เมาส์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่อยู่คู่กับคอมพิวเตอร์มาอย่างยาวนาน ลองคิดดูว่าถ้าไม่มีมันการเลื่อนเคอร์เซอร์เพื่อเลือกเมนูต่าง ๆ บนหน้าจอจะลำบากขนาดไหน แม้แต่ผู้ใช้งานโน๊ตบุ๊กที่มี แผ่นสัมผัส (Touchpad) อยู่แล้ว หลายคนก็ยังชอบเอาเมาส์มาต่ออยู่ดี
ข้อมูลเพิ่มเติม : เมาส์ (Mouse) คืออะไร ? รู้จักประวัติความเป็นมาของเมาส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชื่อดังของโลก
ในการเลือกซื้อเมาส์มาใช้งาน มันก็มีเรื่องที่ต้องพิจารณาอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความจับถนัดมือ, น้ำหนักเมาส์, ดีไซน์สวยงามถูกใจ, ไฟ RGB, ราคา ฯลฯ และที่ไม่ควรมองข้ามเลย คือค่า DPI ของเมาส์
เมาส์แต่ละรุ่นจะมี ค่า DPI ที่แตกต่างกัน เมาส์ราคาถูกส่วนใหญ่จะมีค่า DPI ตายตัว ส่วนเมาส์ที่มีราคาแพงขึ้นมาหน่อยจะสามารถปรับค่า DPI ได้หลายระดับ โดยยิ่งตัวเมาส์สามารถค่า DPI ได้ละเอียด และสูงมากเท่าไหร่ เมาส์ก็มักจะมีราคาที่แพงมากขึ้นตามไปด้วย
R.A.T. PRO X3 Supreme ปรับได้สูงสุดถึง 16,000 DPI
ภาพจาก https://www.madcatz.com/en/Product/Detail/rat-pro-x3-supreme
แล้วเจ้าค่า DPI ของเมาส์มันคืออะไร ? ยิ่งสูงยิ่งดีจริงหรือเปล่า ? บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับค่า DPI กันให้มากขึ้น
ก่อนจะเข้าเรื่อง DPI เราคิดว่าควรจะอธิบายหลักการทำงานของเมาส์เสียก่อน ในอดีต เมาส์จะใช้วิธีจับทิศทางการกลิ้งของ "ลูกบอล" ที่อยู่ใต้เมาส์ มาใช้ในการคำนวณว่าใเคอร์เซอร์ควรเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน ? ระยะทางเท่าไหร่ ? แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก็มีจุดอ่อนหลายอย่าง ทั้งความแม่นยำต่ำ, ใช้ไปสักพักพวกขี้ฝุ่นก็เข้าไปติดตามลูกกลิ้ง ทำให้การทำงานของเมาส์มีปัญหา และใช้งานได้บนพื้นผิวบางประเภทเท่านั้น (นั่นทำให้แผ่นรองเมาส์ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อใช้คู่กัน)
สำหรับเมาส์ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนวิธีจับความเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นวิธีการที่หลายคนอาจจะไม่เชื่อด้วยซ้ำไป คุณผู้อ่านล่ะเชื่อไหม ? หากเราจะบอกว่าทั้งเมาส์แสง (Optical Mouse) หรือเมาส์เลเซอร์ (Laser Mouse) ตามหลักการพื้นฐานแล้ว มันไม่ต่างจาก "กล้องวิดีโอ" โดยในตัวเมาส์จะมี เซนเซอร์ CMOS สำหรับตรวจจับแสงอยู่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในกล้องดิจิทัล
เมื่อผู้ใช้ขยับเมาส์ เซนเซอร์ CMOS จะบันทึกภาพพื้นผิวที่เมาส์ได้เคลื่อนที่ผ่าน เพื่อจับตำแหน่งความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น โดยสำหรับเมาส์ธรรมดาที่ไม่ใช่เกมมิ่งเมาส์ การบันทึกภาพจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเฉลี่ยประมาณ 800-1,200 ครั้งต่อวินาที แล้วนำภาพพื้นผิวปัจจุบันเทียบกับพื้นผิวก่อนหน้า เพื่อคำนวณว่าเมาส์กำลังเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน
ภาพจาก https://www.msi.com/blog/5-tips-to-improve-performance-of-your-gaming-mouse
DPI นั้นย่อมาจากคำว่า "Dots per Inch (จุดต่อนิ้ว)" สำหรับ DPI ของเมาส์ จะหมายถึงจำนวนพิกเซลที่เคอร์เซอร์เคลื่อนที่ได้เมื่อขยับเมาส์
ข้อมูลเพิ่มเติม : DPI คืออะไร ?
ตัวอย่างเช่น 400 DPI หมายความว่า เมื่อขยับเมาส์ไป 1 ตารางนิ้ว เคอร์เซอร์จะขยับไป 400 พิกเซล (Pixels)
ยิ่ง DPI ต่ำเท่าไหร่ เราก็จะรู้สึกว่าความไว (Sensitivity) ของเมาส์ก็จะต่ำลงเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากค่า DPI สูง เช่น 8,000 DPI เมื่อขยับเมาส์ไป 1 ตารางนิ้ว เคอร์เซอร์จะขยับไป 8,000 พิกเซล เวลาใช้งานเราก็จะรู้สึกว่าเคอร์เซอร์ขยับไวมาก
ภาพจาก https://www.gearrate.com/en/guide/mouse-dpi/
ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความละเอียดของหน้าจอแสดงผล สมมติคุณใช้งานเมาส์ธรรมดาที่มีค่าการทำงานอยู่ที่ 800 DPI กับหน้าจอความละเอียด 4K (3,840x2,160 พิกเซล) หมายความว่าการจะลากเคอร์เซอร์จากด้านซ้ายสุดไปยังด้านขวาสุด คุณจะต้องลากเมาส์เป็นระยะทางเกือบ 5 นิ้วเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริง เราก็ไม่จำเป็นต้องลากเมาส์ไกลถึงขนาดนั้น เพราะในระบบปฏิบัติการ Windows หรือภายในเกมก็จะมีให้เราปรับค่าความไว (Sensitivity) ของเมาส์ด้วย ซึ่งจะได้เป็นค่าที่เรียกว่า Effective DPI (eDPI)
DPI ของเมาส์ จะทำงานร่วมกับค่าความไว (Sensitivity) ที่อยู่ในซอฟต์แวร์ด้วย ทั้งในระบบปฏิบัติการ Windows หรือภายในเกม จะมีให้เราปรับค่าความไวของเมาส์ด้วย (ซอฟต์แวร์แต่ละตัวจะมีการแบ่งระดับค่า Sensitivity ที่แตกต่างกัน) ซึ่งค่าความไวนี้จะทำงานร่วมกับค่า DPI เพื่อคำนวณผลลัพธ์สุดท้ายออกมาเป็นระยะเคลื่อนที่ของเคอร์เซอร์ เราเรียกค่านี้ว่า Effective DPI (eDPI)
ตัวอย่างเช่น
ภาพจาก https://ag.hyperxgaming.com/article/9906/csgo-to-valorant-sensitivity-converter
เรารู้จัก DPI และ eDPI กันไปแล้ว ทำให้บางคนอาจเกิดคำถามว่า ในเมื่อมี eDPI แล้ว ทำไมเรายังต้องเสียเงินราคาแพงเพื่อซื้อเมาส์ที่สามารถปรับ DPI ให้ต่ำหรือสูงกว่าปกติได้ ซึ่งมีราคาแพงมาใช้งานด้วยล่ะ ก็ปรับค่าความไวเพื่อชดเชยแทนก็ได้นี่ ?
มันก็เป็นข้อเท็จจริงว่า เมาส์ DPI สูงไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเสมอไป เพราะยิ่ง DPI สูง เราจะยิ่งรู้สึกว่าเคอร์เซอร์เคลื่อนที่เร็วมาก ซึ่งเราคงไม่ต้องการให้การขยับเมาส์เพียงนิดเดียวเคอร์เซอร์ก็กระโดดข้ามจอจนมองแทบไม่ทัน หรือเลยเป้าหมายที่เราต้องการจะคลิก
แต่เมาส์ DPI สูง จะมีประโยชน์เมื่อคุณต้องการเล็งด้วยความแม่นยำ โดยอาศัยการขยับเมาส์เพียงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่นในเกมแนว FPS เมื่อเราใช้ปืนสไนเปอร์ซูมไปยังเป้าหมายที่มีขนาดเล็ก ค่า DPI ที่สูงจะช่วยให้ผู้เล่นสามารถเล็งเข้าเป้าได้ง่ายขึ้นโดยอาศัยการขยับเมาส์เพียงเล็กน้อย เมาส์เกมมิ่งระดับสูงหลาย ๆ รุ่น จึงมีการใส่ปุ่มสำหรับสลับค่า DPI ได้อย่างรวดเร็วในขณะที่เล่นเกมโดยไม่ต้องออกไปตั้งค่าในซอฟต์แวร์ให้เสียเวลา
นักทำกราฟิกหลายคนก็นิยมใช้งานเมาส์ที่มีค่า DPI สูง เพราะมันช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องแก้ไขงานระดับพิกเซลที่ต้องอาศัยความแม่นยำในการควบคุมเมาส์
DPI นั้นทำงานด้วยฮาร์ดแวร์ของตัวเมาส์ ไม่เหมือนค่า Sensitivity ที่เป็นการปรับแต่งด้วยซอฟต์แวร์ ตัวอย่างเช่น หากคุณใช้เมาส์ที่มีค่า DPI ต่ำ ทำ Selection วัตถุขนาดเล็กในโปรแกรม Photoshop ต่อให้คุณพยายามขยับเมาส์ทีละนิดอย่างช้า ๆ แล้วก็ตาม แต่ฮาร์ดแวร์ของเมาส์ไม่ไวพอที่จะจับความเคลื่อนไหวนั้นได้ละเอียดพอ เคอร์เซอร์ก็จะเคลื่อนที่เลยจุดที่คุณต้องการเลือกไป เนื่องจากเมาส์ไม่สามารถจับข้อมูลการเคลื่อนไหวขนาดเล็กนั้นได้ทัน ตัวซอฟต์แวร์ก็เลยชดเชยการเคลื่อนที่ให้ด้วยค่า Sensitivity ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่แม่นยำเท่ากับค่าที่ฮาร์ดแวร์ของเมาส์ตรวจจับได้จริง ๆ
ทิ้งท้ายกันด้วยเรื่อง Polling Rates ซึ่งอันที่จริงก็ไม่เกี่ยวข้องกับค่า DPI แต่มันก็มีความสัมพันธ์กับการตรวจจับความเคลื่อนไหวของเมาส์ด้วยเช่นกัน
Polling Rates จะบ่งบอกความถี่ในการบอกค่าตำแหน่งที่เมาส์ส่งไปยังคอมพิวเตอร์ โดยมีหน่วยในการวัดเป็น Hz เมาส์ธรรมดาแบบ USB โดยทั่วไปจะมีค่านี้อยู่ที่ 125 Hz หมายความว่า ภายใน 1 วินาที มันจะส่งข้อมูลตำแหน่งไปให้คอมพิวเตอร์ทราบ 125 ครั้ง หรือทุก 8 มิลลิวินาที ซึ่งค่า Polling Rates นั้นยิ่งสูงยิ่งดี เพราะมันช่วยให้คอมพิวเตอร์รับรู้ตำแหน่งเคอร์เซอร์ได้อย่างละเอียดมากขึ้น การเคลื่อนไหวของเคอร์เซอร์จึงมีความแม่นยำสูงตามไปด้วย
ค่า Polling Rate | ดีเลย? |
---|---|
125 Hz | 8 มิลลิวินาที |
250 Hz | 4 มิลลิวินาที |
500 Hz | 2 มิลลิวินาที |
1000 Hz | 1 มิลลิวินาที |
4000 Hz | 0.25 มิลลิวินาที |
8000 Hz | 0.125 มิลลิวินาที |
สุดท้ายแล้ว เมาส์ DPI สูงจำเป็นหรือไม่ ? ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแต่ละคนมากกว่า คนส่วนใหญ่ รวมถึงเกมเมอร์มือโปรหลายคนก็ไม่ได้ตั้งค่า DPI สูงด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเมาส์ที่ค่า DPI สูง จะให้อิสระในการปรับแต่งได้มากกว่า
ในการเลือกซื้อเมาส์มาใช้งาน เราอาจจะไม่ต้องใส่ใจกับค่า DPI มากนักก็ได้ เลือกที่จับแล้วถนัดมือ วัสดุถูกใจ ดีไซน์ถูกจริตดีกว่า นอกเสียจากมีเหตุผลที่ต้องการใช้งานค่า DPI สูงจริง ๆ เช่น หน้าจอมีขนาดใหญ่มาก ทำงานกราฟิกที่ต้องการความแม่นยำสูง
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |