ช่วงหลายปีมานี้เราน่าจะได้เห็นกระแสของการรณรงค์ช่วย "ลดโลกร้อน" ในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมาทั้งการรณรงค์งดและลดใช้งานพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) จำพวกหลอดดูดน้ำ, กล่องใส่อาหาร หรือถุงพลาสติก เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้เอง จึงก่อให้เกิดเป็นไอเดียการผลิต "ไอเทมลดโลกร้อน" เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลอดกระดาษ (ที่ดื่มยังไม่ทันจะหมดแก้วก็คอพับคออ่อน หรือบางทีก็มีรสแปร่ง ๆ ติดมาด้วย), หลอดพลาสติก/หลอดแก้ว, ช้อน-ส้อมส่วนตัว, ถ้วยอนามัย, เครื่องใช้จำเป็นที่ใช้งานไม้ไผ่แทนบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ รวมไปถึงถุงผ้าที่กลายเป็นของจำเป็นติดตัวเวลาไปช้อปปิ้งซื้อของในห้างร้านต่าง ๆ กันเป็นที่เรียบร้อยเพราะมีการประกาศ ลด ละ เลิก แจกและใช้งานถุงพลาสติกกันไปเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
และแน่นอนว่าหากใครลืมพกถุงผ้ามาทางห้างก็มักจะมีถุงพลาสติกหรือถุงผ้าสปันปอนด์จำหน่ายไว้ข้างแคชเชียร์อยู่เสมอ (หรือที่ไหนใจดีหน่อยก็มีลังกระดาษให้บริการฟรี)
ภาพจาก : https://earthbits.com/blogs/earthbits/100-eco-friendly-products-to-live-a-plastic-free-sustainable-and-zero-waste-lifestyle
นอกเหนือไปจากการงดแจกถุงพลาสติกและรณรงค์ให้หันมาใช้งานถุงผ้ากันมากขึ้นแล้ว อีกกระแสหนึ่งที่มาแรงไม่แพ้กันก็ได้แก่ "การใช้รถอีโคคาร์ (Eco-car)" หรือรถยนต์รุ่นประหยัดพลังงานที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอากาศได้มากกว่ารถยนต์ทั่วไป
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและมองข้ามไปไม่ได้เลยก็ได้แก่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EVs (Electric Vehicles) ที่ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์และระบบต่าง ๆ ของตัวรถ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพา "น้ำมัน" ที่เมื่อเผาไหม้แล้วจะก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ทำให้กระแสการใช้งานรถ EVs นี้เริ่มมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนหลายประเทศถึงกับสั่งห้ามขายรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงกันเลยทีเดียว ?
แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายมากนัก เพราะนอกจาก "ราคา" ของตัวรถจะสูงแล้ว อีกปัญหาที่พบตามมาคือ "จุดชาร์จ" ไม่เพียงพอ เพราะเมื่อเทียบกับปั๊มน้ำมันในประเทศไทยแล้ว สถานีไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถ EVs นั้นน้อยกว่าหลายสิบเท่า และส่วนมากเราก็มักจะเห็นเจ้าพวกสถานีไฟฟ้านี้ในห้างสรรพสินค้าชื่อดังต่าง ๆ (จนบางทีแอบนึกอยากได้รถ EVs ขึ้นมาเพราะไม่ต้องวนหาที่จอดให้ลำบาก แถมได้ชาร์จไฟรถไปในตัวด้วย) และไม่ค่อยพบเห็นสถานีไฟฟ้าภายนอกห้างมากเท่าไรนัก ต่างจากในประเทศแถบตะวันตกที่มีสถานีชาร์จรถไฟฟ้าให้ ค้นหากันบน Google Maps ได้ง่าย ๆ และกระจายตัวค่อนข้างถี่เมื่อเทียบกับในประเทศไทย
ภาพจาก : shorturl.at/sSTY1, shorturl.at/yDSW1 และ https://unsplash.com/photos/O2JsA_nz4pQ
ดังนั้นเมื่อกระแสการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศที่จัดได้ว่า "ค่อนข้างป๊อป" เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว สิ่งที่คนถามหาตามมาก็ได้แก่ เครื่องบินพลังงานไฟฟ้า (Electric Airplane) นั่นเอง เพราะการโดยสารด้วยเครื่องบินในปัจจุบันนี้ก็ยังใช้งานพลังงานน้ำมันเหมือนกับครั้งที่มันเริ่มผลิตขึ้นมาเมื่อหลายร้อยปีก่อนอยู่ดังเดิม จึงเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าทำไมถึงไม่มีการพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาบ้างล่ะ ?
เพราะถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการบินจะทำให้การไปมาหาสู่กันเป็นเรื่องง่ายดายขึ้น แต่มันก็ทำร้ายโลกด้วยการปล่อยมลพิษจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยจากการสำรวจพบว่าในปี พ.ศ. 2019 (ค.ศ. 2561) มีมลพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากท่อไอเสียของเครื่องบินบนอากาศราว 1 พันล้านตัน ซึ่งนับเป็น 2.5% ของมลพิษทั่วโลก หรือเกือบเทียบเท่าการปล่อยมลพิษในอากาศของทวีปอเมริกาใต้ทั้งทวีปเลยทีเดียว !
ภาพจาก : https://ourworldindata.org/co2-emissions-from-aviation
ดังนั้นในยุคที่มีการพัฒนาของเทคโนโลยีไปไกลและผู้คนต่างตระหนักเกี่ยวกับผลของการเกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้นเช่นนี้ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราจะได้มีโอกาสเห็นเครื่องบินพลังงานไฟฟ้ากันอย่างแน่นอน แต่คำถามที่ตามมาคือ "เมื่อไร" เราถึงจะได้มีโอกาสนั่งเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าไปเที่ยวที่ต่าง ๆ กันล่ะ ?
แนวคิดเรื่องการพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ราวช่วงปลายศตวรรษที่ 18 แล้ว เพราะหากย้อนกลับไปแล้วก็จะพบว่าเคยได้มีการทดลองนำเอาพลังงานไฟฟ้ามาใช้ร่วมกับเครื่องบินรบในฝรั่งเศส แต่มันก็ประสบปัญหาอย่างที่หลาย ๆ คนน่าจะเดาออกนั่นก็คือ "พลังงานไม่เพียงพอ" เพราะแบตเตอรีที่ใช้งานในยุคนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากเพื่อพาเครื่องขึ้นบินได้นั่นเอง
ต่อมาเมื่อมีการคิดค้นและพัฒนาแบตเตอรีแบบ Nickel-cadmium ที่สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นจากเดิมก็ได้นำเอามาทดสอบใช้งานกับเครื่องบิน แต่ผลก็ปรากฎว่ามันสามารถบินได้ไม่ถึง 15 นาทีเท่านั้น
หลายปีต่อมาราวช่วง ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) ได้มีการคิดค้นแบตเตอรีแบบ Lithium-ion ขึ้นมา ซึ่งด้วยแบตเตอรีชนิดนี้ก็ทำให้มันสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าเดิมหลายเท่า (แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อเครื่องบินอยู่ดี) และมันยังมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนทำให้นอกเหนือไปจากแบตเตอรีแบบ Lithium-ion แล้วก็เกิดเป็นแบตเตอรีแบบ LCO (Lithium Cobalt Oxide) ที่สามารถจุพลังงงานได้ราว 150-200 วัตต์-กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแบตเตอรีแบบ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) ที่จุพลังงานได้ราว 150-220 วัตต์-กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งพูดตามตรงแล้วมันก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริงมากพอสมควรเลย
ภาพจาก : https://batteryuniversity.com/article/bu-205-types-of-lithium-ion
เพราะจากการวิเคราะห์ก็สามารถคำนวณคร่าว ๆ ได้ว่ามันน่าจะต้องใช้พลังงานราว 800 วัตต์-ชั่วโมงต่อกิโลกรัมเพื่อให้เครื่องขึ้นบินได้ และเมื่อรวมถึงพลังงานจำเพาะของตัวเครื่องแล้วเราอาจต้องใช้งานพลังงานถึง 12,000 วัตต์-ชั่วโมงต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าจะนำเอามอเตอร์และตัวถังน้ำมันที่มีน้ำหนักคร่าว ๆ ราว 1,000 ปอนด์ (หรือประมาณ 453.6 กิโลกรัม) ออกไปจากตัวเครื่องบินและแทนที่ด้วยมอเตอร์ระบบไฟฟ้าที่มีเบากว่ากันค่อนข้างมากแล้ว แต่ "แบตเตอรีไฟฟ้า" จำนวนมากที่จะต้องใช้เพื่อทำให้เครื่องติดได้นั้นก็กินน้ำหนักไปมากกว่าเครื่องบินระบบน้ำมันอยู่มากโข
นอกจากนี้เรายังไม่สามารถที่จะใช้วิธีการแวะจอดชาร์จไฟตามรายทางเหมือนรถยนต์ไฟฟ้าได้อีกด้วย เพราะโดยปกติแล้วเครื่องบินนั้นมีเวลาขึ้นบินและลงจอดที่เป็นเวลา (ถ้าไม่เปิดปัญหาอื่นแทรกซ้อนที่ทำให้ดีเลย์) แม้ว่าจะสามารถบวกเวลาชาร์จไฟตามสถานีไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อคำนวณเวลาถึงที่หมายได้ก็ตาม แต่หากแจ็กพอตไฟฟ้าหมดเอากลางทะเลก็เป็นอันจบเกม
ในเมื่อการใช้งานพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรีนั้นมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก จึงได้มีการทดลองพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าที่นำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน โดยในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ได้มีการทดลองบินของ Solar Impulse 2 หรือเครื่องบินที่ใช้การดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์บนแผงโซลาร์เซลล์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ด้วย และมันก็สามารถบินรอบโลกได้สำเร็จภายในเวลา 16 เดือน ด้วยความเร็วราว 28 - 34 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่แน่นอนว่าด้วยความเร็วอืดอาดเป็นเต่าคลานแบบนี้ก็คงไม่มีใครปลื้มและอยากโดยสารด้วยเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์นี้อย่างแน่นอน (นอนหลับไปสิบตื่นจากดอนเมืองยังไม่ถึงเชียงใหม่เลย)
ภาพจาก : https://knowledge.ulprospector.com/4541/polymers-aiding-solar-impulse-2s-round-world-adventure/ และ shorturl.at/oMYZ1
น่าเสียดายที่ถึงแม้พลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถพาเครื่องขึ้นบินได้และลอยลำได้เป็นเวลานาน แต่ด้วยความเชื่องช้าของมันก็ไม่น่าปลื้มใจนัก ดังนั้นจึงต้องพับเก็บโครงการนี้ไปชั่วคราวก่อนและวนกลับมาที่การพัฒนาแบตเตอรีกันอีกรอบ โดยทางสถาบัน MIT (Massachusetts Institution Technology) ได้พัฒนาแบตเตอรีชนิดใหม่อย่าง PILs (Polymer Ionic Liquids) เป็นตัวกักเก็บพลังงานที่สามารถจุพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นแล้วก็ตาม
แต่มันก็ยังติดปัญหาเดิมอยู่ที่ "ขนาดและน้ำหนัก" ของแบตเตอรีที่มากเกินกว่าจะรับไหว เพราะถ้าตัวแบตเตอรีมีขนาดใหญ่แล้วก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะไปเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวเครื่องอย่างแน่นอน (ยังไม่นับน้ำหนักของผู้โดยสาร, พนักงานบนเครื่องบิน และสัมภาระโดยรวมอีกนะ !)
ดังนั้นมันจึงเป็น "งานยาก" ไม่น้อยเลยสำหรับการผลิตเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าที่สามารถใช้โดยสารได้จริง แต่หากลดสเกลลงมาหน่อยเป็นจำพวกเครื่องบินส่วนตัว (Private Jet) หรือเฮลิคอปเตอร์ และยานบินไฟฟ้าที่มีจำนวนที่นั่งอย่างจำกัดแล้วละก็น่าจะพอมีหวังขึ้นมาหน่อย เพราะมันน่าจะสามารถทำการบินในระยะสั้นได้อย่างไร้ปัญหา อีกทั้งด้วยตัวเครื่องที่เล็กกว่าก็ทำให้ไม่ต้องใช้งานแบตเตอรีมากจนทำให้น้ำหนักของตัวเครื่องโอเวอร์โหลดจนบินไม่ขึ้น
ภาพจาก : https://mazonluis.com/Wallpaper-Magazine-Electric-Dreams
อันที่จริงแล้วแนวคิดเรื่องยานบินไฟฟ้าขนาดเล็กนี้ก็เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว แถมมันยังไปไกลถึงขั้นที่ว่าทางบริษัทผลิตโดรนเจ้าดังจากเยอรมนีอย่าง Lilium ได้วางแผนจะเปิดบริการ "Flying Taxi" หรือแท็กซี่รับ-ส่งผู้โดยสารด้วยยานบินไฟฟ้าที่ได้เปิดตัว Prototype ออกมาตั้งแต่ราวช่วงปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) แล้ว และในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ก็ผ่านเกณฑ์การรับรองความปลอดภัยในการใช้งานจากทั้งทวีปยุโรปและอเมริกาแล้วอีกด้วย
โดยยาน Prototype ของ Lilium นี้มีจำนวน 5 ที่นั่ง และจากการทดลองบินก็พบว่ามันสามารถขึ้นบินในระยะ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้อย่างไร้ปัญหา แต่ทางบริษัทก็ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดสามารถสร้างยานบินขนาด 7 ที่นั่งขึ้นมาได้สำเร็จ และจากแผนการตลาดของบริษัทก็ระบุว่าจะพร้อมเปิดบริการในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2569)
อีกทั้งทางบริษัท Archer Aviation จากทางสหรัฐอเมริกาเองก็ได้ออกมาประกาศในช่วงเดือนมิถุนายนของปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) นี้ว่าทางบริษัทเตรียมจะเปิดบริการ "Flying Taxi" ขึ้นภายในรัฐ Los Angeles และ Miami ของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรกในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2569) นี้ด้วยเช่นกัน ! แต่สำหรับ Prototype ของทาง Archer นั้นยังมีเพียงแค่ 2 ที่นั่งเท่านั้น ไม่แน่ว่าพอใกล้ ๆ เปิดตัวแล้วอาจทำการพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่านี้ก็เป็นได้
คาดว่าในอนาคต (อันใกล้) นี้ เทรนด์ของ "Flying Taxi" อาจเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองก็เป็นได้ เพราะการโดยสารด้วยรถบนท้องถนนที่ติดยาวเป็นชั่วโมง ๆ ก็ไม่น่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของหลาย ๆ คนเท่าไรนัก หากมีบริการแท็กซี่ลอยฟ้าก็น่าจะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางและช่วยให้ชีวิตหลยคนง่ายขึ้นไม่น้อย (ซึ่งแน่นอนว่าค่าซื้อเวลาและบริการของ Flying Taxi นั้นก็น่าจะแพงมหาโหดจนไม่น่าก่อให้เกิดปัญหาการจราจรขึ้นมาในเร็ว ๆ นี้หรอก)
แม้ว่าหลายบริษัทจะหันไปผลิตยานบินไฟฟ้าขนาดเล็กเพราะความสะดวกในการผลิตที่มากกว่าเครื่องบินขนาดใหญ่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ละความพยายามในการผลิต เครื่องบินพลังงานไฟฟ้า แต่อย่างใด เพราะล่าสุดในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ทางมหาวิทยาลัย Stanford ก็ได้ตีพิมพ์เอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับแบตเตอรีชนิดใหม่อย่าง Li-S (Lithium-sulphur) ที่จุพลังงานได้ราว 470 วัตต์-ชั่วโมงต่อกิโลเมตรขึ้นมา ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มมีความหวังกับเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ (ปัจจุบันได้มีการนำเอาแบตเตอรีแบบ Li-S ไปใช้งานร่วมกับรถ EVs แล้วด้วย)
แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องของน้ำหนักตัวเครื่อง แบตเตอรี และส่วนประกอบอื่น ๆ ของเครื่องบินอีกมากมายแล้วก็น่าจะต้องทำใจรอกันเอาไว้เลยว่ามันไม่น่าจะมีเครื่องบินที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากและเดินทางได้ในระยะไกลได้เท่าเทียมกับเครื่องบินที่ใช้พลังงานน้ำมันที่มีตัวจุถังน้ำมันขนาดใหญ่ เพราะด้วยตัวโครงสร้างของเครื่องบินแล้วการที่จะสามารถเดินทางได้ไกลและรองรับผู้โดยสารจำนวนมากได้นั้นก็ต้องมีตัวเครื่องและแบตเตอรีขนาดใหญ่ที่รังแต่จะเพิ่มขนาดและน้ำหนักให้กับตัวเครื่อง อีกทั้งมันยังต้องต้านแรงโน้มถ่วงโลกให้สามารถลอยบนฟ้าได้อีกด้วย ต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งฉิวไปบนท้องถนนได้อย่างง่ายดาย
อย่างไรก็ตาม อนาคตของเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินเอื้อมมากเกินไปนัก เพราะทางบริษัท Wright Electric ได้ออกมาประกาศว่าจะเปิดตัว "เครื่องบินพลังงานไฟฟ้า BAe 146" ที่รองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 100 คน และสามารถบินในระยะทางสูงสุดที่ 460 ไมล์ (ราว 740 กิโลเมตร) ได้ภายในปี ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569) นี้อีกด้วย ! (บางสำนักข่าวก็แจ้งว่าพร้อมบินในปี ค.ศ. 2027 (พ.ศ. 2570) แต่ในที่นี้จะขออิงจากเว็บไซต์ของบริษัทที่แจ้งเอาไว้บน Roadmap อย่างชัดเจน)
ภาพจาก : https://www.weflywright.com/
โดยทาง Wright Electric ระบุว่าพวกเขาจะใช้งาน "ระบบเครื่องยนต์แบบพิเศษ" ที่สามารถรองรับกำลังไฟได้ถึง 2 Megawatts (2,000 วัตต์) อีกทั้งยังมีขนาดตัวมอเตอร์และน้ำหนักที่น้อยกว่าและมีระบบระบายความร้อนที่ดีกว่าเครื่องบินแบบทั่ว ๆ ไปในแบบฉบับของทาง Wright Electric เอง และสำหรับเครื่องบิน BAe 146 นี้คาดว่าจะใช้เครื่องยนต์ทั้งหมดจำนวน 4 ตัวเครื่อง
แต่นอกเหนือไปจาก BAe 146 แล้ว Wright Electric ยังออกมาประกาศเพิ่มอีกว่าพวกเขาตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดตัวเครื่องบินพลังงานไฟฟ้า Wright 1 ที่ขยายพื้นที่ห้องโดยสารมากขึ้นจากเดิมจนสามารถจุผู้โดยสารได้ราว 186 คน (ใช้เครื่องยนต์ 10 ตัวเครื่องด้วยกัน) และสามารถขึ้นบินได้ในระยะทางราว 1,280 กิโลเมตรภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) พร้อมดึงพาร์ทเนอร์อย่างสายการบินจากสหราชอาณาจักรอย่าง EasyJet และ VivaAerobus สายการบินสัญชาติเม็กซิกันมาเข้าร่วมพัฒนาโปรเจคนี้ด้วย !
ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องบินพลังงานไฟฟ้าของทาง Wright Electric นั้นไม่ได้ใช้งานเทคโนโลยีแบตเตอรี Li-S ที่ทาง Stanford พัฒนาขึ้นมาใหม่อีกด้วย ดังนั้นเราก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นเครื่องบินพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ๆ ที่นำเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานเพิ่มเติมอีกในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ในตอนนี้ก็คาดว่าเราน่าจะต้องรอต่อไปอีกสักระยะหนึ่งก่อนที่จะได้เห็นเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าเจ้าอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือถ้าหากว่ามีการผลิตเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้จริงเหมือน ๆ กับรถยนต์ไฟฟ้าแล้วละก็ อุตสาหกรรมการบินก็คงเพิ่มความคึกคักขึ้นมาอีกไม่น้อย แต่ในเรื่องของ "ราคาค่าตั๋วเครื่องบิน" สำหรับเครื่องบินพลังงานไฟฟ้าที่จำกัดระยะการเดินทางมากกว่าเครื่องบินพลังงานน้ำมันนั้นจะมีราคาต่างกันมากหรือไม่ ? และจะมีผู้โดยสารจำนวนเท่าไรกันที่จะยอมจ่ายค่าตั๋วเพื่อช่วยลดโลกร้อนแต่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของตนเองเพื่อไปถึงยังจุดหมายเดียวกันกับเครื่องบินรูปแบบทั่วไปที่ใช้งานกันอยู่ในทุกวันนี้ ?
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |