การ์ดจอ หรือ กราฟฟิกการ์ด (Graphic Card) ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกัน ก็จะเป็นการ์ดตระกูล GeForce จาก NVIDIA หรือไม่ก็ Radeon จาก AMD ซึ่งช่วงนี้ราคาของพวกกราฟิกการ์ดก็จะมีราคาค่อนข้างสูง สืบเนื่องมาจากปัญหาขาดแคลนชิปเอาไปผลิต หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) แต่ถ้าหากคุณคิดว่ามันแพงแล้ว ในความเป็นจริง มันยังมีกราฟิกการ์ด อีกระดับที่แพงกว่า GeForce และ Radeon อีกนะ นั่นคือ NVIDIA Quadro หรือ AMD FirePro ที่เป็นการ์ดระดับ Workstation
กราฟิกการ์ดระดับ Workstation มีอะไรพิเศษ ? ทำไมมันถึงมีราคาสูง แล้วเล่นเกมดีหรือเปล่า ? มาทำความรู้จักกับพวกมันกันหน่อยดีกว่า
ความแตกต่างใหญ่ระหว่างกราฟิกการ์ดแบบ Workstation กับกราฟิกการ์ดทั่วไป คือจุดประสงค์ในการซื้อ
สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ส่วนใหญ่แล้ว เราก็ซื้อกราฟิกการ์ดมาเพื่อเล่นเกม หรือทำกราฟิกกันเป็นหลัก เรื่องการนำมาสร้างรายได้ไม่ใช่จุดประสงค์หลัก ในขณะที่กราฟิกการ์ดระดับ Workstation นั้น มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนเลยว่าซื้อมาเพื่อใช้ทำงานสร้างรายได้ คนกลุ่มนี้จะไม่แคร์เรื่องราคามากนัก เพราะเขามองว่าหลังจากที่ซื้อมาแล้ว จะสามารถใช้มันทำงานหาเงินได้มากกว่าราคาที่จ่ายไปอย่างแน่นอน
ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนก็ อย่างเช่น การ์ด NVIDIA RTX A6000 นั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณ $4,600 (ประมาณ 170,000 บาท) ราคานี้สำหรับคนทั่วไปก็จัดว่าแพงมาก แต่ถ้าคุณเป็นโปรดักชั่น เฮ้าส์ ที่ทำงานด้านนี้เฉพาะ คุณขายงานให้ลูกค้าที่หลักแสน หลังจากรับงานได้ 2-3 งาน หรืออาจจะแค่เพียงงานเดียว คุณก็ได้ค่าการ์ดคืนมาแล้ว
NVIDIA RTX A6000
ภาพจาก : https://computeandmore.com/products/leadtek-nvidia-quadro-rtx-a6000-48gb-gddr6
ในเมื่อผู้ผลิตรู้ว่ามันสามารถใช้ทำเงินได้ ต่อให้ตั้งราคาแพงแค่ไหน ลูกค้าก็ยินดีที่จะจ่าย เพราะสุดท้ายแล้ว มันจะทำเงินคืนมาให้อยู่ดี
คุณอาจจะมีคำถามตามมาว่า แล้วทำไมไม่ซื้อกราฟิกการ์ดแบบธรรมดาที่ราคาถูกกว่ามากมาใช้งาน เพื่อจะได้มีกำไรมากขึ้นล่ะ ? คำตอบจะอยู่ในเทคโนโลยีของตัวการ์ดที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างกราฟิกการ์ดระดับมืออาชีพ กับกราฟิกการ์ดสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป
โดยปกติแล้ว ไดร์เวอร์ (Driver) จัดว่าเป็นซอฟต์แวร์สำคัญ ที่มีหน้าที่ในการประสานงานระหว่าง ระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ เพื่อการควบคุม ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ (Computer Hardware) มันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อความเสถียร และประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างมาก
ตัวไดร์เวอร์ของกราฟิกการ์ดระดับ Workstation จะผ่านการขัดเกลา และทดสอบอย่างเข้มงวด ว่าสามารถทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น เพราะการเรนเดอร์งานที่ใช้ระยะเวลายาวนาน แล้วต้องมาพังเพราะไดร์เวอร์อ๊องอาจทำให้งานของคุณเกิดความเสียหาย ไม่สามารถส่งงานให้ลูกค้าทันได้ เป็นสิ่งที่มืออาชีพไม่สามารถยอมรับได้
การพัฒนาไดร์เวอร์ของการ์ดจอระดับนี้ จึงมีความยุ่งยาก จากการทดสอบหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปด้วยโดยปริยาย
ภาพจาก : https://www.nvidia.com/download/driverResults.aspx/167756/
ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ไหนที่ไม่มี บัค (Bug) เลย มันแค่รอการถูกค้นพบ เพื่อแก้ไขเท่านั้นเอง บัคเหล่านี้อาจจะเป็นปัญหาเล็ก หรือปัญหาใหญ่ก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการพบบัคในกราฟิกการ์ดระดับ Workstation ในกรณีเลวร้าย มันอาจจะเป็นบัคที่ทำให้การ์ดไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งทุกนาทีที่เสียไป หมายถึงโอกาสการสร้างรายได้ที่สูญเสียไปด้วย
ทางผู้ผลิตจึงนำเสนอบริการหลังการขายให้กับลูกค้าที่ซื้อกราฟิกการ์ดระดับ Workstation ไปใช้งาน ที่เหนือกว่าปกติมาก เพราะพวกเขารู้ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นในการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าองค์กร หากเกิดปัญหาขึ้นมา พวกเขาพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาด้วยบริการระดับพรีเมี่ยม
มีความเชื่อผิด ๆ ว่าคอมพิวเตอร์ไม่มีทางที่จะทำงานผิดพลาด แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่สามารถพบได้บ่อย คือมีบางบิต (Bits) ใน แรม (RAM) ของตัว GPU เองที่เกิดความคลาดเคลื่อนจาก "1" เป็น "0" หรือจาก "0" เป็น "1" อาจจะฟังแล้วเหมือนเรื่องโกหก แต่รังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์ (Solar Cosmic Rays) ส่งผลกระทบต่อข้อมูลใน RAM ได้นะ
การที่ข้อมูลใน RAM เปลี่ยนไป หากเป็นวิดีโอเกม มันอาจจะส่งผลต่อการแสดงผลของกราฟิกเล็กน้อยโดยที่คุณไม่ทันสังเกตเห็น หรืออย่างแย่หน่อยเกมก็แค่แครช อย่างไรก็ตาม หากคุณใช้คอมพิวเตอร์ในงานวิจัย, การจำลองทางวิทยาศาสตร์, การทำเหมืองข้อมูล หรืออะไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดอาจส่งผลให้การตัดสินใจในโลกความจริงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
ดังนั้น RAM ที่ใช้ในกราฟิกการ์ดระดับ Workstation จึงเป็นRAM แบบพิเศษที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ หรือที่เรียกว่า "Error Correction Code Random-Access Memory (ECC RAM)" ซึ่งเจ้า RAM ประเภทนี้ก็มีราคาแพงกว่า RAM ทั่วไปมาก
กราฟิกการ์ดระดับ Workstation จะได้รับการออกแบบมาอย่างประณีต และใช้วัสดุคุณภาพสูงในการผลิต มีระบบระบายความร้อนที่เหนือกว่ากราฟิกการ์ดทั่วไป ส่วนประกอบต่าง ๆ ของการ์ด ไม่ว่าจะเป็นแผ่นวงจร, ตัวเก็บประจุ (Capacitor) ฯลฯ ทุกอย่างออกแบบมาให้สามารถทำงานได้แบบ 24/7 (ทำงานตลอด ทั้งวันทั้งคืน) เมื่อทุกอย่างที่เลือกใช้มีคุณภาพสูง ราคาของการ์ดก็เลยสูงขึ้นไปด้วย
ภาพจาก : https://www.techpowerup.com/forums/threads/nvidia-announces-rtx-a6000-48-gb-professional-graphics-card-accelerators.276008/page-2
คุณอาจจะคิดว่า คุณใช้กราฟิกการ์ดธรรมดาขุดเหมืองบิทคอยน์แบบ 24/7 ได้เหมือนกัน ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่ในความเป็นจริง การแก้สมการบิทคอยน์มันก็ยังไม่หนักเท่าการเรนเดอร์ CG หรือการทำ High-Performance Computing ใน Data centers
เราสาธยายความเทพของกราฟิกการ์ดระดับ Workstation มาหลายย่อหน้า แต่คุณอาจจะแปลกใจ หากเราบอกว่า เมื่อพูดถึงความแรงของตัวการ์ด กราฟิกการ์ดระดับ Workstation ไม่ได้มีความเร็วสูงมากนัก ช้ากว่ากราฟิกการ์ดธรรมดารุ่นสูงสุดด้วยซ้ำไป
เหตุผลก็เนื่องจากตัวการ์ดออกแบบมาให้เน้นความเสถียรในการทำงานมากกว่าความเร็ว และเทคโนโลยีที่ใช้ในการ์ดก็มักจะช้ากว่ากราฟิกการ์ดธรรมดาอยู่หนึ่งเจนฯ เนื่องจากเสียเวลาไปกับการตรวจสอบ และแก้ไขซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ให้มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
จากทั้งหมดที่ว่ามา น่าจะทราบเหตุผลแล้วว่าทำไมกราฟิกการ์ดระดับ Workstation ถึงมีราคาแพง แต่ถ้าถามว่าราคามันมีความยุติธรรมไหม เราว่ามันก็เป็นราคาที่ยุติธรรมนะ หากคุณใช้มันสร้างรายได้ให้อาชีพของคุณได้
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |