ปัจจุบันนี้เครื่องรับโทรทัศน์ หรือทีวี (TV) ธรรมดาน่าจะหาซื้อได้ยากแล้วมั้ง มองไปทางไหนก็เห็นแต่สมาร์ททีวี ราคาของมันก็เริ่มต้นถูกมากจนไม่ยากที่จะจับจองมันเป็นเจ้าของ ระบบปฏิบัติการของสมาร์ททีวีก็มีอยู่หลายตัว เช่น webOS ของ LG, Tizen OS ของ Samsung, tvOS ของ Apple แต่ในบทความนี้เราจะให้ความสนใจแค่ Android TV และ Google TV ซึ่งทั้งคู่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Google
Android TV น่าจะเป็นอะไรที่คนใช้สมาร์ททีวีคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) อยู่ ๆ ทาง Google ก็ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่โดยใช้ชื่อว่า Google TV ที่มองโดยผิวเผินแทบไม่ต่างไปจากเดิม ทั้งหน้าตา และคุณสมบัติในการทำงาน สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งานว่ามันต่างกันตรงไหน ? แล้วควรจะเลือกใช้งานตัวไหนดี ? แม้ว่ามันจะคล้ายคลึงกัน แต่มันก็มีหลายจุดที่แตกต่างกันมากนะ ในบทความนี้เราจะมาอธิบายความแตกต่างนั้น ให้เข้าใจกันมากขึ้น ซื้อทีวีเครื่องใหม่จะได้รู้ว่าควรเลือกระบบปฏิบัติการไหนดี ?
Android TV ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) เพื่อแข่งขันกับ Apple TV ซึ่งมันได้กลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมเทคโนโลยีความบันเทิงภายในบ้านได้อย่างสำเร็จสวยงาม
โดยระบบปฏิบัติการ Android TV นั้นพัฒนาโดยใช้พื้นฐานมาจากระบบปฏิบัติการ Android ของสมาร์ทโฟน มี Google Play Store ใส่มาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดเกม หรือแอปพลิเคชันมาติดตั้งเพื่อใช้งานบน TV ได้, รองรับ Google Chrome Cast และ Voice control ผ่าน Google Assistant
ทางผู้ผลิต TV หลายราย เช่น Sharp และ Sony ได้นำมันมาใส่ในสมาร์ททีวี และได้รับความนิยมในตลาดอย่างรวดเร็ว
จุดแข็งสำคัญของ Android TV คือหน้าจอหลักที่ให้ประสบการณ์ใหม่ในการใช้งาน TV โดยจะมีการนำเนื้อหารายการ และภาพยนตร์ที่น่าสนใจจากแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Amazon Prime Video, Netflix, Disney+, YouTube ฯลฯ ขึ้นมาแนะนำผู้ชม อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติแนะนำเนื้อหานี้ ได้ถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้นใน Google TV
ภาพจาก : https://www.android.com/intl/th_th/tv/
Google TV เป็นซอฟต์แวร์ตัวใหม่ที่ Google เปิดตัวในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) โดยมันมาพร้อมกับ Chromecase with Google TV อุปกรณ์เสริมที่ใช้เชื่อมต่อกับ TV ธรรมดา เพื่อเปลี่ยนให้เป็นสมาร์ททีวี
อย่างไรก็ตาม Google TV ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการสำหรับ TV ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ต้องบอกว่ามันเป็นเพียงซอฟต์แวร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาครอบระบบปฏิบัติการ Android TV อีกชั้นหนึ่ง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหน้าตา และคุณสมบัติในการทำงานของมันถึงดูคล้ายคลึงกันมาก
ใครที่ใช้งานสมาร์ทโฟน Android ก็คงจะรู้กับสิ่งที่เรียกว่า "Launchers" กันดีอยู่แล้ว มันสามารถเปลี่ยนหน้าตา และเพิ่มลูกเล่นใหม่ ๆ ให้กับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของเราได้ Google TV ก็เป็นซอฟต์แวร์ประเภทนั้นแหละ ซึ่ง Android TV ที่เปรียบได้ดั่งกระดูกสันหลังของ Google TV ก็ยังคงมีการอัปเดตเป็นระยะ โดยการอัปเดตครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)
ความแตกต่างที่สำคัญคือ Google TV ถูกออกแบบใหม่ให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการคัดสรรเนื้อหาที่จะแสดงบนหน้าจอหลัก, รองรับการทำงานร่วมกับสมาร์ทโฮมมากขึ้น ฯลฯ
ภาพจาก : https://tv.google/intl/en_in/
ทั้ง Google TV และ Android TV ทั้งคู่ต่างก็เป็นระบบปฏิบัติการ Android TV แต่ว่า Google TV จะรองรับ Android เวอร์ชัน 12 และ 13 เท่านั้น ในขณะที่ Android TV คุณสามารถพบเจอ TV ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชันที่ต่ำกว่านั้นได้
ระบบปฏิบัติการ Android TV เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด ทางผู้ผลิต TV จึงมีสิทธิ์ในการปรับแต่งมัน เพื่อพัฒนา Android ให้มีรูปแบบเฉพาะตัวตามความต้องการได้ ในขณะที่ Google TV จะไม่ให้อิสระมากนัก เนื่องจาก Google จะมีกฏควบคุมการออกแบบหน้าจอหลัก และการแสดงผลแอปพลิเคชันอยู่ด้วย
Android TV ไม่ได้เป็นซอฟต์แวร์แบบ "ซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ (Proprietary Software)" เหมือนกับ Google TV เราจึงจะเห็นได้ว่าสมาร์ททีวีแต่ละยี่ห้อ แม้จะเป็นระบบปฏิบัติการ Android TV เหมือนกันก็จริง แต่ ส่วนประสานงานกับผู้ใช้ (User Interface - UI) ก็มีความหลากหลายแตกต่างกัน แล้วแต่ทางผู้ผลิตจะออกแบบ
อย่างไรก็ตาม จุดร่วมที่เหมือนกับกันคือให้ความรู้สึกเหมือนกับกำลังใช้งานสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการ Android อยู่ เช่น เลื่อนหน้าจอเพื่อเลือกใช้งานแอปพลิเคชันที่ดาวน์โหลดบนหน้าจอหลัก (Homescreen) ได้, มีช่องค้นหา และตั้งค่าที่ด้านบนของหน้าจอ และเชื่อมต่อกับบัญชีของ Google บนสมาร์ทโฟนเพื่อทำงานร่วมกันได้ ฯลฯ
แต่ Google TV จะมีการออกแบบ UI ที่แตกต่างกันออกไป โดยจะให้น้ำหนักความสำคัญกับประสบการณ์ในการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคนเป็นหลัก อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ในด้านการค้นหาเนื้อหาที่สนใจจะรับชมมากกว่าที่จะพยายามนำความเป็น "Android" มาอยู่บน TV
ผู้ใช้สามารถมีโปรไฟล์ส่วนตัวแยกกันอย่างอิสระ, ตัว UI มีความเป็นมิตรต่อการใช้งานในระบบบ้านอัจฉริยะ (Smarthome), รองรับ Virtual remote, วิดีโอคอล และทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตระกูล Nest ได้ ฯลฯ นอกจากนี้ การใช้งาน Google TV ยังไม่จำกัดแค่บนจอ TV เท่านั้น แต่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Google TV จาก Google Play หรือ App Store เพื่อใช้งานบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตได้เช่นกัน
Android TV มักจะมาพร้อมกับแอปพลิเคชันที่ทางผู้ผลิต TV ติดตั้งเอาไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว แต่เราก็สามารถดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้เองจาก Google Play บน TV ได้เช่นกัน แน่นอนว่ากฏในการใช้งานอย่างการล็อกโซนแอปพลิเคชันก็ยังคงมีเหมือนกับการใช้งาน Google Play บนสมาร์ทโฟน
ในปัจจุบันนี้ Android TV และ Google TV มีแอปพลิเคชันที่รองรับมากกว่า 10,000 ตัว แต่ Google TV จะมีความพิเศษกว่าหน่อยตรงที่สามารถติดตั้งแอปพลิเคชัน Apple TV ได้ด้วยอย่างแน่นอน ส่วน Android TV ก็ต้องวัดดวงเอาว่าจะสามารถติดตั้งได้หรือไม่ ?
นี่เป็นจุดแตกต่างสำคัญที่ทำให้ Google TV ดีกว่า Android TV
Android TV จะใช้บัญชีผู้ใช้ที่เข้าระบบ Google Play บนทีวีเป็นโปรไฟล์ผู้ใช้ (User profile) ซึ่งมันช่วยให้การ Cast วิดีโอจากสมาร์ทโฟนมายัง TV ทำได้ง่าย ๆ ซึ่งเราจะเข้าระบบเอาไว้กี่บัญชีก็ได้ แต่จะใช้งานได้ทีละบัญชีเท่านั้น
ส่วนบน Google TV มันจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย เราจะต้องสร้างบัญชีสำหรับ Google TV ขึ้นมาใหม่ โดยเป็นบัญชีที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ Google Play ถึงแม้ว่าเราสามารถใช้บัญชีเดียวกันได้ก็ตาม
ทั้ง Android TV และ Google TV ทางผู้ผลิตก็จะให้รีโมทคอนโทรลมาพร้อมกับ TV อยู่แล้วก็จริง แต่ในแอปพลิเคชัน Google TV ก็จะมีฟังก์ชันรีโมทคอนโทรลใส่มาให้ด้วย ทำให้เราใช้สมาร์ทโฟนของเราแทนรีโมทได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือ ฟังก์ชันรีโมทในแอปพลิเคชัน Google TV นี้ สามารถใช้งานร่วมกับ Android TV ได้ด้วย แค่เชื่อมต่อ Bluetooth หากันให้เรียบร้อย ก็พร้อมใช้งานทันที
ทั้ง Android TV และ Google TV ต่างก็มีคุณสมบัติ การควบคุมโดยผู้ปกครอง (Parental Control) ในตัว แต่การทำงานก็มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก
Android TV จะใช้ระบบบังคับให้ใส่ PIN เพื่อสร้างโปรไฟล์สำหรับเด็ก ที่มีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาได้ขึ้นมา ในขณะที่ Google TV ทำระบบ Parental Control ออกมาได้ดีกว่ามาก
อย่างที่เราได้อธิบายไปในหัวข้อก่อนหน้านี้ว่า Google TV มีระบบโปรไฟล์ผู้ใช้ ผู้ปกครองสามารถสร้างโปรไฟล์ใหม่สำหรับเด็กขึ้นมา และกำหนดสิ่งที่เข้าถึงได้อย่างซับซ้อนกว่า Android TV มาก สามารถเลือกแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้ หรือห้ามไม่ให้ใช้บางแอปพลิเคชัน และสามารถปิดกั้นเนื้อหาโดยอ้างอิงจากเรตติ้งรายการได้อีกด้วย
ภาพจาก : https://www.tomsguide.com/face-off/google-tv-vs-android-tv
เฉกเช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน Android ของคุณ มันจะมีอัปเดตใหม่ ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะ ซึ่งเราสามารถเข้าไปตรวจสอบการอัปเดตได้ในการตั้งค่า และตรวจเช็คว่ามีอะไรใหม่ได้ในเว็บไซต์ของผู้ผลิต TV ที่คุณใช้งานอยู่
แต่การอัปเดตของ Google TV จะต่างออกไปเล็กน้อย โดยจะมีการอ้างอิงกับเฟิร์มแวร์เวอร์ชันของอุปกรณ์ Chromecast และการอัปเดตมักจะทำงานอยู่เบื้องหลัง ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเช็คสถานะเองมากนัก บ่อยครั้งที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่ามีการอัปเดตเกิดขึ้น และเสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ใน Google TV จะมีการเพิ่มแท็บของการรับชมทีวีสด (Live TV) เข้ามา โดยมันจะดึงเนื้อหาที่น่าสนใจจากบริการอย่าง YouTube TV หรือ Sling TV มาแนะนำ
อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ไม่ได้เปิดให้บริการในประเทศไทย ดังนั้น ปัจจัยนี้จึงอาจไม่สำคัญต่อผู้ใช้ในประเทศไทยเท่าไหร่นัก
ภาพจาก : https://www.tomsguide.com/face-off/google-tv-vs-android-tv
ถ้าราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อ TV ของคุณ ก็น่าเสียดายที่เราต้องยอมรับว่า ที่สเปกเท่ากัน หรือใกล้เคียง ราคาของ Google TV มักจะสูงกว่า Android TV
เหตุผลก็มาจากปริมาณสินค้าในตลาด Android TV นั้นมีหลายรุ่น หลายยี่ห้อให้เลือกซื้อเป็นร้อย หรือพันยี่ห้อด้วยซ้ำไป มันมีตัวเลือกหลายรุ่น และราคาหลายระดับให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ
ในขณะที่ Google TV นั้นมีผู้ผลิตเลือกใช้งานอยู่เพียงไม่กี่ยี่ห้อ และมักจะใส่มาใน TV ที่อยู่ในระดับกลางไปจนถึงเรือธงเท่านั้น แบรนด์ที่ทำ Google TV ในขณะที่บทความนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรก ก็จะมีแค่ Sony, TCL, Philips และ Hisense เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากสนใจใน Google TV จริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อทีวีใหม่ก็ได้ แค่ใช้ Google Chromecast ก็สามารถเปลี่ยนทีวีธรรมดา หรือ Android TV เป็น Google TV ได้แล้ว
Google TV | Android TV | |
ปีที่เปิดตัว | ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) | ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) |
แอปพลิเคชัน | รองรับเหมือนกัน | |
Homescreen | แยกเนื้อหาตามโปรไฟล์ของผู้ใช้ | อ้างอิงจากแอปพลิเคชันที่ถูกติดตั้งไว้ |
ประเภทเนื้อหา | เน้นเนื้อหามากกว่าแอปพลิเคชัน | ไม่ได้ออกแบบมาให้ค้นพบเนื้อหาใหม่ ๆ |
การแนะนำเนื้อหา | แยกตามโปรไฟล์ผู้ใช้ | ตามบัญชีหลักที่เข้าระบบอยู่ |
แอปพลิเคชัน | มีบนสมาร์ทโฟน และทำงานร่วมกันได้ | ใช้แอป Google TV แทนรีโมทได้ |
Chromecast | รองรับเหมือนกัน | |
Smarthome | รองรับเหมือนกัน | |
บัญชี | รองรับหลายโปรไฟล์ผู้ใช้ด้วยบัญชีเดียว | หนึ่งโปรไฟล์ผู้ใช้ต่อบัญชี |
Parental control | สร้างโปรไฟล์ผู้ใช้สำหรับเด็กได้ | ตั้งค่าผ่านระบบเท่านั้น |
Google ได้เคยประกาศว่ามีแผนที่จะให้ความสำคัญกับ Google TV มากขึ้น แต่ด้วยความที่ Android TV ยังคงแพร่หลาย และมีผู้ใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก แถมตัวมันเองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการ Android
แต่สังเกตได้ว่า Google พยายามปรับปรุง Google TV ให้มีคุณสมบัติเยอะกว่า ให้ประสบการณ์การใช้ที่ดีกว่า ดังนั้นจะมองว่า Google อยากให้ Google TV มาแทนที่ Android TV ก็คงไม่ผิดนัก แต่นั่นคงเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังอีกไกล ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้
ปัจจุบันนี้ TV รุ่นใหม่ จากค่าย Sony, TCL, Philips หรือ Hisense ก็มักจะเลือกติดตั้ง Google TV มาให้จากโรงงานเลย ส่วน TV รุ่นก่อนหน้า ที่ยังเป็น Android TV ดูเหมือนว่าจะไม่มีการอัปเดตให้เป็น Google TV แต่อย่างใด
แต่อันที่จริง มันก็ไม่ได้เลวร้ายมากนัก สำหรับผู้ที่ใช้งาน Android TV อยู่ เพราะในการอัปเดตของ Android TV เวอร์ชันล่าสุด มันก็ได้รับการออกแบบ UI ใหม่ ให้มีความใกล้เคียงกับ Google TV เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รวมไปถึงคุณสมบัติบางอย่างที่เคยมีแค่ใน Google TV ก็ถูกยกมาใส่ไว้ใน Android TV ไว้ให้แล้วด้วย เช่น การแนะนำเนื้อหาใหม่ ๆ ให้โดยอ้างอิงจากประเภทของเนื้อหาที่คุณรับชม (เดิมจะอ้างอิงตามแอปพลิเคชันที่ติดตั้ง) หรือระบบ Watchlist ที่สามารถเพิ่มรายการภาพยนตร์ หรือรายการทีวีไว้เพื่อรับชมภายหลัง ก็มีให้ใช้งานแล้วเช่นกัน
หากคุณกำลังมองหา TV มาใช้งาน เท่าที่เราสังเกตพบ หากเป็น TV ที่เป็นยี่ห้อที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันรุ่นใหม่ ๆ จะให้มาเป็น Google TV กันหมดแล้ว ถ้าหากคุณเห็น Android TV สามารถสันนิษฐานไว้ได้ก่อนเลยว่า มันเป็น TV รุ่นเก่า
จากปัจจัยด้านรุ่นเก่า กับรุ่นใหม่ มันส่งผลต่อราคาโดยตรง แน่นอนว่า TV รุ่นเก่าก็จะถูกปรับราคาลดลงให้ถูกกว่าเดิมมาก ดังนั้นในการเลือกซื้อ ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าคุณต้องการสัมผัสประสบการณ์จากซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ที่ดีกว่าหรือเปล่า ? ถ้าให้แนะนำ เราก็คงแนะนำ Google TV แต่ถ้างบประมาณเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อ แน่นอนว่า Android TV ถูกกว่า และมีตัวเลือกมากกว่าด้วย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
2 ธันวาคม 2566 13:41:00
|
||
GUEST |
ณน
ขอบคุณครับ กำลังจะเลือกซื้อพอดีเลย
|
|