ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อินเทอร์เน็ต (Internet) มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นชีวิตส่วนตัว หรือการทำงานก็ตามที คุณภาพของอินเทอร์เน็ตส่งผลต่อประสิทธิภาพ และความสนุกของผู้ใช้งานโดยตรง ปัญหาเน็ตช้าเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากเจอ ซึ่งสาเหตุของปัญหานี้ก็มีได้หลายสาเหตุ อาจจะเพราะมีจำนวนผู้ใช้งานในเวลาเดียวกันเยอะจนแบนด์วิดท์ไม่พอ, มีปัญหาที่ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider - ISP) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม มีอยู่หนึ่งสาเหตุที่สามารถส่งผลต่อความเร็วของอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน แต่มันมักถูกมองข้ามไป นั่นก็คือ เราเตอร์ (Router) การใช้เราเตอร์รุ่นคุณปู่มันอาจจะยังใช้งานได้ แต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการในยุคนี้ได้
เราเตอร์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความทนทานมาก ถูกออกแบบมาให้ทำงานได้แบบ 24/7 บางคนเปิดเราเตอร์ทิ้งไว้ไม่เคยปิดเลยเป็นเวลาหลายปี มันก็ยังคงทำงานได้ปกติ สำหรับใครที่มีนิสัยว่าจะเปลี่ยนของใหม่ก็ต่อเมื่อมันใช้งานไม่ได้แล้ว ก็อาจจะต้องยกเว้นเราเตอร์เอาไว้ เพราะมันไม่พังหรอก
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ? ว่าเราเตอร์ที่มีอยู่ถึงเวลาปลดเกษียณแล้ว ในบทความนี้เรามีคำตอบมาฝาก ถ้าหากคุณผู้อ่านกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เราหยิบยกมาให้อ่าน ก็ยินดีด้วย เพราะคุณกำลังจะ เสียเงินซื้อเราเตอร์ใหม่ แล้วล่ะ !
การที่ความเร็วอินเทอร์เน็ตลดลง และพบอาการหลุดจากการเชื่อมต่อบ่อย อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจาก ISP เพียงอย่างเดียว เพราะมันอาจเป็นปัญหาจากเราเตอร์ที่คุณใช้งานอยู่มันเก่าเกินไป
หากในอดีตมัน "เคย" ทำงานได้ปกติ แต่ในปัจจุบัน หน้าเว็บไซต์เปิดช้าลง, เวลาดูสตรีมมิงติดต้องรอ Buffer ต่อเป็นระยะ, เวลาเล่นเกมแล้วกระตุกจากค่า Latency ที่สูงเป็นระยะ ฯลฯ อาการเหล่านี้อาจเป็นเราเตอร์ที่คุณใช้งานอยู่เก่าจนรับมือกับความต้องการที่สูงขึ้นของรูปแบบการใช้งานอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนี้
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ฮาร์ดแวร์ของเราเตอร์องค์ประกอบภายในมีความคล้ายคลึงกับคอมพิวเตอร์ มี หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) และ หน่วยความจำหลัก (RAM) อยู่ในนั้น เมื่ออุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ามาภายในเครือข่ายมีเยอะขึ้น, ปริมาณข้อมูลที่ต้องแบ่งสันปันส่วนมีขนาดใหญ่กว่าเดิม ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรในการประมวลผลมากขึ้น ซึ่งเราเตอร์คุณปู่ที่คุณมีอาจจะแรงไม่พอที่จะรับมือได้ ทำให้เกิดปัญหาเน็ตช้า เน็ตหลุดได้นั่นเอง
ข้อมูลเพิ่มเติม : บริการเช็คความเร็วอินเทอร์เน็ต (Speedtest) จาก Thaiware.com (ฟรี)
สเปคของเราเตอร์ Asus RT-AX86U/S
ภาพจาก : https://www.asus.com/th/networking-iot-servers/wifi-routers/asus-gaming-routers/rt-ax86u/techspec/
ความสามารถในการกระจายสัญญาณ Wi-Fi เป็นหนึ่งในคุณสมบัติพื้นฐานของเราเตอร์ อย่างไรก็ตาม เราเตอร์แต่ละรุ่นมีความสามารถในการปล่อยสัญญาณได้ไม่เท่ากัน หากภายในบ้าน หรือสำนักงานมีจุดที่สัญญาณอ่อน หรืออับสัญญาณ จะทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตช้าลง หรือหลุดบ่อยในบริเวณดังกล่าว
หากคุณมีการขยายพื้นที่ หรือย้ายบ้านใหม่ที่หลังใหญ่กว่าเดิม เราเตอร์ตัวเก่าที่คุณมีอาจไม่สามารถส่งสัญญาณแรงพอที่จะครอบคลุมพื้นที่ที่คุณต้องการใช้งานได้ ทางแก้มันก็มีอยู่หลายวิธี อาจจะเป็นการเดินสาย LAN, ติดตั้ง ตัวขยายสัญญาณไวไฟ (Wi-Fi Extender) หรือจะเปลี่ยนเราเตอร์ใหม่เป็นรุ่นที่สามารถปล่อยสัญญาณได้แรง และไกลขึ้น มีหลายเสากระจายสัญญาณหลายทิศทาง และช่วยเพิ่มความเสถียรในการใช้งาน
Tp-Link AX11000
ภาพจาก : https://www.tp-link.com/th/home-networking/wifi-router/archer-ax11000/#overview
ถ้าคุณเลือกติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่เราเตอร์ของคุณเป็นรุ่นเก่าที่ไม่ได้รองรับมาตรฐาน Wi-Fi เวอร์ชันใหม่ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อก็จะไม่ได้รับความเร็วสูงสุดตามแพ็คเกจของ ISP ที่คุณเลือกใช้งานอยู่ดี ทางแก้ก็มีแค่ทางเดียว ต้องเปลี่ยนเราเตอร์ใหม่เป็นรุ่นที่รองรับ Wi-Fi เวอร์ชันล่าสุด (ดูตารางเปรียบความเร็วของ Wi-Fi เวอร์ชันต่าง ๆ ได้ที่นี่)
สมมติเราเตอร์ที่คุณใช้ปล่อยสัญญาณได้แรงสุดที่ 100 Mbps แต่แพ็คเกจที่คุณสมัครใช้งานแรงกว่านั้น คุณก็ควรอัปเดตเราเตอร์เป็นรุ่นที่รองรับ Wi-Fi 5, 6, Wi-Fi 6E หรือแม้แต่ Wi-Fi 7 เพื่อให้ได้ความเร็วตามแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตที่คุณสมัครเอาไว้
อินเทอร์เน็ตไม่ได้มีแต่ด้านที่สวยงาม มันเป็นเทคโนโลยีที่แฮกเกอร์วายร้ายจำนวนมากใช้เป็นช่องทางในการโจมตีผู้ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเอง ซึ่งเราเตอร์ก็เป็นหนึ่งในหัวใจหลักของระบบอินเทอร์เน็ตภายในบ้าน หรือที่ทำงาน การเชื่อมต่อทุกอย่างจะต้องถูกส่งผ่านเราเตอร์
อย่างที่เราได้บอกไปแล้วว่า เราเตอร์ก็มีการทำงานเหมือนกับคอมพิวเตอร์ มันมีเฟิร์มแวร์ที่คอยควบคุมการทำงาน ซึ่งภายในเฟิร์มแวร์ก็จะมีช่องโหว่ที่รอแฮกเกอร์ค้นพบอยู่ ซึ่งพอถูกค้นพบ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่จะออกแพทช์อัปเดตเฟิร์มแวร์เพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าว รวมไปถึงการเพิ่มคุณสมบัติการทำงานใหม่ ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อสินค้าเก่าจนตกรุ่นไปนานแล้ว ผู้ผลิตมักจะหยุดสนับสนุน ไม่มีการพัฒนาเฟิร์มแวร์มาให้อัปเดตอีกต่อไป ซึ่งหากเราเตอร์ของคุณไม่ได้รับการสนับสนุนแล้ว การใช้งานมันต่อไปจึงมีความเสี่ยงอย่างมาก แถมยังหมดโอกาสได้สัมผัสลูกเล่นใหม่ ๆ อีกด้วย
หากคุณรู้สึกว่าเราเตอร์มีความร้อนสูงผิดปกติ ลองเอามือแตะแล้วนิ้วแทบพอง พยายามแก้ไขด้วยการวางไว้ในที่อากาศถ่ายเท ทำความสะอาดช่องระบายความร้อนแล้ว แต่มันก็ยังมีความร้อนสูงผิดปกติอยู่ดี
ปัญหาดังกล่าวอาจมาจากข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ของเราเตอร์ จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้ามาในระบบเน็ตเวิร์คในยุคนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าสมัยก่อนหลายเท่า ทำให้ภาระการจัดการข้อมูลที่เราเตอร์ต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น, การสึกหรอภายในที่เกิดจากการกาลเวลา หรือระบบระบายความร้อนที่ทำงานได้ไม่ดีเหมือนตอนซื้อมาใหม่
ถ้าหากเราเตอร์มีความร้อนสูงเกินไป สามารถส่งผลให้มันหยุดทำงาน, รีบูต, ตัดการเชื่อมต่อได้ และลดความเร็วในการทำงานเพื่อลดอุณหภูมิลงจนกว่าจะกลับมาปกติ
การซื้อเราเตอร์ใหม่ที่มีระบบระบายความร้อนที่ทันสมัย จะช่วยให้การเชื่อมต่อมีความเสถียร ลดปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ตตก หรือเราเตอร์รีบูตบ่อย
เราเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันนี้ อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีใหม่หลายอย่าง ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้, เพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล และช่วยให้สัญญาณมีความเสถียรมากขึ้น อย่างเช่น Beamforming ที่ช่วยให้อุปกรณ์รับสัญญาณ Wi-Fi ได้ดีขึ้น, Multiple-Input Multiple-Output (MIMO) ที่ช่วยเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล, เครือข่ายแบบตาข่าย (Mesh Networking) รวมถึงการรองรับ โปรโตคอล (Protocol) ด้านความปลอดภัยมาตรฐานล่าสุดอย่าง WPA3 เป็นต้น
นอกจากนี้ ในเราเตอร์รุ่นใหม่ยังมีคุณสมบัติ "Quality of Service - QoS" ที่ช่วยในการจัดการแบนด์วิดท์ให้เหมาะสมกับแอปพลิเคชัน อย่างถ้าคุณกำลังเล่นเกมออนไลน์ QoS จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าการเชื่อมต่อระหว่างคุณ กับเซิร์ฟเวอร์จะมีแบนด์วิดท์ที่เพียงพอ
หรือหากในบ้านมีพื้นที่กว้าง มีซอกมุมเยอะ เทคโนโลยี Mesh Networking ที่มีในเราเตอร์รุ่นใหม่ ๆ จะช่วยให้สัญญาณครอบคลุม และต่อเนื่อง
ภาพจาก : https://www.asus.com/th/support/faq/1044327/
เราเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่มีความทนทานมาก แม้จะเปิดใช้งานแบบทั้งวันทั้งคืน (24/7) ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ถ้าไม่โชคร้ายจริง ๆ มันก็ยังทำงานได้ปกติ แต่อย่างที่เราได้อธิบายเหตุผลมาอย่างยืดยาว ว่าการที่มันยังใช้งานได้ ไม่ได้แปลว่าเราควรจะใช้งานมันต่อไป
การเปลี่ยนเราเตอร์ไม่ใช่แค่เรื่องความเร็ว หรือความเสถียรในการทำงานเท่านั้น นอกเหนือไปจากคุณสมบัติใหม่ ๆ แล้ว มาตรฐานความปลอดภัยเวอร์ชันใหม่ หรือรูรั่วในเฟิร์มแวร์ที่ขาดการอัปเดตจากผู้ผลิตก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ใครที่งานเราเตอร์ตัวเก่ามานานแล้ว ก็ลองนำเหตุผลเหล่านี้ไปพิจารณากันดูนะครับ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |