เรียกได้ว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มุ่งสู่การเป็น "ยานยนต์ไฟฟ้า" (Electric Car)" รวดเร็วกว่าที่คิด วัดได้จากสถิติจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจาก 10.2 ล้านคันในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) สู่ 16 ล้านคันในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)
และในขณะที่หลายประเทศ ก็เริ่มมีการผลักดันนโยบายมากมายที่ออกมา เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและทั่วโลกต่างก็จับตาเฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงนี้
มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เราอาจจะได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่ตามท้องถนนทั่วโลกรวมกันถึง 100 กว่าล้านคัน ในขณะที่ประเทศไทยก็มีการคาดการณ์ว่าปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทรวมกันถึง 1.05 ล้านคัน
คำถามคือตอนนี้เราพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องของจุดชาร์จไฟรองรับความสะดวกในการใช้งาน บทความนี้จะมาลองสำรวจความพร้อมในบ้านเรากัน ว่าสถานการณ์บ้านเราเอื้ออำนวยและเป็นใจแค่ไหนในปัจจุบัน
ก่อนอื่นมาอัปเดต ภาพรวมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศล่าสุดกันก่อน ซึ่ง "กรมการขนส่งทางบก" มีข้อมูลระบุว่า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ประเทศไทยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า 100 % หรือ ประเภท BEV คิดรวมกันเป็น 8,395 คัน เพิ่มขึ้นจาก 1 ปีก่อนที่มีจำนวน 3,994 คัน ในขณะที่เมื่อรวมประเภทรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด เช่น HEV, PHEV และ FCEV ผลปรากฏว่าเรามีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทรวมกัน 247,640 คัน ขณะที่ปีก่อนมี 218,381 คัน หากวัดตามเป้าหมาย 1.05 ล้านคันในทุกประเภทอีก 3 ปีข้างหน้าก็ถือว่าอีกไม่ไกลเท่าไหร่
และความน่าสนใจคือ การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ประเภท BEV เป็นเท่าตัว ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเริ่มคลายกังวลในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100 % แล้ว นอกจากนี้ข้อมูลอัปเดตจากงาน "อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 ครั้งที่ 43" ที่จัดเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีการเปิดเผยว่า ปีนี้มียอดสั่งจองรถ EV 100 % เป็นจำนวนถึง 1,520 คันจากจำนวนยอดจองรถยนต์ทุกประเภทรวมกัน 33,936 คันคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่า 10 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยให้ความสนใจกับรถยนต์ EV มากแค่ไหนในปีนี้
ภาพจาก : https://www.freepik.com/premium-vector/having-opportunities-because-government-support_5249153.htm
ในความนิยมที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะมีผลมาจากแรงหนุนของรัฐด้วยเช่นกัน สืบเนื่องจาก นโยบายของภาครัฐที่ประกาศการส่งเสริมผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 (พ.ศ. 2565) ที่ผ่านมา เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU), การส่งเสริมการผลิตรถยนต์, รถยนต์กระบะ, รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) โดยลดหรือยกเว้นภาษีสรรพสามิต พร้อมกับการสนับสนุนเงินอัดฉีดสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100 % ภายในประเทศ โดยให้ส่วนลดสูงสุด 150,000 บาท ตามเงื่อนไขที่กำหนด
โดยการยกเว้นภาษีนำเข้าภาครัฐยังวางกำหนดไว้ถึงปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) เท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเร่งการนำเข้าและวางโครงสร้างฐานการผลิตในประเทศ เนื่องจากในอนาคตการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจะแพงกว่าการผลิตในประเทศนั่นเอง
ด้วยนโยบายเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการลงทุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ในอนาคตเราน่าจะมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายที่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงต้นทุนการผลิตหรือการนำเข้าก็จะถูกลงจากเงินที่รัฐแจกให้ผู้ประกอบการเป็นส่วนลดและภาษี ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งราคาที่ต่ำลงได้ เพื่อกระตุ้นคนซื้อ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมปีนี้กระแสรถยนต์ไฟฟ้าจึงมาแรง เพราะรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่นได้มีการปรับราคาลงตามมาตรการนั่นเอง
ภาพโปรโมทของ NEW MG ZS EV บนหน้าเว็บไซต์
รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการปรับราคาลงในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)
- NEW MG EP Plus
- ราคาปกติ : 998,000 บาท
- ลดลงเหลือ : 771,000 บาท
- NEW MG ZS EV
- ราคาปกติ : 1,269,000 บาท
- ลดลงเหลือ : 1,023,000 บาท
- ORA Good Cat รุ่น 400 TECH
- ราคาปกติ : 989,000 บาท
- ลดลงเหลือ : 828,500 บาท
- ORA Good Cat รุ่น 400 PRO
- ราคาปกติ : 1,059,000 บาท
- ลดลงเหลือ : 898,500 บาท
- ORA Good Cat รุ่น 500 ULTRA
- ราคาปกติ : 1,199,000 บาท
- ลดลงเหลือ : 1,038,500 บาท
- Volvo XC40 Recharge Pure Electric
- ราคาปกติ : 2,650,000 บาท
- ลดลงเหลือ : 2,590,000 บาท
- Volvo C40 Recharge Pure Electric
- ราคาปกติ : 2,750,000 บาท
- ลดลงเหลือ : 2,690,000 บาท
ในอนาคตราคารุ่นอื่น ๆ ก็น่าจะมีการปรับลงเช่นกัน ดังนั้นหากใครกังวลในด้านราคา หรือคิดว่าก่อนหน้านี้ยังไม่ซื้อเพราะแพงเกินไป ปีนี้เราอาจต้องคิดใหม่และติดตามราคาของรุ่นที่ตัวเองสนใจให้ดี
เมื่อพูดถึงความสะดวกแล้ว แน่นอนเราต้องพูดถึงเรื่องของจุด "ชาร์จไฟ" เพราะรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้เหมือนรถน้ำมัน ที่เราเข้าไปเติมในปั้มไม่ถึง 5 นาทีก็วิ่งต่อได้แล้ว แต่ต้องใช้เวลาเป็นกันเป็นครึ่งชั่วโมงหรืออาจครึ่งวันก็เป็นได้ ดังนั้นจุดชาร์จและหัวจ่ายตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะในที่สาธารณะก็ต้องรองรับต่อความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น
จากการสำรวจ พบว่าปัจจุบันเรามีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะที่ปูพรมทั่วประเทศทั้งจากภาครัฐ และ ภาคเอกชนรวมกันราว ๆ 1,000 สถานี เมื่อเทียบจากสัดส่วนปั้มน้ำมันทั่วประเทศประมาณ 30,000 แห่งถือว่ายังห่างไกลจากคำว่าสะดวกสบายมาก และสิ่งสำคัญคือตอนนี้การกระจายตัวในต่างจังหวัด ก็ยังไม่ได้มีมากเท่าที่ควร แต่มีลักษณะของการกระจุกตัวในกรุงเทพฯ เท่านั้น
ผู้เขียนลองเอาภาพจุดชาร์จของบริษัท 'EA Anywhere' มาให้ดู ซึ่งมันอาจจะไม่ได้วัดภาพรวมของประเทศ แต่ EA Anywhere ก็ถือเป็นสถานีชาร์จที่มีสาขามากที่สุดในไทยตอนนี้ จึงเอามาใช้ประกอบอ้างอิงได้
จากในภาพเราจะเห็นสถานีชาร์จกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ตามศูนย์ดูแลรถ, ปั้มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า สนามบิน ฯลฯ ถือว่าไม่น่าเป็นห่วงสำหรับคนกรุงเทพฯ แต่ในต่างจังหวัดกลับมีจุดชาร์จเป็นหย่อมหญ้า ดังนั้นตอนนี้ถ้าจะขับรถยนต์ EV เดินทางไกลก็อาจจะลำบากหน่อย แต่ถ้าวางแผนดี ๆ ก็คงถึงที่หมายได้โดยสวัสดิภาพ
โดยในประเทศไทยมีให้บริการสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ 6 เจ้าหลัก ๆ ผู้อ่านสามารถค้นหาผ่านแอปพลิเคชันและใช้บริการจุดชาร์จไฟฟ้าได้ตามสถานีของบริษัทเหล่านี้
อย่างที่บอกไว้ตอนนี้ EA Anywhere ถือเป็นผู้นำด้าน สถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสถานีชาร์จนั่นแหล่ะ ปัจจุบันมีสถานีให้บริการมากกว่า 500 สถานี รวมทั้งสิ้นกว่า 1,600 หัวชาร์จ และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อดำรงตำแหน่งผู้นำต่อไป
คุณสามารถค้นหาสถานี EA Anywhere ได้ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน EA Anywhere ซึ่งภายในแอปพลิเคชันจะมีระบบสั่งการหัวจ่ายโดยใช้การสแกน รหัสคิวอาร์ (QR Code) และมอนิเตอร์สถานะการชาร์จ ก็ถือว่าสะดวกไม่ต้องนั่งเฝ้าที่รถตลอดเวลา
PEA VOLTA เป็นสถานีชาร์จของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ส่วนใหญ่มีสถานีอยู่ตามต่างจังหวัด มีสาขาทั่วประเทศ 73 สถานีครอบคลุม 42 จังหวัด และยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีเป้าหมายคือ 263 สถานีภายในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) และครอบคลุม 75 จังหวัด
สถานีชาร์จ PEA VOLTA คุณสามารถค้นหาได้ผ่านแอปพลิเคชัน "PEA VOLTA" บนมือถือทั้งบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android หรือสามารถใช้ระบบต่าง ๆ ในแอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกได้ เช่นการสั่งงานหัวจ่าย หรือ การชำระเงินผ่านในแอปพลิเคชัน เป็นต้น
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดสถานีชาร์จไฟในชื่อ EV Station Pluz สามารถพบได้ตามปั้มปตท. (บางสาขา) เดิมปีที่แล้วมีอยู่ร่วม 30 สาขา แต่ปัจจุบันเพิ่มมาอีกรวมเป็น 116 สาขา ซึ่งนอกจากจะเพิ่มในส่วนของตัวปั้ม ปตท. แล้วก็ยังมีสถานีอื่น ๆ ผุดขึ้นมาตามศูนย์การค้าเช่นกัน
สำหรับการค้นหาสถานีชาร์จ EV Station Pluz ก็สามารถทำได้ผ่านแอป EV Station Pluz มาพร้อมกับระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เช่นกัน เช่นจองสถานีล่วงหน้า
การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เปิดสถานีชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าในชื่อ EleX by EGAT ปัจจุบันมี 40 กว่าสาขา และมีการตั้งเป้าจะเปิดเพิ่มรวมกันเป็น 120 สาขาภายใน ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ให้กระจายไปทั่วประเทศ
สำหรับ EleX by EGAT ก็มีแอปพลิเคชันเช่นกัน แต่ใช้ชื่อว่า "EleXA" ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศ สามารถใช้ค้นหาสถานีชาร์จ EleX by EGAT ภายในประเทศไทยได้
สำหรับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ร่วมมือกับ กทม. ในการเปิดสถานีชาร์จชื่อ MEA EV Charger ตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันก็มีสถานีพร้อมให้บริการอยู่ 22 แห่งตามบริเวณ ศูนย์ราชการ สวนสาธารณะ หรือแม้แต่ 7-11 ในสาขาบางสาขา และจะมีการเปิดอย่างต่อเนื่องภายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้
สำหรับตัวแอปพลิเคชันมีชื่อว่า "MEA EV" สามารถใช้ค้นหาจุดชาร์จในกรุงเทพฯ ได้ทั้ง iOS และ Android
"SHARGE" เป็นบริษัทเอกชนที่ลงทุนเปิดให้บริการสถานีชาร์จ และ ธุรกิจที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า โดย "SHARGE" จะเน้นให้บริการในส่วนของห้างสรรพสินค้าและอาคารพาณิชย์ในย่านธุรกิจ ปัจจุบันมีสถานีชาร์จภายในกรุงเทพไม่ต่ำกว่า 20 สถานี ซึ่งปีนี้มีการวางแผนจะเพิ่มจุดชาร์จรวมกันเป็น 600 สถานีเลยทีเดียวและที่น่าสนใจก็คือเรื่องการการรุกตลาดของ SHARGE เขามีการเน้นในส่วนของการให้บริการ Home EV Charger หรือรับติดตั้งหัวจ่ายตามบ้านทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้เห็น การโฆษณาโครงการบ้านจัดสรรที่มาพร้อมกับสถานีชาร์จประจำบ้านก็เป็นได้
สำหรับจุดชาร์จไฟของ SHARGE ก็สามารถค้นหาได้ผ่านแอปพลิเคชัน "SHARGE" ทั้ง iOS และ Android
หากพูดถึงความพร้อมสำหรับ EV ในประเทศไทย ปีนี้เรามองว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีโดยเฉพาะนโยบายจากภาครัฐที่จะทำให้ในอนาคตการเติบโตของรถยนต์ EV น่าจะพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะมี Supply รองรับและมีการปรับราคาที่เหมาะสม
ส่วนการเพิ่มสถานีชาร์จต่าง ๆ ก็มีแรงผลักดันมาจากหลายฝ่ายมีบริษัทหลายแห่งเข้ามาลงทุนทำธุรกิจนี้ ตอนนี้อาจจะไม่ได้เรียกว่าสะดวกอย่างเต็มปาก แต่เชื่อว่าถ้าอนาคตมีความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ก็จะมีสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นตามเช่นกัน
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |