นักวิจัยคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) เราอาจจะได้เห็น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Cars) ออกมาวิ่งกันเต็มท้องถนน นับได้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แบบที่หลายคนอาจเคยจินตนาการเอาไว้เหมือนในภาพยนตร์หรือเปล่า ?
อย่างไรก็ตามถ้าวัดตามสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันคงต้องบอกว่า เทคโนโลยีรถยนต์อัตโนมัตินั้นมาไกลพอสมควร แต่จริง ๆ แล้วมันก็ยังไม่ใช่ที่สุด นั่นเพราะองค์กร SAE International หรือ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ ได้มีการกำหนดระดับของรถยนต์อัตโนมัติไว้ถึง 6 ระดับ และระดับเหล่านี้เองก็เป็นตัวชี้วัด ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งจะมีระดับไหนบ้างที่มนุษย์สามารถปล่อยมือได้เลย และปัจจุบันเราก้าวหน้าไปได้มากแค่ไหน ลองอ่านกัน
ภาพจาก : https://www.extremetech.com/extreme/303740-car-of-the-year-extremetechs-best-cars-for-2020
ระดับ 0 : No Automation เป็นรถยนต์ที่ไม่มีระบบช่วยเหลืออะไรเราเลย พูดง่าย ๆ ก็คือรถยนต์ทั่วไปนั่นแหล่ะ ไม่ต้องกล่าวอะไรเยอะ มันคือรถธรรมดานี่เอง แต่ก็จัดอยู่กับ 1 ใน 6 ประเภท
ระดับ 1 : Driver Assistance ถือเป็นระดับต่ำสุด ถ้าไม่นับก่อนหน้านี้ รถยนต์ประเภทนี้จะมีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ในด้านต่าง ๆ โดยมีผู้ขับทำตามคำแนะนำของระบบ ในขณะที่อาจจะมีฟังก์ชันอัตโนมัติบางอย่างช่วยสนับสนุนด้วย แต่ไม่เกิน 1 - 2 ฟังก์ชัน เช่น ควบคุมพวงมาลัย หรือ ควบคุมคันเร่ง (Cruise control) บางตัวก็อาจใส่ระบบเบรกอัจฉริยะช่วยให้เบรกนิ่ม ๆ และระบบช่วยจอดรถ เป็นต้น ถ้าบางรุ่นล้ำกว่าก็เป็นระบบที่แจ้งเตือนเวลาเราขับเบี่ยงเลนของตัวเอง (Lane Keeping Assistance) ทำให้พวงมาลัยสั่น เพื่อให้เราหักพวงมาลัยกลับมา นั่นเอง
BMW 1 Series ระบบ Driver Assistance
ภาพจาก : https://www.bmw.sr/en/all-models/1-series/5-door/2015/driverassistance.html
ระดับ 2 : Partial Automation หรือเรียกอีกอย่างว่าระบบ Advanced Driver Assistance Systems (ADAS) รถจะให้เราผสมผสานการควบคุมร่วมกับระบบ ในขณะที่การขับขี่ส่วนใหญ่คนขับยังคงต้องประเมินสถานการณ์รอบตัวและตัดสินใจต่าง ๆ ตลอดเวลา เพราะอาจเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น มีรถสวน หรือ มีคนข้ามถนน หน้าที่ของระบบมีเพียง ควบคุมพวงมาลัยให้อยู่ในเลน และ ควบคุมความเร็วรถไปตามเส้นทางบนถนน บางรุ่นไฮเทคหน่อยอาจมีระบบตรวจจับเซ็นเซอร์ด้านหน้า เพื่อที่จะควบคุมเบรกฉุกเฉิน หรือหลบสิ่งกรีดขวางเป็นต้น ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่พัฒนาอยู่ในระดับนี้ แม้กระทั่ง Tesla เองก็ตาม
ตัวอย่างการทดสอบรถ Tesla และ Cadillac
คลิปจาก : https://www.youtube.com/watch?v=RxeK0F-D3gg
ระดับ 3 : Conditional Driving Automation เรียกว่าเป็น "รถยนต์ไร้คนขับ" ได้อย่างเต็มปาก เพราะมันสามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมการจราจรต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองจากการตรวจจับสิ่งรอบตัวผ่านเซ็นเซอร์ และควบคุมอย่างเหมาะสม เช่น การแซงรถที่อยู่ข้างหน้า การเบรกเมื่อมีรถตัดผ่าน การเลี้ยวผ่าน 4 แยก การเปลี่ยนเลน เป็นต้น ซึ่งคนขับสามารถที่จะละสายตาไปดูหนัง หรืออ่านหนังสือระหว่างขับขี่ก็ได้ไม่มีปัญหา แต่อย่างไรก็ต้องตื่นตัวตลอดเวลา เพราะบางครั้งระบบอาจต้องการให้บางสถานการณ์ให้เราเป็นผู้ควบคุมเอง
สรุปคือ รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Cars) ระดับ 3 ควบคุมตัวรถมากกว่าคนขับ นั่นทำให้ต้องเอาใจใส่ด้านความปลอดภัยอย่างสูง ทุกจังหวังการเร่ง การชะลอ หรือ การแซง ทุกอย่างควรได้รับการรองรับว่ามันจะไม่ตัดสินใจผิดพลาด ประเด็นคือผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าพยายามเดินเรื่องให้ผ่านข้อกฎหมายในประเทศต่าง ๆ เช่น Audi ที่เคยประกาศใหญ่เมื่อ ปี ค.ศ 2018 (พ.ศ. 2561) ว่าจะทำรถยนต์ไร้คนขับระดับ 3 ในรถหรูอย่าง Audi A8 แต่ปัจจุบันก็ยอมแพ้ไปแล้ว ขณะที่ Tesla ก็กำลังอยู่ระหว่างทดสอบ
อย่างไรก็ตาม เจ้าแรกที่ได้ระดับ 3 ก่อนใคร คือ Honda ที่เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) และตามมาด้วย Mercedes ที่ได้รับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานของเยอรมนี ซึ่งกำลังมีการวางขายเฉพาะที่เยอรมนีก่อน และทั้งสองเจ้าก็มีกำหนดจะวางขายในช่วงต้นปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) เหมือนกัน
คลิประบบ Honda Sensing Elite ระดับ 3 ตัวแรกของโลก
ระดับ 4 : High Driving Automation นี้คือไม่ต้องมีคนขับเลยก็ได้ แต่ยังคงให้มนุษย์สามารถควบคุมตัวรถได้ หากเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝัน ระบบสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์ แต่ต้องเป็นเส้นทางที่ตั้งไว้ หรือ เส้นทางประจำ ไม่มีออกนอกเส้นทางเด็ดขาด เช่น ในเมือง หรือ ชนบท ทำให้การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับระดับ 4 ส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นรถรับส่งสาธารณะ ที่วิ่งด้วยความเร็วไม่สูงมาก เช่น
ระดับ 5 : Full Driving Automation ระดับนี้ไม่ต้องการมนุษย์มาช่วยขับอีกต่อไป โดย พวงมาลัย คันเร่ง หรือ เบรก ทุกอย่างที่ควบคุมโดยมนุษย์ จะถูกตัดทิ้งออกหมดเหลือเพียงไว้แต่ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์สำหรับให้ระบบใช้ เป็นรถยนต์แห่งโลกอนาคตที่พาคุณไปได้ทุกที่ เพียงแค่คุณต้องการ
มีข่าวลือว่าหลายบริษัทซุ่มแอบพัฒนารถยนต์ไร้คนขับระดับ 5 แต่ก็เป็นเพียงแค่ข่าวลือ อย่าง Tesla ที่ระบุโต้ง ๆ และตั้งชื่อระบบ Auto Pilot ห้อยท้ายว่า Full Self Driving Technology จริง ๆ แล้วนั่นก็คือแค่ระดับ 2 เท่านั้น โปรดอย่าเข้าใจผิด
สรุปแล้วหากแบ่งตามคำจำกัดความ ระดับ 0 - 2 ยังไม่นับว่าเป็น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเป็นเพียงแค่สิ่งที่เรียกว่าระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (Driving Assistant) เท่านั้น ส่วนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติคงจะเป็นสิ่งที่อยู่ในระดับ 3 - 5 ที่การควบส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจของระบบ โดยที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องควบคุมหรือถือพวงมาลัยเลยก็ได้ครับ
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |