเทศจีน แต่ในบางครั้งก็มีการ "ตัดฉาก" ออกไปบางส่วนเพราะรัฐบาลต้องการที่จะคัดกรองเนื้อหาอย่างละเอียด หรือบางเรื่องก็มีการ "สั่งแบน" ไม่ให้เข้าฉายในประเทศจีนด้วย

ทำไมถึงต้องใช้งาน Geo-Blocking ?
ภาพจาก : https://www.reddit.com/r/memes/comments/bo6nvh/banned_in_china/

แต่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ก็ไม่ได้ "สั่งปิด" เว็บตามใจชอบเท่านั้น เพราะ Geo-Blocking นี้ยังมีไว้เพื่อให้ "กลุ่มธุรกิจ" สามารถทำการค้าขายได้อย่างสะดวกและไม่เกิดการ "ข้ามหัว" กันระหว่างบริการต่าง ๆ เช่น ประเทศที่มีการจดโดเมนเว็บไซต์ Amazon เป็นของตัวเองอย่างสหรัฐอเมริกา, อินเดีย หรือญี่ปุ่นนั้นจะไม่สามารถใช้งานบริการ Amazon ของประเทศอื่นได้นอกเหนือจากของประเทศตัวเอง ทำให้กลุ่มธุรกิจในประเทศนั้น ๆ สามารถคงอยู่ได้โดยไม่ถูกผู้บริโภคหัวใสกดสั่งของข้ามทวีปในราคาที่ถูกกว่ามาส่งหน้าบ้านได้ เพราะมีการป้องกันการเข้าถึงเว็บไซต์ของประเทศอื่นอยู่นั่นเอง (หรือบางเว็บก็อาจจะเข้าถึงได้แต่ไม่มีบริการส่งข้ามประเทศ)

Geo-Blocking กับบริษัทเอกชน

นอกเหนือไปจากผู้ที่มีอิทธิพลหลักกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนในประเทศอย่างรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ แล้ว อีกเหตุผลที่ทำให้เกิดการใช้งาน Geo-Blocking บนพื้นที่ต่าง ๆ นั้นก็ได้แก่ "ข้อตกลงทางด้านลิขสิทธิ์" ที่บริษัททำการตกลงกันเอาไว้ เช่น การถ่ายทอดสดกีฬาประเภทต่าง ๆ ที่บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทำการตกลงเอาไว้กับบริษัทคู่ค้า ทำให้ "ผู้สมัครใช้บริการ" สามารถดูกีฬานั้น ๆ ได้อย่างถูกลิขสิทธิ์ผ่านผู้ให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย (เช่น BeIN Sport หรือ True Vision เป็นต้น)

ทำไมถึงต้องใช้งาน Geo-Blocking ?
ภาพจาก : https://www.lawinsport.com/media/zoo/images/sports_streaming_449e0cf8da6df1f1034be4539e294b01.jpg

ไม่เพียงเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นบริการเดียวกัน แต่บริษัทต่าง ๆ ก็สามารถ "จำกัดการซื้อลิขสิขสิทธิ์" ในบางประเทศได้ เช่น เราจะสังเกตได้ว่าบริการสตรีมมิงที่ให้บริการในประเทศไทยส่วนมากจะมี "หนังไทย" ให้ผู้ที่สนใจสามารถเลือกดูได้แบบจุใจ แต่คนไทยในต่างประเทศที่สมัครใช้บริการเดียวกันนั้นจะ "ไม่สามารถดูหนังไทย" ได้เหมือนกับที่ประเทศไทย นั่นก็เพราะบริษัทสตรีมมิงได้ทำการตกลงกับบริษัทหนังของประเทศไทยเอาไว้ว่าจะขอซื้อลิขสิทธิ์หนังมาไว้บนสตรีมมิงของตนเองในประเทศไทยเท่านั้น

ดังนั้นการที่ Netflix ในแคนาดาและสหราชอาณาจักรสามารถดู Harry Potter ได้นั้นก็เป็นเพราะทาง Netflix ของประเทศนั้น ๆ ได้ทำการซื้อลิขสิทธิ์ของ Harry Potter มาไว้บน Netflix ที่ให้บริการในประเทศนั้น ๆ ในขณะที่ Netflix ประเทศไทยไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์ Harry Potter มาไว้บนสตรีมมิงของตนเองได้เพราะตัวหนังได้ "ติดสัญญา" กับบริษัทแม่อย่าง HBO GO ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทาง HBO ก็ปฏิเสธที่จะขายลิขสิทธิ์เพิ่มกับทาง Netflix เพราะต้องการดึงกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นแฟน Harry Potter ในประเทศไทยให้มาสมัครใช้บริการของตนเองนั่นเอง

ทลายกำแพง Geo-Blocking

ถึงแม้ว่าภาครัฐจะพยายามคัดกรองการเข้าชมเนื้อหาต่าง ๆ หรือการค้าระหว่างประเทศ แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้บริษัทตัวกลางที่เป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการสามารถ "อยู่ได้" เสมอไป เพราะเมื่อไม่มีบริการส่งของข้ามประเทศก็ทำให้เกิดธุรกิจใหม่อย่างการ "รับหิ้วของ" ที่ทำกำไรให้กับผู้รับหิ้วไปแทนที่จะเป็นการซื้อขายผ่านบริษัทตัวแทนโดยตรงแทน

ส่วนการใช้งานสตรีมมิงก็อย่างที่หลาย ๆ คนทราบกันดีว่ามีบริการเว็บไซต์ดูหนังและสตรีมกีฬาเถื่อนที่มักพ่วงมากับเว็บพนัน ทำให้แทนที่เงินจะเข้ากระเป๋านายทุนเจ้าของบริการก็กลับไปสร้างรายได้ให้กับเว็บพนันหรือเว็บเถื่อนจากยอดการเข้าใช้งานเว็บแทน

หรืออีกวิธีหนึ่งที่ทำให้สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นจากผู้ให้บริการได้ก็คงหนีไม่พ้น การมุด VPN ที่ทำให้การท่องโลกอินเทอร์เน็ตนั้นสะดวกสบายขึ้นเมื่อ "ไร้กำแพงกั้น" จากรัฐบาลและบริษัทเอกชนต่าง ๆ ทำให้เราสามารถแอบดูซีรีส์ที่เข้าฉายเฉพาะในบางประเทศผ่านบริการ VPN ได้อย่างสะดวกสบาย แต่บริการ VPN ในประเทศไทยนั้นถึงแม้จะไม่ได้มีกฎแบนห้ามใช้งานเหมือนกับประเทศจีน, รัสเซีย หรือพม่า แต่ก็ไม่ได้มีกฎระบุเช่นกันว่าการใช้งาน VPN นั้น "ถูกกฎหมาย" ในประเทศไทยเหมือนกับในสหรัฐอเมริกา

พังกำแพง Geo-Blocking
ภาพจาก : https://www.top10vpn.com/images/2021/04/how-does-vpn-work-diagram.png

ดังนั้นการพังกำแพง Geo-Blocking ที่เป็น "วงการสีเทา ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี" นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเท่าไรนัก แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ในบางครั้งแต่ทางที่ดีเลือกสนับสนุนผู้ให้บริการอย่างเป็นทางการภายในประเทศน่าจะดีกว่า โดยเฉพาะกับบริการสตรีมมิงต่าง ๆ ที่ราคารายเดือนไม่ได้ "เกินเอื้อม" จนเกินไป เพราะการใช้บริการเว็บไซต์เถื่อนที่มักจะพ่วงมากับเว็บพนันก็ทำให้หลาย ๆ คนที่อยากรู้อยากลองเสียทรัพย์สินกันไปไม่น้อยจากการแทงบอลและการเล่นบาคาเร่ในเว็บเถื่อนต่าง ๆ 


ที่มา : www.howtogeek.com , www.eccireland.ie , en.wikipedia.org , www.stalawfirm.com , www.avast.com

0 Geo-Blocking+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3+Streaming+%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99+%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น