ในสถานการณ์น้ำมันแพงแบบนี้ จึงทำให้ยานพาหนะทางเลือกอย่าง รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ราคารถยังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน ดีเซลทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้มีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่ยังมี "รถยนต์ไฮบริด" อีกหลายแบบ มาดูกันว่า แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร สังเกตความแตกต่างได้จากตรงไหนบ้าง ?
เพราะถึงแม้ว่าในประเทศไทย จะแบ่งประเภทของรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริดออกจากกันอย่างชัดเจน แต่การแบ่งประเภทของรถในระดับสากล จะมีตัวย่อเพื่อแสดงถึงประเภท ลักษณะของรถยนต์นั้น ๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
สังเกตได้จากรถยนต์บางรุ่นที่มีตัวย่อต่อท้าย เช่น Honda City Hatchback e:HEV, MG HS PHEV เป็นต้น ตัวย่อเหล่านี้ก็เป็นการบอกกลาย ๆ ว่าใช้เชื้อเพลิง เครื่องยนต์ มอเตอร์ประเภทไหน ชาร์จไฟจากภายนอกได้หรือไม่ หรือบางรุ่นก็ใช้คำศัพท์ทางการตลาดที่เข้าใจง่าย เช่น Toyota Camry Hybrid เพื่อสื่อถึงความเป็นรถยนต์ไฮบริดนั่นเอง
รถ HEV มาจากคำว่า "Hybrid Electric Vehicle" หรือจะเรียกว่า "รถยนต์ไฮบริด" ก็ได้ ซึ่งรถยนต์ประเภทนี้เป็นรถยนต์ที่ยังใช้เครื่องยนต์สันดาป ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แต่มีมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนร่วมด้วย ซึ่งในรถยนต์บางรุ่น สามารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนได้ในระยะทางสั้น ๆ เน้นการใช้เครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าควบคู่เป็นหลัก
ภาพจาก : https://www.honda.co.th/news/NewHondaCityHatchbackeHEV
นอกจากมอเตอร์ปั่นกระแสไฟฟ้าแล้ว รถยนต์ HEV ยังใช้การเหยียบเบรกเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่ไฮบริดร่วมด้วย จึงทำให้เกิดการสร้างพลังงานไปพร้อม ๆ กับการขับขี่ ซึ่งเหมาะกับการใช้งานในเมืองที่รถติด ต้องเหยียบเบรคสลับกับคันเร่งบ่อย ๆ ทำให้ได้กระแสไฟฟ้ามาขับเคลื่อนร่วมด้วย
ส่วนรถยนต์ PHEV มาจากคำว่า "Plug-In Hybrid Electric Vehicle" ซึ่งเครื่องยนต์ มอเตอร์ไฟฟ้าและส่วนประกอบต่าง ๆ มีความคล้ายคลึงกับรถยนต์ HEV เว้นเสียแต่ว่ารถยนต์ PHEV มีคุณสมบัติสำคัญอย่างการชาร์จไฟจากภายนอกได้แบบรถยนต์ไฟฟ้า สังเกตได้จากภายนอกรถยนต์จะมีทั้งช่องเติมน้ำมันและช่องชาร์จไฟไปยังแบตเตอรี่ในตัวรถ
แบบนี้รถยนต์ PHEV ก็ใช้งานไฟฟ้าได้ 100% น่ะสิ ? อย่าลืมว่ารถยนต์ประเภทนี้ยังมีเครื่องยนต์สันดาปที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อขับเคลื่อน จึงเน้นการใช้งานควบคู่ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า แต่รถยนต์ PHEV เพิ่มทางเลือกในการชาร์จไฟจากภายนอกเข้ามาด้วย
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่หลายคนเรียกติดปาก คือรถยนต์ BEV หรือ "Battery Electric Vehicle" นิยามของรถประเภทนี้ก็ตรงตามชื่อเลย นั่นคือ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน โดยในตัวรถยนต์ไม่มีเครื่องยนต์สันดาปอีกต่อไป จึงทำให้ BEV เป็นรถยนต์ที่ไม่ปล่อยก๊าซ CO2 และมลพิษใด ๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ส่งผลให้สภาพแวดล้อมของโลกเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
ภาพจาก : https://en.nissan.co.th/vehicles/new-vehicles/leaf.html
หากดูแค่ภายนอก จะพบว่ารถยนต์ไฟฟ้าแตกต่างจากรถยนต์ปกติไม่มากนัก หรือบางรุ่นก็ออกแบบให้แปลกแหวกแนวไปเลย เนื่องจากรถยนต์ BEV ไม่มีเครื่องยนต์แล้ว จึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าถูกออกแบบขึ้นมาใหม่บางส่วน เช่น รถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์ Mercedes Benz และ BMW ส่วนใหญ่ไม่สามารถเปิดกระโปรงหน้ารถได้ด้วยตัวเอง ต้องผ่านมือช่างผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมเท่านั้น แต่รถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นก็ยังเปิดฝากระโปรงหน้าได้นะ ไม่ต้องตกใจกันไป
สำหรับ FCEV มีชื่อเต็ม ๆ ว่า "Fuel Cell Electric Vehicle" หรือ รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง โดยรถยนต์ชนิดนี้ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากไฮโดรเจน และแน่นอนว่าไม่ปล่อยไอเสียแบบเครื่องยนต์สันดาป
ภาพจาก : https://afdc.energy.gov/vehicles/how-do-fuel-cell-electric-cars-work
หลักการทำงานของรถยนต์ FCEV คือ เติมพลังงานจากภายนอก เพื่อเข้าไปยังถังเก็บไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิงในแบตเตอรี่ทำการเปลี่ยนไฮโดรเจนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่งไปยัง Fuel Cell Stack และแจกจ่ายพลังงานไปยังส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ต่อไป
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hyundai_Tucson_FCEV_WAS_2012_0762.JPG
แล้วไฮโดรเจนที่ใช้กับรถยนต์ FCEV มาจากไหน ? หลัก ๆ มาจากพลังงานก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพลังงานที่ยังไม่สะอาดเท่าไหร่นัก ส่วนพลังงานน้ำที่หลาย ๆ คนเคยเห็นข่าวเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานน้ำนั้น ยังเป็นตัวเลือกรองลงมา อย่างไรก็ตาม รถยนต์ FCEV นั้นยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และยังคืบหน้าไม่เท่ารถยนต์ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการพัฒนารถยนต์ FCEV ค่อนข้างสูง และจุดเติมพลังงานยังไม่แพร่หลายในทั่วโลก
รถยนต์ HEV | รถยนต์ PHEV | รถยนต์ BEV | รถยนต์ FCEV | |
เครื่องยนต์และ มอเตอร์ | เครื่องยนต์สันดาป และมอเตอร์ไฟฟ้า | เครื่องยนต์สันดาป และมอเตอร์ไฟฟ้า | มอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ | มอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ |
เชื้อเพลิงที่ใช้ | น้ำมันเชื้อเพลิง | น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานไฟฟ้า จากการชาร์จ และมอเตอร์ภายใน | พลังงานไฟฟ้า จากการชาร์จ และมอเตอร์ภายใน | ไฮโดรเจน จากก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน |
รองรับการชาร์จไฟ จากภายนอก | ไม่รองรับ | รองรับ | รองรับ | ไม่รองรับ |
จะเห็นได้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดทั้ง 4 ประเภท มีความแตกต่างกันพอสมควร สำหรับใครที่อยากใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ก็ต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป ไหนจะรถยนต์ผลิตไม่ทันความต้องการของลูกค้า การติดตั้งจุดชาร์จที่เพิ่มสูงขึ้นมาก จะเลี่ยงไปใช้รถยนต์ไฮบริด หรือรถยนต์น้ำมันรอไปก่อนก็ได้นะ (แต่ก็ต้องจ่ายค่าน้ำมันเอาเรื่องเลย)
|
Web Content Editor ท่านหนึ่ง นิยมการเล่นมือถือเป็นชีวิตจิตใจ |
ความคิดเห็นที่ 1
21 พฤศจิกายน 2566 12:54:51
|
||
GUEST |
คับ
คับ
|
|