ในโลกนี้มีเว็บที่เป็น เครื่องมือค้นหา หรือ เสิร์ชเอนจิน (Search Engine) ให้เลือกใช้บริการได้อยู่หลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Bing, Yahoo, Yandex, DuckDuckGo, Ask.com, Ecosia แต่ถ้าพูดถึงเบอร์หนึ่งที่มีผู้นิยมใช้งานกันมากที่สุดในโลก ก็คงต้องยกให้ google.com ที่ครองอันดับหนึ่งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) มาจนถึงปัจจุบันนี้
บนหน้าเว็บ google.com หลังจากที่เราพิมพ์คำค้นหาที่ต้องการเสร็จแล้ว เราก็จะกด "ปุ่ม Enter" หรือคลิกที่ "ปุ่ม Google Search" เพื่อเริ่มต้นการค้นหาผลลัพธ์ แต่เราก็น่าจะเห็น "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" (ปุ่ม ดีใจจัง ค้นแล้วเจอเลย) อยู่ด้วย แม้มันจะอยู่ติดกับ "ปุ่ม Google Search" เลย แต่มันก็เป็นปุ่มที่มักจะถูกผู้ใช้งานมองข้ามไป บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปุ่มนี้มีไว้ทำไม ?
ในบทความนี้ เราจะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" ให้มากขึ้นกัน
หลักการทำงานของ "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" นั้นเรียบง่ายมาก โดยหลังจากที่เราพิมพ์คำค้นหาเสร็จแล้ว เว็บ google จะพาเราไปยังหน้าเว็บไซต์ที่เป็น "ผลลัพธ์แรก" จากผลลัพธ์ทั้งหมดที่มันค้นหาเจอในทันที โดยจะข้ามหน้ารายการผลลัพธ์ รวมถึงตัวเลือกที่มาจากบริการอื่น ๆ ของ Google ไปในทันที ซึ่งหากโชคดีพอ เพียงคลิกเดียว Google ก็จะพาคุณยังหน้าเว็บไซต์ที่มีคำตอบที่คุณกำลังมองหาอยู่ในพริบตา
แม้การค้นหาของ Google จะมีความฉลาด และแม่นยำมาก แต่การเลือกกด "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" ก็ยังเป็นเหมือนการการเดิมพันว่า คุณจะ "โชคดี" ขนาดไหน ?
มีข่าวลือว่า ที่มาของชื่อปุ่มนี้ มาจากประโยคที่คลินต์ อีสต์วุด (Clint Eastwoord) ได้สนทนาในภาพยนตร์เรื่อง Dirty Harry (ชื่อที่ฉายในไทยคือ มือปราบปืนโหด) โดยเขาพูดว่า "Do you feel lucky, punk?" (แปลไทยก็ประมาณว่า รู้สึกโชคดีล่ะสิไอหนู) อย่างไรก็ตามมันเป็นเพียงข่าวลือ ที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน และ Googel เองก็ไม่ได้ออกมาปฏิเสธ หรือยอมรับด้วย
เราสามารถใช้งาน "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" ได้เฉพาะบนหน้าเว็บไซต์ Google เวอร์ชัน Desktop เท่านั้น โดยปุ่มก็จะอยู่ติดกับ "ปุ่ม Google Search" แต่ถ้าเราพิมพ์คำค้นหาลงไปแล้ว มันจะย้ายมาอยู่ใต้คำค้นหาแนะนำให้ทันที เพื่อง่ายต่อการคลิกใช้งาน
ในการใช้งานผ่านแอป Google หรือหน้าเว็บไซต์ Google เวอร์ชัน Mobile จะไม่มี "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" ให้ใช้งาน แต่ถ้าต้องการใช้จริง ๆ ก็ให้เราเลือกเปิดหน้าเว็บไซต์แบบ Desktop แทน ซึ่งเว็บเบราว์เซอร์บนสมาร์ทโฟนก็จะมีตัวเลือกนี้อยู่แล้ว
หากคุณไม่เคยคิดจะใช้งาน "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" ยินดีด้วย ไม่ใช่คุณเพียงคนเดียวที่ไม่ชอบใช้ หรือไม่เคยใช้มันมาก่อน เพราะจากการสัมภาษณ์ของมาริสสา เมเยอร์ (Marissa Mayer) ผู้บริการของ Google เมื่อปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) เธอได้บอกว่ามีเพียงผู้ใช้งานไม่ถึง 1% ที่ใช้งาน "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" แม้แต่ผู้ก่อตั้ง Google อย่างเซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) เองก็เคยสารภาพว่าแทบไม่เคยใช้มันเหมือนกัน
หากเราพิจารณาถึงสถานะผู้ใช้งานของ Google ซึ่งปัจจุบันนี้มีการค้นหาจากสมาร์ทโฟนมากกว่าคอมพิวเตอร์ แต่ Google เวอร์ชัน Mobile ไม่มี "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" ให้ใช้ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปัจจุบันนี้ ยอดผู้ใช้งานน่าจะลดลงต่ำกว่า 1% แล้วอย่างแน่นอน
แม้จะมีคนใช้งานปุ่มดังกล่าวน้อยมาก แต่ในความเป็นจริง หากมีคนใช้งานเยอะ สมมติว่าเยอะกว่าการค้นหาปกติ ทาง Google น่าจะเสียรายได้มหาศาล เพราะ "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" นั้นพาผู้ใช้งานข้ามไปยังเว็บไซต์อื่นทันที ข้ามโฆษณา และบริการต่าง ๆ ของ Google ไปเลย จึงเกิดคำถามว่า แล้วทำไม Google ยังเก็บปุ่มนี้เอาไว้ล่ะ ? คนใช้ก็ไม่มี ถ้ามีคนใช้เยอะก็เสียรายได้อีก
มาริสสา เมเยอร์ เคยตอบคำถามนี้เอาไว้ว่า ทางผู้ก่อตั้ง Google ไม่ต้องการให้การใช้งานระบบค้นหามันดูมีความจืดชืด, จริงจัง และหน้าเงินมากเกินไป ซึ่งทาง Google มองว่า "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" ทำให้ Google ดูมีบุคลิก มีความเป็นตัวตนขึ้นมา ทำให้แม้ว่าหน้าเว็บ google.com จะมีการเปลี่ยนดีไซน์มาหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) เป็นต้นมา แต่ "ปุ่ม I’m Feeling Lucky" ยังคงอยู่ไม่เคยจะหายไป
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |