หากคุณไม่ใช่คนที่หมั่นติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีเป็นประจำ เมื่อไปช้อปปิ้งโน้ตบุ๊ก หรือสายชาร์จ น่าจะเกิดความสับสนกับชื่อของพวกมันกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพอร์ตกับสาย USB-C ที่หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ แต่ราคา กับชื่อรุ่นมีความหลากหลายมาก
กรณีล่าสุดที่ผู้เขียนพบเจอมาเลย คือมีคนบอกว่าสาย USB-C ของ Apple ที่เพิ่งเปิดตัวมีราคาแพงเกิน ใช้สายเส้นละ 99 บาท ก็ได้เหมือนกัน แต่พอผู้เขียนเข้าไปดูก็พบว่า มันแพงเพราะมันเป็นสาย Thunderbolt 4 (แต่ก็ยอมรับว่าสาย Thunderbolt ของ Apple ก็แพงกว่ายี่ห้ออื่น) นี่นา ทำให้พบว่ามีหลายคนน่าจะยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างพอร์ต Thunderbolt กับพอร์ต USB-C
ในบทความนี้เราก็เลยจะพาไปทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างพอร์ต Thunderbolt กับพอร์ต USB-C กันให้มากขึ้น
พอร์ต Thunderbolt เดิมทีเป็นพอร์ตความเร็วสูงที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) จากความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างบริษัท Apple และ Intel ทำให้ในช่วงแรกของการพัฒนา พอร์ต Thunderbolt จะมีให้ใช้แค่ในอุปกรณ์ของ Apple เท่านั้น ซึ่งเดิมทีในพอร์ต Thunderbolt 1 และ Thunderbolt 2 จะมีดีไซน์เฉพาะตัวเป็นหัวแบบ 6 เหลี่ยม
ภาพจาก : https://www.apple.com/th/shop/product/MD861ZA/A/สาย-apple-thunderbolt-20-ม-สีขาว
แต่ในภายหลังตั้งแต่พอร์ต Thunderbolt 3 รวมไปถึงเวอร์ชันล่าสุดอย่าง Thunderbolt 4 มันได้เปลี่ยนดีไซน์มาเป็นแบบเดียวเหมือนกับพอร์ต USB-C
สาย Thunderbolt 4 ของ Apple
ภาพจาก : https://www.apple.com/th-en/shop/product/MN713ZA/A/thunderbolt-4-pro-cable-18-m
พอร์ต USB-C (หรือเรียกชื่อเต็ม USB Type-C) และพอร์ต Thunderbolt 3 แม้จะหน้าตาภายนอกจะเหมือนกัน แต่ความเป็นจริงมันเป็นคนละเทคโนโลยีกันเลย พอร์ตชนิดนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยกลุ่ม USB Implementers Forum (USB-IF) ที่มีบริษัทมากกว่า 700 แห่งเป็นสมาชิก บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง APple, Samsung, Dell, HP, Intel และ Microsoft เองก็เป็นสมาชิกภายในกลุ่มนี้
โดย USB-C ตัวมันเองเป็นเพียงรูปแบบการเชื่อมต่อชนิดหนึ่ง ที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากพอร์ต USB แบบเก่า (ที่เรียกว่า Type-A) โดยพอร์ต USB-C ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกกว่า USB รุ่นเก่า ตัวพอร์ตมีขนาดเล็กลง, รองรับการเสียบใช้งานได้ทั้งสองด้าน, เพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล, มีแบนด์วิธกว้างขึ้น และสามารถจ่ายไฟได้แรงดันสูงกว่าเดิม
โดยส่วนใหญ่แล้ว นิยามของพอร์ต USB-C ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะหมายถึง พอร์ต USB ที่มีจะเป็นรูปแบบ USB-C ซึ่งในปัจจุบัน (3 มี.ค. 2022 (พ.ศ. 2565) ก็มักจะเป็นพอร์ตมาตรฐาน USB 3.2
ในทางกลับกัน นิยามของ Thunderbolt จะเป็นเรื่องของคุณสมบัติในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความเร็วในการรับส่งข้อมูล, แบนด์วิธ ฯลฯ แม้มันจะใช้รูปแบบพอร์ตเป็น USB-C เหมือนกัน แต่ประสิทธิภาพของมันเหนือกว่ามาก
สาย USB-C
ภาพจาก : https://flic.kr/p/2iRPJQH
ทั้งพอร์ต Thunderbolt และพอร์ต USB-C จัดว่าเป็นพอร์ตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเวลานี้ แม้ทั้งคู่จะมีหน้าตาเหมือนกัน แต่คุณสมบัติในการทำงานมีความแตกต่างกันมากพอสมควร ในการเลือกซื้อมาใช้งานจึงควรเข้าใจคุณสมบัติที่แตกต่างกันของมันด้วย
ซึ่งหากสรุปแบบสั้น ๆ มันทำงานได้เหมือนกัน เพียงแต่ Thunderbolt ทำได้ดีกว่า USB-C ทุกด้าน และเราสามารถนำThunderbolt ไปใช้งานร่วมกับ USB-C ได้ เพราะมันมี โปรโตคอล USB ในตัว แต่ทว่า เราจะไม่สามารถนำพอร์ต USB-C ไปใช้งานแทนพอร์ต Thunderbolt ได้
ในปัจจุบันนี้ พอร์ต Thunderbolt ที่นิยมใช้งานกันจะมี Thunderbolt 3 และ Thunderbolt 4 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุด ส่วน USB-C ก็จะเป็น USB 3 และ USB 4 อะไรแบบนี้เป็นต้น
Thunderbolt 4 | Thunderbolt 3 | USB 4 | USB 3/DP | ||
จุดแข็ง | พอร์ตเดียวรองรับทุกหน้าที่ | • | • | ||
ความเร็วสูงสุด 40GB/s, สายยาวสูงสุด 2 ม. | • | ||||
รองรับอุปกรณ์เสริมที่มีพอร์ต Thunderbolt ได้ 4 พอร์ต | • | ||||
ประสิทธิภาพ | ความเร็วขั้นต่ำ | 40 GB/s | 40 GB/s | 20 GB/s | 10 GB/s |
วิดีโอ | 4K 2 จอ | 4K 1 จอ | 8K ไม่จำกัด | 4K ไม่จำกัด | |
ข้อมูลขั้นต่ำ | PCIe 32 GB/s USB 3.2 10 GB/s | PCIe 16 GB/s USB 3.2 10 GB/s | USB 3.2 10 GB/s | USB 3.2 | |
พลังงานขั้นต่ำ | 15 Watts | 15 Watts | 7.5 Watts | 4.5 Watts | |
เครือข่าย Thunderbolt | • | • | |||
ความน่าเชื่อถือ | บังคับใช้ใบรับรองในคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์เสริม และสาย | • | • | ||
ต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ | • | • | |||
รองรับ Intel VT-d Based DMA Protection | • | ||||
รองรับ USB4 | • | • | • | • |
ถ้าดูตามสเปก เราก็ต้องยอมรับว่าพอร์ต Thunderbolt มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าพอร์ต USB-C พอสมควร แต่ประสิทธิภาพนี้ก็มาพร้อมกับราคาที่แพงกว่ามาก
เนื่องจากพอร์ต Thunderbolt เป็นเทคโนโลยีที่มีกรรมสิทธิ์ทำให้อุปกรณ์ที่มีพอร์ต Thunderbolt มีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าพอร์ต USB-C พอสมควร รวมถึงวงจรภายในสาย Thunderbolt ก็มีความซับซ้อนกว่า ต้องมีวงจรภายในตัวสำหรับตรวจสอบข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ เพื่อรับรองได้รับข้อมูลมาอย่างครบถ้วน ทำให้ต้นทุนสูงกว่า พอร์ต USB-C มาก
จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นสำหรับผู้ใช้ธรรมดาทั่วไป พอร์ต USB-C ก็สามารถตอบโจทย์ได้อย่างสบาย ๆ แล้ว แต่ในบางสถานการณ์คุณอาจจะพิจารณา หรือจำเป็นต้องเลือกใช้งานพอร์ต Thunderbolt
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |