ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Overclock คืออะไร ? และการ Overclock มีกี่รูปแบบ ? มีข้อควรระวังอะไรบ้าง ?

Overclock คืออะไร ? และการ Overclock มีกี่รูปแบบ ? มีข้อควรระวังอะไรบ้าง ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 14,835
เขียนโดย :
0 Overclock+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3+Overclock+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Overclock คืออะไร ? และการ Overclock มีกี่รูปแบบ ? มีข้อควรระวังอะไรบ้าง ?

หลายคนอาจเคยเห็นและคุ้นเคยกับคำว่า Overclock หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า OC ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์กันมาบ้าง แต่สำหรับใครที่รู้สึกไม่คุ้นและสงสัยว่าการ Overclock คืออะไรนั้นก็สามารถมาหาคำตอบกันในบทความนี้ได้เลย

บทความเกี่ยวกับ Overclock อื่นๆ

เนื้อหาภายในบทความ

 

การ Overclock คืออะไร ?

การโอเวอร์คล็อก (Overclocking) เป็นการปรับเร่งให้อุปกรณ์ของเรามีการทำงานที่เกินจากสเปคเดิมของตัวเครื่อง (Over The Clock Rate) โดยเราจะสามารถทำการ Overclock ได้ทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน แต่ที่นิยมทำการ Overclock กันมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) คอมพิวเตอร์ที่เมื่อผ่านการ Overclock แล้วก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานโดยรวมของคอมพิวเตอร์ตัวเก่งของเราให้แรงและทำงานได้ไวมากขึ้นโดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแต่อย่างใด

การ Overclock คืออะไร ?
ภาพจาก : https://www.businessinsider.com/what-is-overclocking

เพราะโดยปกติแล้วตัวชิปประมวลผลของคอมพิวเตอร์จะมี ความเร็วของรอบการทำงาน (Clock Speed) ที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถของชิปแต่ละตัวตามที่ทางโรงงานได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งยิ่งตัวเลขมากเท่าไรก็จะแสดงว่าคอมพิวเตอร์ของเราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย เช่น CPU ความแรง 4.0 GHz ก็จะสามารถวิ่งได้เต็มประสิทธิภาพสูงสุดที่ 4.0 GHz แต่เมื่อทำการ Overclocked แล้วก็จะสามารถ “วิ่งเกินรอบ” เดิมได้ จาก 4.0 GHz เป็น 4.2 GHz หรือมากกว่านั้นตามการ Overclock ของเรา (แต่ CPU บางตัวก็ไม่รองรับการ Overclock ด้วยเช่นกัน)

ข้อมูลเพิ่มเติม : Core, Thread และ Clock Speed คืออะไร ?​ ส่งผลกับความเร็ว CPU ในการประมวลผล หรือไม่ ?

ซึ่งสำหรับใครที่ใช้งาน CPU ของค่าย AMD นั้นก็ไม่น่ากังวลมากนักเพราะทาง AMD ได้อนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถทำการ Overclock กับ CPU ได้ทุกรุ่น ในขณะที่ CPU ของค่าย Intel นั้นจะอนุญาตให้สามารถทำการ Overclock ได้เพียงแค่รุ่นที่ลงท้ายด้วยตัวอักษร “K” และ “X” เท่านั้น (ถึงแม้ว่าจะอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถทำการ Overclock กับ CPU ได้ แต่ส่วนมากแล้วทางบริษัทก็จะถือว่า CPU ที่ผ่านการ Overclock แล้วนั้นเป็นอุปกรณ์ที่อยู่นอกเหนือการรับประกันไปโดยปริยาย)

ผู้ที่ต้องการ Overclock นั้นจะสามารถทำได้โดยการเข้าไปปรับค่าต่าง ๆ ภายใน ไบออส (BIOS) และการปรับแต่งฮาร์ดแวร์ (Jumper, Dip-switch) โดยการ Overclock เพื่อเพิ่มความถี่ของการวิ่งรอบ CPU นั้นจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้

การ Overclock คืออะไร ?
ภาพจาก : https://www.anandtech.com/show/12542/overclocking-the-amd-ryzen-apus-guide-results/4

FSB (Front Side Bus)

สิ่งนี้ ถูกนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า Bus (บัส) เป็นความถี่ของการส่งข้อมูลไปยังส่วนประกอบต่าง ๆ บนเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการ Overclock จึงเป็นการเพิ่มความเร็วในการส่งถ่ายข้อมูลต่าง ๆ นั่นเอง

Core Multiplier

ตัวนี้เป็น “ตัวคูณ” โดยในแต่ละ CPU Core ก็จะมีตัวคูณที่ขึ้นอยู่กับความถี่รอบนาฬิกา (Base Clock Frequency) ซึ่งผลที่ได้จากตัวคูณของ CPU แต่ละ Core ก็จะเรียกว่า Core Frequency  เช่น ตัวประมวลผลที่ 3.2 GHz มีตัวคูณที่ 16 (16 คูณกับ 200 Mhz FSB จะได้ค่าเท่ากับ 3.2GHz) และการ Overclock กับ CPU ก็จะสามารถปรับค่าตัวคูณให้เพิ่มขึ้นจึงสามารถเพิ่มความเร็วในการประมวลผลได้

Vcore หรือ Core Voltage

เป็นแรงดันไฟฟ้าที่ถูกส่งเข้าไปเลี้ยงตัวประมวลผล ซึ่งหากมีระดับของแรงดันไฟฟ้าที่มากก็จะทำให้ CPU วิ่งด้วยความถี่ที่เร็วและเสถียรมากยิ่งขึ้นได้ และการ Overclocked ก็จะทำให้เราสามารถเพิ่มกำลังไฟที่ไปเลี้ยง CPU ให้สูงขึ้น แต่การเพิ่มแรงดันไฟฟ้านี้ก็ต้องพิจารณาถึงระบบระบายความร้อนของ CPU ร่วมด้วย เพราะหากส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าที่มากเกินไปก็อาจทำให้ระบายความร้อนไม่ทันจนส่งผลให้ Overheat ได้ 

การ Overclock คืออะไร ?
ภาพจาก : https://www.intel.com/content/www/us/en/gaming/resources/how-to-overclock.html

การ Overclock มีกี่รูปแบบ ?

สำหรับประเภทของการ Overclock เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์นั้นก็สามารถแบ่งประเภทหลัก ๆ ได้ 3 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้

1. การ Overclock แบบปรับ FSB เพียงอย่างเดียว

การเพิ่มความถี่ของ FSB ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วในการทำงานของ CPU นั้นจะช่วยให้ข้อมูลต่าง ๆ มีการส่งถ่ายข้อมูลที่ไวมากขึ้นได้ เช่น ก่อนทำการ Overclock กับ CPU ทำงานที่ FSB 260 MHz และมีตัวคูณอยู่ที่ 10 ก็จะทำให้สามารถประมวลผลได้ที่ 2.6 GHz แต่หลังจากการเพิ่ม FSB 260 MHz เป็น 300 MHz แล้วนั้น CPU ของเราก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 3.0 GHz โดยที่ตัวคูณยังอยู่ที่ 10 ดังเดิม

2. การ Overclock แบบปรับตัวคูณเพียงอย่างเดียว

เป็นการเพิ่มความเร็วในการประมวลผลโดยเร่งตัวคูณให้มากขึ้น แต่ไม่ส่งผลต่อการทำงานของอุปกรณ์อื่น ๆ ดังนั้นสิ่งที่จะถูกใช้งานหนักที่สุดในการ Overclock รูปแบบนี้ก็คือ CPU เพียงอย่างเดียว เช่น ก่อนทำการ Overclock กับ CPU ทำงานที่ FSB 200 MHz และมีตัวคูณอยู่ที่ 15 ก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 3.0 GHz แต่หลังจากทำการ Overclock โดยเพิ่มตัวคูณจาก 15 เป็น 16 แล้ว CPU ก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 3.2 GHz โดยที่ยังมีค่า FSB อยู่ที่ 200 MHz

3. การ Overclock แบบปรับทั้ง FSB และตัวคูณ

วิธีนี้จะเร่งความเร็วในการประมวลผลทั้งความถี่ในการส่งถ่ายข้อมูลและตัวคูณ จึงทำให้ CPU ของเราทำงานได้ไวขึ้นและมีประสิทธิภาพโดยรวมสูงขึ้นทั้งหมด แต่การ Overclock ประเภทนี้ก็เสี่ยงต่อการ Overheat และทำให้อุปกรณ์ของเราเสื่อมสภาพไวกว่าที่ควรค่อนข้างมากทีเดียว เช่น ก่อนหน้าการทำ Overclock ตัว CPU ทำงานที่ FSB 250 MHz และมีตัวคูณที่ 10 ก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 2.5 GHz และหลังจากผ่านการ Overclock โดยเพิ่ม FSB และตัวคูณโดยปรับให้เป็น FSB ที่ 300 MHz และตัวคูณที่ 12 ก็จะสามารถประมวลผลได้ที่ 3.6 GHz นั่นเอง

ข้อควรระวังในการ Overclock

ถึงแม้ว่าการ Overclock จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของ CPU ให้สามารถประมวลผลได้ไวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่การทำ Overclock นั้นก็มีข้อควรระวัง 2 ข้อใหญ่ ๆ ดังนี้

การระบายความร้อน CPU

การระบายความร้อนที่ผ่านการ Overclock มักมีปัญหาเรื่องระบบระบายความร้อน เนื่องจากการประมวลผลที่ไวขึ้นก็ต้องใช้งานกำลังไฟที่มากขึ้น จึงทำให้อุณหภูมิของ CPU สูงได้ง่าย ดังนั้นผู้ที่ชื่นชอบในการ Overclock จึงมักปรับแต่งระบบระบายความร้อนให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบางคนอาจเลือกใช้งานชุดน้ำ (Water Cooling) แทนการใช้งานพัดลมระบายความร้อน แต่ในส่วนนี้ก็ต้องเสียเงินค่าปรับระบบระบายความร้อนเพิ่มเติมด้วย

อายุการใช้งานของ CPU

เพราะการ Overclock ก็คล้ายกับการ “ยืม” ประสิทธิภาพการทำงานในอนาคตมาใช้งานก่อน ดังนั้นจากอายุการใช้งานของ CPU ที่สามารถใช้งานได้นานถึง 10 ปี เมื่อผ่านาการ Overclock ก็ทำให้มีอายุการใช้งานที่ลดน้อยลงไปได้ (อีกทั้งถ้าเลือก Overclock แบบเพิ่ม FSB ก็อาจทำให้อุปกรณ์อื่น ๆ มีอายุการใช้งานต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้อีกด้วย)

ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cooling System)
ภาพจาก : https://www.intel.com/content/www/us/en/gaming/resources/how-to-overclock.html


ที่มา : www.howtogeek.com , www.businessinsider.com , smallbusiness.chron.com , www.overclockersclub.com , www.intel.com , www.anandtech.com

0 Overclock+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3+Overclock+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น