ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาดูเหมือนว่า อินเทอร์เน็ต (Internet) จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันที่หลายๆ คนขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว และการใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้นก็ช่วยลดความยุ่งยากในการใช้ชีวิตของเราไปได้หลายส่วนเลยทีเดียว เพราะไม่ว่าเราจะมีข้อสงสัยหรือต้องการอะไรก็ตาม เมื่อลองเข้าเว็บไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมมันก็มักจะมีคำตอบให้อยู่เสมอ
แต่ “Web Browser” ที่เราเข้าใช้งานอยู่ทุกวันนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “Search Engine” ที่เราใช้ค้นหาข้อมูลที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองสิ่งนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกันและมีการทำงานร่วมกันอยู่หลายส่วน จนทำให้บางคนอาจเกิดความสับสนได้
สำหรับ เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) นั้น เป็นแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ (Application Software) ที่ผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดมาติดตั้งบนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้งาน โดยมันถูกพัฒนาขึ้นโดย Sir Tim Berners-Lee ในโปรเจค ENQUIRE ของ CERN (Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire ที่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น European Organization for Nuclear Research หรือองค์กรวิจัยทางนิวเคลียร์ในทวีปยุโรป) และได้เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533)
ภาพจาก : https://digital-archaeology.org/the-nexus-browser/
ซึ่ง Web Browser แรกของโลกนั้นได้แก่ “WorldWideWeb” ที่เป็นทั้งเว็บไซต์ค้นหาและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ และยังสามารถสร้างเว็บเพจของตนเองขึ้นมาได้ในขณะเดียวกันด้วย แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาให้ Web Browser นั้นมีการแสดงผลหน้าเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว
การทำงานของ Web Browser คือเมื่อผู้ใช้กรอก ที่อยู่ URL หรือ Web Address เช่น Facebook.com, Youtube.com หรือ Twitter.com ลงไป มันจะรับข้อมูลของเว็บไซต์นั้นๆ ที่เขียนขึ้นด้วยภาษา HTML (HyperText Markup Language) และส่งผ่านมาจาก Hypertext Transfer Protocol มาประมวลผลโค้ดต่างๆ จากนั้นทำการแสดงผลข้อมูลในเว็บไซต์นั้นๆ ขึ้นบนอุปกรณ์ของผู้ใช้ เช่น คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน
ภาพจาก : https://etutorials.org/shared/images/tutorials/tutorial_78/process_.jpg
โดย Web Browser จะเก็บ แคช (Cache) หรือข้อมูลการเข้าใช้งานเว็บไซต์ เอาไว้ในระบบเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งาน เช่น การเรียกใช้งานเว็บไซต์ที่เผลอปิดไปโดยไม่ตั้งใจ หรือการดูประวัติการเปิดหน้าเว็บ (History) เพราะข้อมูล Cache บนเว็บไซต์ที่เคยเข้าใช้งานจะช่วยให้ Web Browser สามารถแสดงผลหน้าเว็บไซต์ได้รวดเร็วกว่าการเปิดหน้าเว็บที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน
รวมทั้งมีการเก็บ คุกกี้ (Cookie) หรือข้อมูลการใช้งานเว็บของผู้ใช้ เช่น การล็อกอินเข้าใช้งานเว็บไซต์ หรือการคงของค้างในตะกร้าของเว็บ Online Shopping ด้วย ซึ่งผู้ใช้สามารถหลีกเลี่ยงการเก็บ Cookies และ Cache ของ Web Browser ได้โดยการเปิด Web Browser ในโหมดการใช้งานส่วนตัว (Private) หรือโหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito)
สำหรับ Web Browser ที่เราใช้กันบ่อย ได้แก่ โปรแกรม Google Chrome, โปรแกรม FireFox, โปรแกรม Safari จากค่าย Apple, โปรแกรม Edge, โปรแกรม Opera หรือแม้แต่ โปรแกรม IE (Internet Explorer) และยังมี Web Browser อื่นๆ อย่าง Brave, 360 Secure, Sogou, Vivaldi, CM หรือ UC เป็นต้น
ภาพจาก : https://sketchrepo.com/free-sketch/web-browser-icons-for-sketch-freebie/
ส่วน เครื่องมือค้นหา (Search Engine) นั้นเป็น เว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลของสิ่งที่ต้องการบนอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเว็บไซต์ที่ถือได้ว่าเป็น Search Engine แรกนั้นได้แก่ Archie (http://archie.icm.edu.pl/archie_eng.html) ที่ปล่อยออกมาให้ใช้งานในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) โดยมันสามารถใช้ค้นหาได้เฉพาะแค่ข้อมูลจากฐานข้อมูล (Database) ที่ใช้ FTP (File Transfer Protocol) เท่านั้น
และต่อมาในปี ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) ก็ได้มีการพัฒนาเว็บไซต์ W3Catalog (https://www.w3catalog.com/) ขึ้นเพื่อใช้ค้นหาข้อมูลที่สามารถลิงก์ไปยังเว็บไซต์อื่นๆ ตามคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้ต้องการได้ และหลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนา Search Engine อื่นๆ ที่มีตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น
และเมื่อพัฒนาจนเกิดความเสถียรแล้ว Search Engine ก็กลายเป็นเว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถกรอกคีย์เวิร์ดต่างๆ ลงไปเพื่อทำการค้นหาข้อมูลหรือเว็บเพจที่ต้องการได้ จากนั้นมันก็จะใช้ ตัวไต่ (Crawler) (ซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่คล้ายบอท) ในการสแกนหาเว็บไซต์ต่างๆ ที่มี URL หรือคีย์เวิร์ดตรงตามที่ผู้ใช้กรอกลงไปใน Database (ฐานข้อมูล) ของ Search Engine นั้นๆ และอัลกอริทึมก็จะทำการประมวลผลข้อมูลอีกครั้งก่อนแสดงผลรายชื่อ (List) เว็บไซต์ที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการขึ้นมา
ภาพจาก : https://www.colinkri.com/how-search-engine-crawlers-work/
ตัวอย่าง Search Engine ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดี เช่น Google, Yahoo, Bing นอกจากนี้ยังมี Search Engine อื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น Duck Duck Go, Baidu, Yandex, Ask, Aol และเว็บไซต์ตัวช่วยในการค้นหาข้อมูลอีกมากมาย
ภาพจาก : https://wildstonesolution.com/top-search-engines/
Web Browser | Search Engine |
Software Application ที่ติดตั้งบนอุปกรณ์ | Software System ที่รันบนอินเทอร์เน็ต |
กรอก URL หรือ Web Address เพื่อเปิดใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ ที่ผู้ใช้ต้องการ | ค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยการกรอกคีย์เวิร์ดที่ต้องการ |
แสดงผลข้อมูลของเว็บไซต์ (รวมทั้งเว็บ Search Engine ด้วย) | แสดงรายชื่อ (List) ของเว็บไซต์ ที่มีข้อมูลตามที่ผู้ใช้ต้องการ |
ไม่มี Database มีเพียงแค่การเก็บ Cache ของเว็บไซต์ต่างๆ เท่านั้น | มี Database เพื่อใช้ในการค้นหาสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ |
หรืออาจสรุปง่ายๆ ได้ว่า ผู้ใช้จะต้อง เปิดใช้งาน Web Browser ก่อน จึงจะสามารถเรียกใช้ Search Engine ในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้นั่นเอง และถึงแม้ว่า Search Engine บางเจ้าจะได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันของตนเองบนอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมาแล้ว แต่เมื่อผู้ใช้ทำการค้นหาและกดไปยังเว็บไซต์ที่ต้องการ มันก็ยังต้องพึ่งพา Web Browser ในการแสดงผลหน้าเว็บไซต์อีกอยู่ดี
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |