เชื่อว่าในปัจจุบันนี้ ภายในบ้าน หรือคอนโดที่ท่านอยู่อาศัย ส่วนใหญ่ก็น่าจะต้องมี ระบบ Wi-Fi ติดตั้งอยู่ด้วยอย่างแน่นอน โดยอุปกรณ์สำคัญที่มีหน้าที่ในการประสานงานระหว่างเครือข่ายภายในที่อยู่อาศัยของคุณ ไปยังเครือข่ายของ ISP ก็คือโมเด็มเราเตอร์ (Modem Router) นั่นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม : Modem, Router และ Network Switch คืออะไร ? และ แตกต่างกันอย่างไร ?
โดย โมเด็มเราเตอร์ (Modem Router) ที่วางจำหน่ายในปัจจุบันนี้ ทางผู้ผลิตก็จะนิยมใส่พอร์ต USB มาให้ด้วย ก็มีคนถามกันเข้ามาเป็นจำนวนมากว่า "พอร์ต USB ที่อยู่ในเราเตอร์มีไว้เพื่ออะไร ?" ในบทความนี้ เราเลยจะมาอธิบายประโยชน์ของมันกัน เผื่อคุณผู้อ่านจะได้ไอเดียดี ๆ ไปประยุกต์ใช้งานกันได้
ก่อนที่จะเข้าประเด็นว่า "เราสามารถทำอะไรกับพอร์ต USB ในเราเตอร์ได้บ้าง ?" มีสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้ต้องทำความเข้าใจเอาไว้ก่อน คือถึงแม้ว่าเราเตอร์ที่คุณใช้งานอยู่จะมีพอร์ต USB ให้ใช้งาน แต่มันไม่ได้หมายความว่า คุณจะสามารถใช้มันทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่เราแนะนำไว้ในบทความนี้ได้ครบทุกหัวข้อนะ
ข้อมูลเพิ่มเติม : พอร์ต USB คืออะไร ? มีกี่แบบ ? มีวิวัฒนาการอย่างไรบ้าง ?
มันขึ้นอยู่รุ่นของเราเตอร์ที่คุณใช้งานอยู่ด้วย เพราะเราเตอร์แต่ละรุ่นก็มีฮาร์ดแวร์ภายในที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าเราเตอร์ที่มีราคาแพงส่วนใหญ่ก็มีฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย ทำให้ตัวพอร์ต USB สามารถรองรับการใช้งานคุณสมบัติต่าง ๆ ได้มากกว่าพอร์ต USB ที่อยู่ในเราเตอร์ราคาประหยัด
ในบางกรณี ตัวฮาร์ดแวร์ของเราเตอร์อาจจะรองรับ แต่ทางผู้ผลิตเลือกที่จะไม่เปิดใช้งานคุณสมบัติบางอย่างเอาไว้ เพื่อให้เกิดข้อแตกต่างด้านคุณสมบัติในการทำงานระหว่างเราเตอร์ราคาสูง กับเราเตอร์ราคาถูก ซึ่งผู้ใช้อาจจะเลือกติดตั้งเฟิร์มแวร์แบบปรับแต่ง (Custom Firmware) เพื่อปลดล็อกคุณสมบัติก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้
โดยปกติแล้ว หลังจากที่เราต่ออุปกรณ์เข้ากับเราเตอร์ผ่านพอร์ต USB เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มันจะยังไม่พร้อมใช้งานในทันที ทางผู้ใช้จะต้องเข้าไปตั้งค่าการทำงานของพอร์ต USB ผ่านเฟิร์มแวร์ของเราเตอร์ก่อน โดยเราเตอร์แต่ละค่ายก็จะมีขั้นตอนการตั้งค่าที่แตกต่างกัน แนะนำให้อ่านขั้นตอนการตั้งค่าในคู่มือ หรือบนเว็บไซต์ของผู้ผลิตเราเตอร์
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายคลึงกัน คือจะมีเมนูสำหรับตั้งค่าการทำงานของพอร์ต USB โดยจะสแกน และตรวจสอบการรองรับกับอุปกรณ์ที่นำมาเชื่อมต่อให้โดยอัตโนมัติ
ภาพจาก : https://www.groovypost.com/howto/share-usb-drive-wi-fi-router/
หากคุณมีอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอก อย่าง แฟลชไดร์ฟ (USB Flash Drive) หรือฮาร์ดดิสก์ภายนอก หรือพกพา (External or Portable Harddisk) เพียงแค่คุณนำมันไปเชื่อมต่อกับเราเตอร์ผ่านพอร์ต USB คุณก็จะสามารถเข้าถึงไฟล์ในไดรฟ์จากทุกอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก, สมาร์ทโฟน ฯลฯ ได้ตลอดเวลา
คุณสมบัตินี้ช่วยให้ผู้ที่ต้องโอนถ่ายไฟล์ให้กับคนอื่นที่อาศัยอยู่ที่เดียวกันสะดวกสบายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายหน่วยความจำไปมา ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดเวลาแล้ว การที่มันทำงานอยู่กับที่ ไม่ต้องถอดเข้าถอดออกบ่อย ๆ ก็จะทำให้อายุการใช้งานของมันยาวนานขึ้น ซึ่งหากเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กอย่าง Flash Drive ก็จะตัดปัญหาเรื่องหาไม่เจอ ไม่รู้เอาไปวางไว้ที่ไหนได้อีกด้วย
ภาพจาก : https://youtu.be/Z8L1v-MN0jA
ในเมนูของเราเตอร์ จะมีตัวเลือกในการแบ่งปันไดรฟ์ได้หลายรูปแบบ เช่น เราอาจจะกำหนดค่าให้มันเป็นไดรฟ์กลาง เพื่อ Map Network Drive ให้แสดงในตัวระบบปฏิบัติการโดยตรง หรือจะทำเป็นเซิร์ฟเวอร์ FTP ก็ได้
เราเตอร์บางรุ่นจะรองรับคุณสมบัติในการทำงานแบบมีเดียเซิร์ฟเวอร์ (Media Server) ด้วย โดยมันเป็นความสามารถที่เมื่อผู้ใช้อัปโหลดไฟล์มัลติมีเดียเข้าไปในระบบ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์รูปภาพ, เพลง หรือวิดีโอ อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติเป็นเครื่องเล่นมีเดีย (Media Player) เช่น คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, ลำโพงอัจฉริยะ, สมาร์ททีวี ฯลฯ จะสามารถตรวจเจอไฟล์ และเล่นเนื้อหาเหล่านั้นได้ทันที
ภาพจาก : https://kodi.tv/about/
ปัจจุบันนี้ เครื่องพรินเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายได้โดยตรงไม่ว่าจะผ่าน Wi-Fi หรือ Ethernet ไม่ใช่ลูกเล่นที่แปลกใหม่ หรือมีเฉพาะในเครื่องพรินเตอร์ระดับสูงที่มีราคาแพง กล่าวได้ว่ามันแทบจะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของเครื่องพรินเตอร์ไปแล้วก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม หากคุณมีเครื่องพรินเตอร์รุ่นเก่าที่ยังคงใช้งานได้อยู่ ก็สามารถนำมันมาเชื่อมต่อกับเราเตอร์ผ่านพอร์ต USB เพื่อใช้งานเป็นเครื่องพรินเตอร์บนระบบเครือข่ายได้ทันที ทุกคนที่อยู่ในระบบเครือข่ายสามารถสั่งพิมพ์งานได้ทันที โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อเครื่องพรินเตอร์รุ่นใหม่มาใช้งานแต่อย่างใด
ภาพจาก : https://www.linksys.com/fr/support-article?articleNum=142549
ตามปกติแล้ว เราเตอร์ก็จะเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ ด้วยการเชื่อมต่อชนิด "Digital Subscriber Line (DSL)" หรือไม่ก็ผ่านสายไฟเบอร์ออฟติก (Fiber-Optic Cable) อยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม บางครั้งมันระบบเครือข่ายของ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider - ISP) ก็อาจจะมีปัญหาล่มบ้างเป็นครั้งคราว หากคุณต้องการออนไลน์ตลอดเวลา ก็อาจจะใช้อินเทอร์เน็ตจาก เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Cellular Network) มาเป็นระบบสำรองก็ได้อีกด้วยเช่นกัน
โดยผู้ใช้สามารถนำ โมเด็มเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Cellular Modem) หรือ แอร์การ์ด (Aircard) ที่มีการเชื่อมต่อด้วยพอร์ต USB มาเชื่อมต่อกับ พอร์ต USB บนเราเตอร์เพื่อสร้างการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสำรองเอาไว้ในระบบได้ หากเครือข่ายของ ISP มีปัญหา ตัวเราเตอร์ก็จะสลับไปใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ให้ผู้ใช้งานได้เลยทันที (แล้วแต่การตั้งค่า)
ภาพจาก : https://www.lazada.co.th/products/huawei-e3372-150mbps-4glte-aircard-usb-stick-4g-4glte-i3141130965-s11708298296.html
หากจำเป็นจริง ๆ เราก็สามารถใช้พอร์ต USB บนเราเตอร์เป็นแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ที่ต้องการได้นะ อย่างไรก็ตาม เราเตอร์ส่วนใหญ่จะไม่ได้ออกแบบมาให้พอร์ต USB จ่ายพลังงานไฟฟ้าได้สูงมากนัก ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ 5V/1A เท่านั้น ถึงชาร์จได้แต่ก็ค่อนข้างช้าสำหรับอุปกรณ์สมัยนี้
อย่างไรก็ตาม เราเตอร์ระดับสูงบางรุ่นก็สามารถจ่ายพลังงานได้ถึง 5V/2A อันนี้ก็ต้องลองตรวจสอบสเปกการทำงานของพอร์ต USB ที่หน้าเว็บไซต์ของผู้ผลิตเราเตอร์อีกที
เราเตอร์ส่วนใหญ่จะใส่ USB มาให้แค่เพียง 1 พอร์ต เท่านั้น ก็เลยมีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า "เราสามารถเอา USB Hub มาต่อเพื่อเพิ่มอุปกรณ์เชื่อมต่อได้หรือไม่ ?"
ภาพจาก : https://www.bnn.in.th/th/p/it-accessories/card-reader-and-usb-hub/card-reader-and-usb-hub-1/cs-at-orico-usb-30-hub-7-ports-twu3-7a-black-6954301182290_z97we9
ตามหลักทฤษฏีแล้ว มันก็สามารถทำได้ แต่เราก็ไม่แนะนำให้ทำอย่างนั้น เพราะพอร์ต USB ในเราเตอร์ออกแบบมาให้เชื่อมต่อกับหน่วยความจำภายนอก หรือเครื่องพรินเตอร์เป็นหลัก การทำงานก็จะอาศัยชิปประมวลผลที่อยู่ภายในเราเตอร์ซึ่งที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงมากนัก มันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รองรับกับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมเข้าไปเป็นจำนวนมาก
เมื่อเราเตอร์ทำงานหนักเกินไป ก็จะเกิดความร้อนสะสมสูงซึ่งส่งผลต่อการทำงานของมันได้ ในกรณีที่เลวร้าย มันอาจจะทำให้วงรจรเกิดความเสียหายจนเราเตอร์พังไปเลย
ดังนั้น การนำ USB Hub มาต่อเข้ากับเราเตอร์เพื่อเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ จึงไม่แนะนำให้ทำเช่นนั้น
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |