หากคุณเคยประกอบ ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ (Computer Hardware) ด้วยตนเอง หรือถอดการ์ดจอออกมาทำความสะอาดด้วยตนเอง คุณน่าจะต้องเคยมีประสบการณ์ทาสารนำความร้อน (Thermal Compound) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่าการ "ทาซิลิโคน" อย่างแน่นอน
เจ้าสารนำความร้อนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการระบายความร้อนของฮาร์ดแวร์ที่อยู่ภายในเคสคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่โน้ตบุ๊กของคุณ โดยเราจะต้องทาสารนำความร้อนนี้ลงไปบนกระดองของ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ก่อนที่จะติด พัดลมระบายความร้อน (Cooling Fan) หรือระบบชุดน้ำ (Water Cooling System) ทับลงไป
ข้อมูลเพิ่มเติม : พัดลม Heatsink หรือ ชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ แบบไหนระบายความร้อนคอมพิวเตอร์ ได้ดีกว่ากัน ?
เหตุผลที่เราต้องป้ายสารนำความร้อนลงไปก่อนติดตั้งระบบระบายความร้อนก็เพราะว่า เวลาติดตั้ง ตัวแผงระบายความร้อน (Heatsink) เข้ากับ CPU มันจะไม่แนบสนิทติดกันอย่างพอดีเป๊ะ มันจะมีช่องว่างขนาดเล็กเกิดขึ้น ออกซิเจนที่เข้าไปแทรกกวางจะทำให้การถ่ายเทความร้อนด้อยประสิทธิภาพลง จึงต้องมีการทาสารนำความร้อนลงไปเพื่อทำให้ที่ว่างถูกเติมเต็ม
โดยสารนำความร้อนนี้ก็มีหลายยี่ห้อให้เลือกใช้งาน ผู้ผลิตแต่ละค่ายก็จะมีการพัฒนาสูตรของตนเองออกมาทำตลาดในเชิงว่าสามารถลดอุณหภูมิได้เท่านั้นเท่านี้ ก็ว่ากันไป เรื่องยี่ห้อเราคงไม่เอ่ยถึง เพราะมันมีให้เลือกเยอะเหลือเกิน
สารนำความร้อนที่ส่วนใหญ่นิยมใช้งานกัน จะเป็น Thermal Paste แต่ตอนที่คุณเลือกซื้อมัน คุณอาจจะเจอกับ Liquid Metal ซึ่งเป็นสารนำความร้อนอีกประเภทหนึ่งที่สามารถใช้งานแทน Thermal Paste ได้
ในบทความนี้ก็เลยจะมาอธิบายเพื่อตอบคำถามว่า ระหว่าง Thermal Paste กับ Liquid Metal แตกต่างกันอย่างไร ? เลือกใช้งานสารนำความร้อนแบบไหนดี ?
ก่อนอื่นเราควรจะเข้าใจความแตกต่างระหว่าง "Liquid Metal" กับ "Thermal Paste" กันก่อน โดยในความเป็นจริงแล้ว Thermal paste นั้นเป็น "ชื่อผลิตภัณฑ์" ในขณะที่ Liquid Metal เป็น "ชื่อวัสดุ" ดังนั้นมันจึงเปรียบเทียบกันไม่ได้
เราเคยชินกับคำว่า Thermal Paste กันมาอย่างยาวนาน โดยแบบดั้งเดิมมันจะผลิตโดยมีซิลิโคนเป็นสารตั้งต้น แต่ก็ไม่มีใครเรียกมันว่า Silicone-Based Thermal Paste อาจเพราะชื่อมันยาวไป ทุกคนก็เรียกสั้น ๆ แค่ว่า Thermal Paste เท่านั้น คนส่วนใหญ่ถึงเรียกการทา Thermal Paste ว่า "การทาซิลิโคน" และเมื่อมีการทำ Thermal Paste ที่ผลิตจาก Liquid Metal ขึ้นมา แทนที่จะเรียกว่า Liquid Metal-Based Thermal Paste ก็เลยเรียกสั้น ๆ ว่า Liquid Metal นั่นเอง
อย่างไรก็ตามการทำงานของมันก็มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย โดยใน Silicone-Based Thermal Paste ตัวซิลิโคนจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่มีการผสมอนุภาคสารประกอบโลหะ (เช่น ซิงค์ออกไซด์ - Zinc Oxide เป็นต้น) เพื่อถมช่องว่างระหว่าง CPU กับระบบระบายความร้อนให้แนบสนิท ถ่ายเทความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
ภาพจาก : https://www.intel.com/content/www/us/en/gaming/resources/how-to-apply-thermal-paste.html
ในขณะที่ Liquid Metal-based Thermal Paste จะไม่ได้มีสารอื่นเป็นตัวกลาง เพราะตัวมันเองก็เป็นโลหะอยู่แล้ว มันเติมเต็มช่องว่างด้วยตัวเองได้เลย ทำให้สามารถเหนี่ยวนำความร้อนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม มันก็สามารถเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าได้ดีเช่นกัน ทำให้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นเล็กน้อย
Silicone-Based Thermal Paste หรือที่เรานิยมเรียกสั้น ๆ ว่า Thermal Paste เป็นสารนำความร้อนที่ใช้งานง่าย ผลิตจากซิลิโคนที่ผสมกับอนุภาคโลหะ ส่วนใหญ่ก็พวกจะใช้ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) มาผสม แต่ก็อาจจะใช้สารอินทรีย์อื่น ๆ ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม มันมีความทนทานต่ำเมื่อเทียบกับการใช้สารอนินทรีย์ที่เป็นโลหะ เมื่อเจอกับความร้อนก็จะเสื่อมสภาพเร็วกว่า
ประการแรกคือ ราคาที่ค่อนข้างถูก ราคามักจะต่ำกว่า Liquid Metal ได้ถึง 2-3 เท่า เวลาเราซื้อคอมพิวเตอร์แบรนด์ หรือโน้ตบุ๊ก หากไม่ใช่รุ่นระดับเรือธง ผู้ผลิตก็มักจะใช้ Silicone-Based Thermal Paste นี่แหละ หากผู้ใช้ต้องการเปลี่ยนสารนำความร้อน ก็ต้องซื้อมาแกะเครื่องแล้วป้ายใหม่เอาเอง
ประการที่สองคือ มันใช้งานง่าย หากคุณเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยใช้งาน Thermal Paste ไม่เคยป้ายมันด้วยตัวเองมาก่อน การใช้งาน Silicone-Based Thermal Paste จะมีความปลอดภัยกว่ามาก คุณแค่หยดมันลงไปบนกระดอง CPU หากมีเลอะเลยไปพื้นที่อื่นไปบ้างก็ไม่ต้องกังวล เพราะมันไม่นำไฟฟ้า จึงไม่ส่งผลให้เกิดการลัดวงจรได้ในกรณีที่เราทำมันเลอะไปยังฮาร์ดแวร์บนมาเธอร์บอร์ด แค่เช็ดมันให้สะอาดก็พอ
ภาพจาก : https://www.newegg.com/insider/thermal-compound-buying-guide/
ส่วนข้อเสีย จริง ๆ ก็ไม่ใช่ข้อเสียสักทีเดียว ถึงเราจะบอกว่ามันนำความร้อนได้ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ Liquid Metal แต่มันก็เหมือนเราเอารถธรรมดา ไปเทียบกับซุปเปอร์คาร์ มันมีประสิทธิ์ต่ำกว่าก็จริง แต่การใช้จริงบนถนน เราก็หาโอกาสเหยียบมิดคันเร่งทำความเร็วสูงสุดได้ยากมาก ดังนั้น ถึงจะบอกว่า Silicone-Based Thermal Paste นำความร้อนได้ต่ำกว่า แต่มันก็เพียงพอต่อการใช้งานอย่างแน่นอน
Silicone-Based Thermal Paste ใช้ซิลิโคนเป็นตัวกลางในการทำให้ CPU กับ Heatsink แนบติดกัน และมีอนุภาคโลหะทำหน้าที่นำความร้อน แต่ Liquid Metal-based Thermal Paste หรือที่เรานิยมเรียกสั้น ๆ ว่า Liquid Metal นั้นจะไม่มีการใช้ตัวกลาง เพราะตัวมันก็เป็นโลหะอยู่แล้ว ซึ่งการที่มีความหนาแน่นของโลหะเยอะกว่า และไม่มีตัวกลาง ทำให้การถ่ายเทความร้อนทำได้ดีกว่ามาก โดยทั่วไปก็จะอยู่ที่ระดับ ~70W/mk (Milliwatts per Kelvin)
ปัญหาของ Liquid Metal-based Thermal Paste อยู่ที่ตัวมันมักจะผลิตจาก Gallium หรือโลหะชนิดอื่น ๆ ซึ่งโลหะพวกนี้ นอกจากจะถ่ายเทความร้อนได้แล้ว มันยังเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าได้ดีอีกด้วย
ถึงจุดนี้ คุณผู้อ่านอาจจะเกิดคำถาม แล้วมันมีปัญหาอะไร ในเมื่อคอมพิวเตอร์ก็ใช้กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานในการทำงานอยู่แล้ว ?
เรื่องนั้นมันก็จริง แต่คอมพิวเตอร์จะใช้ไฟฟ้าในรูปแบบที่กำหนดเอาไว้แล้ว ซึ่ง Gallium เพียงหยดเดียว อาจทำให้การเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าผิดไปจากที่มันควรจะเป็น จนทำให้เกิดการลัดวงจรได้ ซึ่งสามารถส่งผลต่อวงจรกระแสไฟฟ้าของทั้งมาเธอร์บอร์ด โชคดีก็แค่ดับ แต่ถ้าโชคร้ายก็อาจจะเกิดความเสียหายต่อตัวมาเธอร์บอร์ด และอุปกรณ์ทั้งหมดที่เชื่อมต่ออยู่
อีกปัญหาหนึ่งคือ Gallium นั้นสามารถทำปฏิกริยาอลูมิเนียมได้ ถ้า CPU หรือ Heatsink ที่คุณใช้ทำจากอลูมิเนียม เมื่อมันเจอ Gallium เข้าไป มันจะเกิดการหลอมรวมกลายเป็นโลหะผสม (Alloy)
ภาพจาก : https://www.hwcooling.net/en/thermaltake-tg-60-is-a-new-hopefully-more-available-liquid-metal/
จากปัญหาทั้งหมด ทำให้การใช้ Liquid Metal-based Thermal Paste ต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ Silicone-Based Thermal Paste แต่ความเสี่ยงที่ว่าก็แลกมาด้วยประสิทธิภาพที่สูงกว่ามากเช่นกัน ซึ่งอันที่จริง ถ้าทำอย่างระมัดระวัง มันก็ไม่ได้เสี่ยงอะไรมากมายนัก
คำตอบก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณเลย เพราะตามปกติแล้ว Silicone-Based ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม หรือตัดต่อวิดีโอ แต่หากคุณเป็นคนที่ต้องการความสุด อยากเห็นตัวเลขความร้อนต่ำ ชอบให้คอมพิวเตอร์เย็น หรือทำ Overclock ไม่ว่าจะเป็น CPU/GPU ที่ต้องพยายามทำทุกวิธีการให้ระบบเย็นที่สุด Liquid Metal-based ก็เป็นตัวเลือกบังคับโดยปริยายอยู่แล้ว
สุดท้ายแล้ว แม้ Silicone-Based จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า แต่มันก็ยังทำงานได้ดีและเป็นตัวเลือกมาตรฐานของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะ Liquid Metal-based แม้จะเย็นกว่า แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงในการใช้ หากคุณไม่มั่นใจในทักษะการป้ายยา Thermal Paste เราก็ขอแนะนำว่าเลือกใช้ Silicone-Based ก็เพียงพอแล้ว
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |