ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

วิธีอ่านรายละเอียดรุ่นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของ AMD

วิธีอ่านรายละเอียดรุ่นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของ AMD
ภาพจาก : https://www.amd.com/system/files/styles/992px/private/2022-02/1243450-game-laptop-1260x709.png?itok=Bx0y44HF
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 18,075
เขียนโดย :
0 %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87+%28CPU%29+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+AMD
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

วิธีอ่านรายละเอียดรุ่นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของ AMD

หัวข้อในบทความนี้ เราจะมาอธิบายเกี่ยวกับตัวอักษรหลังชื่อเรียกของ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) จากค่าย AMD หรือที่บ้านเราชอบเรียกกันว่าค่ายแดง (สำหรับ CPU ของ Intel สามารถอ่านได้ในบทความนี้)

บทความเกี่ยวกับ CPU อื่นๆ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการจะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่อยู่ แล้วกำลังให้ความสนใจกับชิปตระกูล Ryzen จาก AMD อยู่ อาจจะเกิดความสับสนกับตัวย่อ และรหัสท้ายรุ่นต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในตลาดที่มีอยู่หลายตัว ไม่ว่าจะ U, HS, H, HX หรือ HX3D เพราะหากคุณไม่ใช่คนที่อยู่ในแวดวงนี้ ก็คงจะไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับมันมากนัก

วิธีอ่านรายละเอียดรุ่นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของ AMD
รายชื่อรุ่น CPU ของ AMD
ภาพจาก : https://www.amd.com/en/products/specifications/processors.html

ในบทความนี้ เราก็จะมาอธิบายรายละเอียดของชิปแต่ละรุ่นให้เข้าใจกันมากขึ้น เผื่อใครที่กำลังสนใจซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่ใช้ CPU ของ AMD จะได้ไม่สับสนอีกต่อไป

เนื้อหาภายในบทความ

ข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ CPU ของ AMD (Things you should know about AMD CPU)

ก่อนจะเข้าสู่หัวข้อหลักของบทความ เราคิดว่าการอธิบายให้คุณผู้อ่านทราบถึงข้อมูลมูลเบื้องต้นในการทำตลาด CPU ในโน้ตบุ๊ก (Notebook) ของ AMD น่าจะช่วยให้คุณผู้อ่านเข้าใจในเนื้อหาที่เราจะอธิบายในบทความนี้ได้ง่ายขึ้น

ในอดีต CPU ของ AMD จะมีการตั้งชื่อซีรีส์แยกสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop) และสำหรับโน้ตบุ๊ก (Laptop) แยกออกจากกัน แต่ว่าบางซีรีส์ก็จะมีทั้ง 2 แพลตฟอร์มเลย

 Ryzen สำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ

Ryzen สำหรับโน้ตบุ๊ค

  • Ryzen 1000
  • Ryzen 2000
  • Ryzen 3000
  • Ryzen 4000
  • Ryzen 5000
  • Ryzen 7000
  • Ryzen 8000
  • Ryzen 9000
  • Ryzen 2000
  • Ryzen 3000
  • Ryzen 4000
  • Ryzen 5000
  • Ryzen 6000
  • Ryzen 7000
  • Ryzen 8000
  • Ryzen AI 300 series

ตัวเลขซีรีส์นั้นเข้าใจค่อนข้างง่าย เลขสูงกว่าก็คือ ใหม่กว่า และแรงกว่า แต่ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ง่าย ๆ มักจะเป็นส่วนของตัวอักษรย่อหลังชื่อรุ่น ที่มีทั้ง C, E, F, G, GE, HS, H, HX, HX3D, U, S, T, X, XT และ X3D ตัวอย่างเช่น Ryzen 5 8600 เพียงรุ่นเดียว ก็มี ทั้ง 8600G แล 8600GE มาทำความเข้าใจหลักการตั้งชื่อรุ่นอันชวนงงของ AMD กัน

การแบ่งกลุ่ม CPU ของ AMD (Understanding AMD Ryzen Segmentation)

ถึงแม้ว่า AMD จะเป็นบริษัทแรกที่ปล่อย CPU แบบ 64 บิต สำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop) ออกมาในปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) แต่ AMD ยังเดินตามหลัง Intel ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อยู่หลายปี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อ AMD ได้ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ CPU ตระกูล Ryzen ออกมาในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) แม้ว่า AMD จะมีสายผลิตภัณฑ์ CPU ที่เป็นระเบียบกว่า เมื่อเทียบกับ Intel แต่โครงสร้างในการตั้งชื่อซีรีส์ CPU ของ AMD ยังคงสามารถสร้างความสับสนให้กับคนทั่วไปที่ไม่รู้มาก่อนได้ง่าย ๆ ดังนั้น มาทำความเข้าใจโครงสร้างการตั้งชื่อของ AMD กันก่อน

หลังจาก AMD เปิดตัวซีพียูซีรีส์ Ryzen ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) Ryzen ได้กลายเป็น CPU แบรนด์หลัก โดยมันถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

AMD Ryzen 3

มุ่งเน้นสำหรับงานประจำวันทั่วไป ให้การสตรีมมีเดียอย่างราบรื่น และเหมาะสำหรับการเล่นเกมระดับเริ่มต้น

AMD Ryzen 5

เหมาะสำหรับการเล่นเกมทั่วไป การแก้ไขภาพทำกราฟิก และวิดีโอพื้นฐาน และการสตรีมออนไลน์ที่มีคุณภาพเสียง และวิดีโอที่สูงขึ้น

AMD Ryzen 7

สามารถรันเกมที่ต้องการทรัพยากรระดับสูง และแก้ไขไฟล์รูปถ่าย RAW ความละเอียดสูง และ วิดีโอ ความละเอียด 4K  และยังสามารถสตรีมวิดีโอ 4K HDR ได้อย่างลื่นไหล

AMD Ryzen 9

เป็น CPU ระดับเรือธงของ AMD สามารถรันเกม AAA ที่การปรับแต่งค่าสูงสุด และทำงานที่ซับซ้อน เช่น การเรนเดอร์ 3D และงานอื่น ๆ ที่ต้องการทรัพยากรประมวลผลจำนวนมหาศาล

วิธีอ่านรายละเอียดรุ่นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของ AMD
ภาพจาก : https://www.makeuseof.com/ryzen-3-5-7-9-which-should-you-buy/

สถาปัตยกรรม Zen ของ AMD (AMD Zen Microarchitecture)

Zen เป็นชื่อสถาปัตยกรรมไมโคร (Microarchitecture) ของ AMD สำหรับ CPU รุ่นใหม่ ๆ ซึ่งเริ่มเปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) สถาปัตยกรรมนี้เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับซีพียู Ryzen, Threadripper และ EPYC ของ AMD และเป็นที่รู้จักในเรื่องประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ

ใน CPU ของ AMD จะมีการใช้ชื่อสถาปัตยกรรมในการผลิตว่า Zen โดยแบ่งออกได้ ดังต่อไปนี้

Zen (Microarchitecture)

ระดับนาโนเมตร (nm)

Zen

14 nm

Zen +

12 nm

Zen 2

7 nm

Zen 3

7 nm

Zen 3+

6 nm

Zen 4

5 nm

Zen 5

4, 3 nm

หลักการตั้งชื่อ CPU สำหรับโน้ตบุ๊กของ AMD (Understanding AMD Processor Mobile Naming)

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2022 AMD ได้ปรับโครงสร้างการตั้งชื่อสำหรับ  CPU สำหรับโน้ตบุ๊ก เป็นรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถสังเกตความแตกต่างระหว่างพวกมันได้ง่ายขึ้น โดย AMD จะใช้ตัวเลข 4 หลัก ตามด้วยตัวอักษร ยกตัวอย่างจากรุ่น 7640U จะมีหลักการดังต่อไปนี้

วิธีอ่านรายละเอียดรุ่นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของ AMD
ภาพจาก : https://www.xda-developers.com/amd-processors-explained/

ตัวเลขหลักแรก

ตัวเลขในหลักแรกจะระบุปีของรุ่น CPU ตัวอย่างเช่น หากตัวแรกหลักแรกคือ 7 หมายความว่าเป็นรุ่นที่ออกมาในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) และไล่ปีเพิ่มขึ้นไป ถ้าเป็นเลข 8 ก็จะเป็นรุ่นที่เปิดตัวในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) และหากเป็นเลข 9 ก็คือ ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568)

ตัวเลขหลักสอง

ตัวเลขหลักที่สองหมายถึงซีรีส์ของหน่วยประมวลผล ตัวอย่างเช่น หากตัวเลขหลักที่สองของ CPU ของ AMD คือ "5" หรือ "6" หมายความว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของ Ryzen 5 ส่วน Ryzen 7 สามารถมีตัวเลขหลักที่สองเป็นเลข "7" หรือ "8" สุดท้าย Ryzen 9 จะใช้ตัวเลข "8" หรือ "9" เช่น หากเป็น 7945HX หมายความว่า CPU นี้เป็นส่วนหนึ่งของ Ryzen 9

ตัวเลขหลักที่สาม

ตัวเลขหลักที่สามแสดงถึงสถาปัตยกรรมไมโครของหน่วยประมวลผล AMD (AMD Processor Microarchitecture) โดยบริษัทจะใช้คำว่า Zen เพื่อบอกถึงกระบวนการผลิตในหน่วยนาโนเมตร ตัวอย่างเช่น ถ้าตัวเลขหลักที่สามคือ "3" ก็หมายความว่า CPU นั้นใช้สถาปัตยกรรม Zen 3/Zen 3+ ที่มีขนาด 7nm/6nm ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมรุ่นเก่า ส่วน CPU ที่ใช้สถาปัตยกรรม Zen 4 จะมีตัวเลขหลักที่สามเป็นเลข "4" และใช้กระบวนการผลิตระดับ 5nm 

ตัวเลขหลักที่สี่

ตัวเลขสุดท้ายจะจำแนกโปรเซสเซอร์ต่าง ๆ ภายในกลุ่มเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น "7730U" และ "7735U" ทั้งสองตัวนี้อยู่ในกลุ่ม Ryzen 7 เหมือนกันก็จริง อย่างไรก็ตาม ตัวแรกจะเป็น CPU ระดับ 15W ที่มีความเร็ว 2GHz และบูสต์ความเร็วสูงสุดได้ถึง 4.5GHz ส่วนตัวหลังเป็น CPU 28W ที่มีฐานความเร็ว 2.7GHz และบูสต์ได้สูงสุดถึง 4.75GHz นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างในจำนวนคอร์ (Cores) ของกราฟิกด้วย โดย 7730U มี 8 คอร์ ในขณะที่ 7735U จะมี 12 คอร์

คำต่อท้าย

อักษรตัวสุดท้ายที่อยู่ตามชื่อรุ่น ถ้าเป็น CPU ในโน้ตบุ๊คจะบ่งบอกค่าการใช้พลังงาน Thermal Design Power (TDP) แต่หากเป็น CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจะเป็นการบ่งบอกประสิทธิภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ค่า TDP บน CPU หรือ การ์ดจอ คืออะไร ? มีความสำคัญกับ คอมพิวเตอร์ของเรา อย่างไร ?

คำต่อท้ายรุ่นของ CPU ในโน้ตบุ๊ค

  • E (TDP 9W): เป็นเวอร์ชันแบบไม่มีพัดลม (Fanless) สำหรับ CPU ซีรีส์ U นิยมใช้ในโน้ตบุ๊กราคาประหยัด
  • C (TDP 15-28W): ออกแบบมาสำหรับ Chromebook ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในบ้านเราไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจาก Chromebook ไม่ได้วางจำหน่าย และได้รับความนิยมในประเทศไทย
  • U (TDP15-28W): CPU ซีรีส์นี้มีความเร็วต่ำ ประหยัดพลังงาน เพื่อใช้ในโน้ตบุ๊กที่เน้นการออกแบบให้มีความบาง และน้ำหนักเบา
  • HS (TDP 35W+): เป็น CPU ประสิทธิภาพสูง พร้อม ชิปกราฟิก (GPU) แบบออนบอร์ดที่แรงขึ้น แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานอย่างประหยัด
  • HX (55W+): เป็น CPU สำหรับโน้ตบุ๊กของ AMD รุ่นที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด

หลักการตั้งชื่อ CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ Desktop ของ AMD (Understanding AMD Processor Naming Scheme)

สำหรับ CPU สำหรับคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือ Desktop ของ AMD จะไม่ได้ใช้โครงสร้างในการตั้งชื่อแบบใหม่เหมือนกับ CPU สำหรับโน้ตบุ๊ก ตัวอย่างเช่น CPU ซีรีส์ 7000 ของเครื่อง Desktop เช่น 7950X, 7900X, 7700X และอื่น ๆ ยังคงใช้สถาปัตยกรรม Zen 4 

ซึ่งโครงสร้างการตั้งชื่อที่ชวนสับสนนี้ยังคงอยู่กับซีรีส์ Ryzen 9000 ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานมานี้ด้วย เช่น Ryzen 9 9950X, Ryzen 9 9900X, Ryzen 7 9800X3D, Ryzen 7 9700X และ Ryzen 5 9600X ซึ่ง CPU เหล่านี้ใช้สถาปัตยกรรม Zen 5 ในการทำงาน

วิธีอ่านรายละเอียดรุ่นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของ AMD
ภาพจาก : https://www.amd.com/en/products/processors/desktops/ryzen.html

ตัวเลขหลักแรก

ตัวเลขหลักแรกคือหมายเลขรุ่นที่บ่งบอกถึงซีรีส์ของ CPU ตัวอย่างเช่น ซีรีส์ Ryzen 7xxx เป็นรุ่นที่สืบทอดต่อจากซีรีส์ Ryzen 5xxx และเป็นสถาปัตยกรรมที่ใหม่กว่า

ตัวเลขหลักสอง

ตัวเลขที่สองจะแสดงถึงระดับประสิทธิภาพภายในซีรีส์เดียวกัน โดยทั่วไปมันบ่งบอกถึงการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในความเร็วของสัญญาณนาฬิกา ตัวอย่างเช่น AMD Ryzen 5 8600G จะแรงกว่า Ryzen 5 8500G

วิธีอ่านรายละเอียดรุ่นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของ AMD
ภาพจาก : https://www.amd.com/en/products/processors/desktops/ryzen.html#tabs-0eb49394b2-item-a508a69fa1-tab

ตัวเลขหลักสาม และสี่

ตัวเลขหลักที่สาม และสี่ แสดงถึงการแยกรุ่นเพิ่มเติมภายใน CPU กลุ่มเดียวกัน Ryzen 7 8845HS และ 8840HS เป็นตัวอย่าง ตัวแรกมีประสิทธิภาพดีกว่าเล็กน้อย แม้จะมีบูสต์ความเร็วสูงสุดได้เท่ากันที่ 5.1 GHz แต่ความเร็วเริ่มต้นต่างกัน โดย 8845HS เริ่มที่ 3.8 GHz ในขณะที่ 8840HS อยู่ที่เพียง 3.3 GHz เท่านั้น

วิธีอ่านรายละเอียดรุ่นหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ของ AMD
ภาพจาก : https://www.amd.com/en/products/specifications/processors.html

คำต่อท้าย

เช่นเดียวกันกับ CPU สำหรับโน้ตบุ๊ก ทางด้าน CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ Desktop ก็มีตัวอักษรต่อท้ายเช่นกัน

คำต่อท้ายรุ่นของ CPU สำหรับคอมพิวเตอร์ Desktop

  • F: ไม่มีชิปกราฟิกในตัว
  • G: APU ที่มาพร้อมกับชิปกราฟิก AMD Ryzen ประสิทธิภาพสูงในตัว
  • GE: มีชิปกราฟิก AMD Radeon ในตัว แต่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า
  • X: มีความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่สูงกว่า และการใช้พลังงานมากขึ้น รองรับ การโอเวอร์คล็อก (Overclocking)
  • XT: ดีกว่า X เล็กน้อย เนื่องจากความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่สูงขึ้นกว่าเดิมนิดนึง
  • X3D: มาพร้อมกับเทคโนโลยี 3D V-Cache ของ AMD เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นเกมที่ดีกว่า
  • S: เน้นประสิทธิภาพการทำงาน และมาพร้อมกับชิปกราฟิก AMD Radeon Vega ในตัว

คำต่อท้ายอื่น ๆ 

ยังมีคำต่อท้าย (Suffixes) ที่อาจพบเจอได้บ้าง และบางตัวก็ไม่ใช้งานใน CPU รุ่นใหม่ ๆ แล้ว

  • WX: สำหรับเครื่องระดับ เวิร์กสเตชัน (WorkStation)
  • PRO: การใช้งานระดับองค์กร, มีฟีเจอร์เพิ่มเติมด้านความปลอดภัย และการจัดการ
  • T: ความเร็วสัยญาณนาฬิกาบูสต์สูงสุดได้เยอะกว่าเดิม
  • AF: การปรับปรุงสถาปัตยกรรม Zen+ ของรุ่น Zen

ก็หวังว่า ในตอนนี้คุณผู้อ่านจะเข้าใจคุณสมบัติในการทำงานของ CPU จาก AMD แต่ละรหัสกันแล้วนะ น่าจะช่วยให้การเลือกซื้อโน้ตบุ๊กของคุณเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ไม่มากก็น้อย


ที่มา : www.makeuseof.com , en.wikipedia.org , www.xda-developers.com , en.wikipedia.org

0 %E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87+%28CPU%29+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87+AMD
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น