ถึงแม้ว่า อินเทอร์เน็ต (Internet) ในปัจจุบันนี้จะมีความเร็วสูงขึ้น จนทำให้การดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องรอนานเหมือนสมัยก่อน แต่ในบางสถานการณ์เราก็อาจจะยังไม่สะดวกที่จะเก็บไฟล์เอาไว้บนเว็บฝากไฟล์ หรือคลาวด์อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟล์มีขนาดใหญ่เกินไป หรือทำงานในสถานที่ที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่มีคุณภาพก็ตาม
แต่ว่าตัวเลือกในการพกพาไฟล์ติดตัวที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ ถ้าไม่ใช่ แฟลชไดร์ฟ (USB Flash Drive) ก็น่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์แบบพกพา (External Harddisk) สองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร ? จะเลือกซื้อแบบไหนมาใช้งานดี มาหาคำตอบกัน
แฟลชไดรฟ์ Kingston DataTraveler Max
ภาพจาก : https://www.kingston.com/th/usb-flash-drives/datatraveler-max
ยุคนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก แฟลชไดร์ฟ กันหรอกเนอะ หากพื้นที่ความจุไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ แฟลชไดร์ฟน่าจะเป็นตัวเลือกที่คุณมองหา เพราะตอนนี้มันมีราคาที่ถูกมาก พกพาง่าย และหายง่ายด้วย (ฮา)
ราคาเริ่มต้นของแฟลชไดร์ฟในยุคนี้จ่ายไม่ถึง 200 บาท ก็ได้แฟลชไดร์ฟ 64 GB. แบบ พอร์ต USB รุ่น 3.2 (Gen 1) มาใช้งานแล้ว ถ้าเฉลี่ยราคาต่อความจุก็ตกประมาณ 3.1 บาท ต่อ 1 GB. เท่านั้นเอง
ราคาของแฟลชไดร์ฟในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ของเว็บ Advice
ภาพจาก : https://www.advice.co.th/product/flash-drive/dual-usb-drive-type-c
แต่ข้อจำกัดของแฟลชไดร์ฟ จะเป็นเรื่องของความจุสูงสุด ที่ปัจจุบันนี้อยู่ที่ 1 TB. เท่านั้น และราคาต่อความจุของแฟลชไดร์ฟขนาด 1 TB. จะไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับฮาร์ดดิสก์พกพา ลองมาดูราคาเฉลี่ยของแฟลชไดร์ฟกันสักเล็กน้อย
ความจุ | ราคาประมาณ (บาท) | ราคา ฿:GB. | ความเร็วในการอ่าน/เขียน |
16 GB. | ~ 100 ฿ | 6.2 ฿ : 1 GB. | อ่าน 200 MB/s เขียน 60 MB/s |
32 GB. | ~ 150 ฿ | 4.6 ฿ : 1 GB. | |
64 GB. | ~ 200 ฿ | 3.1 ฿ : 1 GB. | |
128 GB. | ~ 400 ฿ | 3.1 ฿ : 1 GB. | |
256 GB. | ~ 1,000 ฿ | 3.9 ฿ : 1 GB. | |
512 GB. | ~ 2,000 ฿ | 3.9 ฿ : 1 GB. | อ่าน 1,000 MB/s เขียน 900 MB/s |
1,024 GB. (1 TB.) | ~ 4,000 ฿ | 3.9 ฿ : 1 GB. |
จะสังเกตเห็นได้ว่า จุดที่แฟลชไดร์ฟจะมีราคาน่ารักคุ้มค่าที่สุดจะอยู่ตรงที่ขนาด 64 GB. และ 128 GB. ด้วยราคาที่ 3.1 บาท ต่อ 1 GB. เท่านั้น ทั้งนี้
ทางด้านความเร็วในการอ่าน และเขียนข้อมูล เนื่องจากแฟลชไดร์ฟใช้ชิปในการทำงาน มันจึงไม่มีส่วนที่ต้องเคลื่อนที่ในการอ่าน และเขียนข้อมูล ประสิทธิภาพของมันจึงดีกว่าฮาร์ดดิสก์พกพา และมีขนาดของตัวอุปกรณ์ที่เล็กกว่ามาก สะดวกต่อการพกพา
จุดที่ควรระวังคือ แฟลชไดร์ฟที่วางจำหน่ายในปัจจุบันนี้ จะมีแบบที่ใช้ USB 2.0 อยู่ ซึ่งราคาอาจจะถูกแต่ความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลก็จะค่อนข้างช้า ตอนที่เลือกซื้ออย่าลืมเลือกรุ่นที่ใช้ USB 3.0 เป็นอย่างน้อย อาจจะจ่ายแพงกว่าเล็กน้อย แต่มันก็จะให้ประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีกว่ามาก
ข้อสรุป : แฟลชไดร์ฟ มีขนาดเล็ก, ราคาถูก และอ่านเขียนข้อมูลได้รวดเร็ว
ฮาร์ดดิสก์ My Passport Ultra จาก Western Digital
ภาพจาก : https://www.westerndigital.com/th-th/products/portable-drives/wd-my-passport-ultra-usb-c-hdd#WDBC3C0010BSL-WESN
หากต้องการที่เก็บข้อมูลแบบพกพา ที่มีความจุสูง และคุ้มค่าเงินมากที่สุดแล้วล่ะก็ ฮาร์ดดิสก์ภายนอก (External Harddisk) หรือ ฮาร์ดดิสก์พกพา (Portable Harddisk) น่าจะเป็นตัวเลือกที่คุณมองหาอยู่ โดยฮาร์ดดิสก์พกพาในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่จะมีความจุเริ่มต้นที่ 1 TB. ราคาก็ประมาณ 1,700 บาท เฉลี่ยราคาเพียง 0.6 บาท ต่อ 1 GB. เท่านั้น
ในขณะที่แฟลชไดร์ฟมีความจุสูงสุดเพียง 1 TB. แต่สำหรับฮาร์ดดิสก์พกพาแล้ว เราสำรวจเจอสูงสุดถึง 24 TB. แต่ว่าขนาดที่พกพาสะดวกจะสูงสุดเพียง 5 TB. นะ ถ้ามากกว่านี้คือตัวไดร์ฟจะมีขนาดใหญ่ พกติดตัวได้แต่ไม่สะดวกแล้ว และมักจะต้องต่อไฟเพิ่มด้วย ในขณะที่รุ่นไม่เกิน 5 TB. แค่เสียบสาย USB ก็ใช้งานได้เลย
ราคาของฮาร์ดดิสก์พกพาในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ของเว็บ JIB
ภาพจาก : https://www.jib.co.th/web/product/product_list/2/291/0?price=&brand=
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ฮาร์ดดิสก์พกพาจะมีราคาที่คุ้มค่า แต่มันก็แลกมาด้วย ความเร็วในการอ่าน และเขียนข้อมูลที่ช้ากว่า โดยเฉลี่ยการอ่าน/เขียน ในทางทฤษฎีจะอยู่ที่ประมาณ 120 MB/s อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลจะถูกบันทึกลงบนจานแม่เหล็กที่มีการหมุนอยู่ตลอดเวลา ในการใช้งานจริง จะมีช่วงเวลาที่เข็มต้องรอจานหมุนมาถึงจุดที่ต้องการก่อน หัวอ่านจึงจะเริ่มทำงานอ่าน หรือเขียนข้อมูลได้ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะใช้เวลาได้มากสุดถึง 10 วินาที
อีกจุดหนึ่งที่ต้องรู้เอาไว้ เนื่องจากในขณะที่ฮาร์ดดิสก์ทำงานมันจะมีการเคลื่อนไหวของหัวอ่าน และจานแม่เหล็ก คุณจะได้ยินเสียงรบกวนเล็กน้อยในขณะที่มันทำงานอยู่ และหากเราทำมันตกกระแทก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่มันทำงานอยู่ ก็มีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ง่ายกว่าแฟลชไดร์ฟ
ภาพจาก : https://scitechdaily.com/ultra-high-density-hard-drives-made-with-graphene-store-10x-more-data/
ถ้าเรามองข้ามเรื่องความเร็วของมันไปได้ ราคาต่อความจุคือจุดขายของฮาร์ดดิสก์พกพาเลย ลองมาสำรวจราคาเฉลี่ยของมันกันสักเล็กน้อย อนึ่ง อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น สำหรับฮาร์ดดิสก์ภายนอกที่มีขนาดแบบพกพาได้ จะมีความจุสูงสุดที่ 5 TB. นะ มากกว่านั้นจะมีขนาดใหญ่ และต้องต่ออะแดปเตอร์จ่ายไฟเพิ่ม
ความจุ | ราคาประมาณ (บาท) | ราคา ฿:GB. |
ขนาดเล็กพกพาง่าย เสียบ USB แล้วใช้งานได้ทันที | ||
1,024 GB. (1 TB.) | ~ 1,700 ฿ | 1.66 ฿ : 1 GB. |
2,048 GB. (2 TB.) | ~ 2,200 ฿ | 1.07 ฿ : 1 GB. |
4,096 GB. (4 TB.) | ~ 3,500 ฿ | 0.85 ฿ : 1 GB. |
5,120 GB. (5 TB.) | ~ 4,000 ฿ | 0.78 ฿ : 1 GB. |
ขนาดใหญ่ พกพาลำบาก มักต้องต่ออะแดปเตอร์จ่ายไฟขณะใช้งาน | ||
6,144 GB. (6 TB.) | ~ 5,000 ฿ | 0.81 ฿ : 1 GB. |
8,192 GB. (8 TB.) | ~ 7,000 ฿ | 0.85 ฿ : 1 GB. |
10,240 GB. (10 TB.) | ~ 8,500 ฿ | 0.83 ฿ : 1 GB. |
12,288 GB. (12 TB.) | ~ 11,000 ฿ | 0.89 ฿ : 1 GB. |
14,336 GB. (14 TB.) | ~ 14,000 ฿ | 0.97 ฿ : 1 GB. |
16,384 GB. (16 TB.) | ~ 17,000 ฿ | 1.03 ฿ : 1 GB. |
18,432 GB. (18 TB.) | ~ 19,500 ฿ | 1.05 ฿ : 1 GB. |
20,480 GB. (20 TB.) | ~ 22,000 ฿ | 1.07 ฿ : 1 GB. |
24,576 GB. (24 TB.) | ~ 25,000 ฿ | 1.01 ฿ : 1 GB. |
ข้อสรุป : ฮาร์ดดิสก์พกพา พกลำบาก แต่ราคาคุ้มค่า
หัวข้อ | รายละเอียด |
ความจุ | โดยทั่วไปแล้วความจุของฮาร์ดดิสก์พกพาจะเยอะกว่า เริ่มตั้ง 1 TB. ไปจนถึง 5 TB. ในขณะที่แฟลชไดร์ฟนั้นเริ่มที่ 16 GB. เท่านั้น และเยอะสุดที่ 1 TB. |
อายุขัย | หากเราไม่ไปทำตกรุนแรง ฮาร์ดดิสก์พกพาจะใช้งานได้ยาวนานกว่า เพราะแฟลชไดร์ฟใช้หน่วยความจำแบบแฟลชที่มีจำนวนรอบการอ่านเขียนข้อมูลจำกัด ระหว่าง 10,000 - 100,000 ครั้ง แล้วแต่คุณภาพของชิปที่ใช้ |
ความเร็ว | ฮาร์ดดิสก์พกพานั้น มีความเร็วเฉลี่ยในการอ่าน/เขียนข้อมูลอยู่ที่ 120 MB/s |
ความพกพาสะดวก | แฟลชไดร์ฟมีขนาดเท่ายาดมโป๊ยเซียนเท่านั้น สามารถใส่ในกระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกงได้สบาย ๆ ส่วนฮาร์ดดิสก์พกพามักจะมีขนาดประมาณพาวเวอร์แบงก์ความจุ 10,000 mAh ก็จะพกพาลำบากกว่าเล็กน้อย |
ราคา | ที่ความจุเท่ากันฮาร์ดดิสก์พกพาจะมีราคาถูกกว่า แต่ราคาเริ่มต้นของแฟลชไดร์ฟจะถูกกว่ามาก เพราะมีความจุเริ่มต้นให้เลือกต่ำกว่า |
การเปรียบเทียบขนาดของ SSD แบบพกพา จาก HyperDisk กับบัตรเครดิต
ภาพจาก : https://www.kickstarter.com/projects/hyperdisk/hyperdisk-probably-the-smallest-and-fastest-portable-ssd
ในปัจจุบันนี้ นอกจากแฟลชไดร์ฟ และฮาร์ดดิสก์พกพาแล้ว เรายังมีอีกทางเลือก ซึ่งรวมข้อดีของทั้งคู่เอาไว้ด้วยกัน มันทั้งมีขนาดเล็ก พกพาง่าย แถมยังมีความเร็วสูง ข้อเสียน่าจะมีเพียงเรื่องเดียว คือราคาที่ยังค่อนข้างสูงมาก เราจึงตัดสินใจแยกมันออกเป็นอีกหัวข้อหนึ่งต่างหาก นั่นก็คือ SSD แบบพกพา (Portable SSD)
ข้อมูลเพิ่มเติม : RAM, HDD และ SSD คืออะไร ? อุปกรณ์เก็บข้อมูลเหล่านี้ แตกต่างกันอย่างไร ?
SSD เป็นหน่วยความจำแบบใหม่ที่มาแทนที่ฮาร์ดดิสก์ เพราะว่ามันมีขนาดเล็ก, น้ำหนักเบา และใช้พลังงานในการทำงาน ที่น้อยกว่า ใช้หน่วยความจำแบบแฟลช (Flash Memory) เหมือนกับ Flash Drive แต่เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาให้ดีกว่าเดิม มันมีความจุเยอะกว่า และมี DRAM Cache ในตัว ทำให้มีความเร็วในการอ่าน และเขียนข้อมูลไวกว่าแฟลชไดร์ฟหลายเท่า
แม้ข้อดีของ SSD จะมีอยู่มากมาย แต่ราคาของมันก็ยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้คนส่วนใหญ่มองข้ามมันไปอยู่ ความจุเริ่มต้นของ SSD แบบพกพา ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ 500 GB. ที่ราคาประมาณ 3,500 บาท
ราคาของ SSD แบบพกพาในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ของเว็บ Advice.co.th
ภาพจาก : https://www.advice.co.th/product/ssd-external
แม้ว่าไดร์ฟ SSD ในปัจจุบันนี้จะมีความเร็วสูงมาก รุ่นระดับเรือธงอ่านข้อมูลได้เร็วถึง 7,000 MB/s และเขียนข้อมูลที่ 6,500 MB/s แต่อย่าลืมว่าเมื่อเรานำมาใช้เป็นฮาร์ดไดร์ฟภายนอก ที่ต้องเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านพอร์ต USB ยกตัวอย่าง SanDisk Professional PRO-G40 SSD หากเชื่อมต่อผ่านพอร์ต Thunderbolt 3 ก็จะอ่านข้อมูลได้ที่ความเร็ว 2,700 MB/s และเขียนได้ที่ 1,900 MB/s แต่พอร์ต Thunderbolt 3 นั้นยังมีจำนวนผู้ใช้งานน้อย
แต่ถ้าใช้พอร์ต USB 3.2 Gen 2x2 ความเร็วก็จะเพิ่มได้ถึงการอ่านข้อมูลที่ 2,000 MB/s และเขียนข้อมูลที่ 1,950 MB/s อย่างไรก็ดี คอมพิวเตอร์ "ส่วนใหญ่" ในปัจจุบันนี้ ก็จะมีแค่พอร์ต USB 3.2 Gen 2 Type-C ความเร็วก็จะลดลงมาเหลืออ่านข้อมูลได้ที่ความเร็ว 1,050 MB/s และเขียนได้ที่ 1,000 MB/s
ทั้งนี้ ตัวเลือกของ SSD แบบพกพา นอกจากจะซื้อแบบที่ผู้ผลิตทำสำเร็จมาจากโรงงานแล้ว ก็ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือซื้อกล่องใส่ SSD (SSD Enclosure) แล้วซื้อไดร์ฟ SSD ที่ต้องการมาประกอบเองเพื่อใช้เป็น SSD แบบพกพา ก็ได้เหมือนกัน ราคาจะถูกกว่าด้วย แต่ความทนทาน หรือความเสถียร อาจจะด้อยกว่าบ้างเนื่องจากปัญหาด้านความร้อนที่เกิดจากการออกแบบ
TCM2-C3 NVME M.2 SSD ENCLOSURE ของ ORICO
ภาพจาก : https://www.oricothailand.com/orico_th/storage/m-2-msata/tcm2-c3.html
มาดูราคาต่อความจุของ SSD แบบพกพากัน ความเร็ว 1,050 MB/s และเขียนได้ที่ 1,000 MB/s กัน ดังนั้นเราจะไม่ใส่ในตารางให้ซ้ำซ้อนนะ
ความจุ | ราคาประมาณ (บาท) | ราคา ฿:GB. |
500 GB. | ~ 3,500 ฿ | 7 ฿ : 1 GB. |
1,024 GB. (1 TB.) | ~ 5,000 ฿ | 4.8 ฿ : 1 GB. |
2,048 GB. (2 TB.) | ~ 9,000 ฿ | 4.3 ฿ : 1 GB. |
4,096 GB. (4 TB.) | ~ 20,000 ฿ | 4.8 ฿ : 1 GB. |
ข้อสรุป : SSD แบบพกพา ความจุสูง พกพาง่าย แต่ราคาแพง
สุดท้ายแล้ว จะเลือกซื้อที่เก็บข้อมูลแบบไหนมาใช้งาน ? ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่พร้อมจ่ายเลย วงการนี้ยิ่งแพงยิ่งดี แต่ถ้างบจำกัดก็คงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการ เช่น ทำงานเล็กน้อย ๆ แฟลชไดร์ฟ 64 GB. ก็อาจจะตอบโจทย์แล้ว แต่ถ้าต้องการพื้นที่เยอะก็ต้องเลือกฮาร์ดดิสก์พกพา แต่ถ้าต้องการทั้งพื้นที่เยอะ และความเร็วสูงด้วย คุณก็มีเพียงทางเลือกเดียว คือกัดฟันซื้อ SSD แบบพกพามาใช้งาน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
3 ธันวาคม 2565 10:15:17
|
|||||||||||
GUEST |
best
เหมือนจะคำนวนราคาต่อ GB ผิดนะครับในส่วน EXT HDD
|
||||||||||