หากพูดถึงพยัญชนะในภาษาอังกฤษนั้น จะมีอยู่ 26 ตัว โดยเริ่มตั้งแต่ A, B, C, D, E, F, G, H, I, J, K, L, M, N, O, P, Q, R, S, T, U, V, W, X, Y ไล่ไปจนถึงตัวสุดท้ายคือตัว Z แต่ใน ระบบปฏิบัติการ Windows เราจะพบว่าตัวอักษรไดรฟ์ (Drive Letter) แรกของระบบจะถูกกำหนดไว้ที่ไดรฟ์ "C:" เสมอ !
โดยในระบบปฏิบัติการ Windows จะอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถแบ่งพาร์ทิชัน (Partition) พื้นที่เก็บข้อมูลบนไดรฟ์ได้ ซึ่งผู้ใช้สามารถตั้งชื่อพาร์ทิชันด้วยตัวอักษรอะไรก็ได้ แต่ค่าเริ่มต้นที่ Windows ใช้ในการจัดเก็บไฟล์ระบบปฏิบัติการจะกำหนดเอาไว้เป็นไดรฟ์ C: หรือจะเรียกว่าเป็นวินโดวส์พาร์ทิชัน (Windows Partition) ก็ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม : การแบ่งพาร์ทิชันให้ฮาร์ดไดร์ฟ (Hard Drive Partitioning) จำเป็นหรือเปล่า ? มาดูข้อดี-ข้อเสียกัน
ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ก็ดูเหมือนจะคุ้นชินกับการที่ไดรฟ์ "C:" เป็นตำแหน่งเริ่มต้นสำหรับติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows กันมาอย่างช้านานแล้ว รวมไปถึงเวลาที่ติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่มเติมลงในระบบ เราก็จะเห็นว่าตำแหน่งเริ่มต้นสำหรับติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ทางผู้พัฒนาได้กำหนดมาให้ ก็จะถูกกำหนดเอาไว้ที่ไดรฟ์ C: เป็นค่าเริ่มต้นเสมอ
เห็นแบบนี้แล้ว เคยสงสัยไหมว่า แล้วทำไมชื่อไดรฟ์ถึงเริ่มต้นที่ตัวอักษร "C" ? ทำไมข้าม "A" และ "B" มาเลย แล้วเราสามารถเปลี่ยนชื่อไดรฟ์ให้เป็น "A" หรือ "B" ได้หรือเปล่า ? มาหาคำตอบกัน
ในความเป็นจริงแล้ว ระบบปฏิบัติการ Windows ไม่ได้มีเจตนาที่จะมองข้ามไดรฟ์ "A:" และไดรฟ์ "B:" แต่อย่างใด ย้อนกลับไปในสมัยอดีตที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยังอยู่ในยุคเริ่มต้น ฮาร์ดดิสก์ไม่ใช่พื้นที่เก็บข้อมูลหลักของคอมพิวเตอร์เหมือนกับปัจจุบันนี้ (มันถูกพัฒนาขึ้นมาในภายหลัง) แต่จะใช้สื่อเก็บข้อมูลที่เรียกว่า "แผ่นฟลอปปีดิสก์ (Floppy Disk)"
ข้อมูลเพิ่มเติม : ประวัติความเป็นมาของ แผ่นฟลอปปีดิสก์ (Floppy Disk) หรือ แผ่นดิสเกตต์ (Diskette)
แผ่นฟลอปปีดิสก์
ภาพจาก : https://flic.kr/p/fLV5w5
โดยแผ่นฟลอปปีดิสก์นั้น ไม่ใช่สื่อที่มีความจุสูงมากนัก คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นจึงนิยมออกแบบให้มีช่องอ่านแผ่นฟลอปปีดิสก์นี้จำนวน 2 ช่อง ช่องแรกถูกกำหนดให้เป็นไดรฟ์ A: สำหรับใส่แผ่นฟลอปปีดิสก์ที่ทำหน้าที่ในการบูตระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนช่องที่สองถูกกำหนดให้เป็นไดรฟ์ B: สำหรับใส่แผ่นฟลอปปีดิสก์ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน หากเทียบกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนี้ ก็เหมือนกับการที่ ไดรฟ์ C: เอาไว้เก็บระบบปฏิบัติการ Windows แล้ว มีไดรฟ์ D:, E:, F: ฯลฯ ไว้เก็บข้อมูลอื่น ๆ นั่นเอง
และเมื่อวันเวลาผ่านไป ฮาร์ดดิสก์ (Harddisk หรือ HDD) ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในที่สุด อย่างไรก็ตาม การมาของฮาร์ดดิสก์ไม่ได้ทำให้แผ่นฟลอปปีดิสก์กลายเป็นของตกยุคไปในทันที ในช่วงแรกฮาร์ดดิสก์ไม่ได้ถูกใช้งานแทนแผ่นฟลอปปีดิสก์ทันที สิ่งที่เกิดขึ้น คือผู้ใช้เลือกที่จะใช้งานทั้งสองสิ่งร่วมกัน นั่นทำให้ต้องมีไดรฟ์เพิ่มขึ้นมา ในเมื่อเรามี A และ B ไปแล้ว ดังนั้นชื่อไดรฟ์ของฮาร์ดดิสก์จึงถูกกำหนดให้เป็นไดรฟ์ "C:" ไปโดยปริยาย
หลายปีต่อมา ฮาร์ดดิสก์ได้ถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงสะดวกต่อการพกพามากขึ้น แถมยังมีความเร็ว และความจุที่สูงมากกว่าสมัยแรกมาก ความนิยมในการใช้งานแผ่นฟลอปปีดิสก์ก็ค่อย ๆ เสื่อมถอยลง ทางผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เองก็ไม่ได้ใส่ช่องอ่านแผ่นฟลอปปีดิสก์เข้ามาในคอมพิวเตอร์ให้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ไดรฟ์ "A:" และไดรฟ์ "B:" ยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ เพื่อให้รองรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เก่า ๆ (Backward Compatibility)
คุณผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่านี่มัน พ.ศ. ไหนแล้ว มันจะยังมีความจำเป็นที่ต้องเผื่อไว้อีกเหรอ ? อันที่จริงมันก็มีข่าวที่อ่านแล้วแอบฮาออกมาเป็นระยะนะ อย่างเช่นในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ก็มีการค้นพบว่าเครื่องบินโดยสาร Boeing 747 บางลำ ยังต้องอาศัยแผ่นฟลอปปีดิสก์จำนวน 8 แผ่น ในการอัปเดตซอฟต์แวร์ของเครื่องบินอยู่เลย หรือแม้แต่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเอง ก็เพิ่งจะยกเลิกการใช้แผ่นฟลอปปีดิสก์ในระบบสั่งงานหัวรบนิวเคลียร์ไปเมื่อปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) นี่เอง
ภาพถ่ายในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557)
ภาพจาก : https://www.nytimes.com/2019/10/24/us/nuclear-weapons-floppy-disks.html
กลับมาที่เรื่องของเราต่อ ยุคเริ่มแรกของระบบปฏิบัติการ Windows นั้น มันไม่ได้เป็นระบบปฏิบัติการที่ทำงานได้ด้วยตนเอง (Standalone) แต่มันเป็นเพียงโปรแกรมตัวหนึ่งที่ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการบน DOS เท่านั้น ในภายหลังที่ฮาร์ดดิสก์จะกลายเป็นสื่อเก็บข้อมูลหลักของคอมพิวเตอร์แล้ว ทาง Microsoft จึงกำหนดให้ไดรฟ์ "C:" เป็นไดรฟ์ที่ใช้ในการติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows
ภาพจาก : https://github.com/joncampbell123/dosbox-x/wiki/Guide:Installing-Windows-1.0x
แม้คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันจะไม่ได้ใช้แผ่นฟลอปปีดิสก์กันแล้ว แต่ด้วยความที่ Windows กับไดรฟ์ C: นั้นอยู่ด้วยกันมานานมาก ทำให้มันถูกกำหนดให้เป็นไดรฟ์สำหรับติดตั้งระบบปฏิบัติการไปโดยปริยาย รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ก็มีข้อตกลงร่วมกันให้พัฒนาโดยกำหนดให้มีไดรฟ์ C: เป็นไดรฟ์หลักสำหรับติดตั้งระบบปฏิบัติการ การเปลี่ยนชื่อไดรฟ์ที่มี ระบบปฏิบัติการ Windows ถูกติดตั้งเอาไว้อยู่ จึงอาจส่งผลต่อซอฟต์แวร์บางตัวให้ไม่สามารถทำงานได้
ในกรณีที่คอมพิวเตอร์ของคุณติดตั้งเครื่องอ่านฟลอปปีดิสก์เอาไว้ คุณจะไม่สามารถตั้งชื่อพาร์ทิชันไดรฟ์ A: หรือไดรฟ์ B: ได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่คิดว่าคอมพิวเตอร์ของคุณผู้อ่านจะยังมีเครื่องอ่านฟลอปปีดิสก์ติดตั้งเอาไว้อยู่
ปัจจุบันนี้ เวลาที่เราติดตั้งฮาร์ดไดรฟ์เพิ่มเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ ค่าเริ่มต้นของชื่อไดรฟ์จะถูกกำหนดให้เป็น D: และไล่ตัวอักษรเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ แม้ว่าเราจะสามารถตั้งค่าเปลี่ยนชื่อไดรฟ์เป็น A หรือ B ได้ก็ตาม แต่ตัวระบบปฏิบัติการ Windows จะไม่ได้กำหนดข้อมูลไดรฟ์ดังกล่าวให้มันเป็นดิสก์แบบถอดได้เหมือนกับฟลอปปีดิสก์นะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |