ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
ภาพจาก : https://shop.boox.com/products/note5
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 12,405
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B9%8A%E0%B8%81+%28E-Book+Reader%29+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

ซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?

วัฒนธรรมการอ่านหนังสือนั้นอยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน จากร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในประวัติศาสตร์พบว่าการอ่านนั้นมีมาตั้งแต่ยุค 2100-1200 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันนี้ รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ก็มีนโยบายส่งเสริมการอ่าน เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรที่มีความรู้ 

บทความเกี่ยวกับ E-Book อื่นๆ

ในอดีตหนังสือที่เคยเป็นตัวอักษรสลักอยู่บนแผ่นหิน หรือวัสดุอื่น ๆ ที่พบในธรรมชาติ จนต่อมาชาวอียิปต์โบราณก็สามารถคิดค้นกระดาษปาปิรุสได้ ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานของการประดิษฐ์ ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตกระดาษก็ถูกพัฒนามาตลอด จากวัสดุที่มีราคาแพงมีเพียงชนชั้นสูงเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่สามารถครอบครองได้ กลายมาเป็นวัสดุธรรมดาที่ไม่ว่าใครก็สามารถซื้อหามาใช้งานได้

สำหรับการอ่านหนังสือในปัจจุบันนี้ มีทางเลือกนอกเหนือจากหนังสือที่เป็นเล่มจริงนั่นก็คือ "หนังสือดิจิทัล" หรือที่เรียกว่า "อีบุ๊ก (E-Book)" นั่นเอง

เนื้อหาภายในบทความ

E-Book คืออะไร ?
(What is E-Book ?)

E-Book เป็นหนังสือที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ โดยพื้นฐานแล้วมันก็เหมือนจะไม่แตกต่างไปจากไฟล์เอกสารที่เราสร้างด้วย โปรแกรมประมวลผลคำ อย่าง โปรแกรม Word หรือ Google Docs แต่ว่าการจะเรียกไฟล์ดังกล่าวว่าเป็นไฟล์ E-Book ได้มันก็จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไฟล์อยู่หลายประการ ดังนี้

เป็นไฟล์ที่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลตัวหนังสือได้

เพื่อรักษาคุณภาพ และความถูกต้องของหนังสือ ไฟล์ E-Book จะไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาของไฟล์ได้ แต่อาจจะแก้ไขรูปภาพปกหนังสือ, ข้อมูลผู้แต่ง หรือสำนักพิมพ์ได้

สามารถจัดเรียงรูปแบบหน้ากระดาษ

ไม่ว่าอุปกรณ์ที่คุณใช้เปิดอ่านไฟล์ E-Book จะมีขนาดเท่าไหร่ก็ตาม การจัดย่อหน้า, แบ่งบรรทัด และตำแหน่งของภาพประกอบ จะต้องสามารถปรับขนาดให้พอดีเหมาะสมกับจอแสดงผลได้ นี่เป็นจุดที่ทำให้ไฟล์ E-Book แตกต่างจากไฟล์ PDF เป็นอย่างมาก เพราะไฟล์ PDF ไม่สามารถจัดแบบการแสดงผลได้เลย ทำได้อย่างมากแค่การตัดขอบหน้ากระดาษเท่านั้นเอง

อ่านประเภทของมาตรฐานไฟล์ E-Book ได้ที่

E-Book Reader คืออะไร ?
(What is E-Book Reader ?)

E-Book Reader ในทางทฤษฎีแล้ว มันจะหมายถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเปิดอ่านไฟล์ E-Book ได้ ซึ่งในความเป็นจริง ทั้งคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก, สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ก็สามารถเปิดอ่านไฟล์ E-Book ได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง หากพูดถึงอุปกรณ์ที่เป็น E-Book Reader เราจะหมายถึงอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่ออ่านไฟล์ E-Book โดยเฉพาะ ซึ่งมันจะมาพร้อมกับพาเนลหน้าจอแบบ E-Ink ที่มีความถนอมสายตา ผู้ใช้งานสามารถอ่าน E-Book ได้ต่อเนื่องอย่างยาวโดยไม่รู้สึกแสบตาเหมือนกับแท็บเล็ตทั่วไปที่ใช้พาเนลจอแบบ IPS

เทคโนโลยีหน้าจอของเครื่อง E-Book Reader ในปัจจุบันนี้ สามารถแสดงผลได้อย่างคมชัด สามารถอ่านได้ไม่ต่างจากตัวอักษรที่ปรากฏบนหน้ากระดาษจริง และสามารถอ่านได้อย่างชัดเจนแม่จะอยู่ท่ามกลางแสงแดดโดยตรง

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
ภาพจาก : https://www.amazon.com/All-new-Kindle-Oasis-now-with-adjustable-warm-light/dp/B07F7TLZF4

ในต่างประเทศ E-Book Reader ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นิยมใช้งานกันมาหลายปีแล้ว เพราะความสะดวกสบายในการใช้งาน สามารถกดซื้อหนังสือผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แล้วดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในเครื่องได้โดยตรง แถมไฟล์ E-Book ก็มีขนาดที่เล็กมาก ทำให้ผู้ใช้สามารถพกพาหนังสือจำนวนหลายร้อยเล่มติดตัวไปอ่านได้ตลอดเวลาอย่างสะดวกง่ายดาย

แต่ในประเทศไทย E-Book Reader ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะว่าหนังสือส่วนใหญ่ที่อยู่ในรูปแบบ E-Book จะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ เนื่องจากสำนักพิมพ์ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือในประเทศไทยไม่ได้ให้ความสนใจกับการทำหนังสือ E-Book กันมากนัก ไม่ใช่ว่าไม่มีหนังสือดิจิทัลภาษาไทยให้อ่าน เพียงแต่จะอยู่ในรูปแบบของไฟล์ PDF เป็นส่วนใหญ่ (ที่เป็น EPUB ก็มี แต่จำนวนยังน้อย) ไม่ได้แปลงเป็นไฟล์ E-Book มันจึงไม่สามารถปรับการจัดเรียงรูปแบบหน้ากระดาษได้ ทำให้ไม่เหมาะกับการอ่านบนเครื่อง E-Book Reader มากนัก

เหตุผลที่ควรใช้ E-Book Reader
(Why de we have to use E-Book Reader ?)

ก่อนจะเข้าสู่หลักการเลือก E-Book Reader เรามีเหตุผลดี ๆ มาฝาก ว่าทำไมคุณควรมีเครื่อง E-Book Reader เอาไว้ในครอบครองสักตัว

  • หน้าจอ E-Ink แสดงผลได้ใกล้เคียงกับกระดาษ ถนอมสายตากว่าการอ่านบนแท็บเล็ต
  • นอนอ่านสะดวกกว่าหนังสือจริง
  • แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนาน หากไม่ได้เปิดไฟ Backlight ชาร์จครึ่งหนึ่ง ใช้งานได้เป็นอาทิตย์
  • เทียบกับหนังสือจริงแล้ว มันมีขนาดเล็ก, บาง และน้ำหนักเบากว่ามาก 
  • เสมือนพกหนังสือติดตัวไว้หลายร้อยเล่ม ตลอดเวลา
  • ส่วนใหญ่แล้ว หนังสือ E-Book จะมีราคาถูกกว่าหนังสือจริง
  • มีระบบแปลศัพท์ และค้นหาตำแหน่งในหนังสือได้อย่างรวดเร็ว
  • สามารถซื้อหนังสือออนไลน์มาอ่านได้อย่างง่ายดาย
  • มีระบบห้องสมุดออนไลน์ ให้คุณยืมหนังสือมาอ่านได้ฟรี หรือมีค่าสมาชิกรายปีเล็กน้อย (ในประเทศไทยที่นิยมก็อย่างเช่น ห้องสมุดดิจิทัล TK Park, Meb, Ookbee ฯลฯ)

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
ภาพจาก : https://inf.news/en/digital/7ebffa3650377b824359d9e03b6dede4.html

แนวทางการเลือกซื้อเครื่อง E-Book Reader
(E-Book Reader Buying Guides)

เครื่อง E-Book Reader ในปัจจุบันนี้ มีให้เลือกซื้ออยู่หลายรุ่น หน้าจอก็มีหลายขนาด ซอฟต์แวร์ก็มีอยู่หลายระบบ การเลือกซื้อเครื่อง E-Book Reader นั้นจะค่อนข้างแตกต่างจากการเลือกซื้อแท็บเล็ต เพราะมีปัจจัยด้านประเภทของหนังสือที่ต้องการอ่านเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ซึ่งเราจะมาสรุปให้อ่านกันว่า ในการเลือกซื้อเครื่อง E-Book Reader มาใช้ ควรจะต้องพิจารณาด้านไหนบ้าง

อ่านหนังสือ E-Book ภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษเป็นหลัก ?

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่าเครื่อง E-Book Reader แต่ละค่ายก็จะมีเฟิร์มแวร์ที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้ดังนี้ คือ

  • E-Book Reader ที่ใช้ระบบปฏิบัติการของตนเอง (เช่น Kindle)
  • E-Book Reader ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android (เช่น Onyx BOOX)

เดิมที E-Book Reader ทางผู้ผลิตก็จะพัฒนาเฟิร์มแวร์ของตนเองขึ้นมา แต่ในระยะหลังมานี้ เริ่มนำระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชันที่ปรับแต่งมาแล้วแทน เพื่อให้ตัวเครื่องสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มได้ อย่างไรก็ตาม ผู้นำในวงการอย่าง Kindle ที่เป็นรุ่นจอ E-Ink ก็ยังคงเลือกใช้ระบบปฏิบัติการของตนเองอยู่นะ 

ข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ E-Book Reader ที่ใช้ระบบปฏิบัติการของตนเอง จะมีอายุการทำงานของแบตเตอรี่ที่ยาวนานกว่า แต่ไม่สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มได้ ส่วน E-Book Reader ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android จะสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มได้ แต่ด้วยความที่ระบบปฏิบัติการ Android ใช้ทรัพยากรในการทำงานสูงกว่า แบตเตอรี่จึงหมดไวกว่ามาก

สำหรับการอ่านหนังสือ E-Book นั้น หากคุณอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเป็นหลัก แนะนำว่า Kindle จะเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างน่าสนใจ มีหนังสือให้เลือกเพียบ, ระบบเสถียร, มีเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการอ่านหลายอย่างให้ใช้ และแบตเตอรี่ชาร์จหนึ่งครั้งก็ใช้งานได้ยาวนานกว่า

แต่หากว่าคุณต้องการอ่าน E-Book ภาษาไทย และไฟล์ PDF เป็นหลักล่ะก็ เรียนตามตรงว่าคุณไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก มองหา E-Book Reader ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เนื่องจากเราจำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อซื้อ และเช่าหนังสือภาษาไทย

ในส่วนของการอ่าน PDF แม้ว่าทาง Kindle จะสามารถทำได้ก็จริง แต่หน้าจอของ Kindle นั้นค่อนข้างเล็ก จึงไม่เหมาะสมกับการเปิดไฟล์ PDF ที่ไม่สามารถจัดหน้ากระดาษใหม่ได้ ซึ่ง E-Book Reader จะมีหลายรุ่นที่ทำหน้าจอไซส์ใหญ่ออกมา ทำให้การอ่าน PDF ไม่เป็นปัญหา

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
BOOX Note5
ภาพจาก : https://shop.boox.com/products/note5

ขนาดของหน้าจอ

เดิมทีเครื่อง E-Book Reader ออกแบบมาโดยเน้นให้สะดวกแก่การพกพา ในอดีตขนาดของหน้าจอส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ขนาด 6 นิ้ว แต่ในปัจจุบันนี้ ทางผู้ผลิตก็เพิ่มทางเลือกมีการผลิตออกมาหลายขนาด อย่างไรก็ตาม สำหรับ Kindle ของ Amazon จะมีให้เลือกใหญ่สุดแค่ 7 นิ้วเท่านั้น แต่ถ้าเป็นยี่ห้ออื่นก็จะใหญ่กว่านั้น ใหญ่สุดที่เคยเห็นก็ 13.3 นิ้วเลยทีเดียว

ขนาดหน้าจอที่เหมาะสมของผู้ใช้งานแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน บางคนเน้นพกพาสะดวก อาจจะเลือกรุ่นที่มีหน้าจอขนาด 6 นิ้ว, บางคนรู้สึกว่า 6 นิ้ว มันเล็กไป 7 นิ้ว อ่านสบายตากว่า ฯลฯ แนะนำว่าควรไปลองจับเครื่องจริงอ่านด้วยตนเองก่อนจ่ายเงินซื้อ เพื่อจะได้ค้นหาขนาดที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณต้องการอ่านหนังสือที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ PDF, หนังสือการ์ตูน หรือหนังสือบนหน้าเว็บไซต์ออนไลน์ แนะนำว่าควรจะเลือกรุ่นที่มีขนาดหน้าจอใหญ่หน่อย โดยควรจะเลือกไซส์ประมาณ 8 นิ้ว ขึ้นไป ไม่อย่างนั้นตัวหนังสือจะมีขนาดเล็กอ่านยากมาก

ไฟ Backlight ของหน้าจอ

เครื่อง E-Book Reader รุ่นประหยัดบางรุ่นจะไม่ได้ใส่ไฟ Backlight มาให้ ทำให้ไม่สามารถอ่านได้ในที่มืด สำหรับคนที่ต้องการใช้อ่านในที่มืดด้วย อย่างผู้เขียนนิยมอ่านหนังสือก่อนนอน มีแค่แสงไฟสลัวจากโคมไฟหัวเตียง หากพฤติกรรมการอ่านของคุณเป็นอารมณ์นี้ แนะนำว่าควรเลือกรุ่นที่มีไฟ Backlight มาให้ด้วยในตัว

ไฟ Backlight ของเครื่อง E-Book Reader แต่ละรุ่น ก็จะมีคุณสมบัติในการทำงานที่แตกต่างกัน โดยคุณสมบัติพื้นฐาน จะประกอบไปด้วย

  • มีไฟ Backlight สามารถปรับระดับความสว่างได้ (รุ่นเริ่มต้นส่วนใหญ่จะสามารถทำได้)
  • สามารถปรับอุณหภูมิของแสงไฟได้ (ทำได้เฉพาะบางรุ่นเท่านั้น)
  • ปรับระดับความสว่างตามสภาพแสงของห้องให้อัตโนมัติ (ทำได้เฉพาะบางรุ่นเท่านั้น)

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
Kindle Oasis สามารถปรับอุณหภูมิของแสง Backlight ได้
ภาพจาก : https://www.amazon.com/All-new-Kindle-Oasis-now-with-adjustable-warm-light/dp/B07L5GJD99?th=1

วิธีเปลี่ยนหน้าหนังสือ

วิธีเปลี่ยนหน้าหนังสือเป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนมองข้าม ทั้ง ๆ ที่การเปลี่ยนหน้านั้นเป็นกิจกรรมที่เราต้องทำมันบ่อยที่สุดเวลาที่ใช้งานเครื่อง E-Book Reader

เครื่อง E-Book Reader จะมีวิธีในการเปลี่ยนหน้าได้ 2 วิธี คือ "ใช้ปุ่มกด" และ "ใช้การสัมผัสจอ" ส่งผลให้การออกแบบตัวเครื่อง มี 2 แบบ คือ รุ่นที่มี "ปุ่มเปลี่ยนหน้า" และรุ่นที่ไม่มี "ปุ่มเปลี่ยนหน้า" อย่างไรก็ตาม ทางผู้ผลิตไอเดียดีบางค่าย ก็ออกแบบตัวเครื่องมาแบบไม่มี "ปุ่มเปลี่ยนหน้า" แต่สามารถติดเคสเพื่อเพิ่ม "ปุ่มเปลี่ยนหน้า" ได้หากผู้ใช้ต้องการ

ไม่มีวิธีการไหนดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคนมากกว่า แนะนำว่าก่อนซื้อควรไปลองจับถือด้วยตนเอง แล้วลองเปลี่ยนหน้าหนังสือดู เพื่อค้นหาคำตอบว่าเราถนัดเปลี่ยนปุ่มด้วยวิธีการไหนมากกว่า ทั้งนี้ เครื่อง E-Book Reader ที่มีบลูทูธ (Bluetooth) บางรุ่น จะสามารถที่จะเชื่อมต่อกับรีโมทเพื่อเปลี่ยนหน้าได้ด้วย

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
 Kindle Paperwhite (ไม่มีปุ่มเปลี่ยนหน้า) และ Kindle Oasis (มีปุ่มเปลี่ยนหน้า)
ภาพจาก : https://www.techradar.com/news/amazon-kindle-paperwhite-vs-kindle-oasis-which-amazon-ereader-should-you-buy

การเชื่อมต่อข้อมูล

โดยปกติแล้ว เครื่อง E-Book Reader ก็จะมีร้านหนังสือออนไลน์ (e-Book store) ของตนเอง ที่บริหารดูแลโดยผู้ผลิตเครื่อง E-Book Reader ติดตั้งมาให้ในตัวด้วย เครื่อง E-Book Reader บางรุ่นจึงมาพร้อมกับแพ็คเกจฟรีอินเทอร์เน็ตเซลลูลาร์แบบไม่จำกัด (Cellular unlimited) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดหนังสือได้อย่างสะดวก

ในกรณีที่เราซื้อเครื่องที่มีแพ็คเกจเซลลูลาร์ ตอนที่เราเลือกซื้อเครื่อง E-Book Reader ก็ต้องพิจารณาด้วยว่ามันรองรับเครือข่ายอะไรบ้าง ? ส่วนใหญ่ในรุ่นเก่าจะรองรับแค่เพียงเครือข่าย 3G เท่านั้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยไปแล้ว ส่วนเครื่องรุ่นใหม่ ๆ จะรองรับ 4G กันหมดแล้ว จึงสามารถใช้งานได้แทบทุกที่ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง 3G/4G มากก็ได้ เพราะในการใช้งานจริง เราแทบจะไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว หากต้องการเชื่อมต่อเพื่อดาวน์โหลดหนังสือ ก็สามารถทำผ่าน Wi-Fi หรือจะโยนหนังสือเข้าเครื่องผ่านสาย USB ก็ทำได้เช่นกัน

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
Kindle Oasis และกระจกใยแมงมุมของเขา

มาตรฐานไฟล์หนังสือที่รองรับ

มาตรฐานของไฟล์ E-Book นั้น มีอยู่หลากหลายนามสกุล ที่ได้รับความนิยมก็อย่างเช่น ไฟล์ ePUB, MOBI, AZW, IBA, PDF ฯลฯ ซึ่งเครื่อง E-Book Reader แต่ละยี่ห้อก็จะรองรับการอ่านไฟล์ที่ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น เครื่อง Kindle ก็จะไม่รองรับไฟล์ ePub แบบ Native (แต่ผู้ใช้สามารถนำมันไปแปลงเป็น MOBI หรือ AZW ด้วยตนเองได้อย่างง่าย ๆ)

ข้อมูลเพิ่มเติม : 5 ไฟล์ e-Book ยอดนิยม ePUB, MOBI, AZW, IBA และ PDF แตกต่างกันอย่างไร ?

สิ่งที่ต้องระวัง คือเครื่อง E-Book Reader อาจจะบอกว่ารองรับไฟล์มาตรฐานโน้น มาตรฐานนี้ด้วย แต่มีดอกจันซ่อนไว้ด้วยว่ารองรับเฉพาะไฟล์ที่ไม่ได้ติดระบบป้องกัน ลิขสิทธิ์ DRM เท่านั้น

PDF ก็เป็นไฟล์อีกมาตรฐานหนึ่งที่ได้รับการความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหนังสือภาษาไทย ที่เจ้าของลิขสิทธิ์หลายแห่งยังนิยมเลือกใช้งานไฟล์ชนิดนี้อยู่ ข้อเสียของมัน คือไม่สามารถปรับแต่งฟอนต์ หรือรูปแบบหน้ากระดาษ (หรือได้แต่ก็ยุ่งยาก) 

ดังนั้น ในตอนซื้อเครื่อง E-Book Reader ก็ควรพิจารณาด้วยว่า เราสะดวกที่จะจัดหาไฟล์ E-Book จากที่ไหน ? เป็นไฟล์นามสกุลอะไร ? สมมติว่าคุณมีไฟล์หนังสือแบบ PDF อยู่เป็นจำนวนมาก เลยต้องการที่จะหาเครื่อง E-Book Reader มาใช้อ่าน ก็ควรเลือกซื้อเครื่องที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ ๆ มาใช้ หรือหนังสือที่คุณต้องการอ่านส่วนใหญ่วางจำหน่ายอยู่ใน Amazon เป็นหลัก ก็ควรจะเลือกซื้อ Kindle เป็นต้น

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
หนังสือใน Kindle-ebooks - Amazon.com
ภาพจาก : https://www.amazon.com/s?k=kindle-ebooks&adgrpid=81804564455&gclid

พื้นที่ความจุของหน่วยความจำ

เครื่อง E-Book Reader ส่วนใหญ่จะมีหน่วยความจำภายในตัว โดยมักจะใส่มาให้เริ่มต้นที่ 8 GB บางรุ่นอาจจะรองรับการเพิ่มหน่วยความจำด้วยการ์ด MicroSD ได้ด้วย สำหรับคนที่อ่านไฟล์ E-Book อย่าง ePUB, MOBI หรือ AZW เป็นหลัก ความจุแค่ 8 GB ก็ถือว่าเหลือเฟือมาก เพราะไฟล์หนังสือหนึ่งหนึ่งส่วนใหญ่จะไม่เกิน 1 MB อยู่แล้ว นั่นหมายความว่าไฟล์ 8 GB ก็สามารถบรรจุหนังสือได้หลายพันเล่มแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากหนังสือที่คุณมีเป็นไฟล์ PDF ขนาดก็จะใหญ่กว่ามาก เล่มหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 30 MB - 100 MB หากเป็นหนังสือการ์ตูน หรือหนังสือที่มีภาพประกอบเยอะ 

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
ภาพจาก : https://nitter.net/coron_web/status/1485729648025608192#m

จอขาวดำ หรือจอสี ?

ในตอนนี้ เทคโนโลยีจอ E-Ink ไม่ได้มีแค่เพียงจอขาวดำเหมือนในอดีต แต่มีหน้าจอสีให้เลือกด้วย แม้ว่าสีสันของมันจะไม่สดใสเท่ากับหน้าจอ IPS แต่สำหรับการแสดงผลของหน้าหนังสือก็ถือว่าทำได้ดีอยู่นะ อย่างไรก็ตาม ถ้าคาดหวังว่าจะเอามันมาใช้รับชมวิดีโอด้วย ก็ต้องยอมรับว่ามันยังทำได้ไม่ดี เนื่องจากปัญหาอัตราการรีเฟรชของหน้าจอที่ยังช้ามากอยู่

อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องของราคา เครื่อง E-Book Reader หน้าจอสีในปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูงกว่ารุ่นที่เป็นหน้าจอขาวดำพอสมควร โดยเครื่อง E-Book Reader เพียง 4-5,000 บาท คุณก็สามารถหาซื้อได้แล้ว แต่ถ้าเป็นรุ่นจอสีก็จะประมาณ 12,000-16,000 บาท

การซื้อเครื่องอ่านอีบุ๊ก (E-Book Reader) มาใช้งาน ต้องดูอะไรบ้าง ?
BOOX Nova Air C
ภาพจาก : https://shop.boox.com/products/novaairc


ที่มา : www.hookedtobooks.com , www.choice.com.au , www.consumerreports.org , www.pcmag.com , learn.g2.com , en.wikipedia.org , www.techopedia.com

0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B9%8A%E0%B8%81+%28E-Book+Reader%29+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น