ในการประกอบคอมพิวเตอร์สักเครื่อง มันไม่ได้มีแค่การซื้อชิ้นส่วนให้ครบ นำมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วจบ ความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพของ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) และ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) เป็นเรื่องที่มือใหม่หลายคนมักมองข้าม
ความสมดุลที่ว่านี้เป็นเรื่องของฮาร์ดแวร์ที่ต้องทำงานร่วมกัน เหมือนคนที่ต้องทำงานร่วมกัน ถ้ามีคนหนึ่งทำช้า อีกคนหนึ่งทำเร็ว สุดท้ายงานก็เสร็จช้าอยู่ดี ซึ่งในการทำงานของคอมพิวเตอร์จะเรียกปัญหาลักษณะนี้ว่า "คอขวด (Bottleneck)" นั่นเอง
คอขวดเกิดจากอะไร ? แล้วทำอย่างไร คอมพิวเตอร์ของเราถึงจะไม่เจอปัญหาดังกล่าว มาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันสักหน่อยดีกว่าในบทความนี้
ปัญหาคอขวดในคอมพิวเตอร์สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายภาคส่วน อย่างเช่น ไม่ว่า CPU ที่เราจะใช้ประมวลผลได้เร็วขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้า ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) ที่เราใช้ติดตั้ง ระบบปฏิบัติการ Windows อยู่เป็น HDD จานหมุนสุดช้า คอมพิวเตอร์ก็จะบูตพร้อมทำงานได้ช้าอยู่ดี เพราะติดปัญหาคอขวดที่การเรียกข้อมูลจาก HDD
แต่ปัญหาคอขวดที่ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และมักถูกพูดถึงอยู่เป็นประจำ ก็จะเป็นเรื่องการคอขวดระหว่าง CPU และ GPU ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเลยว่า "CPU Bottleneck" เนื่องจากปัญหานี้สามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของทั้งระบบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่นเกม หรือทำงานด้านกราฟิก
โดยปัญหา CPU Bottleneck เกิดจากการที่ CPU ไม่เร็วพอที่จะสามารถประมวลผลข้อมูลเฟรมภาพจำนวนมหาศาลที่ทาง GPU เรนเดอร์ส่งมาให้ได้ทัน ส่งผลกระทบให้อัตรา Frames Per Second (FPS) ลดลง หรือต่ำกว่าค่าที่ GPU ควรจะทำได้ หากอาการหนักหน่อย ก็จะมีอาการ อาการแสดงภาพซ้ำ (Stuttering) ปรากฏขึ้นในขณะที่เล่นเกม
ภาพจาก https://www.build-gaming-computers.com/cpu-bottlenecks-explained.html
มาเจาะลึกรายละเอียดการทำงานร่วมกันระหว่าง CPU กับ GPU กัน เพื่อจะได้เข้าใจว่าทำไมมันถึงมีปัญหา CPU Bottlenecks เกิดขึ้นได้
เวลาที่เราเปิดเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์ CPU และ GPU จะมีหน้าที่ในการประมวลผลที่แตกต่างกัน โดย CPU จะทำหน้าที่ประมวลผลในส่วนของระบบเกม เพื่อเตรียมเฟรมภาพสำหรับส่งให้ GPU เรนเดอร์ ซึ่งสิ่งที่ทาง CPU ต้องคำนวณก็มีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่ของศัตรูภายในฉาก, ระบบฟิสิกส์ภายในเกม, การควบคุมคำสั่งที่ผู้เล่นป้อนคำสั่งเข้าไป, ข้อมูลจากระบบเน็ตเวิร์กเวลาที่เล่นในโหมดผู้เล่นหลายคน (Multiplayer) ฯลฯ
หลังจากที่ CPU ได้คำนวณทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือ 1 เฟรม ที่ทาง CPU จะส่งไปให้ GPU ทำการเรนเดอร์ออกมาเพื่อแสดงผลบนหน้าจอ เมื่อ GPU เรนเดอร์เสร็จแล้ว มันก็จะรับข้อมูลภาพเฟรมถัดไปที่ทาง CPU มาเรนเดอร์ต่อเป็นวัฏจักร (Cycle) แบบนี้วนไปเรื่อย ๆ ยิ่ง CPU สามารถคำนวณได้เร็วเท่าไหร่ ความเร็วในการเกิด Cycle ที่เกิดขึ้นก็จะไวขึ้นตามไปด้วย หมายความว่าจำนวนเฟรมที่เรนเดอร์ได้ก็จะสูงขึ้น หรือมีค่า FPS เพิ่มขึ้นนั่นเอง อนึ่ง นี่เป็นการคิดในกรณีที่ GPU แรงพอที่จะประมวล Cycle ได้ทัน
ที่เรากล่าวในย่อหน้าที่แล้ว คือการทำงานร่วมกันระหว่าง CPU และ GPU แบบราบรื่น แต่ถ้าหากว่า CPU ไม่สามารถคำนวณผลได้ทันล่ะ ? GPU ก็จะไม่มีข้อมูลเฟรมที่ต้องเรนเดอร์ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ CPU ทำงานหนัก เหงื่อแตกเลย ส่วน GPU ชิว ไม่มีอะไรทำ เพราะต้องรองาน หรือเฟรมภาพจาก CPU ดังนั้น หาก GPU เร็ว แต่ CPU ช้า ตัว GPU ก็จะไม่สามารถเรนเดอร์เฟรมได้สูงอย่างที่มันควรจะทำได้ มันจึงถูกเรียกว่าเป็นคอขวดที่ CPU (CPU Bottlenecks)
หากยังรู้สึกงง ลองมองแบบนี้แทนก็ได้
ภาพจาก : https://www.build-gaming-computers.com/cpu-bottlenecks-explained.html
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าปัญหาคอขวด อันที่จริงก็ไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง มันแค่เป็นการใช้ทรัพยากรไม่คุ้มเท่านั้นเอง การแก้ปัญหาคอขวดมีทางเดียวคือการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ให้มีประสิทธิภาพสมดุลกัน เช่น ถ้าคุณใช้ Core i7-4770K ที่ออกมาหลายปีแล้ว คู่กับการ์ดจอตัวเทพอย่าง RTX 4090 ในการเล่นเกม CPU ที่คุณมีมันช้าเกินกว่าที่จะรีดพลังของ RTX 4090 ได้แน่ ๆ
หากไม่แน่ใจว่า CPU ที่ใช้งานอยู่จะทำให้ GPU ที่กำลังคิดจะซื้อมาเปลี่ยนคอขวดหรือเปล่า ? แนะนำให้ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ https://pc-builds.com/bottleneck-calculator/ แล้วกดคำนวณดูก็ได้ แม่นยำพอสมควร อย่างผู้เขียนใช้ Core i7-10700K อยู่ หากต้องการจะเปลี่ยนการ์ดจอเป็น GeForce RTX 3080 Ti ก็จะคอขวดอยู่ที่ 21% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผู้เขียนรับได้อยู่นะ แต่ถ้าผลออกมา สมมติ 60% กรณีนี้ผู้เขียนก็คงเลือกใช้การ์ดจอตัวเดิม แล้วอัปเกรด CPU ก่อน เพราะเงินไม่ได้งอกจากต้นไม้ หากงบประมาณมีจำกัด การทยอยอัปเกรดฮาร์ดแวร์ไปทีละชิ้น ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |