ในช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้น ๆ ลง ๆ (แต่ส่วนใหญ่จะขึ้นเสียมากกว่า) หลาย ๆ คนก็เริ่มมองหาทางเลือกใหม่ในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งถ้าใครอยู่ในช่วงการตัดสินใจ “ซื้อรถ” แล้วละก็ รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV Car (Electric Vehicle Car) ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ยกมาพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะการใช้งาน “พลังงานทดแทน” อย่างไฟฟ้าแทนน้ำมันหรือแก๊สนั้นก็ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย (ด้านเชื้อเพลิง) ในระยะยาวไปได้ไม่น้อย
ภาพจาก : https://www.vecteezy.com/vector-art/5482547-electric-energy-vs-petrol-oil
แต่การเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้านอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องปัจจัยสำคัญอย่าง “ราคา” หรืองบประมาณสำหรับตัวรถที่เราตั้งเอาไว้แล้ว หลาย ๆ คนก็ยังมีข้อสงสัยและความกังวลเกี่ยวกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นเราจึงทำการรวบรวมคำตอบขอคำถามยอดฮิตมาไว้ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวช่วยในการพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ
ผู้ผลิตรถไฟฟ้าส่วนมากมักจะระบุระยะการวิ่งต่อการชาร์จเอาไว้ให้เป็นตัวเลือกพิจารณาและตัดสินใจ โดยมีเกณฑ์มาตรฐานการวิ่งสูงสุดที่ราว 200 ไมล์ (322 กิโลเมตร) ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง หรือหากเป็นแบรนด์ยอดนิยมติดอันดับอย่าง Tesla ก็สามารถวิ่งได้ระยะทางเฉลี่ยสูงสุดถึง 300 - 400 ไมล์ (483 - 644 กิโลเมตร) เลยทีเดียว แต่การใช้งานจริงอาจวิ่งได้ระยะทางมากหรือน้อยกว่าที่ระบุ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการขับขี่ (Driving Behaviour), ความเร็ว (Speed), สภาพอากาศ (Weather Condition) และพื้นผิวถนน (Road Surface) ที่ใช้วิ่งร่วมด้วย
ภาพจาก : https://www.lifewire.com/questions-to-ask-before-buying-an-ev-5202902#toc-do-you-like-accelerating-hard
ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะนิยมชาร์จรถในตอนกลางคืน เพื่อที่ตอนเช้าจะได้สามารถใช้งานได้ทันทีแบบไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะดับกลางทางหรือต้องเสียเวลาพาไปชาร์จ แต่ถ้าใครอยู่คอนโดน่าจะต้องคิดหนักกันซักหน่อย เพราะไม่ใช่ทุกคอนโดที่จะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือหากมีก็อาจจะต้องแย่งชิงกับเพื่อนร่วมชายคาคนอื่น ๆ ดังนั้นถ้าไม่ได้อยู่ไกลจากจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามากนักก็แนะนำให้ชาร์จรถให้เรียบร้อยก่อนกลับบ้านเพื่อความสบายใจในการใช้งาน
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/electric-car-recharge-station-ev-refueling-service_9668881.htm
โดยให้มองหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการจ่ายไฟระดับ 2 (240 Volts) เป็นหลัก เพราะถึงแม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะรองรับการชาร์จไฟเริ่มต้นที่ระดับ 1 (110 Volts) แต่มันก็กินระยะเวลาการชาร์จนานพอสมควร (หรือถ้าชาร์จไม่เต็มก็วิ่งได้ระยะทางสั้นกว่าที่ควรจะเป็น และอาจก่อให้เกิดปัญหาแบตเตอรี่ตามมาที่หลังได้) ส่วนใครที่อยู่บ้านและต้องการจะติดตั้งจุดชาร์จในบ้านก็ให้เลือกที่การชาร์จระดับ 2 เช่นกัน
รถยนต์ไฟฟ้ามีระบบการใช้งานเหมือนกับรถยนต์ทั่ว ๆ ไป เพียงแต่ใช้พลังงานจากไฟฟ้าแทนน้ำมันหรือแก๊สเท่านั้น ซึ่งถ้าใครขับรถยนต์คล่องอยู่แล้วก็ไม่น่ากังวลและน่าจะเปลี่ยนไปใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ยาก อีกทั้งรถยนต์ไฟฟ้าส่วนมากก็เป็นรถที่ค่อนข้าง “ใหม่” จึงมาพร้อมเทคโนโลยีตัวช่วยให้สามารถขับขี่ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับมือใหม่หัดขับเช่นกัน
แต่ถ้าใครยังไม่แน่ใจและอยากทดลองใช้งานก่อนตัดสินใจซื้อก็สามารถเข้าไปที่โชว์รูมรถเพื่อขอ “ทดลองขับ” ก่อนซื้อได้เลย หรือถ้ารู้สึกว่าแค่การทดสอบขับ (Test Drive) ช่วงสั้น ๆ ยังไม่ทำให้ตัดสินใจได้ก็ลองมองหาเต็นท์รถเช่าเพื่อลอง “เช่าขับ” ดูซักเดือนก่อนตัดสินใจซื้อก็ได้เช่นกัน
ภาพจาก : https://mtc.ca.gov/news/marin-home-and-garden-expo-host-free-electric-vehicle-test-drive-event
ถ้าเป็นการชาร์จไฟนอกสถานที่ก็คิดราคาตามที่แต่ละสถานีชาร์จกำหนด (บางที่อาจเปิดให้ชาร์จฟรี) ส่วนผู้ที่ติดตั้งจุดชาร์จในบ้านที่อยากรู้วิธีการคำนวณหาค่าไฟต่อการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของเราแต่ละครั้งก็สามารถคำนวณได้ง่าย ๆ โดยยึดอัตราค่าใช้จ่ายตามมาตรวัดขององค์การไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งในตอนนี้อัตราค่าไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่ที่ยูนิต (หน่วย) ละ 4 บาท ส่วนการคำนวณค่าไฟก็สามารถนำเอากำลังไฟฟ้าของรถ (ขึ้นอยู่กับรุ่น) คูณกับจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการชาร์จ แล้วคูณกับราคาไฟฟ้าต่อหน่วยได้เลย
ภาพจาก : https://www.zimbrick.com/blogs/2460/wp-content/uploads/2021/04/Zimbrick-EV.jpg
กำลังไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้า x จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการชาร์จ = หน่วยไฟฟ้า (ยูนิต) x ราคาไฟฟ้าต่อหน่วย (ปัจจุบันอยู่ที่ 4 บาท) = ค่าไฟที่ต้องจ่ายต่อการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
อ่านเพิ่มเติม : วิธีคำนวณค่าไฟฟ้า
อีกหนึ่งปัญหาที่หลาย ๆ คนติดใจสงสัยก็น่าจะเป็น “การดูแลรักษา” และการซ่อมบำรุงตัวรถ ซึ่งในข้อนี้ก็ยังต้องพึ่งพาการ “เข้าศูนย์” ไปก่อนเพราะไม่มีอู่ซ่อมรถภายนอกที่รับดูแลรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงแต่ละครั้งก็จะต้องคิดตามเรทของศูนย์รถนั้น ๆ (ต่างจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือแก๊สที่มีอะไหล่เชียงกงให้เลือกใช้เพื่อประหยัดงบการซ่อม แต่ถ้ากระแสการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็อาจเห็นอู่ซ่อมรถอื่น ๆ โผล่ตามมา)
ภาพจาก : https://evcharging.enelx.com/ca/en/resources/blog/814-electric-car-maintenance-cost
ในส่วนของการเลือกซื้อรถคงจะต้องพิจารณาจากพฤติกรรมการใช้งานรถและความชื่นชอบเป็นรายบุคคล เพราะรถแต่ละรุ่นก็มีสเปคและดีไซน์ที่แตกต่างกันออกไป ทางที่ดีควรศึกษาข้อดี - ข้อเสียของรถรุ่นที่สนใจและไป “ทดลองขับ” เสียก่อน หรือถ้าใครไม่มีโจทย์ในใจเป็นพิเศษก็ลองฟังคำแนะนำจากเซลล์และทดลองขับก่อนตัดสินใจซื้อก็ได้ แต่ถ้าใครมีงบประมาณจำกัดและไม่ถือเรื่องการใช้รถป้ายแดงก็อาจเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามือสองที่สเปคตรงใจแทนการซื้อรถมือหนึ่งในงบประมาณไล่เลี่ยกันก็ได้
ภาพจาก : https://www.nytimes.com/article/electric-vehicle-ev-buying-guide.html
อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่ยังไม่ชัวร์เรื่องการเปลี่ยนไปใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัวก็สามารถเลือกใช้รถ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) หรือรถยนต์ไฟฟ้าระบบ Hybrid ที่สามารถสลับใช้งานระหว่างพลังงานไฟฟ้าและน้ำมันได้ (ปกติจะใช้งานไฟฟ้าเป็นหลัก แต่หากแบตเตอรี่ไฟฟ้าหมดจะสลับไปใช้งานระบบน้ำมันแทน) แต่ความสามารถที่มากกว่าของรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Hybrid นั้นก็มาพร้อมกับ “ราคา” ของตัวรถและค่าซ่อมบำรุงที่เพิ่มตามไปด้วย
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/hybrid-car-concept-illustration_20908965.htm#query=ev%20car%20hybrid&position=23&from_view=search
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |